Search for:

ชื่อสามัญ มะละกอพันธุ์แขกดำศรีสะเกษ

ชื่อวิทยาศาสตร์ Carica papaya L.

ชื่ออื่นๆ   ก้วยลา (ยะลา), แตงต้น (สตูล), มะก้วยเทศ (ภาคเหนือ), มะเต๊ะ (มาเลย์-ปัตตานี), ลอกอ (ภาคใต้), บักหุ่ง (นครพนม-เลย)

ถิ่นกำเนิดและประวัติความเป็นมา

มะละกอแขกดำศรีสะเกษ ได้จากการคัดเลือกพันธุ์และปรับปรุงพันธุ์สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้มีความบริสุทธิ์ของสายพันธุ์สูง ผลผลิตดี เหมาะสำหรับบริโภคทั้งดิบและสุก โดยการนำเอาเมล็ดพันธุ์มาจากจังหวัดราชบุรี และจังหวัดนครราชสีมา ปลูกและคัดเลือกตันพันธุ์แบบ Pure Line Selection ตั้งแต่ปี พศ. 2527 จนถึงชั่วที่ 4 ปี พ.ศ. 2533 จากนั้นจึงได้มีการผสมเปิดระหว่างสายพันธุ์คัด 7 สายพันธุ์ในชั่วที่ 5 ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2534 เป็นต้นมา

ลักษณะทั่วไป

ลำต้นเตี้ย อวบน้ำ ใบหยักสีเขียวเข้ม ก้านใบกลวง ดอกเกิดที่ข้อของลำตัน เริ่มออกดอกเมื่ออายุ 130 วันหลังปลูก ผิวผลดิบสีเขียวเข้ม ไม่เรียบ รูปร่างของผลในต้นกระเทยลักษณะยาวทรงกระบอกขนาด 27-35เซนติเมตร น้ำหนักผลเฉลี่ย 1.28 กิโลกรัมความหนาเนื้อ 2.0-2.3 เซนติเมตร เนื้อผลสุกสีแดงถึงแดงส้ม เนื้อละเอียดเหนียว รสหวาน เก็บเกี่ยวผลดิบเมื่ออายุ 3-4 เดือน หลังดอกบาน และผลสุกเมื่ออายุ 5-6 เดือน ผลดก ผลผลิตเฉลี่ย 52.2 กิโลกรัมต่อตันต่อปี ติดผลเร็ว มีความบริสุทธิ์ของสายพันธุ์สูงกว่าพันธุ์แขกดำทั่วไปที่เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์เองทนทานต่อโรคใบจุดวงแหวนในระยะตันกล้าปานกลาง

พันธุ์และการขยายพันธุ์

เพาะเมล็ด ปักชำ ติดตา ตอนกิ่ง แต่ส่วนมาจะนิยมใช้การเพาะเมล็ด เพราะทำได้ง่ายและสะดวก

วิธีการปลูก

การเพาะเมล็ด เตรียมดินสำหรับเพาะเมล็ดพันธุ์มะละกอ โดยใช้อัตราส่วนระหว่าง ปุ๋ยอินทรีย์ต่อแกลบดำ ในอัตราส่วน 5:1 หรือ ดินปลูกต่อแกลบดำต่อดินทรายต่อปุ้ยคอกจากมูลวัวในอัตราส่วน 3.3:2:2 เพาะใส่ถุงหรือกระบะเพาะกล้า 3-5 เมล็ดต่อถุงแล้วคลุมถุงเพาะกล้าด้วยผ้าบางแล้วรดน้ำพอให้ดินชุ่มวันละ 1-3 ครั้ง โดยการเพาะต้นกล้ามะละกอแบบนี้ควรอยู่ใต้หลังคาพลาสติกใสหรือแสลน เพื่อป้องกันฝนและแสงแดดที่มากเกินไป หลังเพาะกล้าไม่เกิน 15 วันเมล็ดจะงอก จึงเปิดผ้าคลุมออกและดูแลต้นกล้าจนกระทั้งมีใบจริงประมาณ 5-6 ใบ หรือกล้ามะละกอมีอายุ 30-60 วัน จึงย้ายปลูกลงแปลง

การเตรียมดิน โดยการไถตากแดดทิ้งจนแห้ง ตากดินไว้ประมาณ 5-7 วัน แล้วจึงไถพรวนย่อยดิน จากนั้นยกร่องแปลงให้มีขนาดกว้าง 1.5 เมตร สูง 50 เซนติเมตร แล้วขุดหลุมลึกประมาณ 50 เชนติเมตร โดยให้มีระยะห่างระหว่างตัน 3 x 3 เมตร (ไร่ละ 177 ต้น)ถ้าระยะระหว่างตัน 2.5 x 2.5 เมตร (ไร่ละ 256 ตัน) การปลูกมะละกอในพื้นที่ที่มีการปลูกพืชอื่นแซมด้วย พบว่าระยะปลูกมะละกอจะไม่มีระยะที่แน่นอนขึ้นอยู่กับแปลงของพืชหลักชนิดนั้น หรือตามความเหมาะสมอายุกล้าที่เหมาะสมในการย้ายปลูก 30-60 วัน โดยเฉลี่ยจะปลูกมะละกอ 3 ต้นต่อหลุมและก่อนการย้ายปลูกควรรองกันหลุมด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์ ใบไม้ผุ และปุ๋ยร็อคฟอสเฟต (0-3-0) แล้วจึงกลบดินลงหลุม

การดูแลรักษา

1.ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกหลังปลูกทุก 3 เดือน อัตรา 3-5 กิโลกรัม/ต้น

2.ปุ๋ยเคมีระยะเจริญเติบโตทางกิ่งใบ

หลังย้ายปลูก 1 เดือน ใส่ปุ๋ยเคมี 15-15-15 และ 46-0-0 สัดส่วน 3:1 อัตรา 50 กรัม/ต้น จากนั้นใส่ทุกเดือนๆละ 1 ครั้ง เดือนที่ 3 เพิ่มอัตราเป็น 100 กรัม/ต้น โดยวิธีการหว่านให้ห่างจากโคนต้น ประมาณ 15-20 เซนติเมตร แล้วใช้ดินกลบ หรือวัสดุกลบ

เริ่มออกดอกติดผล ใส่ปุ๋ยเคมี 12-24-12 อัตรา 100 กรัม/ต้น เดือนละครั้ง นอกจากนี้ควรให้ปุ๋ยทางใบเสริม สูตร 21-21-21 อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 15 วัน และควรผสมธาตุอาหารรองแคลเซียมโบรอน ไปพร้อมกับการฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ จะช่วยให้การผสมเกสรและการติดผลดีมากขึ้น

หลังติดผล ใส่ปุ๋ยเคมี 13-13-21 อัตรา 150 กรัมต่อต้น เดือนละครั้ง

หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตทั้งต้น ใส่ปุ๋ย 12-24-12 และ 46-0-0 สัดส่วน 3:1 อัตรา 150-200 กรัมต่อต้นต่อเดือน นอกจากนี้อาจให้ปุ๋ยทางใบที่ผสมธาตุอาหารรอง พ่นทุกสัปดาห์

การให้น้ำ และการระบายน้ำ

หลังปลูกมะละกอควรให้น้ำสม่ำเสมอ ในช่วงที่มะละกอออกดอกติดผล มะละกอต้องการน้ำมาก หากขาดน้ำจะทำให้ดอกร่วงผลไม่สมบูรณ์ การให้น้ำสม่ำเสมอจะทำให้ผลผลิตสูง ฤดูฝนจะต้องดูแลระบายน้ำไม่ให้มีน้ำขังบริเวณโคนต้นโดยการขุดร่องน้ำให้ลึกระบายน้ำได้ดี

การกำจัดวัชพืช

การกำจัดวัชพืชและพรวนดิน ควรปฏิบัติในขณะที่ต้นมะละกอยังเล็ก อายุไม่เกิน 6 เดือนและในช่วงที่มะละกอโตแล้วหรือมีอายุมากกว่า 6 เดือนขึ้นไปไม่ควรใช้วิธีการดายหญ้าหรือการพรวนดินรอบๆ โคนต้น

จะทำลายรากของมะละกอ ทำให้รากเป็นแผลเกิดติดเชื้อโรคแล้วทำให้เป็นโรครากและโคนเน่าได้ การกำจัดวัชพืชโดยการใช้สารเคมีในแปลงปลูกมะละกอส่วนมากไม่นิยมใช้กัน เนื่องจากต้น อาจเกิดอาการผิดปกติได้หามีความจำเป็นต้องใช้ควรจะใช้หลังจากมะละกอ มีอายุเกิน 6 เดือนไปแล้ว วิธีที่นิยมคือใช้วิธีการตัดหญ้าให้สิ้น

โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ

โรคพืช

1.โรคจุดวงแหวนมะละกอ มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส อาการเหลืองด่างที่ใบและจุดวงแหวนที่ผล การป้องกันกำจัดโดยการเฝ้าระวังการเกิดโรค ถ้าพบโรคต้องรีบทำลาย ปลูกมะละกอพันธุทนทานโรค รักษาความสะอาดของแปลง ดูแลบำรุงต้นมะละกอให้สมบูรณ์แข็งแรงจะช่วยให้ทนต่อโรคได้

2.โรคผลเน่าหรือโรคแอนแทรกโนส มีสาเหตุเกิดจากเชื้อราจะแสดงอาการเมื่อมะละกอเริ่มสุก ถ้าต้องการเก็บเกี่ยวผลสุกควรพ่นด้วยสารเคมีกำจัดเชื้อราในระยะผลอ่อนจนถึงเริ่มแก่ประมาณ 2-3 ครั้ง

3.โรครากเน่าโคนเน่า เกิดจากการทำลายของเชื้อร ทำให้เกิดอาการก้านใบตกเหี่ยวปลายรากเน่าหรือโคนต้นเน่า มักพบอาการดังกล่าวในช่วงที่มีฝนตกชุก ป้องกันได้โดยการรองก้นหลุมปลูกด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มาผสมปุ๋ยหมัก และถอนต้นและขุดดินรอบโคนต้นไปเผาทำลาย จากนั้นราดด้วยสารเคมีกำจัดเชื้อราป้องกันการแพร่กระจายไปยังต้นอื่น

แมลงศัตรู

1.ไรแดง พบระบาดในช่วงฤดูแล้ง เมื่อระบาดรุนแรง จะทำให้ใบแท้งกรอบและก้านร่วง ให้พ่นด้วยสารเคมีกำจัดไรแดง เช่น ไคโคโฟล ทุก 5 วันติดต่อกัน 3-4 ครั้ง

2.เพลี้ยไฟ พบทำลายมะละกอในระยะกำลังติดดอกติดผล ถ้าพบมากควรพ่นกำจัดด้วยสารเคมีกำจัดแมลง เช่น คาร์โบซัลแฟน อิมิดาคลอพริด อัตราตามคำแนะนำในฉลากโดยพ่นทุก 5 วันติดต่อกัน 3-4 ครั้ง

การใช้ประโยชน์

ใช้บริโภคผลสดและแปรรูป

แหล่งพืชอนุรักษ์

ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ

<<กลับไปหน้าฐานข้อมูลไม้ผล