กรมวิชาการเกษตร นำร่องจัดทำเอกสารราชการดิจิทัล พร้อมพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูล

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 สำนักงาน ก.พ.ร. นำโดยนางสาววิริยา เนตรน้อย ผู้อำนวยการกองมาตรฐานการให้บริการภาครัฐ ร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ร่วมหารือการดำเนินงานการออกเอกสารของทางราชการผ่านระบบดิจิทัลกับหน่วยงานนำร่องกรมวิชาการเกษตร โดยมีผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมหารือ ณ ห้องประชุม 201 ตึก กสิกรรม กรมวิชาการเกษตร

กรมวิชาการเกษตร ได้นำเสนอการเชื่อมโยงข้อมูลแบบอิเล็กทรอนิกส์ ของใบอนุญาตนำเข้าพืช ผลิตผลพืช ผ่านระบบ National Single Window (NSW) และแนวทางการพัฒนาระบบ NSW (Internet of Things by Airport Section) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ โดยมีใบอนุญาตที่จะดำเนินการ คือ หนังสืออนุญาตให้นำสิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด หรือสิ่งไม่ต้องห้ามออกไปจากด่านตรวจพืช สถานกักพืช ยานพาหนะหรือสถานที่ใด ๆ ภายใต้พระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ใบ พก.6) ซึ่งจากการหารือมีประเด็นน่าสนใจ ดังนี้

📍หน่วยงานมีแผนการปรับปรุงระบบงานยื่นคำขอและการออกใบรับรอง/ใบอนุญาตนำเข้าพืช Online ด้านการนำเข้าสินค้าพืชและผลิตภัณฑ์ผ่านระบบ โดยเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบ NSW ซึ่งอยู่ในระหว่างการพัฒนาและทดสอบระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานออกใบอนุญาตกับด่านตรวจพืช และทดสอบระบบฯ กับกรมศุลกากร คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในมีนาคม 2563 ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดระยะเวลาการให้บริการลงจากเดิม

📍หน่วยงานมีการพัฒนาระบบการลงทะเบียนในรูปแบบ Single Sign On สำหรับยืนยันตัวตน และมีแผนเชื่อมโยงข้อมูลบุคคลกับฐานข้อมูล GDX ของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และข้อมูลนิติบุคคลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และต้องการรับการสนับสนุนด้านการเชื่อมโยงข้อมูลสหกรณ์การเกษตรทั่วประเทศจากกรมส่งเสริมสหกรณ์

📍กรมวิชาการเกษตรมีแผนทำระบบการตรวจสอบ Shipment Inspection ด้วยการทำ Risk Management ตาม พ.ร.บ. กักพืชฯ, พ.ร.บ.พันธุ์พืชฯ , พ.ร.บ.เมล็ดพันธุ์ และอนุสัญญาฯ CITES โดยเจ้าหน้าที่ประจำด่านกักกันพีชจะใช้ข้อมูลดังกล่าวผ่านแอปพลิเคชันไปยังฐานข้อมูลส่วนกลางเพื่อพิจารณา เป็นการลดขั้นตอน ระยะเวลา
ค่าใช่จ่าย และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ

📍กรมวิชาการเกษตรมีแผนในการพัฒนาระบบโดยเชื่อมโยงข้อมูลกับฐานข้อมูล GDX, แผนการแลกเปลี่ยนข้อมูล e-Phyco และทดสอบระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูล ASW ตั้งแต่ต้นน้ำ (ใบอนุญาตที่เกี่ยวกับ GMP แปลง ฟาร์ม) กลางน้ำ (ใบอนุญาตเพื่อการส่งออก) และปลายน้ำ (ใบอนุญาตต่าง ๆ) โดยมีแผนในการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับประเทศอินโดนีเซีย และเวียดนามต่อไป

ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. จะดำเนินการขับเคลื่อนการออกเอกสารราชการผ่านระบบดิจิทัลกับหน่วยงานนำร่อง และจะมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชนและผู้ใช้บริการ เพื่อนำความเห็นดังกล่าวไปพัฒนาการออกเอกสารราชการผ่านระบบดิจิทัลให้เป็นมาตรฐานและได้รับการยอมรับต่อไป