อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเฝ้ารับเสด็จ พลเอกหญิง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พร้อมกราบบังคมทูลรายงานการฝากเก็บเมล็ดพันธุ์ในธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชโลกสวาลบาร์ด นอร์เวย์

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 พลเอกหญิง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯ ทอดพระเนตรการปลูกข้าว ณ แปลงสาธิตการเกษตรโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ในโอกาสนี้นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เฝ้าฯ รับเสด็จและกราบบังคมทูลรายงานเรื่อง “เมล็ดพันธุ์พืชไร่ พืชสวนไทย ในธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชโลกสวาลบาร์ด นอร์เวย์” ธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชโลกสวาลบาร์ด (Svalbard Global Seed Vault, SGSV) ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2551 ที่เกาะสปิตซ์เบอร์เกน (Spitsbergen) หมู่เกาะสวาลบาร์ด (Svalbard Archipelago) ประเทศนอร์เวย์ มีลักษณะเป็นอุโมงค์ที่ฝังลึกลงไปในภูเขากว่า 120 เมตร เป็นแหล่งเก็บรวบรวมเมล็ดพันธุ์พืชที่ปลอดภัยที่สุดในโลก มีโครงสร้างที่แข็งแรงทนทานต่อกาลเวลา ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อเป็นแหล่งสำรองสุดท้ายของเมล็ดพันธุ์พืชอาหารของโลก ​


ปัจจุบัน SGSV มีศักยภาพในการเก็บรักษาเชื้อพันธุกรรมพืช 4.5 ล้านตัวอย่างพันธุ์ ที่ฝากเก็บแล้วจำนวน 1,255,332 ตัวอย่างพันธุ์ พืช 6,120 ชนิด โดยเมล็ดพันธุ์ที่ถูกเก็บมากที่สุดได้แก่ ข้าวสาลี ข้าว ข้าวบาร์เลย์ ข้าวฟ่าง และพืชตระกูลถั่ว โดยตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ มาจากเกือบทุกประเทศทั่วโลก


อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างสูงต่องานอนุรักษ์เชื้อพันธุกรรมพืชของกระเทศไทย โดยเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2556 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ เสด็จเยือน SGSV และทรงมีพระราชดำริให้ กรมวิชาการเกษตร นำเมล็ดพันธุ์ถั่วสกุล Vigna ในโครงการวิจัยการฟื้นฟูและเก็บรักษาเชื้อพันธุกรรมพืชจำนวน 150 ตัวอย่างพันธุ์ฝากเก็บรักษาไว้ที่ SGSV ต่อมาวันที่ 7-12 สิงหาคม 2561 กรมวิชาการเกษตรนำเมล็ดพันธุ์พืชฝากเก็บ จำนวน 12 ชนิด 32 ตัวอย่างพันธุ์ ได้แก่ พริก ผักบุ้ง มะเขือเทศ ถั่วฝักยาว กระเจี๊ยบเขียว กวางตุ้ง ฝ้าย ข้าวโพด ถั่วเหลือง ถั่วเขียวผิวมัน ถั่วเขียวผิวดำ และถั่วหรั่ง และ วันที่ 22-29 กุมภาพันธ์ 2563 นำเมล็ดพันธุ์พืชรับรองและพันธุ์พืชแนะนำจำนวน 8 ชนิด 23 ตัวอย่างพันธุ์ ได้แก่ ถั่วพุ่ม ข้าวโพด ข้าวสาลี ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วเขียวผิวดำ ข้าวบาร์เลย์ และงา รวมฝากเก็บเมล็ดพันธุ์พืชที่ SGSV แล้วจำนวน 3 ครั้ง 16 ชนิดพืช 205 ตัวอย่างพันธุ์ กรมวิชาการเกษตรยังมีความร่วมมือกับ NordGen และ SGSV ในปี 2558 ได้แลกเปลี่ยนนักวิจัยไปอบรมเรื่อง“โครงการจัดการระบบข้อมูลเชื้อพันธุกรรมพืชในธนาคารเชื้อพันธุ์พืช ณ NordGen ปี 2559 อบรมเรื่อง “โครงการการจัดการธนาคารเชื้อพันธุกรรมพืช เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ” ณ NordGen และ SGSV ปี 2562 – อบรมด้านเมล็ดพันธุ์ ณ NordGen SGSV และ ปี 2566 – อบรมด้านการจัดการธนาคารเชื้อพันธุ์พืช และระบบการจัดการเมล็ดเชื้อพันธุ์พืช ณ NordGen


“กรมวิชาการเกษตรมีแผนความร่วมมือ การส่งเมล็ดพันธุ์พืชอีกจำนวน 27 ตัวอย่างพันธุ์ เพื่อฝากเก็บรักษาระยะยาวที่ SGSV ขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนการดำเนินงาน เช่น พันธุ์พืชรับรอง 17 ตัวอย่างพันธุ์ ได้แก่ ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วเขียวผิวมัน ถั่วเขียวผิวดำ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดข้าวเหนียว ฝ้าย งาแดง และ พันธุ์พืชแนะนำ 10 ตัวอย่างพันธุ์ ได้แก่ อัญชัน ซึ่งเป็นพรรณพืชในพระนาม ถั่วเหลือง ข้าวโพดหวาน ข้าวฟ่าง พริกขี้หนูผลเล็ก พริกขี้หนูสวน พริกใหญ่ พริกขี้หนูเลย และมะเขือเทศสีดา สำหรับความร่วมมือเรื่องฐานข้อมูล GENBIS มีการทดลองระหว่างห้องปฏิบัติการของศูนย์ทรัพยากรพันธุกรรมแห่งนอร์ดิก ราชอาณาจักรสวีเดน และธนาคารเชื้อพันธุ์พืชกรมวิชาการเกษตร ทดสอบความมีชีวิตของเชื้อพันธุ์ที่ไปฝากเก็บไว้ ที่ SGSV ได้แก่ ถั่วเขียวผิวมัน ถั่วเขียวผิวดำ งาแดง โดยมีการทดสอบความมีชีวิตไปแล้วใน ปี พ.ศ. 2563 กับปี พ.ศ. 2564 และจะดำเนินการทดสอบครั้งต่อไปใน ปี พ.ศ. 2568, พ.ศ. 2573, พ.ศ. 2578 และ พ.ศ. 2583” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว