Search for:

ชื่อสามัญ   พริกขี้หนูผลใหญ่พันธุ์ศรีสะเกษ 1 (พริกจินดา)

ชื่อวิทยาศาสตร์  capsicum annuum L.

ชื่ออื่นๆ  

ถิ่นกำเนิดและประวัติความเป็นมา

การปรับปรุงพันธุ์พริกจินดา ปี 2553 ของศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษได้คัดเลือกพริกจินดาจำนวน 4 พันธุ์ ปลูกเปรียบเทียบกับพันธุ์เกษตรกรและพันธุ์ท้องถิ่น โดยมีศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาญจนบุรี และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโนนสูง รวม 5 แห่ง ดำเนินการทดสอบในแปลงเกษตรกรผู้ปลูกพริกแห่งละ 1 ราย วางแผนการทดลองแบบ Randomize Complete Block (RCB) จำนวน  4 ซ้ำ 6 กรรมวิธี คือ พริกจินดาพจ. 054 ศก.24 พจ.045 ศก.20 พริกจินดาของเกษตรกร (พันธุ์พื้นเมือง) และพริกจินดาของเกษตรกร (พันธุ์ประจำท้องถิ่น) ผลการทดลองพบว่า ในฤดูแล้งพริกจินดาพจ.054 และศก. 24 สามารถปรับตัวและให้ผลผลิตสดต่อไร่สูง ในพื้นที่ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ คือ 1.03 และ 1.35 ตัน ศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย คือ 1.87 และ 1.7 ตัน ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาญจนบุรี คือ 0.64 และ 0.33 ตัน แต่ในพื้นที่ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง พบว่า พันธุ์เกษตรกร ให้ผลผลิตสดต่อไร่ 2.23 ตัน สูงกว่าพันธุ์ท้องถิ่น (จินดาดำ) 29.6 เปอร์เซ็นต์ ในฤดูฝนพริกให้ผลผลิตสดต่อไร่สูง ในพื้นที่ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ คือ 0.55 และ 0.64 ตัน ศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย คือ 0.51 และ 0.47 ตัน  และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโนนสูง คือ 0.70 และ 0.51 ตัน สูงกว่าพันธุ์เกษตรกร และพันธุ์ท้องถิ่น (ซุปเปอร์ฮอต) และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาญจนบุรี พบว่า พันธุ์ศก.24 ให้ผลผลิตสดต่อไร่ 0.74 ตัน สูงที่สุด โดยพันธุ์ ศก. 24 และพจ.054 ในจังหวัดศรีสะเกษ ผลผลิตและคุณภาพเป็นที่พึงพอใจของเกษตรกรผู้ปลูกพริกมากที่สุดระดับ 5.1 และ 4.9 คะแนน และศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง เกษตรกรมีความพึงพอใจมากระดับ 4.3 และ 3.7 คะแนน และทั้ง 2 พันธุ์ มีความต้านทานต่อเชื้อราแอนแทรคโนส (Colletotrichum sp.) ระดับต้านทาน (resistance) และขอเป็นพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตร เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ลักษณะทั่วไป

  • ผลผลิตสูง 1.03 – 1.8 ตันต่อไร่
  • ผลเรียวยาว ขนาดผลยาว 3.0-3.8 เซนติเมตร
  • เส้นผ่านศูนย์กลางส่วนกว้างสุด 0.8 เซนติเมตร น้ำหนักผล 2.2 กรัม ขั้วผลยาว 2.7 เซนติเมตร
  • อายุเก็บเกี่ยวหลังปลูก 120 วัน
  • ต้านทานต่อโรคแอนแทรคโนส ในระดับต้านทาน
  • สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองได้

พันธุ์และการขยายพันธุ์

การขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด

วิธีการปลูก

การเตรียมแปลง

เตรียมแปลงเพราะกล้ากว้าง 1 เมตร ยาว 10 เมตร ใส่ปุ๋ยคอก 20 กิโลกรัมต่อแปลงคลุกเคล้าให้เข้ากันเพื่อให้ดินรวนซุย ใช้เมล็ด 50 กรัม ต่อพื้นที่ปลูก 1 ไร่

การปลูก

ปลูกด้วยต้นกล้าที่มีอายุ 25-30 วัน (สูง 10-15 เซนติเมตร) ที่มีลักษณะดีปราศจากโรค พริกขี้หนู ถ้าปลูกแถวเดี่ยวใช้ระยะระหว่างต้น 50 เซนติเมตร ระหว่างแถว 100 เซนติเมตร ถ้าปลูกแถวคู่ใช้ระยะระหว่างต้น 50 เซนติเมตร ระหว่างแถว 80 เซนติเมตร ระหว่างแถวคู่ 120 เซนติเมตร พริกชี้ฟ้าใช้ระยะระหว่างต้น 50 เซนติเมตร ระหว่างแถว 50 เซนติเมตร ปลูก 2 ต้น ต่อหลุม หลังปลูกควรทำร่องระบายน้ำทุก 15 แถว แต่ละแถวไม่ควรยาวเกิน 15 เมตร เพื่อสะดวกในการดูแลรักษา

การดูแลรักษา

การให้ปุ๋ย

ครั้งที่ 1 เมื่อกล้าอายุ 15-20 วัน หลังปลูก ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่ ผสมยูเรีย สูตร 46-0-0 อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ โรยข้างแถว แล้วพรวนดินกลบพร้อมทั้งกำจัดวัชพืช

ครั้งที่ 2 ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ หลังย้ายปลูกเมื่อพริกอายุ 30-35 วัน

ครั้งที่ 3 ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12  อัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อพริกเริ่มออกดอก

ครั้งที่ 4 ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 อัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อพริกเริ่มติดผล

ครั้งที่ 5 ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12  อัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่ หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตทุก ๆ 20 วัน

 การให้น้ำ หลังปลูกลงแปลง ควรให้น้ำทุกวันให้สังเกตความชื้นตรงโคนต้น ถ้าดินยังมีความชื้น อาจ  เว้นระยะการให้น้ำได้หลายวัน และให้น้ำทันที่หลังใส่ปุ๋ย

 การคลุมดิน ในกรณีที่ดินแห้งเกินไปควรคลุมดินด้วยฟางข้าว เพื่อรักษาความชื้นของดินและลดการระเหยของน้ำ ทั้งเป็นการป้องกันวัชพืชไม่ให้เจริญ

การกำจัดวัชพืช ควรทำหลังจากพริกตั้งตัวแล้ว เนื่องจากพริกมีระบบรากที่แผ่กว้างอยู่ในระดับผิวดิน การกำจัดวัชพืชอาจกระทบกระเทือนต่อระบบรากได้ ทำให้การเจริญเติบโตของต้นพริกชะงัก ดังนั้นควรกำจัดวัชพืชตั้งแต่ระยะแรกของการเจริญเติบโต

โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ

โรคพืช

1.โรคตากบ สาเหตุ เชื้อรา

  ลักษณะอาการ แผลกลมตรงกลางแผลมีสีขาวอมเทา ขอบแผลมีสีน้ำตาลเข้มรอบๆ แผล เนื้อใบอาจจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและร่วงหล่นไป โรคตากบนี้จะระบาดมากในสภาพอากาศร้อนชื้น การเข้าทำลายของโรคจะเกิดจากใบส่วนต่าง ๆ ก่อนแล้วระบาดไปสู่ส่วนบน

2.โรคกุ้งแห้งหรือแอนแทรคโนส

สาเหตุ เชื้อรา

ลักษณะอาการโรคนี้แสดงอาการบนผลพริก โดยเริ่มจากจุดฉ่ำน้ำเล็ก แผลบุ๋มลึกลงไปเล็กน้อย ต่อมาแผลขยายขนาดออกในลักษณะวงรี หรือวงกลม เกิดเป็นวงดาซ้อนกันเป็นชั้น ๆ บางครั้งจะเห็นเมืองเยิ้ม ๆ สีส้มอ่อน ๆ ในบริเวณแผลโรคนี้พบมากเมื่อพริกเริ่มสุกโดยเฉพาะพริกผลใหญ่ประเภทพริกชี้ฟ้าจะเป็นโรคนี้ และระบาดได้รวดเร็วกว่าพริกขี้หนู โรคนี้สามารถติดไปกับเมล็ดได้

การป้องกันกำจัด

ถ้าเก็บเมล็ดพันธุ์เองต้องเลือกเก็บเมล็ดจากต้นที่ไม่เป็นโรค ถ้าเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ซื้อมา ควรคลุกเมล็ดด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช ตามตารางที่ 1 เมื่อพริกเริ่มติดผลควรพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช ตามตารางที่ 1

 

ตารางที่ 1 การใช้สารป้องกันกำจัดโรคของพริก

โรค

สารป้องกันกำจัด อัตราการใช่/น้ำ20ลิตร วิธีการใช้

ข้อควรระวัง

หยุดการใช้สารก่อนการเก็บเกี่ยว
ตากบ

แอนแทรคโนส

เบนโนมิ(50%WP) 5-15 กรัม เริ่มพ่นเมื่อพบโรค 14 วัน
แมนโคเซบ(80%WP) 40-50 กรัม 7 วัน
คาร์เบนดาซิม(50%WP) 10-15 กรัม 14 วัน
คลอโลทาโลนิล(75%WP) 25-50 กรัม 14 วัน

แมลงศัตรู

1.เพลี้ยไฟพริก  การป้องกันและกำจัด

  • หลีกเลี่ยงการปลูกพริกในช่วงที่มีเพลี้ยไฟพริกระบาดมาก
  • บำรุงและดูแลให้ต้นพริกมีความสมบูรณ์แข็งแรงอยู่ตลอด
  • ช่วงอากาศแล้ง ต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ อย่าต้นพริกให้ขาดน้ำ
  • เมื่อพบเห็นอาการผิดปกติของต้นพริกตามลักษณะที่กล่าวไว้ข้างต้น ให้รีบสำรวจ หากพบตัวอ่อนหรือตัวเต็มวัยของเพลี้ยไฟพริก ให้ฉีดพ่นด้วยน้ำหมักสมุนไพร (ติดตามสูตรน้ำหมักสมุนไพรกำจัดเพลี้ยไฟพริกได้ในบทความ เพิ่มรายได้ ด้วย พริกปลอดสาร) หรือ สารคาร์บาริล หรือสารโพรไทโอฟอส หรือสารอิมิดาโคลพริด หรือสารพิโปรนิล ให้ทั่วต้นพริก
  • กำจัดวัชพืช และเศษซากพืชบริเวณแปลงปลูกทั้งหมด เพื่อกำจัดแหล่งอาศัยของเพลี้ยไฟพริก

2.ไรขาวพริก  การป้องกันและกำจัด

  • บำรุงและดูแลให้ต้นพริกมีความสมบูรณ์แข็งแรงอยู่ตลอด
  • สำรวจแปลงปลูกทุกๆ 7 วัน ในช่วงที่มีการระบาด หรือช่วงที่ต้นพริกเริ่มแตกใบอ่อน ถ้าพบเห็นไรขาวพริกให้ทำการฉีดพ่นด้วยสารเคมีป้องกันและกำจัดไร เช่น กำมะถัน เป็นต้น หรือใช้น้ำหมักสมุนไพรฉีดพ่น

3.เพลี้ยอ่อน การป้องกันและกำจัด

  • หลีกเลี่ยงการปลูกพริกในช่วงที่มีเพลี้ยอ่อนระบาด
  • พ่นสารสกัดจากพืช หรือน้ำหมักสมุนไพร หรือสารเคมีกำจัดแมลง
  • ตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มมีความโปร่ง อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่เป็นแหล่งอาศัยของเพลี้ยอ่อนและแมลงอื่นๆ
  • กำจัดวัชพืช และเศษซากพืชบริเวณแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ

4.แมลงวันผลไม้  การป้องกันและกำจัด

  • ถ้าพบผลพริกเน่า หรือเสียหาย ให้เก็บออกจากแปลงปลูกแล้วนำไปทำลายด้วยการเผา
  • บำรุง และดูแลให้ต้นพริกมีความสมบูรณ์แข็งแรงอยู่ตลอด
  • ปลูกพืชที่ไม่ใช่พืชอาหารของแมลงวันผลไม้ สลับกับการปลูกพริก
  • วางเหยื่อพิษที่เป็นองค์ประกอบโปรตีนไฮโดรไลเสท หรือเหยื่อพิษโปรตีนออโตไลเสทที่บนใบหรือใต้ใบ หรือฉีดพ่นด้วยสารปิโตรเลียมสเปรย์ออยล์

5.หนอนกระทู้ผักการป้องกันและกำจัด

  • ดูแลและบำรุงต้นพริกให้สมบูรณ์แข็งแรง
  • หากพบกลุ่มไข่และหนอน ให้นำไปทำลายในทันที อย่าปล่อยให้มีการระบาด
  • ช่วงที่ต้นพริกเริ่มติดผล หรือช่วงที่มีการระบาดมากๆ ให้พ่นสารแลมด้าไซฮาโลทริน หรือสารไซเปอร์เมทริน หรือใช้สารชีวินทรีย์นิวเคลียโพลีฮีโดรซีสไวรัส (NPV)

6.แมลงวันทองพริก  การป้องกันและกำจัด

  • หมั่นสำรวจแปลงปลูกทุกๆ 7 วัน
  • ใช้กับดัก (กาวเหนียวทาแผ่นพลาสติกหรือฟิวเจอร์บอร์ดสีเหลือง) ในอัตรา 100 กับดัก ต่อไร่ โดยติดระดับเดียวกับทรงพุ่มเพื่อดักผีเสื้อกลางคืน เพลี้ยไฟและแมลงวันทองพริก

7.แมลงหวี่ขาว  การป้องกันและกำจัด

หมั่นสำรวจแปลงปลูก หากพบการระบาดของแมลงหวี่ขาวให้รีบกำจัดทันทีโดยใช้ ปิโตรเลียม  สเปรย์ออยล์ 83.9 เปอร์เซ็นต์ อีซี หรือไวท์ออยล์ 67 เปอร์เซ็นต์ อีซี ในอัตราส่วน 150 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นติดต่อกัน 2 ถึง 3 ครั้ง ทุก 7 วัน หรือใช้สารสกัดจากสมุนไพรฉีดพ่น

การใช้ประโยชน์

   เกษตรกรมีทางเลือกในการใช้พันธุ์พริกพันธุ์ใหม่ที่เหมาะสำหลับบริโภคสด โดยใช้เป็นสวนประกอบและปรุงแต่งรสอาหารไทย เช่น ส้มตำ น้ำพริกกะปิ น้ำพริกอื่นๆ ยำไทยต่างๆ

แหล่งพืชอนุรักษ์

ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ

<< กลับไปหน้าฐานข้อมูลพืชผัก