การปรับปรุงพันธุ์มะเขือเทศรับประทานสดพันธุ์สีดาเพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพ เริ่มดำเนินการที่ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ระหว่างปี 2554-2560 ตามขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ โดยรวบรวมพันธุ์มะเขือเทศจากพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือของไทย มาปลูกเป็นแถว โดยให้หมายเลขลำดับ (ตัวอย่าง number) และคัดเลือกสายพันธุ์แท้ (Pure line selection) คัดเลือกพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง การเจริญเติบโตดี ผลสุกสีแดง และตรงตามลักษณะพันธุ์ ปี 2554 -2558 สามารถคัดเลือกมะเขือเทศได้ จำนวน 5 สายพันธุ์ที่มีศักยภาพในการผลิต ผลผลิตสูงและมีจำนวนต้นตายน้อยในฤดูฝน คือ สายพันธุ์ ศก.101-2-8-7-4-6, ศก.108-2-4(b)-2-2-2,ศก.108-8-3-1-6-2, ศก.156-1-3-2-4-1 และ ศก.297-5-7-2-3-5 นำไปปลูกเปรียบเทียบและทดสอบพันธุ์ใน 3 สถานที่ คือ ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม ในปี 2559-2560 จนได้มะเขือเทศสีดาสายพันธุ์ ศก.108-8-3-1-6-2 และ ศก.108-2-4(b)-2-2-2 ปี 2561 ทำการทดสอบพันธุ์ในไร่เกษตรกรในจังหวัดศรีสะเกษ เชียงราย และนครพนม (ภาพที่ 1) จนได้มะเขือเทศสีดาสายพันธุ์ใหม่คือสายพันธุ์ ศก.108-2-4(b)-2-2-2 ซึ่งเป็นพันธุ์ผสมเปิดให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์การค้าที่เป็นพันธุ์ลูกผสมชั่วที่ 1 ที่แหล่งปลูกจังหวัดศรีสะเกษและเชียงราย ถึงร้อยละ 31.82 และ 27.5 ตามลำดับในปี 2560 และยังให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ผสมเปิด ศก1 ในปี 2561 และ 2562 ทั้งในแปลง จังหวัดศรีสะเกษ เชียงราย และนครพนม ค่าเฉลี่ยผลผลิตสดของมะเขือเทศสีดาสายพันธุ์คัด ศก.108-2-4(b)-2-2-2 มีค่า 6.62 ตัน/ไร่ ซึ่งสูงกว่าพันธุ์เกษตรกรร้อยละ 23.51
ลักษณะการเจริญเติบโตของต้นแบบกึ่งเลื้อย ลำต้นสีเขียว (green) มีความสูง 67.2 ซม. ทรงพุ่มกว้า ง62.2 ซม. จำนวนกิ่งแขนง/ต้น 17.6 กิ่ง ลักษณะดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ กลีบดอกมีสีเหลืองจำนวน5 กลีบ การติดผลอยู่ตำแหน่งสูง (high) ผลอ่อนสีขาวแกมเขียวอ่อน ผลแก่สีแดงส้มและผลสุกสีแดงเข้ม ผลมีรูปร่างกลม ส่วนบนของผลมีลักษณะเรียบ (flat )ผลมีขนาดกว้าง 3.54 ซม. ยาว 4.65 ซม.น้ำหนักสดต่อผล 36.73 กรัม ความหนาของเนื้อผล 0.42 ซม. ก้านผลมีความยาว0.68 ซม. จำนวนเมล็ด/ผล 81 เมล็ด น้ำหนักเมล็ด/ผล 37.95 กรัม เมล็ดมีขนาดกว้าง 2.65 มม. ยาว 3.18 มม. อายุดอกบานร้อยละ 50 52 วัน อายุเก็บเกี่ยว 87 วัน ผลผลิตสดเฉลี่ย 6.62 ตัน/ไร่ ความหวาน 4.5 ?Brix ปริมาณวิตามินซี (Ascorbic acid, AA) 43.3 mg/100g FW ปริมาณกรดที่ไทเทรตได้ ร้อยละ 0.93
ปลูกได้ดีในเขตจังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดเชียงรายและจังหวัดนครพนม และพื้นที่อื่น ๆ ที่มีสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศที่ใกล้เคียงกับจังหวัดดังกล่าว
ไม่ทนต่อสภาพน้ำขัง หรือพื้นที่ที่มีฝนตกชุก
พันธุ์แนะนำ รับรองเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2562
ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ สถาบันวิจัยพืชสวน