Search for:

ชื่อสามัญ  พริกขี้หนูหัวเรือ พันธุ์ศก 13

ชื่อวิทยาศาสตร์  capsicum annuum L.

ชื่ออื่นๆ  

ถิ่นกำเนิดและประวัติความเป็นมา

ระหว่างปี พ.ศ. 2540-2541 ทางศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ กรมวิชาการเกษตร คัดเลือกพันธุ์พริกขี้หนูหัวเรือ เริ่มจากเก็บรวบรวมสายพันธุ์พริกขี้หนูหัวเรือจากหลายพื้นที่โดยคัดพันธุ์แบบสายพันธุ์บริสุทธิ์ เปรียบเทียบพันธุ์ในปี พ.ศ. 2542-2543 และได้ทดสอบพันธุ์ในท้องถิ่น จำนวน 5 แห่ง ในช่วงปี พ.ศ. 2544-2545 ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ, ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตบุรีรัมย์, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 3 (ส่วนแยกพืชสวน จังหวัดขอนแก่น), ศูนย์วิจัยพืชสวนหนองคายและศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตนครพนม สุดท้าย ได้ทดสอบพันธุ์ในไร่ของเกษตรกร ระหว่างปี พ.ศ. 2546-2547 อีก 5 แห่ง ได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ บุรีรัมย์ ขอนแก่น หนองคายและจังหวัดนครพนม เพื่อตรวจสอบความคงตัวและคุณลักษณะของพันธุ์ที่ได้ ผลจากการทดสอบได้สายพันธุ์ที่ดีที่สุด และได้ตั้งชื่อว่า “พริกขี้หนูหัวเรือสายพันธุ์ ศก.13”

ลักษณะทั่วไป

พันธุ์หัวเรือ ศก.13” เปรียบเทียบกับพันธุ์พริกขี้หนูหัวเรือที่เกษตรกรใช้ปลูกกันอยู่ในปัจจุบันนี้พบว่า ให้ผลผลิตสูงกว่า 14% (เกษตรกรที่นำพริกขี้หนูหัวเรือพันธุ์ใหม่ไปปลูกในเชิงพาณิชย์ พบว่า เมื่อมีการบำรุงรักษาที่ดีจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เฉลี่ยไร่ละ 2,500-3,200 กิโลกรัม ต่อไร่) ผลสดมีสีแดงปนส้มเล็กน้อย ผลตรง ขนาดผลใหญ่ ผลยาว 7.8 เซนติเมตร ผลกว้าง 1.03 เซนติเมตร ขนาดของทรงพุ่มกะทัดรัด มีความสูงและเส้นผ่าศูนย์กลางของต้น ประมาณ 80-90 เซนติเมตรเท่านั้น มีอายุการเก็บเกี่ยวผลผลิต 90 วัน หลังย้ายปลูก ที่สำคัญเป็นพริกขี้หนูที่มีขนาดของผลสม่ำเสมอ มีความยาวของผลประมาณ 7-8 เซนติเมตร ใช้รับประทานสดและทำเป็นพริกแห้งได้ดีมาก

พันธุ์และการขยายพันธุ์

การขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด

วิธีการปลูก

การเตรียมแปลง

เตรียมแปลงเพราะกล้ากว้าง 1 เมตร ยาว 10 เมตร ใส่ปุ๋ยคอก 20 กิโลกรัมต่อแปลงคลุกเคล้าให้เข้ากันเพื่อให้ดินรวนซุย ใช้เมล็ด 50 กรัม ต่อพื้นที่ปลูก 1 ไร่

การปลูก

ปลูกด้วยต้นกล้าที่มีอายุ 25-30 วัน (สูง 10-15 เซนติเมตร) ที่มีลักษณะดีปราศจากโรค พริกขี้หนู ถ้าปลูกแถวเดี่ยวใช้ระยะระหว่างต้น 50 เซนติเมตร ระหว่างแถว 100 เซนติเมตร ถ้าปลูกแถวคู่ใช้ระยะระหว่างต้น 50 เซนติเมตร ระหว่างแถว 80 เซนติเมตร ระหว่างแถวคู่ 120 เซนติเมตร พริกชี้ฟ้าใช้ระยะระหว่างต้น 50 เซนติเมตร ระหว่างแถว 50 เซนติเมตร ปลูก 2 ต้น ต่อหลุม หลังปลูกควรทำร่องระบายน้ำทุก 15 แถว แต่ละแถวไม่ควรยาวเกิน 15 เมตร เพื่อสะดวกในการดูแลรักษา

การดูแลรักษา

การให้ปุ๋ย

ครั้งที่ 1 เมื่อกล้าอายุ 15-20 วัน หลังปลูก ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่ ผสมยูเรีย สูตร 46-0-0 อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ โรยข้างแถว แล้วพรวนดินกลบพร้อมทั้งกำจัดวัชพืช

ครั้งที่ 2 ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ หลังย้ายปลูกเมื่อพริกอายุ 30-35 วัน

ครั้งที่ 3 ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12  อัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อพริกเริ่มออกดอก

ครั้งที่ 4 ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 อัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อพริกเริ่มติดผล

ครั้งที่ 5 ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12  อัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่ หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตทุก ๆ 20 วัน

 การให้น้ำ หลังปลูกลงแปลง ควรให้น้ำทุกวันให้สังเกตความชื้นตรงโคนต้น ถ้าดินยังมีความชื้น อาจ  เว้นระยะการให้น้ำได้หลายวัน และให้น้ำทันที่หลังใส่ปุ๋ย

 การคลุมดิน ในกรณีที่ดินแห้งเกินไปควรคลุมดินด้วยฟางข้าว เพื่อรักษาความชื้นของดินและลดการระเหยของน้ำ ทั้งเป็นการป้องกันวัชพืชไม่ให้เจริญ

การกำจัดวัชพืช ควรทำหลังจากพริกตั้งตัวแล้ว เนื่องจากพริกมีระบบรากที่แผ่กว้างอยู่ในระดับผิวดิน การกำจัดวัชพืชอาจกระทบกระเทือนต่อระบบรากได้ ทำให้การเจริญเติบโตของต้นพริกชะงัก ดังนั้นควรกำจัดวัชพืชตั้งแต่ระยะแรกของการเจริญเติบโต

โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ

โรคพืช

1.โรคตากบ สาเหตุ เชื้อรา

  ลักษณะอาการ แผลกลมตรงกลางแผลมีสีขาวอมเทา ขอบแผลมีสีน้ำตาลเข้มรอบๆ แผล เนื้อใบอาจจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและร่วงหล่นไป โรคตากบนี้จะระบาดมากในสภาพอากาศร้อนชื้น การเข้าทำลายของโรคจะเกิดจากใบส่วนต่าง ๆ ก่อนแล้วระบาดไปสู่ส่วนบน

2.โรคกุ้งแห้งหรือแอนแทรคโนส

สาเหตุ เชื้อรา

ลักษณะอาการโรคนี้แสดงอาการบนผลพริก โดยเริ่มจากจุดฉ่ำน้ำเล็ก แผลบุ๋มลึกลงไปเล็กน้อย ต่อมาแผลขยายขนาดออกในลักษณะวงรี หรือวงกลม เกิดเป็นวงดาซ้อนกันเป็นชั้น ๆ บางครั้งจะเห็นเมืองเยิ้ม ๆ สีส้มอ่อน ๆ ในบริเวณแผลโรคนี้พบมากเมื่อพริกเริ่มสุกโดยเฉพาะพริกผลใหญ่ประเภทพริกชี้ฟ้าจะเป็นโรคนี้ และระบาดได้รวดเร็วกว่าพริกขี้หนู โรคนี้สามารถติดไปกับเมล็ดได้

การป้องกันกำจัด

ถ้าเก็บเมล็ดพันธุ์เองต้องเลือกเก็บเมล็ดจากต้นที่ไม่เป็นโรค ถ้าเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ซื้อมา ควรคลุกเมล็ดด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช ตามตารางที่ 1 เมื่อพริกเริ่มติดผลควรพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช ตามตารางที่ 1

 

ตารางที่ 1 การใช้สารป้องกันกำจัดโรคของพริก

โรค สารป้องกันกำจัด อัตราการใช่/น้ำ20ลิตร วิธีการใช้

ข้อควรระวัง

หยุดการใช้สารก่อนการเก็บเกี่ยว
ตากบ

แอนแทรคโนส

เบนโนมิ(50%WP) 5-15 กรัม เริ่มพ่นเมื่อพบโรค 14 วัน
แมนโคเซบ(80%WP) 40-50 กรัม 7 วัน
คาร์เบนดาซิม(50%WP) 10-15 กรัม 14 วัน
คลอโลทาโลนิล(75%WP) 25-50 กรัม 14 วัน

แมลงศัตรู

1.เพลี้ยไฟพริก  การป้องกันและกำจัด

  • หลีกเลี่ยงการปลูกพริกในช่วงที่มีเพลี้ยไฟพริกระบาดมาก
  • บำรุงและดูแลให้ต้นพริกมีความสมบูรณ์แข็งแรงอยู่ตลอด
  • ช่วงอากาศแล้ง ต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ อย่าต้นพริกให้ขาดน้ำ
  • เมื่อพบเห็นอาการผิดปกติของต้นพริกตามลักษณะที่กล่าวไว้ข้างต้น ให้รีบสำรวจ หากพบตัวอ่อนหรือตัวเต็มวัยของเพลี้ยไฟพริก ให้ฉีดพ่นด้วยน้ำหมักสมุนไพร (ติดตามสูตรน้ำหมักสมุนไพรกำจัดเพลี้ยไฟพริกได้ในบทความ เพิ่มรายได้ ด้วย พริกปลอดสาร) หรือ สารคาร์บาริล หรือสารโพรไทโอฟอส หรือสารอิมิดาโคลพริด หรือสารพิโปรนิล ให้ทั่วต้นพริก
  • กำจัดวัชพืช และเศษซากพืชบริเวณแปลงปลูกทั้งหมด เพื่อกำจัดแหล่งอาศัยของเพลี้ยไฟพริก

2.ไรขาวพริก  การป้องกันและกำจัด

  • บำรุงและดูแลให้ต้นพริกมีความสมบูรณ์แข็งแรงอยู่ตลอด
  • สำรวจแปลงปลูกทุกๆ 7 วัน ในช่วงที่มีการระบาด หรือช่วงที่ต้นพริกเริ่มแตกใบอ่อน ถ้าพบเห็นไรขาวพริกให้ทำการฉีดพ่นด้วยสารเคมีป้องกันและกำจัดไร เช่น กำมะถัน เป็นต้น หรือใช้น้ำหมักสมุนไพรฉีดพ่น

3.เพลี้ยอ่อน การป้องกันและกำจัด

  • หลีกเลี่ยงการปลูกพริกในช่วงที่มีเพลี้ยอ่อนระบาด
  • พ่นสารสกัดจากพืช หรือน้ำหมักสมุนไพร หรือสารเคมีกำจัดแมลง
  • ตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มมีความโปร่ง อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่เป็นแหล่งอาศัยของเพลี้ยอ่อนและแมลงอื่นๆ
  • กำจัดวัชพืช และเศษซากพืชบริเวณแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ

4.แมลงวันผลไม้  การป้องกันและกำจัด

  • ถ้าพบผลพริกเน่า หรือเสียหาย ให้เก็บออกจากแปลงปลูกแล้วนำไปทำลายด้วยการเผา
  • บำรุง และดูแลให้ต้นพริกมีความสมบูรณ์แข็งแรงอยู่ตลอด
  • ปลูกพืชที่ไม่ใช่พืชอาหารของแมลงวันผลไม้ สลับกับการปลูกพริก
  • วางเหยื่อพิษที่เป็นองค์ประกอบโปรตีนไฮโดรไลเสท หรือเหยื่อพิษโปรตีนออโตไลเสทที่บนใบหรือใต้ใบ หรือฉีดพ่นด้วยสารปิโตรเลียมสเปรย์ออยล์

5.หนอนกระทู้ผักการป้องกันและกำจัด

  • ดูแลและบำรุงต้นพริกให้สมบูรณ์แข็งแรง
  • หากพบกลุ่มไข่และหนอน ให้นำไปทำลายในทันที อย่าปล่อยให้มีการระบาด
  • ช่วงที่ต้นพริกเริ่มติดผล หรือช่วงที่มีการระบาดมากๆ ให้พ่นสารแลมด้าไซฮาโลทริน หรือสารไซเปอร์เมทริน หรือใช้สารชีวินทรีย์นิวเคลียโพลีฮีโดรซีสไวรัส (NPV)

6.แมลงวันทองพริก  การป้องกันและกำจัด

  • หมั่นสำรวจแปลงปลูกทุกๆ 7 วัน
  • ใช้กับดัก (กาวเหนียวทาแผ่นพลาสติกหรือฟิวเจอร์บอร์ดสีเหลือง) ในอัตรา 100 กับดัก ต่อไร่ โดยติดระดับเดียวกับทรงพุ่มเพื่อดักผีเสื้อกลางคืน เพลี้ยไฟและแมลงวันทองพริก

7.แมลงหวี่ขาว  การป้องกันและกำจัด

หมั่นสำรวจแปลงปลูก หากพบการระบาดของแมลงหวี่ขาวให้รีบกำจัดทันทีโดยใช้ ปิโตรเลียม  สเปรย์ออยล์ 83.9 เปอร์เซ็นต์ อีซี หรือไวท์ออยล์ 67 เปอร์เซ็นต์ อีซี ในอัตราส่วน 150 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นติดต่อกัน 2 ถึง 3 ครั้ง ทุก 7 วัน หรือใช้สารสกัดจากสมุนไพรฉีดพ่น

การใช้ประโยชน์

   เกษตรกรมีทางเลือกในการใช้พันธุ์พริกพันธุ์ใหม่ที่เหมาะสำหลับบริโภคสด โดยใช้เป็นสวนประกอบและปรุงแต่งรสอาหารไทย เช่น ส้มตำ น้ำพริกกะปิ น้ำพริกอื่นๆ ยำไทยต่างๆ

แหล่งพืชอนุรักษ์

ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ

<< กลับไปหน้าฐานข้อมูลพืชผัก