Search for:

ชื่อสามัญ เงาะพันธุ์เจ๊ะโมง  (Rambutan)

ชื่อวิทยาศาสตร์  Nephelium lappaceum Linn.

ชื่ออื่นๆ  เงาะป่า, พรวน, กะเมาะแต, มอแต, อาเมาะแต

ถิ่นกำเนิดและประวัติความเป็นมา

เป็นไม้ผลยืนต้นเมืองร้อน มีถิ่นกำเนิดในประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ต่อมามีการนิยมปลูกเงาะกันมากขึ้นในประเทศออสเตรเลีย และฮอนดูรัส สามารถเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีความชุ่มชื้นสูง เช่น ภาคตะวันออกและทางภาคใต้ของประเทศไทย เป็นต้น ส่วนใหญ่มักปลูกไว้เพื่อบริโภคในครัวเรือน หรือจำหน่ายในเชิงการค้า

ลักษณะทั่วไป

เงาะพันธุ์เจ๊ะโมง ความสูงต้น ตั้งแต่ 8.50-9.00 เมตร ลักษณะใบของเงาะ ประกอบด้วย 5 ลักษณะ คือ ใบย่อยมีการเรียงตัวกับแบบสลับ รูปร่างใบย่อย จะมีทั้งแบบ Obovate และ Elliptic บริเวณปลายใบมีทั้งแบบ Acuminate และ Obtuse ลักษณะฐานใบเป็นแบบ Cuneate สีของใบแก่เมื่อวัดกับแผ่นเทียบสีมาตรฐาน อยู่ระหว่างกลุ่ม green group 136A-137A เมื่อมีการเก็บบันทึกลักษณะผลในช่วงผลสุก พบว่า ผลมีสีในกลุ่ม red group 42A-46B ส่วนขนสีมีลักษณะที่ต่างกัน ได้แก่ ขนสี green yellow group 1A ขนสี yellow green group 144B และมีสีขนแบ่งเป็น 2 สี ซึ่งบริเวณโคน red group 42A และบริเวณปลายขน yellow green group 150A ขนาดของผล มีขนาดตั้งแต่ 11.56-19.05 เซนติเมตร ความหนาเปลือก ตั้งแต่ 0.32-0.43 เซนติเมตร ความหนาเนื้อ ตั้งแต่ 0.53-0.68 เซนติเมตร และขนาดเมล็ด ตั้งแต่ 2.83-3.69 เซนติเมตร โดยลักษณะเนื้อผลมีทั้งสีขาวใส และขาวขุ่น ส่วนการวิเคราะห์ของแข็งทั้งหมดที่ละลายได้ ตั้งแต่ 15.83-19.63 oBrix เมื่อมีการชิมรสชาติ พบว่า มีความหวาน และหวานอมเปรี้ยว นอกจากนี้ ลักษณะเด่น คือ เนื้อผลค่อยข้างเหนียว ลูกเล็กกลม เนื้อบางกรอบ และเนื้อล่อนเมล็ด

พันธุ์และการขยายพันธุ์

สามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด การตอน การทาบกิ่ง และการติดตา เงาะเป็นพืชที่ชอบอากาศร้อนชื้น ปลูกได้ดีในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิระหว่าง 25-30 องศาเซลเซียส ดินปลูกมีค่าความเป็นกรด-ด่าง อยู่ระหว่าง 5.5-6.5 แหล่งปลูกควรมีปริมาณน้ำให้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี

วิธีการปลูก

การเตรีมหลุมปลูกขนาด 50×50×50 ซม. รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์ที่หมักตัวสมบูรณ์แล้ว ระยะปลูกระหว่างแถว 6-8 ม.

การดูแลรักษา

วิธีการปลูก

ไถพรวนตากดิน กำจัดวัชพืชและปรับพื้นที่ให้เรียบ ขุดร่องเพื่อให้สามารถระบายน้ำได้ดี ใช้หลุมปลูกขนาดความกว้างxยาวxลึก 50x50x50 เซนติเมตร ใช้ระยะห่างระหว่างต้นและแถว 6-8 เมตร ในพื้นที่ 1 ไร่ จะได้ต้นเงาะประมาณ 25-40 ต้น ก่อนปลูกควรรองก้นหลุมด้วยหินฟอสเฟต อัตรา 500 กรัม และปุ๋ยคอก อัตรา 5 กิโลกรัม ผสมคลุกเคล้ากับดินปลูกให้เข้ากันดี นำกิ่งพันธุ์ที่มีระบบรากสมบูรณ์และแข็งแรงวางลงไป กลบดินให้สูงกว่าปากหลุมประมาณ 1 นิ้ว หรือไม่ให้เกินรอยแผลที่ติดตา ปักไม้ข้างลำต้นและผูกยึดติดกันไว้เพื่อป้องกันการหักล้มเสียหาย แล้วรดน้ำให้ชุ่ม ฤดูปลูกที่เหมาะสมจะอยู่ในช่วงเดือนเมษายน

การดูแลรักษา

ควรทำความสะอาดพื้นที่ปลูกและตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง ให้อากาศถ่ายเทได้ดีอยู่เสมอ เพื่อสะดวกในการดูแลรักษา และควรมีการใส่ปุ๋ยบำรุงลำต้นตามระยะพัฒนาการ ดังนี้

– ระยะก่อนให้ผลผลิต ควรใส่ปุ๋ยคอก อัตรา 3 กิโลกรัม สลับกับปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 อัตรา 1-1.5 กิโลกรัม โดยแบ่งใส่ปุ๋ยออกเป็น 4 ครั้ง/ปี

– ระยะก่อนออกดอก ควรใส่ปุ๋ยเพื่อให้มีการแทงช่อดอกได้ดีขึ้นด้วยปุ๋ยเคมี สูตร 8-24-24 หรือ 9-24-24 ในอัตราต้นละ 2-3 กิโลกรัม

– ระยะติดผล ควรใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 โรยรอบๆ ทรงพุ่ม ในอัตราต้นละ 1-2 กิโลกรัม รดน้ำพอชุ่ม กลบดินทับบางๆ

– หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต ควรใส่ปุ๋ยคอก อัตรา 3-5 กิโลกรัม และใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 2-3 กิโลกรัม โดยขุดหลุมตื้นๆ รอบทรงพุ่มแล้วโรยปุ๋ยลงไป ใช้ดินกลบให้มิดชิด รดน้ำพอชุ่ม

นอกจากนี้ ควรมีการให้น้ำแก่เงาะ ซึ่งในระยะเริ่มแรกควรมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอจนกว่าจะตั้งตัวได้ต่อจากนั้นให้ในทุกๆ 7-10 วัน ในช่วงปลายฤดูฝนอยู่ในช่วงติดดอก เป็นช่วงที่มีการต้องการน้ำในปริมาณน้อยอาจให้ได้ในปริมาณน้อยๆ ในระยะที่ติดผลแล้วควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรให้เงาะขาดน้ำ เพราะการขาดน้ำทำให้ผลมีขนาดเล็ก ลีบ และเปลือกหนา และช่วงใกล้การเก็บเกี่ยวหากขาดน้ำจะทำให้ผลแตกเสียหาย

โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ

 โรค

  1. รคราแป้ง (Powdery mildew) เชื้อสาเหตุเกิดจากเชื้อรา Pseudoidium nephelii ลักษณะอาการ มีผงสีขาวหรือสีเทาอ่อนคล้ายแป้งปกคลุมช่อดอก และตามร่องขนของผล ทำให้ติดผลน้อยหรือไม่ติดผล ผลขนาดเล็กไม่สมบูรณ์ หลุดร่วงง่าย หรือเน่า แห้งติดคาที่ก้านช่อ ในระยะผลโต ขนที่ผลแห้ง แข็ง ผิวผลสีคล่ำไม่สม่ำเสมอ ถ้าอาการรุนแรง ทำให้ขนกุด อาจพบอาการที่ส่วนยอดและใบ หากอาการรุนแรง ทำให้ใบอ่อนร่วง มักแพร่ระบาดในช่วงอากาศเย็นและชื้น ช่วงแตกใบอ่อน ออกดอก หรือช่วงติดผลอ่อน

การป้องกัน 

  1. ระยะปลูกไม่ควรชิดกันมากเกินไป ทำให้ทรงพุ่มชนกัน เกิดการแพร่ระบาดของโรคได้ง่าย
  2. ตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่งเพื่อลดความชื้นสะสม ได้รับแสงสว่างและอากาศถ่ายเทได้ดี
  3. กำจัดวัชพืชในแปลงปลูกเพื่อลดแหล่งสะสมของเชื้อโรค
  4. เก็บผลเงาะที่เป็นโรค ใบแห้งกิ่งแห้งที่ร่วงหล่นมาเผาทำลาย
  5. ทำความสะอาดเครื่องมือทางการเกษตรก่อนนำกลับไปใช้ในแปลงทุกครั้ง

การควบคุมด้วยชีววิธี

  1. เก็บผลเงาะ ใบและกิ่งที่เป็นโรคหรือร่วงหล่น มาเผาทำลาย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ
  2. ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา อัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร กรองเอาเฉพาะน้ำสปอร์ ผสมสารจับใบพ่นให้ทั่วทรงพุ่มในช่วงเวลาเย็น จำนวน 2-3 ครั้งทุก 5-7 วัน

การควบคุมด้วยสารเคมี

  1. หากพบการเข้าทำลายช่วงแตกใบอ่อน พ่นด้วยกำมะถันผง อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นในช่วงเช้าหรือเย็น ห้ามฉีดพ่นในขณะที่อากาศร้อน เพราะจะทำให้ขนอ่อนของเงาะไหม้ได้
  2. หากพบการเข้าทำลายช่วงระยะผลอ่อน พ่นด้วยสารเคมี เช่น benomyl 50% WP อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร carbendazim 50% SC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
  3. โรคราดำ (Sooty mold) เชื้อสาเหตุเกิดจากเชื้อรา Capnodium sp. และ Meliola sp. ลักษณะอาการ ใบ กิ่ง ช่อดอก และช่อผล มีลักษณะเป็นคราบเขม่าหรือฝุ่นผงสีดำขึ้นเจริญปกคลุม หากติดตามช่อดอกหรือผล จะทำให้ดอกผิดปกติเหี่ยวหรือร่วง ผลอ่อนร่วง ใบสังเคราะห์แสงได้น้อยลง เส้นใยและสปอร์เชื้อราแพร่กระจายโดยลมและน้ำ เชื้อราอาศัยน้ำหวานที่แมลงปากดูด เช่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง ขับถ่ายออกมาใช้ในการเจริญขึ้นปกคลุมเซลล์เนื้อเยื่อบริเวณนั้น

 การป้องกัน

  1. กำจัดวัชพืชในแปลงปลูกโดยนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อลดความชื้นสะสม ไม่ให้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการระบาดของโรค และทำลายแหล่งอาศัยของแมลงปากดูด
  2. ตัดแต่งกิ่ง เพื่อลดปริมาณมด ซึ่งเป็นหาพาหะในการแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้ง เพลี้ยอ่อน
  3. นำเศษผ้าชุบน้ำมันเครื่องผูกรอบโคนต้น ป้องกันมดและเพลี้ยแป้งที่อาศัยอยู่ในดินไต่ขึ้นมาบนต้น
  4. ทำความสะอาดเครื่องมือทางการเกษตรด้วยการล้างและผึ่งแดดให้แห้งก่อนนำกลับไปใช้ในแปลงทุกครั้ง

การควบคุมด้วยชีววิธี

  1. ฉีดพ่นด้วยน้ำเปล่าล้างคราบราดำที่ติดตามส่วนต่างๆ ของต้นโดยเฉพาะช่วงติดผลอ่อน
  2. ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา อัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร กรองเอาเฉพาะน้ำสปอร์ ผสมสารจับใบ พ่นให้ทั่วทรงพุ่มในช่วงเวลาเย็น จำนวน 2-3 ครั้งทุก 5-7 วัน

การควบคุมด้วยสารเคมี

  1. หากพบเพลี้ยแป้งหรือ เพลี้ยอ่อนให้พ่นด้วยสารเคมีกำจัดแมลง โดยหลีกเลี่ยงการพ่นสารในช่วงที่ดอกเงาะบานหรือเริ่มติดผลอ่อน เช่น

– carbaryl 85% WP อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

– imidacloprid 10% SL อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

  1. พ่นสารเคมีกำจัดเชื้อรา เช่น mancozeb 80% WP อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
  2. โรคใบจุดสาหร่าย (Algal spot) สาเหตุเกิดจากสาหร่ายสีเขียว Cephaleuros virescens Kunze ลักษณะอาการ เกิดขึ้นได้ที่ใบและกิ่ง ใบเป็นจุดหรือดวงสีเทา อ่อนปนเขียว ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีแดงสนิม เหล็ก ขอบของจุดมีลักษณะเป็นแฉกๆ ไม่เรียบ ลักษณะคล้ายกำมะหยี่ ทำให้พื้นที่สังเคราะห์แสงของใบลดลงและยังดูดน้ำเลี้ยงทำให้ใบซีดเหลือง และร่วงในที่สุด อาการบน กิ่งหรือลำต้น จะคล้ายกับอาการที่เกิดบนใบทำให้เปลือกเสียและอาจแตกร่อน แพร่ระบาดโดยสปอร์ปลิวไปตามลมและน้ำช่วงฤดูฝนหรือในพื้นที่ที่มีความชื้นสูง

การป้องกัน

  1. ระยะปลูกไม่ควรชิดกันมากเกินไป ทำให้ทรงพุ่มชนกัน เกิดการแพร่ระบาดของโรคได้ง่าย
  2. ตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่งเพื่อลดความชื้นสะสม ได้รับแสงสว่าง และอากาศถ่ายเทได้ดี
  3. รักษาความสะอาดของแปลง เช่น กำจัดใบที่ร่วงหล่นบนพื้นไปเผาทำลายหรือฝังดินนอกแปลงหรือกำจัดวัชพืชเพื่อไม่ให้เกิดการสะสมของเชื้อโรคพืช

การควบคุมด้วยชีววิธี

  1. ตัดแต่งกิ่งที่พบโรค หรือใบที่ร่วงนำไปเผาทำลายหรือฝังดินนอกแปลง
  2. ถ้าพบอาการเป็นกับกิ่งใหญ่อาจใช้สีทาทับบริเวณที่เป็นโรคหรือใช้ปูนแดงทา

การควบคุมด้วยสารเคมี

  1. พ่นสารเคมีให้ทั่วทรงพุ่ม เช่น copper oxychloride 85% WP อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

แมลง

  1.  หนอนเจาะขั้วผลเงาะ (Cocoa pod borer) ชื่อวิทยาศาสตร์ Conopomorpha cramerella (Snellen) รูปร่างลักษณะตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่ที่ผลเงาะ ไข่กลมรี อายุ 2-7 วัน ตัวหนอนสีขาว หัวสีน้ำตาลอ่อน อายุ 14-18 วัน เข้าดักแด้โดยไต่ออกมาจากผลและหาที่เหมาะสม นาน 6 – 8 วัน ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก ปีกคู่หน้าเรียวยาว สีน้ำตาลดำ ปลายปีกสีเหลือง มีลวดลายสีขาว และมีขนที่ขอบปีกล่าง ปีกคู่หลังเล็กเรียวขนาดสั้นกว่าปีกหน้าและมีขนยาวโดยรอบ ลักษณะการเข้าทำลายหนอนจะเจาะเข้าไปในผลเงาะบริเวณขั้วผล หรือต่ำกว่าขั้วลงมาเล็กน้อย บางครั้งอาจทำลายถึงเนื้อและเมล็ด ไม่สามารถสังเกตได้จากลักษณะภายนอก เมื่อรับประทานผลเงาะจึงจะพบหนอน

การป้องกัน

  1. เก็บเกี่ยวในระยะที่ผลเริ่มเปลี่ยนสีไม่สุกเกินไป เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าทำลายของหนอนเจาะขั้วผล
  2. เก็บผลเงาะที่ถูกทำลายและร่วงหล่นนำไปฝังดิน หรือเผาเพื่อป้องกันการระบาดในฤดูต่อไป
  3. อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ เช่น ด้วงเต่าตัวห้ำ (Stethorus sp.) แมงมุมใยกลม (Araneidae) แมงมุมตาหกเหลี่ยม (Oxyopidae)

            การควบคุมด้วยชีววิธี

  1. ใช้สารสกัดสะเดา โดยนำเมล็ดสะเดาบด 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 20 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 1 คืน แล้วนำไปกรองด้วยผ้าขาวบาง จากนั้นนำสารสะเดาที่ได้ผสมกับสารจับใบไปฉีดพ่น

            การควบคุมด้วยสารเคมี

  1. ใช้สารเคมี เช่น carbaryl 85% WP อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นเมื่อสำรวจพบหนอนเจาะขั้วผลเงาะในระยะผลเริ่มเปลี่ยนสี และพ่นซ้ าซ้ำหากยังพบการเข้าทำลาย
  2. เพลี้ยไฟพริก (Chilli thrips) ชื่อวิทยาศาสตร์ Scirtothrips dorsalis (Hood) รูปร่างลักษณะไข่มีอายุ 3-4 วัน ตัวอ่อนอายุ 4-7 วัน ระยะก่อนเข้าดักแด้จะไม่ค่อยเคลื่อนไหว ตัวเต็มวัยมีปีก 2 คู่ ประกอบด้วยขนเป็นแผง ลำตัวแคบยาว 1-2 มิลลิลิตร สีเหลืองอ่อน ลักษณะการเข้าทำลาย ดูดกินน้ำเลี้ยงจากดอกทำให้ดอกแห้งและร่วง ส่วนผลอ่อนที่ถูกทำลายที่ขนจะเป็นรอยสะเก็ดแห้งสีน้ำตาล ปลายขนม้วนหงิกงอและแห้ง

การป้องกัน

  1. ตัดแต่งทรงพุ่ม
  2. กำจัดวัชพืชภายในแปลง เพื่อกำจัดแหล่งอาศัยของศัตรูพืช
  3. อากาศแห้งแล้ง ให้ใช้น้ำฉีดพ่นเพื่อปรับสภาพแวดล้อมไม่ให้เหมาะสมต่อการเจริญของเพลี้ยไฟ
  4. อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ เช่น ด้วงเต่าตัวห้ำ (Stethorus sp.) แมงมุมใยกลม (Araneidae) แมงมุมตาหกเหลี่ยม (Oxyopidae)

การควบคุมด้วยชีววิธี

  1. ตัดใบอ่อน ช่อดอก และผลที่ถูกทำลายเผาทิ้งนอกแปลง
  2. พ่นเชื้อราบิวเวอเรีย อัตรา 250 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมสารจับใบ บริเวณใบอ่อน ช่อดอก และผลทุก 3-7 วัน ในช่วงเวลาเย็น

การควบคุมด้วยสารเคมี

  1. พ่นสารเคมีเมื่อพบเพลี้ยไฟระบาดในระยะเริ่มแทงช่อดอก และพ่นซ้ำหากยังพบการระบาด โดยเลือกใช้ชนิดใดชนิดหนึ่ง เช่น

– spinetoram 12% SC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

– emamectin benzoate 1.92% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

– fipronil 5% SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

การใช้ประโยชน์

เงาะเป็นผลไม้ที่มีรสหวาน หรือหวานอมเปรี้ยว หอม กรอบ อร่อย ใช้รับประทานเป็นผลไม้สด มีสารอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น น้ำตาล วิตามินซี วิตามินบี1/บี2 คาร์โบไฮเดรต โปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก แทนนิน และไนอาซีน สามารถช่วยแก้อาการท้องร่วงรุนแรงได้ ใช้ต้มน้ำทำเป็นยาแก้อักเสบ ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย รักษาอาการอักเสบในช่องปาก รักษาโรคบิด และในเปลือกผลมีสารต้านอนุมูลอิสระ คือ สารแทนนิน สามารถนำไปใช้ในการบำบัดน้ำเสียยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ ใช้ป้องกันแมลง ใช้ฟอกหนัง ย้อมผ้า ทำกาว ทำปุ๋ย และยารักษาโรคได้

แหล่งพืชอนุรักษ์

ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง