Search for:

กระเจี๊ยบเขียวพันธุ์ กวก.พิจิตร 1

กระเจี๊ยบเขียวพันธุ์ กวก. พิจิตร 1

     กระเจี๊ยบเขียวพันธุ์พิจิตร 1 หรือกระเจี๊ยบเขียวสายพันธุ์ KNO2-1-4 (PC5402)รวบรวมและคัดเลือกกระเจี๊ยบเขียวที่ต้านทานต่อโรคเส้นใบเหลืองจากแปลงเกษตรกร โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มจากลักษณะทางการเกษตร การคัดเลือกชั่วที่ 1-4 ปลูกคัดเลือกกระเจี๊ยบเขียวทั้ง 4 กลุ่มร่วมกับ 3-1-3-4-15-4, AR-12-2-3-25-3 และ A9-27-11-13-6-12 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ต้านทานโรคเส้นใบเหลืองที่คัดเลือกระหว่างปี พ.ศ. 2543-2547 ในแปลงเกษตรกรที่จังหวัดกาญจนบุรี ที่มีการระบาดของโรคเส้นใบเหลือง โดยมีพันธุ์พิจิตร 03 เป็นพันธุ์เปรียบเทียบ คัดเลือกต้นที่ไม่เป็นโรคและมีลักษณะฝักดีประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ เก็บเมล็ดจากต้นที่คัดเลือกรวมกัน ยกเว้นในการคัดเลือกชั่วที่ 1 ที่คัดเลือกทุกต้นในชั่วที่ 4 เปรียบเทียบผลผลิตเบื้องต้นกระเจี๊ยบเขียวสายพันธุ์คัด 16 สายพันธุ์ ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตรในฤดูฝน ปี พ.ศ. 2552 ส่วนการคัดเลือกชั่วที่ 5-7 แบ่งเมล็ดเป็น 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งปลูกคัดเลือกแบบสืบประวัติ (pedigree method) ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร เปรียบเทียบกับพันธุ์พิจิตร 03 คัดเลือกต้นที่ไม่เป็นโรคและมีลักษณะฝักเหมาะสมต่อการส่งออก ผสมตัวเองและเก็บเมล็ดแยกต้น ส่วนที่สองปลูกทดสอบความต้านทานต่อโรคเส้นใบเหลืองร่วมกับพันธุ์ พิจิตร 03 ที่แปลงเกษตรกรในจังหวัดกาญจนบุรี คัดเลือกกระเจี๊ยบเขียวไว้ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ KN01-4-1, KN02-1-4, KN04-1-3และ A9-27-11-13-6- 12(R)-12-2 กำหนดรหัสพันธุ์เป็น PC5401, PC5402, PC5403 และ PC5404 ตามลำดับ และนำไปปลูกเปรียบเทียบผลผลิตต่อไปการเปรียบเทียบพันธุ์กระเจี๊ยบเขียวที่ต้านทานต่อโรคเส้นใบเหลืองกระเจี๊ยบเขียวสายพันธุ์คัด8 รหัสพันธุ์ ได้แก่ KC01, KC02, KC03, KC04, PC5401, PC5402, PC5403 และ PC5404รวมกับพันธุ์ F1-1142(การค้า) และพิจิตร 03 (อ่อนแอ) ปลูกที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร จังหวัดพิจิตร และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 3 ฤดูปลูก ระหว่างปี 2554-2555

 

     ลำต้นตั้งตรง สีเขียวปนแดงความสูงของต้นที่อายุ 90 วัน174 เซนติเมตร ใบมีลักษณะแฉก เนื้อใบสีเขียวโคนใบมีสีแดง ดอกเป็นสมบูรณ์เพศมีกลีบดอกสีเหลืองโคนดอกสีแดง เมล็ดค่อนข้างกลมสีเทา ฝักเป็นฝักตรงห้าเหลี่ยม มีสีเขียว อายุดอกบาน 50 เปอร์เซ็นต์ 45 วันมีอายุเก็บเกี่ยว 50 วัน

  • ให้ผลผลิตได้ดีในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคเส้นใบเหลืองผลผลิตรวม 3,817.1 กิโลกรัมต่อไร่ (3,319.1-4,155.6 กิโลกรัมต่อไร่) ผลผลิตที่ได้มาตรฐานส่งออก 2,514.9 กิโลกรัมต่อไร่ (2,051.2-3,077.9 กิโลกรัมต่อไร่)
  • ฝักตรง สีเขียว ห้าเหลี่ยม และความยาวฝัก 7-12 เซนติเมตร
  • เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ได้

     พื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันตก เช่น จังหวัดพิจิตร นครสวรรค์ ปทุมธานี นครปฐม และกาญจนบุรี

     การปลูกในบางสถานที่หรือบางฤดูระดับความต้านทานอาจลดน้อยกว่าปกติ จึงควรป้องกันโดยกำจัดแมลงหวี่ขาวและหลีกเลี่ยงการปลูกในแหล่งใกล้เคียงกับพืชอาศัยของเชื้อไวรัส เช่น มะเขือเทศ แตงกวายาสูบใบใหญ่ ก้างปลา ตำลึง ฝ้าย และบวบเหลี่ยม เป็นต้น

     พันธุ์แนะนำ รับรองเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2559

     ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2