ส้มโอพันธุ์ กวก. พิจิตร 1 หรือ ส้มโอสายต้น ท่าชัย 32 เป็นพันธุ์ที่ได้จากการคัดเลือกสายต้นส้มโอในแปลงส้มโอเพาะเมล็ดจากเมล็ดส้มโอพันธุ์ทองดีจำนวน 200 สายต้น ในปี 2545 – 2549 ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย ตำบลท่าชัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย โดยมีเกณฑ์ในการคัดเลือกเบื้องต้น คือ เป็นต้นส้มโอที่มีการเจริญเติบโตดี ให้ผลผลิตคุณภาพดี เทียบเท่า หรือดีกว่าส้มโอพันธุ์ที่เป็นต้นแม่ ผลผลิตมีรสชาติดี ไม่มีรสขม เปลือกผลหนา เก็บได้เป็นเวลานาน และทนการกระแทกจากการขนส่ง ในปี 2550 -2555 คัดเลือกได้สายต้นส้มโอที่มีรสชาติดี 10 สายต้น นำสายต้นที่ได้ไปปลูกเปรียบเทียบร่วมกับพันธุ์การค้า 2 พันธุ์ คือ พันธุ์ทองดีและพันธุ์ขาวน้ำผึ้ง ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร และศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย วางแผนการทดลองแบบ RCB จำนวน 4 ซ้ำ 10 กรรมววิธี ประกอบด้วยส้มโอสายต้นคัดเลือก ได้แก่ สายต้นท่าชัย 23 ท่าชัย 30 ท่าชัย 32 ท่าชัย 39 ท่าชัย 48 ท่าชัย 73 ท่าชัย 90 ท่าชัย 109 ท่าชัย 130 และท่าชัย 180 โดยมีพันธุ์การค้า 2 พันธุ์ คือ พันธุ์ ทองดี และพันธุ์ขาวน้ำผึ้ง เป็นพันธุ์เปรียบเทียบ พบว่า สายต้น ท่าชัย 32 เจริญเติบโตและให้ผลผลิตดี ทั้งสองสถานที่ และปี 2556 ขยายพันธุ์โดยการเสียบยอด เพื่อนำไปทดสอบในแปลงเกษตรกรและศูนย์วิจัย
ปี 2557 -2564 ปลูกทดสอบสายต้นส้มโอจากการเพาะเมล็ดที่ผ่านการคัดเลือกคือ สายต้น ท่าชัย 32 ร่วมกับพันธุ์ทองดี ที่แปลงเกษตรจังหวัดพิจิตร แปลงเกษตรกรจังหวัดชัยภูมิ และศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย ไม่มีการวางแผนการทดลอง เป็นการปลูกเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยโดยวิธี t – test พบว่า สายต้น ท่าชัย 32 เจริญเติบโตดี ให้ผลผลิตสูง โดยให้ขนาดผลค่อนข้างใหญ่จำนวนผล 1,080 ผลต่อไร่ น้ำหนักผลเฉลี่ย 1.16 กิโลกรัมต่อผล น้ำหนักผลผลิตเฉลี่ย 1,225 กิโลกรัมต่อไร่ เนื้อกุ้งสีขาวอมชมพูอ่อน ลักษณะกุ้งนิ่ม รสชาติหวาน และปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ 11.6 องสาบริกซ์ มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มีคุณภาพการบริโภคที่ดี มีระดับความพึงพอใจปานกลางถึงมากที่สุดร้อยละ 64.2 – 88.0 จึงขอรับรองเป็นพันธุ์แนะนำ
การเจริญเติบโตทรงต้นคล้ายขอบขนาน (Obloid) วิสัยการเจริญเติบโตแผ่ออก (Spreading) ใบ แผ่นใบ ก้านใบสั้นกว่าแผ่นใบ ขนาดใบ 8.04 x 12.5 เซนติเมตร รูปร่างแผ่นใบ รูปไข่ (Ovate) ดอกสีขาว ผล ทรงผล ทรงไข่ (Ellipsoid) น้ำหนักผล 1.16 กิโลกรัม เส้นผ่านศูนย์กลางผล 16.1 เซนติเมตร เส้นรอบวง 48.9 เซนติเมตร ความหนาของเปลือก 1.99 เซนติเมตร น้ำหนักเปลือก 0.57 กิโลกรัม น้ำหนักเนื้อ 0.59 กิโลกรัม เปอร์เซนต์เนื้อที่บริโภคได้1/ 48.5 เปอร์เซ็นต์ จำนวนกลีบดี 14.2 กลีบ จำนวนกลีบแทรก 1.80 กลีบ สีเปลือกผลเขียวอมเหลือง สีหลักของเนื้อ ขาวอมชมพูอ่อน มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ความฉ่ำน้ำน้อย ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ 11.6 องศาบริกซ์ เมล็ดรูปร่างรูปไข่ (Ovoid) จำนวนเมล็ด 74.0 เมล็ด 1/ เปอร์เซ็นต์เนื้อที่บริโภคได้ = (น้ำหนักเนื้อส้มโอที่แกะเมล็ดออกแล้ว/น้ำหนักทั้งผล)*100
- ให้ผลผลิตสูง น้ำหนักผลผลิตเฉลี่ย ให้ผลผลิตเฉลี่ย 2 ปี (อายุต้น 6 -7 ปี) 1,225 กิโลกรัมต่อไร่จำนวนผลเฉลี่ย 1,080ผลต่อไร่ และน้ำหนักผล 1.16 กิโลกรัมต่อผล สูงกว่าพันธุ์ทองดี ที่ให้น้ำหนักผลผลิตเฉลี่ย 743 กิโลกรัมต่อไร่คิดเป็นร้อยละ 64จำนวนผลเฉลี่ย 720 ผลต่อไร่ และน้ำหนักผล 0.94 กิโลกรัมต่อผล
- รสชาติหวาน มีปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้เฉลี่ย 11.6 องศาบริกซ์สูงกว่าค่าเฉลี่ยของพันธุ์ทองดีที่ให้ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำ 10.4 องศาบริกซ์
- เนื้อกุ้งสีขาวอมชมพูอ่อนและฉ่ำน้ำน้อย แตกต่างจากส้มโอพันธุ์ทองดีที่เนื้อกุ้งสีขาวอมชมพู และ ฉ่ำน้ำปานกลาง
แนะนำให้ปลูกในสภาพดินโปร่งร่วนซุย มีอินทรียวัตถุอยู่มากระบายน้ำได้ดี พื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง เช่น จังหวัดพิจิตร พื้นที่ภาคเหนือตอนบน เช่น จังหวัดเชียงราย และพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จังหวัดชัยภูมิ
ควรเก็บเกี่ยวเมื่อผลมีอายุ 210 – 225 วัน โดยนับจากเริ่มติดผลจนกระทั่งเก็บเกี่ยว จะทำให้ได้คุณภาพและรสชาติดีที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับพันธุ์ทองดี จะเก็บเกี่ยวเมื่อผลมีอายุ 225 – 240 วัน
พันธุ์แนะนำ รับรองเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2566
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2