งานปรับปรุงพันธุ์มะละกอของศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ได้มีการรวบรวมสายพันธุ์มะละกอจากแหล่งปลูกต่างๆทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตั้งแต่ปี 2530 จำนวน 33 สายพันธุ์ ปลูกคัดเลือกและผสมตัวเองจนกระทั่งเป็นสายพันธุ์แท้ หลังจากนั้นได้ผสมข้ามระหว่างสายพันธุ์แท้เหล่านี้สร้างลูกผสม (F1) ในระหว่างปี 2543-2548 จำนวน 11 คู่ผสม หลังจากนั้นได้เพาะเมล็ดลูกผสมรุ่นที่ 1 และนำไปปลูกคัดเลือกลูกผสม คลุมดอกเพื่อให้ผสมตัวเองและเก็บเมล็ดพันธุ์รุ่น F2 (สุวิทย์และอุดม, 2547; อุดม, 2549) ปี 2550-2555 ปลูกคัดเลือกมะละกอรุ่นที่ 2 คัดเลือกต้นที่มีลักษณะดี จำนวน 20 สายพันธุ์ เก็บเมล็ดพันธุ์แยกต้นและนำมาปลูกแบบต้นต่อแถว จนกระทั่งถึงรุ่นที่ 5 (F5)สามารถคัดเลือกได้มะละกอสายพันธุ์ดี จำนวน 8 สายพันธุ์ จึงได้นำมะละกอสายพันธุ์ดีเหล่านี้ไปปลูกเปรียบเทียบและทดสอบพันธุ์ ในปี 2557-2558 เพื่อทดสอบศักยภาพของสายพันธุ์ในด้านต่างๆ ได้แก่ การเจริญเติบโต ผลผลิตและคุณภาพของผลผลิต โดยปลูกทดสอบใน 3 แหล่งปลูก ได้แก่ ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาญจนบุรี พบว่า มะละกอสายพันธุ์ VR05 มีการเจริญเติบโตดีและผลผลิตสูงกว่าพันธุ์แขกดำศรีสะเกษซึ่งเป็นพันธุ์เปรียบเทียบ โดยมีผลผลิตเฉลี่ย 30.8 กิโลกรัมต่อต้น ในขณะที่พันธุ์แขกดำศรีสะเกษให้ผลผลิตเฉลี่ย 27.5 กิโลกรัมต่อต้น โดยสายพันธุ์ VR05 มีลักษณะ ดังนี้ น้ำหนักผล 1.8 กิโลกรัม เนื้อสีส้มแดง ความหนาเนื้อ 3.34 เซนติเมตร ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ (TSS) 10.4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมะละกอสายพันธุ์ VR05 นี้เป็นมะละกอสายพันธุ์ใหม่ที่เหมาะสมสำหรับบริโภคผลสุก
การเจริญเติบโตแบบต้นเดี่ยว ความสูงต้นเมื่อผลแรกสุก 135.5 ซม. ทรงพุ่มกว้าง 152 ซม. แผ่นใบมีขนาดยาว 73 ซม. กว้าง 75 ซม. จำนวนกลีบดอก 5 กลีบ ดอกสีขาวครีม รูปทรงผลรูปแท่ง (Club) สีผิวผลเมื่อสุกส้มเหลือง(O 25A) สีเนื้อสุกสีส้มแดง (OR 31A)อายุดอกแรกบานหลังปลูกเฉลี่ย 122 วัน อายุเก็บเกี่ยวหลังดอกบาน 153 วัน น้ำหนักผลเฉลี่ย 1.8 กิโลกรัม ผลมีขนาดยาวเฉลี่ย 32.9 ซม. กว้างเฉลี่ย 11.4 ซม. ความหนาเนื้อเฉลี่ย 3.34 ซม. ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ (TSS) 10.4% จำนวนผล 17.3 ผลต่อต้นเฉลี่ย ผลผลิตเฉลี่ย 30.8 กก./ต้น
ผลผลิตเฉลี่ยสูง ให้ผลผลิต 30.8 กิโลกรัมต่อต้น สูงกว่าพันธุ์แขกดำศรีสะเกษซึ่งเป็นพันธุ์เปรียบเทียบร้อยละ 12 2. ผลขนาดใหญ่ น้ำหนักผล 1.8 กิโลกรัม เนื้อหนา 3.34 เซนติเมตร เหมาะสำหรับบริโภคสดและแปรรูป
ปลูกได้ดีในพื้นที่ทั่วไปที่มีการปลูกมะละกอ โดยเฉพาะดินร่วนปนทราย
ไม่เหมาะที่จะปลูกในพื้นที่ลุ่มต่ำ ดินระบายน้ำไม่ดี
พันธุ์แนะนำ รับรองเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2562
ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ สถาบันวิจัยพืชสวน