Search for:

พริกขี้หนูเลยพันธุ์ กวก. ศรีสะเกษ 4

พริกขี้หนูเลยพันธุ์ กวก. ศรีสะเกษ 4

     การปรับปรุงพันธุ์พริกขี้หนูเลย เริ่มดำเนินการทดลองระหว่างปี 2549 – 2554 โดยการรวบรวมและคัดเลือกพันธุ์พริกที่มีลักษณะเจริญเติบโตดี ความยาวผลอยู่ระหว่าง 6.0 – 8.2 ซม. ก้านผลสีเขียวยาว 3.5 – 4.6 ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางผล 0.8-1.0 ซม. จากแหล่งปลูกต่าง ๆ ในเขตจังหวัดเลย จำนวน 200 สายพันธุ์ ปลูกคัดเลือกพันธุ์แบบสายพันธุ์บริสุทธิ์จำนวน 2 รุ่น คัดพันธุ์ที่มีลักษณะดีเด่น หลังจากนั้นเปรียบเทียบและทดสอบพันธุ์โดยใช้สายพันธุ์พริกขี้หนูเลยที่ได้จากการคัดพันธุ์ครั้งที่ 2 จำนวน 12 สายพันธุ์ (รวมสายพันธุ์ของเกษตรกร) ดำเนินการที่ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรหนองคาย ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรชัยภูมิ โดยใช้ขนาดแปลง 4.0 x 5.0 เมตร ระยะปลูก 0.5 x 1.0 เมตร การเตรียมต้นกล้าพริกศูนย์วิจัยพืชศรีสะเกษจัดเตรียมให้ทุกสถานที่ที่ทำการทดลอง ทำการเก็บข้อมูลการเจริญเติบโต และลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เพื่อคัดสายพันธุ์ที่ปรับตัวได้ดีในแหล่งปลูกต่าง ๆ คัดเลือกได้สายพันธุ์ที่มีลักษณะดีเด่น 3 สายพันธุ์ นำไปทดสอบในไร่เกษตรกรในแหล่งปลูกต่าง ๆ ได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ ประกอบด้วย สายพันธุ์ ศก 40-2-2 ศก 59-1-1 ศก 59-1-2 และพันธุ์ของเกษตรกร จังหวัดหนองคาย ประกอบด้วย สายพันธุ์ ศก 13-1-1  ศก 29-1-1 ศก 40-1-1 และพันธุ์ของเกษตรกร จังหวัดนครพนม ประกอบด้วย สายพันธุ์ ศก 20-1-1 ศก 16-1-1 ศก 59-1-2 และพันธุ์ของเกษตรกร และจังหวัดชัยภูมิ ประกอบด้วย สายพันธุ์ ศก 13-1-1 ศก 16-1-1 ศก 59-1-2 และพันธุ์ของเกษตรกร ผลการทดลองพบว่า พันธุ์ ศก 59-1-2 เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง เป็นที่ยอมรับของเกษตรกรผู้ปลูกมากที่สุด และสามารถปรับตัวได้ดีในแหล่งปลูก

     การเจริญเติบโตแบบพุ่ม ความสูงต้นเฉลี่ย 118.81 ซม. ความกว้างทรงพุ่มเฉลี่ย 92.78 ซม.ลำต้นมีสีเขียว มีจำนวนกิ่งแขนงเฉลี่ย 11.03 กิ่งต่อต้น ใบมีรูปร่างคล้ายสามเหลี่ยม ลักษณะดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศสีขาวแกมเขียวมีจำนวนกลีบดอก 5-6 กลีบ อายุดอกบาน 50% หลังย้ายปลูก 45-85 วัน เก็บเกี่ยวครั้งแรกเมื่ออายุ 92 วันหลังการย้ายปลูก ผลมีรูปร่างเรียวยาว ส่วนบนของผลมีรูปร่างมน มีปลายเรียวแหลม ผิวผลย่นมาก และมีกลิ่นหอม ผลมีขนาด 0.79 x 8.37 ซม. น้ำหนักผลสดเฉลี่ย 2.76 กรัม จำนวนเมล็ดต่อผลเฉลี่ย 31.95 เมล็ด ผลอ่อนมีสีเขียวเหลือง (Yellow Green Group 144B) ผลแก่มีสีแดงส้ม (Orange Red Group 32A) และผลสุกมีสีแดง (Red Group 45B) มีค่าความเผ็ด (capsaicinoids) 73,879 SHU จำนวนผลต่อต้นเฉลี่ย 377.25 ผล ผลผลิตสดเฉลี่ย 1,596.29 กิโลกรัมต่อไร่

  • ผลผลิตสดเฉลี่ยสูงถึง 1,596 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์เกษตรกร 10.60 เปอร์เซ็นต์
  • มีค่าความเผ็ดเท่ากับ 73,879 SHU ค่าความเผ็ดต่ำกว่าพันธุ์เกษตรกร (220,169 SHU) จัดเป็นพริกที่มีความเผ็ดต่ำ เหมาะกับการเป็นพริกบริโภคสด

     ปลูกได้ดีในจังหวัดศรีสะเกษ ชัยภูมิและนครพนม และพื้นที่อื่น ๆ ที่มีลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศใกล้เคียงกัน

     ไม่เหมาะที่จะปลูกในพื้นที่น้ำท่วมขัง หรือดินอุดมสมบูรณ์ต่ำ ระบายน้ำเลว

     พันธุ์แนะนำ รับรองเมื่อวันที่ 1 มีนาคม  2562

     ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ สถาบันวิจัยพืชสวน