Search for:

ชื่อสามัญ มะละกอพันธุ์แขกดำศรีสะเกษ

ชื่อวิทยาศาสตร์ Carica papaya L.

ชื่ออื่นๆ   ก้วยลา (ยะลา), แตงต้น (สตูล), มะก้วยเทศ (ภาคเหนือ), มะเต๊ะ (มาเลย์-ปัตตานี), ลอกอ (ภาคใต้), บักหุ่ง (นครพนม-เลย)

ถิ่นกำเนิดและประวัติความเป็นมา

มะละกอพันธุ์ศรีสะเกษ 1 ได้จากการผสมข้ามระหว่างมะละกอพันธุ์แท้สร้างลูกผสม (F1)ในระหว่างปี พ.ศ. 2543-2548 จำนวน 11 คู่ผสม หลังจากนั้นได้เพาะเมล็ดลูกผสมชั่วรุ่นที่ 1 และนำไปปลูกคัดเลือกลูกผสม คลุมดอกเพื่อให้ผสมตัวเองและเก็บเมล็ดพันธุ์ชั่วรุ่นที่ 2 ปี พ.ศ. 2550-2552 ปลูกคัดเลือกมะละกอชั่วรุ่นที่ 2 คัดเลือกตันที่มีลักษณะดี จำนวน 20 สายพันธุ์ เก็บเมล็ดพันธุ์แยกต้นและนำมาปลูกแบบต้นต่อแถว จนกระทั่งถึงชั่วรุ่นที่ 5 สามารถคัดเลือกได้มะละกอสายพันธุ์ดีในปี พ.ศ. 2555 จำนวน 8 สายพันธุ์ จึงได้นำมะละกอสายพันธุ์ดีเหล่านี้ไปปลูกเปรียบเทียบและทดสอบพันธุ์ ในปี พ.ศ. 2557-2558 โดยปลูกทดสอบใน 3 แหล่งปลูก ได้แก่ ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาญจนบุรี พบว่ามะละกอพันธุ์ศรีสะเกษ 1 เป็นพันธุ์ใหม่ที่เหมาะสมสำหรับบริโภคผลสุกและแปรรูป มีการเจริญเติบโตดีและผลผลิตสูงกว่าพันธุ์แขกดำศรีสะเกษซึ่งเป็นพันธุ์เปรียบเทียบ

ลักษณะทั่วไป

ผลผลิตเฉลี่ยสูง ให้ผลผลิต 30.8 กิโลกรัม/ต้น สูงกว่าพันธุ์แขกดำศรีสะเกษซึ่งเป็นพันธุ์เปรียบเทียบร้อยละ 12 ผลขนาดใหญ่ น้ำหนักผล 1.8 กิโลกรัม เนื้อหนา 3.34 เซนติเมตร เหมาะสำหรับบริโภคสดและแปรรูปพันธุ์และการขยายพันธุ์

พันธุ์และการขยายพันธุ์

เพาะเมล็ด ปักชำ ติดตา ตอนกิ่ง แต่ส่วนมาจะนิยมใช้การเพาะเมล็ด เพราะทำได้ง่ายและสะดวก

วิธีการปลูก

การเพาะกล้ามะละกอ วัสดุเพาะกล้ามะละกอ ดินร่วนผสมกับแกลบเผาสัดส่วน 1:1 ปรับสภาพดิน โดยใช้ปูนขาวและปุยสูตร 15-15-15 อัตรา 1 กิโลกรัม/ดินปลูก 100 กิโลกรัม ผสมให้เข้ากัน บรรจุในถุงเพาะชำขนาด 4 x 6 นิ้ว คลุกเมล็ดพันธุ์มะละกอก่อนปลูกด้วยสารเมทาแลกซิลเพื่อป้องกันโรคเน่าคอดินหยอดเมล็ด (ลึก1 นิ้ว) ลงในถุงเพาะ 3-5 เมล็ด รดน้ำในช่วงเช้าวันละ 1 ครั้งเมล็ดจะงอกภายใน 10-14 วัน เมื่อต้นกล้ามีใบจริง 2-3 ใบ คัดเลือกเฉพาะต้นที่แข็งแรงไว้ถุงละ 3 ต้นเตรียมดินโดยการไถพรวนและตากดินอย่างน้อย 15 วัน เมื่อต้นกล้าอายุ 45 – 60 วันทำการย้ายลงปลูกในแปลง ระยะปลูก 2×2 เมตร ขุดหลุมกว้าง 50 ยาว 50 ลึก 50 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยคอก (5 กิโลกรัม) ปูนขาว (150 กรัม) และปุ๋ยสูตร 15-15-15 (5 กรัม) คลุกเคล้าส่วนผสมให้เข้ากันและเกลี่ยลงหลุมปลูก ปลูกต้นกล้าหลุมละ 3 ต้น รดน้ำให้ชุ่ม หากมีแดดจัดควรพรางแสงเพื่อช่วยให้มะละกอตั้งตัวได้เร็วมีอัตรารอดสูง หลังย้ายปลูก 30 วันสำรวจต้นตายเพื่อปลูกซ่อม

การดูแลรักษา

1.ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกหลังปลูกทุก 3 เดือน อัตรา 3-5 กิโลกรัม/ต้น

2.ปุ๋ยเคมีระยะเจริญเติบโตทางกิ่งใบ

หลังย้ายปลูก 1 เดือน ใส่ปุ๋ยเคมี 15-15-15 และ 46-0-0 สัดส่วน 3:1 อัตรา 50 กรัม/ต้น จากนั้นใส่ทุกเดือนๆละ 1 ครั้ง เดือนที่ 3 เพิ่มอัตราเป็น 100 กรัม/ต้น โดยวิธีการหว่านให้ห่างจากโคนต้น ประมาณ 15-20 เซนติเมตร แล้วใช้ดินกลบ หรือวัสดุกลบ

เริ่มออกดอกติดผล ใส่ปุ๋ยเคมี 12-24-12 อัตรา 100 กรัม/ต้น เดือนละครั้ง นอกจากนี้ควรให้ปุ๋ยทางใบเสริม สูตร 21-21-21 อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 15 วัน และควรผสมธาตุอาหารรองแคลเซียมโบรอน ไปพร้อมกับการฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ จะช่วยให้การผสมเกสรและการติดผลดีมากขึ้น

หลังติดผล ใส่ปุ๋ยเคมี 13-13-21 อัตรา 150 กรัมต่อต้น เดือนละครั้ง

หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตทั้งต้น ใส่ปุ๋ย 12-24-12 และ 46-0-0 สัดส่วน 3:1 อัตรา 150-200 กรัมต่อต้นต่อเดือน นอกจากนี้อาจให้ปุ๋ยทางใบที่ผสมธาตุอาหารรอง พ่นทุกสัปดาห์

การให้น้ำ และการระบายน้ำ

หลังปลูกมะละกอควรให้น้ำสม่ำเสมอ ในช่วงที่มะละกอออกดอกติดผล มะละกอต้องการน้ำมาก หากขาดน้ำจะทำให้ดอกร่วงผลไม่สมบูรณ์ การให้น้ำสม่ำเสมอจะทำให้ผลผลิตสูง ฤดูฝนจะต้องดูแลระบายน้ำไม่ให้มีน้ำขังบริเวณโคนต้นโดยการขุดร่องน้ำให้ลึกระบายน้ำได้ดี

การกำจัดวัชพืช

การกำจัดวัชพืชและพรวนดิน ควรปฏิบัติในขณะที่ต้นมะละกอยังเล็ก อายุไม่เกิน 6 เดือนและในช่วงที่มะละกอโตแล้วหรือมีอายุมากกว่า 6 เดือนขึ้นไปไม่ควรใช้วิธีการดายหญ้าหรือการพรวนดินรอบๆ โคนต้น

จะทำลายรากของมะละกอ ทำให้รากเป็นแผลเกิดติดเชื้อโรคแล้วทำให้เป็นโรครากและโคนเน่าได้ การกำจัดวัชพืชโดยการใช้สารเคมีในแปลงปลูกมะละกอส่วนมากไม่นิยมใช้กัน เนื่องจากต้น อาจเกิดอาการผิดปกติได้หามีความจำเป็นต้องใช้ควรจะใช้หลังจากมะละกอ มีอายุเกิน 6 เดือนไปแล้ว วิธีที่นิยมคือใช้วิธีการตัดหญ้าให้สิ้น

โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ

โรคพืช

1.โรคจุดวงแหวนมะละกอ มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส อาการเหลืองด่างที่ใบและจุดวงแหวนที่ผล การป้องกันกำจัดโดยการเฝ้าระวังการเกิดโรค ถ้าพบโรคต้องรีบทำลาย ปลูกมะละกอพันธุทนทานโรค รักษาความสะอาดของแปลง ดูแลบำรุงต้นมะละกอให้สมบูรณ์แข็งแรงจะช่วยให้ทนต่อโรคได้

2.โรคผลเน่าหรือโรคแอนแทรกโนส มีสาเหตุเกิดจากเชื้อราจะแสดงอาการเมื่อมะละกอเริ่มสุก ถ้าต้องการเก็บเกี่ยวผลสุกควรพ่นด้วยสารเคมีกำจัดเชื้อราในระยะผลอ่อนจนถึงเริ่มแก่ประมาณ 2-3 ครั้ง

3.โรครากเน่าโคนเน่า เกิดจากการทำลายของเชื้อร ทำให้เกิดอาการก้านใบตกเหี่ยวปลายรากเน่าหรือโคนต้นเน่า มักพบอาการดังกล่าวในช่วงที่มีฝนตกชุก ป้องกันได้โดยการรองก้นหลุมปลูกด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มาผสมปุ๋ยหมัก และถอนต้นและขุดดินรอบโคนต้นไปเผาทำลาย จากนั้นราดด้วยสารเคมีกำจัดเชื้อราป้องกันการแพร่กระจายไปยังต้นอื่น

แมลงศัตรู

1.ไรแดง พบระบาดในช่วงฤดูแล้ง เมื่อระบาดรุนแรง จะทำให้ใบแท้งกรอบและก้านร่วง ให้พ่นด้วยสารเคมีกำจัดไรแดง เช่น ไคโคโฟล ทุก 5 วันติดต่อกัน 3-4 ครั้ง

2.เพลี้ยไฟ พบทำลายมะละกอในระยะกำลังติดดอกติดผล ถ้าพบมากควรพ่นกำจัดด้วยสารเคมีกำจัดแมลง เช่น คาร์โบซัลแฟน อิมิดาคลอพริด อัตราตามคำแนะนำในฉลากโดยพ่นทุก 5 วันติดต่อกัน 3-4 ครั้ง

การใช้ประโยชน์

ใช้บริโภคผลสดและแปรรูป

แหล่งพืชอนุรักษ์

ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ

<<กลับไปหน้าฐานข้อมูลไม้ผล