เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2566 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมี นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายพงศ์ไท ไทโยธิน รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมพิธี ณ บริเวณด้านหน้าอาคารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และห้องประชุม 115 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร
โอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีมอบต้นไม้ลดฝุ่นละอองภายใต้โครงการ Green City by MOAC ให้กับหัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และผู้บริหารองค์การมหาชนในกำกับของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 22 หน่วยงาน จากนั้น ได้เยี่ยมชมนิทรรศการแสดงผลงานสำคัญของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 131 ปี จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งสู่บริการภาครัฐดิจิทัลเพื่อเกษตรกร MOAC Digital Transformation” ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้จัดนิทรรศการ การจัดทำมาตรการป้องกันการใช้แรงงานลิงในกระบวนการผลิตมะพร้าว เพื่อการส่งออก (Monkey Free Plus) เพื่อตรวจสอบและรับรองกระบวนการผลิตมะพร้าวในระดับแปลงปลูกว่า ไม่ได้ใช้แรงงานลิงเก็บเกี่ยวมะพร้าว โดยจะดำเนินการตรวจประเมินการใช้แรงงานลิงให้กับเกษตรกรที่ได้รับรองแหล่งผลิต GAP มะพร้าวแล้ว และให้การรับรองเกษตรกรในเครือข่ายของบริษัทแปรรูปผลิตภัณฑ์มะพร้าวเพื่อการส่งออก สร้างความน่าเชื่อถือ และสร้างภาพลักษณ์ให้กับกระบวนการผลิตและแปรรูปมะพร้าวของประเทศไทย การพัฒนา GAP Carbon Credit Plus และแนวทางปฏิบัติในการลดก๊าซเรือนกระจกของพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ในการประชุม COP26 ณ กรุงกลาสโกลว์ ประเทศสกอตแลนด์ จะมีการดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี 2608 (ค.ศ. 2065) ซึ่งภาคการเกษตรจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหลือ 41.2 ล้านตัน โดยมีแนวทางในการดำเนินเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคเกษตร
1.การจัดทำต้นแบบการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการผลิตพืช พืชเป้าหมายที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลัก 6 ชนิด ประกอบด้วย อ้อม ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ยางพารา ทุเรียน และมะม่วง เพื่อจัดทำเป็นต้นแบบการในการขอรับรองคาร์บอนเครดิตภาคการเกษตร
2.การพัฒนากรมวิชาการเกษตรเพื่อเป็นหน่วยงานตรวจรับรองคาร์บอนเครดิตภาคเกษตร เตรียมความพร้อมเพื่อเป็นองค์กรรับรองการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตร และเตรียมจัดตั้ง กองพืชเศรษฐกิจใหม่และการจัดการก๊าซเรือนกระจก เพื่อรองรับภารกิจ จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะผู้บริหารหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมพิธีสงฆ์และร่วมถวายภัตตาหารเพล และถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระสงฆ์ ณ ห้องประชุม 115 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย อาทิ การออกบูธจำหน่ายสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเกษตรกรและกลุ่มเครือข่าย กิจกรรมการแจกต้นไม้ลดฝุ่นให้แก่ผู้เข้าร่วมชมงาน เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการและอุดหนุนสินค้าเกษตรคุณภาพจากเกษตรกรโดยตรง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับการสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2435 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งแรกใช้ชื่อกระทรวงเกษตรพนิชการ มีเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ขณะมีบรรดาศักดิ์ที่ “พระยาภาสกรวงศ์” เป็นเสนาบดีคนแรก ภายหลังเปลี่ยนชื่อมาเป็นกระทรวงเกษตราธิการ กระทรวงเกษตรพาณิชยการ กระทรวงเศรษฐการ กระทรวงเกษตราธิการ กระทรวงเกษตร จนมาสู่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในปัจจุบัน