กรมวิชาการเกษตร “จุดประกายพลังวิจัย ขับเคลื่อนเกษตรไทยอย่างยั่งยืน”

กรมวิชาการเกษตร “จุดประกายพลังวิจัย ขับเคลื่อนเกษตรไทยอย่างยั่งยืน”
ลงนาม MOU กับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โชว์ผลงาน รางวัลเลิศรัฐ 4 รางวัล จาก ก.พ.ร. ปี 67
และผลสำเร็จงานวิจัยกรมวิชาการเกษตร ตามหลัก “ตลาดนำ การวิจัย”
นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของกรมวิชาการเกษตร ที่เป็นไปตามนโยบายของ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตรได้รวบรวม พร้อมแถลงผลงาน และเปิดบ้านงานวิจัยประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “จุดประกายพลังวิจัย ขับเคลื่อนเกษตรไทยอย่างยั่งยืน” ทั้งความเป็นเลิศด้านการวิจัยและพัฒนาด้านพืช เครื่องจักรกลการเกษตร การรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรด้านพืชในระดับสากล รวมถึงการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่เศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำ การแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ PM 2.5 การใช้ชีวภัณฑ์ลดการใช้สารเคมี การประกาศสงครามกับปุ๋ย เคมีการเกษตรปลอม กรมวิชาการเกษตรพร้อมบริหารจัดการภาคเกษตรที่ครบถ้วนทุกด้าน ภายใต้แนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ที่สามารถตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงการคว้าโอกาสในตลาดใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของโลก ยกระดับรายได้ของเกษตรกร
งานแถลงผลงานและเปิดบ้านงานวิจัย มีเป้าหมายหลักในการสื่อสารผลสำเร็จของงานวิจัยที่กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง นำเสนอนวัตกรรมใหม่ ที่เกิดจากการวิจัย ซึ่งเกษตรกรสามารถนำไปใช้ได้จริง ในการเพิ่มผลผลิต และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กิจกรรมเด่นภายในงานประกอบด้วย ผลงานโครงการพระราชดำริและโครงการพิเศษดีเด่นประจำปี 2567, โครงการ 76 จังหวัด 76 โมเดล สินค้าเกษตรปลอดภัยมูลค่าสูง, ผลความสำเร็จการดำเนินงาน/ผลงานเด่นของหน่วยงาน, คนดี ผลงานเด่น กรมวิชาการเกษตร, การเสวนาผลงานที่ได้รับรางวัล DOA Together Award ประจำปี 2567 และ การเสวนาผลงานที่ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2567 จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)
ในปี 2567 กรมวิชาการเกษตรมีผลงานเด่นที่ได้รับรางวัลเลิศรัฐ จากสำนักงาน ก.พ.ร. จำนวน 4 รางวัล คือ สาขาการบริการภาครัฐ ประเภทนวัตกรรมการบริการ ระดับดี จากผลงาน “แผ่นเทียบสีสำหรับการเก็บเกี่ยวผลกาแฟในระยะสุกแก่ที่เหมาะสม” ซึ่งพัฒนาโดย กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร ผลงานนี้เป็นนวัตกรรมที่ช่วยเกษตรกรในการเก็บเกี่ยวกาแฟเมื่อผลสุกในระดับที่เหมาะสมที่สุด เพื่อรักษาคุณภาพและมูลค่าของผลิตภัณฑ์ สาขาการบริการภาครัฐ ประเภทขับเคลื่อนเห็นผล ระดับดี ผลงาน “การขับเคลื่อนกาแฟโรบัสตาศรีสะเกษ อัตลักษณ์หนึ่งเดียวพลิกวิกฤติสู่ความยั่งยืน” จาก ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ผลงานนี้ได้สร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนท้องถิ่นและพัฒนากาแฟโรบัสตาในจังหวัดศรีสะเกษให้กลายเป็นสินค้าที่มีความโดดเด่นระดับประเทศ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทเปิดใจใกล้ชิดประชาชน (Open Governance) ระดับดี ผลงาน “กรมวิชาการเกษตรเปิดใจใกล้ชิด ผนึกกำลัง ร่วมยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรไทย” ของกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร ได้รับการยกย่องจากความพยายามในการเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐและประชาชนในการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร เพื่อสร้างความเข้มแข็งในระบบเศรษฐกิจท้องถิ่น สาขาบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทร่วมใจแก้จน ระดับดี จากผลงานเรื่อง กาแฟฟ้าห่มป่า มรดกคู่ผืนป่า พึ่งพาตนเอง ผลงานของ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเชียงใหม่ ทำให้ชุมชนมีรายได้จากกาแฟ 1.3 ล้านบาท รายได้ 86,160 บาทต่อครัวเรือนต่อปี เพิ่มขึ้น 32 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2551
ผลงาน DOA Together Award ประจำปี 2567 ด้าน IMPROVE “THAI-IM-PLANT Web Application” ระบบสืบค้นรายการสิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด และสิ่งไม่ต้องห้ามภายใต้พระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ผลงานจากสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร และผลงานด้าน COOPERATION: การขยายผล “จันทบุรีโมเดล” สู่การควบคุมคุณภาพทุเรียนภาคตะวันออกปี 2567 โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6
นอกจากนั้นภายในงานมีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างกรมวิชาการเกษตรกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย โดย ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กับ นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เรื่อง การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตร และส่งเสริมการต่อยอดใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย ระหว่างนายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และ ศ.ดร.ดอกรัก มารอด รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและความเป็นสากล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่า การวิจัยถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศไทย เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน สร้างแนวทางการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยให้ภาคการเกษตรของไทยสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นได้ งานแถลงผลงานและเปิดบ้านงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร 2567 เป็นเวทีที่สำคัญในการเผยแพร่ผลงานและนวัตกรรมทางการเกษตรที่เกิดจากการวิจัยในประเทศไทย ภายใต้แนวคิด “จุดประกายพลังวิจัย ขับเคลื่อนเกษตรไทยอย่างยั่งยืน” กรมวิชาการเกษตรได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการวิจัยในการขับเคลื่อนเกษตรกรไทยสู่อนาคตที่มั่นคงและยั่งยืน งานนี้เป็นโอกาสพิเศษในการเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวิชาการกับผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา พร้อมสัมผัสผลงานวิจัยที่มีศักยภาพในการนำไปใช้พัฒนาภาคการเกษตรไทยให้ก้าวไกลอย่างยั่งยืน