ชื่อสามัญ มะละกอพันธุ์ฮอลแลนด์ศรีสะเกษ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Carica papaya L.
ชื่ออื่นๆ ก้วยลา (ยะลา), แตงต้น (สตูล), มะก้วยเทศ (ภาคเหนือ), มะเต๊ะ (มาเลย์-ปัตตานี), ลอกอ (ภาคใต้), บักหุ่ง (นครพนม-เลย)
ถิ่นกำเนิดและประวัติความเป็นมา
มะละกอฮอลแลนด์เป็นมะละกอเพื่อรับประทานสุกที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคสูง แต่ปัญหาของมะละกอฮอลแลนด์ คือ ขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ดี และพันธุ์ราคาแพง ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงและคุณภาพผลผลิตต่ำ ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ กรมวิชาการเกษตร จึงได้ทำการปรับปรุงพันธุ์มะละกอฮอลแลนด์สายพันธุ์แท้ ที่ให้ผลผลิตสูงมากกว่าพันธุ์การค้า ออกดอกติดผลเร็ว ต้นเตี้ย ผลเป็นทรงกระบอกเพื่อลดความเสียหายจากการขนส่ง เนื้อมีสีส้มแดงสวยงาม และมีคุณภาพดีสม่ำเสมอ เพื่อให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคและเกษตรกร นอกจากนี้ยังต้องมีความสม่ำเสมอของพันธุ์ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อปลูกในปีต่อไปได้ ช่วยลดต้นทุนการผลิตด้านเมล็ดพันธุ์ และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้เกษตรกรต่อไปโดยได้เสนอเป็นพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตรในปี 2562 ใช้ชื่อว่า “มะละกอฮอลแลนด์พันธุ์ศรีสะเกษ”
ลักษณะทั่วไป
ผลผลิตสูง ให้ผลผลิตเฉลี่ย 24.5 กิโลกรัม/ต้น สูงกว่าพันธุ์การค้า ร้อยละ 34.7 ต้นเตี้ย เก็บเกี่ยวสะดวก ความสูงถึงปลายยอด 128 เซนติเมตร สูงน้อยกว่าพันธุ์การค้าร้อยละ 4.5 เส้นผ่าศูนย์กลางลำต้นใหญ่ แข็งแรงและสมดุลที่จะรับน้ำหนักผลผลิตได้มาก มีเส้นผ่าศูนย์กลางลำต้น 4.7 เซนติเมตร ใหญ่กว่าพันธุ์การค้าร้อยละ 17 เก็บเกี่ยวผลผลิตเร็ว โดยเก็บเกี่ยวผลผลิตหลังจากปลูก 209 วัน เร็วกว่าพันธุ์การค้า 46 วัน ความหนาเนื้อ เฉลี่ย 3.0 เซนติเมตร หนากว่าพันธุ์การค้า ร้อยละ 16.7 สีเนื้อสีส้มอมแดง (O-R N30 A) สีเข้มกว่าพันธุ์การค้า (O N25 A)
พันธุ์และการขยายพันธุ์
เพาะเมล็ด ปักชำ ติดตา ตอนกิ่ง แต่ส่วนมาจะนิยมใช้การเพาะเมล็ด เพราะทำได้ง่ายและสะดวก
วิธีการปลูก
การเพาะกล้ามะละกอ วัสดุเพาะกล้ามะละกอ ดินร่วนผสมกับแกลบเผาสัดส่วน 1:1 ปรับสภาพดิน โดยใช้ปูนขาวและปุยสูตร 15-15-15 อัตรา 1 กิโลกรัม/ดินปลูก 100 กิโลกรัม ผสมให้เข้ากัน บรรจุในถุงเพาะชำขนาด 4 x 6 นิ้ว คลุกเมล็ดพันธุ์มะละกอก่อนปลูกด้วยสารเมทาแลกซิลเพื่อป้องกันโรคเน่าคอดินหยอดเมล็ด (ลึก1 นิ้ว) ลงในถุงเพาะ 3-5 เมล็ด รดน้ำในช่วงเช้าวันละ 1 ครั้งเมล็ดจะงอกภายใน 10-14 วัน เมื่อต้นกล้ามีใบจริง 2-3 ใบ คัดเลือกเฉพาะต้นที่แข็งแรงไว้ถุงละ 3 ต้น
เตรียมดินโดยการไถพรวนและตากดินอย่างน้อย 15 วัน เมื่อต้นกล้าอายุ 45 – 60 วันทำการย้ายลงปลูกในแปลง ระยะปลูก 2×2 เมตร ขุดหลุมกว้าง 50 ยาว 50 ลึก 50 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยคอก (5 กิโลกรัม) ปูนขาว (150 กรัม) และปุ๋ยสูตร 15-15-15 (5 กรัม) คลุกเคล้าส่วนผสมให้เข้ากันและเกลี่ยลงหลุมปลูก ปลูกต้นกล้าหลุมละ 3 ต้น รดน้ำให้ชุ่ม หากมีแดดจัดควรพรางแสงเพื่อช่วยให้มะละกอตั้งตัวได้เร็วมีอัตรารอดสูง หลังย้ายปลูก 30 วันสำรวจต้นตาย เพื่อปลูกซ่อม
การดูแลรักษา
ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรปล่อยให้ขาดน้ำเพราะต้นมะละกออาจชะงักการเจริญเติบโต หากขาดน้ำช่วงออกดอก-ติดผลอาจทำให้ดอกและผลร่วง ในช่วงฝนตก หนัก ไม่ควรให้เกิดน้ำขังที่โคนต้นเพราะอาจทำให้รากขาดอากาศรากเน่าและเหี่ยว ตายในที่สุด ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ เพื่อบำรุงต้น
โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ
โรคพืช
1.โรคจุดวงแหวนมะละกอ มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส อาการเหลืองด่างที่ใบและจุดวงแหวนที่ผล การป้องกันกำจัดโดยการเฝ้าระวังการเกิดโรค ถ้าพบโรคต้องรีบทำลาย ปลูกมะละกอพันธุทนทานโรค รักษาความสะอาดของแปลง ดูแลบำรุงต้นมะละกอให้สมบูรณ์แข็งแรงจะช่วยให้ทนต่อโรคได้
2.โรคผลเน่าหรือโรคแอนแทรกโนส มีสาเหตุเกิดจากเชื้อราจะแสดงอาการเมื่อมะละกอเริ่มสุก ถ้าต้องการเก็บเกี่ยวผลสุกควรพ่นด้วยสารเคมีกำจัดเชื้อราในระยะผลอ่อนจนถึงเริ่มแก่ประมาณ 2-3 ครั้ง
3.โรครากเน่าโคนเน่า เกิดจากการทำลายของเชื้อร ทำให้เกิดอาการก้านใบตกเหี่ยวปลายรากเน่าหรือโคนต้นเน่า มักพบอาการดังกล่าวในช่วงที่มีฝนตกชุก ป้องกันได้โดยการรองก้นหลุมปลูกด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มาผสมปุ๋ยหมัก และถอนต้นและขุดดินรอบโคนต้นไปเผาทำลาย จากนั้นราดด้วยสารเคมีกำจัดเชื้อราป้องกันการแพร่กระจายไปยังต้นอื่น
แมลงศัตรู
1.ไรแดง พบระบาดในช่วงฤดูแล้ง เมื่อระบาดรุนแรง จะทำให้ใบแท้งกรอบและก้านร่วง ให้พ่นด้วยสารเคมีกำจัดไรแดง เช่น ไคโคโฟล ทุก 5 วันติดต่อกัน 3-4 ครั้ง
2.เพลี้ยไฟ พบทำลายมะละกอในระยะกำลังติดดอกติดผล ถ้าพบมากควรพ่นกำจัดด้วยสารเคมีกำจัดแมลง เช่น คาร์โบซัลแฟน อิมิดาคลอพริด อัตราตามคำแนะนำในฉลากโดยพ่นทุก 5 วันติดต่อกัน 3-4 ครั้ง
การใช้ประโยชน์
ใช้บริโภคผลสดและแปรรูป
แหล่งพืชอนุรักษ์
ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ