Search for:

ชื่อสามัญทุเรียนพันธุ์จันทบุรี 3 (Chanthaburi 2)

ชื่อวิทยาศาสตร์ Durio zibethinus Murray

ชื่ออื่นๆ  

ถิ่นกำเนิดและประวัติความเป็นมา

เกิดจากลูกผสมระหว่างแม่พันธุ์ก้านยาวกับพ่อพันธุ์ชะนี

ลักษณะทั่วไป

ต้น ลำต้นทรงพุ่มรูปกรวย พุ่มทึบ มีกิ่งแตกถี่ กิ่งแผ่ออก เกือบขนานกับดิน ต้นสูงประมาณ 8.5 เมตร

ใบ มีขนาดยาวและใหญ่ รูปทรงยาวเรียว (linear-oblong) ปลายใบเรียวแหลมและยาว(caudate acuminate) ขอบใบเรียบ ความกว้างเฉลี่ย 4.72 เซนติเมตร ความยาวเฉลี่ย 14.75 เซนติเมตร

ดอก/ช่อดอก เกิดตามกิ่งแขนงใหญ่เป็นช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่น (corymb) ประกอบด้วยดอกย่อยตั้งแต่ 1-30 ดอก  เป็นดอกสมบูรณ์เพศ กลีบดอกสีขาวอมเหลือง มี 5 กลีบ เกสรตัวผู้ติดเป็นแผง (lobe) มี 5 แผง อยู่ตรงข้ามกับกลีบดอก แต่ละแผงมีก้านชูอับเรณู และอับเรณูอย่างละ 4-18 อัน รังไข่อยู่เหนือส่วน ต่างๆ ของดอก (superior) มี 5 ห้อง ขนาดรังไข่ 0.50 – 0.70 เซนติเมตร

ผล ขนาดผลปานกลาง น้ำหนักผลอยู่ระหว่าง 2.54-3.67 กิโลกรัม มีก้านผลยาวอยู่ระหว่าง 7.48-10.49เซนติเมตร ทรงผลค่อนข้างกลมรูปไข่ (ovate) หรือ ทรงกระบอก (cylindrical) พูไม่นูนเด่นชัด ร่องพูไม่ลึกหนามใหญ่สั้น ห่าง ฐานกว้าง หนามรูปทรงกระโจม คือขอบหนาม ทั้งสองข้างโค้งเข้า (concave) เนื้อไม่ ค่อยหนามาก สีเหลืองเข้ม (YO 15A) มีกลิ่นค่อนข้างแรงหากปลิงหลุดแล้ว 2-3 วัน เนื้อละเอียด เหนียว รสชาติดี หวาน

เมล็ด เมล็ดยาวรี สีน้ำตาล มีความกว้าง 3.36 เซนติเมตร ยาว 4.79 เซนติเมตร

            ลักษณะดีเด่น เป็นลูกผสมระหว่างแม่พันธุ์ก้านยาวกับพ่อพันธุ์ชะนี มีลักษณะผลค่อนข้างกลม เต็มพู ก้านผลยาว 8.35 เซนติเมตร น้ำหนักผล 2.77 กิโลกรัม ความหนาเปลือก 1.94 เซนติเมตร ความหนาเนื้อ 0.98 เซนติเมตร เปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อต่อน้ำหนักผลเท่ากับ 23.26 เปอร์เซ็นต์ เปอร์เซ็นต์เมล็ด ลีบ 8.83เปอร์เซ็นต์ เปอร์เซ็นต์การติดผลหลังดอกบาน 4 สัปดาห์คือ 4.37 เปอร์เซ็นต์ (เฉลี่ย 3 ปี) ดีกว่าพันธุ์ชะนีร้อยละ 66.79 อายุเก็บเกี่ยว 99.43 วัน ซึ่งยาวกว่าพันธุ์กระดุมทองร้อยละ 1.98 ลักษณะดีเด่น คือเนื้อสีเหลืองเข้ม (YO 14B-YO 15A) รสชาติดี หวาน เนื้อเหนียวละเอียด กลิ่นหอมปานกลาง ติดผลดก

พันธุ์และการขยายพันธุ์

ทุเรียนพันธุ์จันทบุรี 3 , ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเสียยอด

วิธีการปลูก

พื้นที่ปลูกที่เหมาะสม

  • สภาพพื้นที่ – ดินมีความอุดมสมบูรณ์สูง มีการระบายน้ำดี หน้าดินลึกกว่า 50 เซนติเมตร และมีความเป็นกรดด่าง 5.5-6.5
  • สภาพภูมิอากาศ – อากาศร้อนชื้น ปริมาณน้ำฝนระหว่าง 1,600-3,000 มิลลิเมตร/ปี มีช่วงแล้งต่อเนื่องน้อยกว่า 3 เดือน/ปี และ ความชื้น สัมพัทธ์มากกว่าร้อยละ 30
  • แหล่งน้ำ – มีน้ำเพียงพอ ประมาณ 600-800 ลูกบาศก์เมตร/ไร่ ความเป็นกรดด่าง 6.0-7.5 มีสารละลายเกลือไม่มากกว่า 1,400 มิลลิโมล

การเตรียมพื้นที่ปลูก

  • พื้นที่ดอน – ไถพรวน ปรับพื้นที่ให้เรียบเพื่อสะดวกในการวางระบบน้ำ และการจัดการสวน รวมทั้งขุดร่องระบายน้ำ
  • พื้นที่ลุ่ม – ยกโคกและปลูกด้านบน หากมีน้ำท่วมขังมากและนาน ควรยกร่องสวนให้มีขนาดสันร่องกว้างไม่น้อยกว่า 6 เมตร ร่องกว้าง  5 เมตร ลึก 1 เมตร มีระบบระบายน้ำเข้าออกเป็นอย่างดี

การเลือกต้นพันธุ์ เลือกต้นที่มีความแข็งแรง ตรงตามพันธุ์ และต้นตอจะต้องเป็นพันธุ์พื้นเมือง ทนทานต่อโรครากเน่าโคนเน่า ระบบรากไม่ขดหรืองอ มีใบหนาและเขียวเข้ม

ระยะปลูก

1.ระบบสี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือสามเหลี่ยมด้านเท่า ระยะปลูก 8×8 หรือ 10×10 เมตร เหมาะกับพื้นที่ที่ค่อนข้างเรียบ

2.ระบบแถวกว้างต้นชิด (Hedge row system) ในการปลูกระบบนี้ระยะระหว่างต้นเป็น  30-50% ของระยะระหว่างแถวและมีการวางแถวปลูกในแนวเหนือใต้ มีด้านกว้างระหว่างแถวขวางแนว ขึ้นลงของพระอาทิตย์ แถวมีความกว้างพอที่จะให้เครื่องจักรกลผ่านเข้าออกได้สะดวก

รูปแบบการปลูก

  1. การปลูกแบบขุดหลุมปลูก ซึ่งเหมาะกับพื้นที่ที่ค่อนข้างแล้งและยังไม่มีการวางระบบน้ำ วิธีนี้ ดินในหลุมจะช่วยเก็บความชื้นได้ดีขึ้น แต่หากมีฝนตกชุกมีน้ำขังจะทำให้รากเน่าและต้นทุเรียนตายได้ง่าย

– ขุดหลุมมีขนาดกว้าง x ยาว x ลึก เป็น 50 x 50 x 50 เซนติเมตร

– ผสมดินปลูกด้วยหญ้าแห้ง ปุ๋ยคอก และปุ๋ยเคมี

– ตากดินไว้สักระยะหนึ่งจนดินยุบตัวและคงที่ หลังจากนั้นเติมดินผสมลงไปอีกจนเต็ม

– ปลูกพันธุ์ทุเรียนที่ต้องการในหลุมให้รอยต่อระหว่างพันธุ์และต้นตออยู่สูงกว่าระดับดิน กลบดินรอบต้นให้แน่น

  1. การปลูกแบบนั่งแท่นหรือยกโคก เหมาะกับพื้นที่ฝนตกชุก การระบายน้ำไม่ดี วิธีนี้ทำให้มี การระบายน้ำดีขึ้น ลดปริมาณน้ำท่วมขังบริเวณโคนต้น แต่ทั้งนี้ต้องมีการวางแผนการจัดทำระบบน้ำให้ดี ก่อนปลูก ซึ่งจะทำให้ต้นทุเรียนเจริญเติบโตได้เร็วกว่าการขุดหลุมปลูก

– ไม่ต้องทำการขุดหลุมเพาะปลูก

– นำต้นพันธุ์ทุเรียนมาวาง แล้วถากดินข้าง ๆ ขึ้นมาพูนกลบ แต่ถ้าหากเป็นดินร่วนปนทราย ดินทราย ดินจะไม่เกาะตัวกัน ควรใช้วิธีขุดหลุมปลูกจะทำให้การเจริญเติบโตและอัตรา การรอดสูงกว่า หรืออาจะใช้วิธีดัดแปลง ซึ่งหมายถึง การนำหน้าดินจากแหล่งอื่นมากอง ตรงตำแหน่งที่จะปลูก กองดินควรมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เมตร สูง 15 เซนติเมตร แหวกกลางกองดินโรยปุ๋ยหินฟอสเฟตในช่องที่แหวกไว้ กลบดินบางๆ วางต้นพันธุ์ดีลงตรง ช่องที่แหวกไว้กลบดินทับ

– พรวนดินและขุดดินเพื่อขยายดคน ปีละ 1-3 ครั้ง จนเริ่มให้ผลผลิตจึงหยุด

การดูแลรักษา

  1. การเตรียมต้นให้พร้อมสำหรับการออกดอก (กรกฎาคม – ตุลาคม)
  • ตัดแต่งกิ่งที่เป็นโชก กิ่งแห้ง กิ่งแขนงหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อทำให้ทรงพุ่มโปร่ง
  • การใส่ปุ๋ยเพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ต้น และให้แตกใบอ่อนอย่างน้อย 1 ชุด
  • ควรให้น้ำเมื่อฝนทิ้งช่วงเกิน 7 วัน
  • การป้องกันโรคและแมลงที่สำคัญ ได้แก่ โรคใบไหม้ โรคใบติด โรครากเน่าโคนเน่า เพลี้ยชนิดต่างๆ ไรแดง และหนอนเจาะลำต้นทุเรียน

ใส่ปุ๋ยเคมี ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ ให้เหมาะสมกับระยะการเจริญเติบโตและอัตราการเจริญเติบโตของทุเรียน ในช่วงการเตรียมต้น ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16

  1. การจัดการเพื่อให้ต้นทุเรียนออกดอก และติดผลดี (พฤศจิกายน – ธันวาคม)
  • ใส่ปุ๋ยเคมีทางดิน ก่อนสิ้นฤดูฝนประมาณ 1 เดือน
  • งดการให้น้ำต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 10 วัน ทำให้ต้นทุเรียนเกิดสภาพเครียด เพื่อชักนำการออกดอก
  • การป้องกันกำจัดโรคและแมลงที่สำคัญ ได้แก่ โรคดอกเน่า เพลี้ยไฟ และไรแดง
  • ในช่วงก่อนดอกบาน 1 สัปดาห์ ให้น้ำเพียง 1 ใน 3 ของการให้น้ำปกติ เพื่อช่วยให้มีการติดผลดีขึ้น
  • การช่วยผสมเกสร เพื่อให้ทุเรียนติดผลดีขึ้น

ใส่ปุ๋ยเคมี ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ ให้เหมาะสมกับระยะการเจริญเติบโตและอัตราการเจริญเติบโตของทุเรียน ในช่วงส่งเสริมการออกดอก ใส่ปุ๋ยสูตร 8-24-24 2

  1. การจัดการเพื่อเพิ่มปริมาณและคุณภาพการผลิต (มกราคม-เมษายน)
  • ตัดแต่งผลอ่อน ที่มีรูปทรงบิดเบี้ยว ผลเล็ก และหนามแดงออก จำนวน 1-3 ครั้ง ตั้งแต่ผลอายุ 4-8 สัปดาห์
  • ใส่ปุ๋ยหลังการตัดแต่งผลครั้งสุดท้าย เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตของผล และคุณภาพเนื้อ – ให้น้ำอัตราปกติหลังการติดผล 3 สัปดาห์ และลดการให้น้ำก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต 2 สัปดาห์
  • ควบคุมการแตกใบอ่อนในระหว่างการพัฒนาการของผล โดยพ่นปุ๋ยโปแตสเซียมไนเตรท (13-0-45) อัตรา 150-300 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ที่ใบอ่อนในระยะหางปลา
  • ควบคุมการป้องกันกำจัดโรคและแมลงที่สำคัญ ได้แก่ โรคผลเน่า เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย หนอน เจาะผล และหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน
  • โยงผล เพื่อลดการร่วงของผลเนื่องจากลมแรง

          ใส่ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ ให้เหมาะสมกับระยะการเจริญเติบโตและอัตราการเจริญเติบโตของทุเรียน ในช่วงการ พัฒนาการของผล ใส่ปุ๋ยสูตร 12-12-17+2 หรือ 8-24-24 และในช่วงการส่งเสริมคุณภาพเนื้อ ใส่ปุ๋ยสูตร 0-0-50 2 หรือ 0-0-60

  1. การเก็บเกี่ยว และการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวในสวน (พฤษภาคม – มิถุนายน)
  • ดัชนีการเก็บเกี่ยว
  • การนับอายุผลไม่น้อยกว่า 110 วัน หลังดอกบาน
  • สังเกตก้านผล จะแข็งและมีสีเข้มขึ้น เมื่อลูบจะสากมือ
  • สังเกตรอยแยกระหว่างพู เป็นรอยแผลสีน้ำตาลเห็นได้ชัดเจน
  • การชิมปลิง เมื่อตัดขั้วผล จะมีน้ำใสรสชาติหวาน
  • การเคาะเปลือกหรือกรีดหนาม จะมีเสียงดังหลวมๆ ของช่องว่างภายในผล
  • การปล่อยให้ทุเรียนร่วง แสดงว่าผลทุเรียนในสวนเริ่มทะยอยแก่ สามารถเก็บเกี่ยวได้แล้ว
  • ห้ามวางผลทุเรียนบนพื้นดินในสวนโดยตรง เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคผลเน่า

โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ

 โรคพืช

1.โรครากเน่าโคนเน่าทุเรียน (Phytophthora Root and Foot Rot) สาเหตุ : เชื้อรา Phytophthora palmivora (Bultler) Bultler

ลักษณะอาการ  บริเวณทรงต้นด้านบน : ใบมีลักษณะด้าน สลด ไม่เป็นมันเงาเหมือนใบปกติ สีใบเริ่มเหลืองและหลุดร่วง ต้นทรุดโทรม บางครั้งเหลือแต่กิ่ง

บริเวณโคนต้น : เปลือกบริเวณลำต้นมีสีน้ำตาลคล้ายมีคราบน้ำเกาะติด ในสภาพที่มีอากาศชื้นเห็นเป็นหยดของเหลวสีน้ำตาลอมแดงไหลซึมออกมาตามรอยแยกที่เปลือก เมื่อเปิดเปลือกด้านในออก พบเนื้อเยื่อเน่าเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดงเข้ม

บริเวณรากใต้ดิน : อาการเน่าเกิดขึ้นกับทั้งรากแขนงขนาดเล็ก และรากฝอยที่อยู่ใกล้ผิวดิน เปลือกรากหลุดล่อน เนื้อเยื้อรากเปื่อยยุ่ยเป็นสีแดง เมื่อดึงเบาๆ ก็หลุดขาดจากกันได้ง่าย

บริเวณผล : เริ่มเกิดตั้งแต่ผลอ่อนบนต้น แต่มักพบว่าเกิดมากกับผลช่วงอายุ 1 เดือนก่อนเก็บเกี่ยว เปลือกผลเป็นจุดแผลช้ำสีน้ำตาลปนเทา  แผลค่อยๆ ขยายขนาดออกไปตามรูปร่างของผล  อาการเน่าลุกลามจนผลร่วง เนื้อด้านในเปลี่ยน    เป็นสีชมพูหรือน้ำตาล

การแพร่ระบาด เชื้อราสาเหตุโรคอาศัยพักตัวในดินเป็นเวลานานในรูปสปอร์ผนังหนา เมื่อพบสภาพแวดล้อมเหมาะสม คือ ดินมีการระบายน้ำไม่ดี มีน้ำขัง มีความชื้นสูงสะสมตลอด โดยเฉพาะสภาพที่มีฝนตกชุก เชื้อจะสร้างสปอร์ขยายพันธุ์ชนิดมีหางสามารถว่ายน้ำได้ แพร่กระจายไปพร้อมน้ำหรือลมเข้าทำลายต้นปกติ นอกจากนี้เชื้อสาเหตุโรคอาจติดไปกับดินปลูกหรือกิ่งพันธุ์เป็นโรคได้เช่นเดียวกัน

การป้องกันกำจัด

  1. เก็บชิ้นส่วนของเปลือกหรือผลที่เน่าร่วงหล่นออกนอกแปลง แล้วทำการเผาทำลายถากส่วนที่เป็น โรคออกให้หมดจนถึงเนื้อไม้แล้วทารอยแผลด้วยปูนแดง หรือสารป้องกันกำจัดโรคพืชประเภทสารประกอบ ทองแดง เช่น คูปราวิท หรือคอปเปอร์ออกซี่คลอไรด์
  2. ถากเนื้อเยื่อบริเวณที่เป็นโรคออกบาง ๆ แล้วทาด้วยสารเคมีประเภทดูดซึม เช่น เมตาแลกซิล ฟอสเอสเอทธิล อลูมินั่ม เป็นต้น
  3. อัดฉีดเข้าลำต้นด้วยสารฟอสฟอรัสแอซิด (phosphorous acid) โดยผสมกับน้ำสะอาดในอัตรา
  4. ลดปริมาณเชื้อราในดินโดยการใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือเศษซากพืชคลุมดินเพื่อส่งเสริมให้จุลินทรีย์ หลายชนิดเพิ่มปริมาณ หรือนำจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ใส่ในดิน เช่น เชื้อราไตรโคเดอมา (Trichoderma sp.) ซึ่งมีการผลิตในรูปการค้า

 

2.โรคใบติดทุเรียน (Rhizoctonia Leaf Blight) สาเหตุ : เชื้อรา Rhizoctonia solani Kühn

ลักษณะอาการ   พบแผลช้ำคล้ายถูกน้ำร้อนลวกขึ้นกระจายบนใบแผล มีขนาดไม่แน่นอน  ต่อมาขยายตัวและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ก่อนลุกลามไปที่ใบปกติข้างเคียง โดยเชื้อสาเหตุสร้างเส้นใยยึดใบให้ติดไว้ด้วยกัน ใบที่เป็นโรคจะแห้งห้อยติดอยู่กับกิ่งก่อนหลุดร่วงไปสัมผัสกับใบที่อยู่ด้านล่าง จนเกิดการลุกลามของโรคใบไหม้เห็นเป็นหย่อมๆ ใบที่เหลือจะค่อยๆ ร่วงจนเหลือแต่กิ่ง ซึ่งก็จะแห้งตามไปด้วย

การแพร่ระบาด  เชื้อราสาเหตุโรคอาศัยพักตัวในเศษซากพืชหรืออินทรียวัตถุในดินได้เป็นเวลานาน เมื่อพบสภาพแวดล้อมเหมาะสม คือ สภาพที่มีฝนตกชุก มีความชื้นสูงสะสมใต้ทรงพุ่มตลอด เชื้อแพร่ระบาดไปกับดินและน้ำสร้างเส้นใยเข้าทำลายใบ    ข้างเคียงต้นปกติ จนหลุดร่วงลงดิน และกลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อต่อไป

การป้องกันกำจัด    

  1. ตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง โดยเฉพาะใบที่อยู่ด้านล่างๆ ให้มีการถ่ายเทของอากาศ ไม่ให้มีความชื้นสะสมใต้ทรงพุ่มมากเกินไป
  2. ในพื้นที่ปลูกที่มีความชื้นสูงและมีการระบาดประจำ ไม่ควรใส่ปุ๋ยที่มีค่าไนโตรเจนสูง เพื่อลดความสมบูรณ์ของการแตกใบ
  3. หมั่นสำรวจอาการของโรคอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่าเริ่มมีการระบาด ตัดส่วนที่เป็นโรคและเก็บเศษพืชที่เป็นโรคและใบที่ร่วงหล่น นำไปทำลายนอกแปลงปลูก และฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 85% WP อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ 77% WP อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ วาลิดามัยซิน 3% SL อัตรา 20 มิลลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เฮกซะโคลนาโซล 5% SC อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 10 วัน

3.โรคราสีชมพู (Pink Disease) สาเหตุ : เชื้อราคอร์ทีเซียม (Corticium salmonicolor)

ลักษณะอาการ เมื่อมองดูจากนอกทรงพุ่ม จะเห็นอาการใบเหลืองร่วงเป็นหย่อมๆ คล้ายอาการกิ่งแห้ง หรือโคนเน่า ที่เกิดจากเชื้อราไฟทอฟธอรา แต่หากสังเกตตามกิ่งด้านในของทรงพุ่มจะเห็นเส้นใยของเชื้อราสีขาวปกคลุม โคนกิ่งที่แสดงอาการ เมื่อเชื้อเจริญลุกลามและมีอายุมากขึ้น เส้นใยขาวจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีชมพู ซึ่งเป็น ช่วงเวลาที่เชื้อราสร้างส่วนขยายพันธุ์เพื่อการระบาดไปยังต้นอื่น ๆ ต่อไป เมื่อถากส่วนของกิ่งที่มีเชื้อรา ปกคลุมอยู่จะเห็นเนื้อเปลือกแห้งเป็นสีน้ำตาล

การแพร่ระบาด  แพร่ระบาดมากในสภาพความชื้นสูง มักพบเกิดขึ้นกับต้นทุเรียนที่ขาดการดูแลรักษาที่ดี ไม่มีการตัดแต่งกิ่งที่เหมาะสม ไม่มีการป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชในแปลงปลูก โดยเชื้อราจะเข้าทำลายบริเวณกิ่งที่อยู่ในทรงพุ่ม หรือกิ่งที่ซ้อนกันหนาแน่น และก่อให้เกิดอาการกิ่งแห้งและใบเหลืองร่วง

            การป้องกันกำจัด

  1. หมั่นตรวจหาลักษณะอาการของโรคในแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ
  2. เมื่อพบเชื้อราเริ่มเข้าทำลายตามกิ่งที่มีขนาดใหญ่ ตัดกิ่งส่วนที่เป็นโรคออก แล้วนำไปเผาทำลาย แล้วใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น คอปเปอร์ออกซี่คลอไรด์ 85% WP ผสมน้ำข้นๆ ทาบริเวณแผล
  3. ควรทำการตัดแต่งกิ่งต้นทุเรียนให้มีทรงพุ่มโปร่งพอสมควร เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้
  4. ในแหล่งปลูกที่พบโรคราสีชมพูระบาดเป็นประจำ อาจใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น คอปเปอร์ออกซี่คลอไรด์ 85% WP อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 62% WP อัตรา 50กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์เบนดาซิม 50% WP อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

 แมลงศัตรู

1.หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน (durian seed borer) ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mudaria luteileprosa Holloway

ชื่อสามัญ/ชื่อพื้นเมือง : หนอนใต้ หนอนรู หนอนมาเลย์

ลักษณะการทำลาย   หนอนชนิดนี้เมื่อเข้าทำลายผลทุเรียนจะไม่สามารถสังเกตจากภายนอกได้ หนอนที่เจาะเข้าไปในผลทุเรียน ถ่ายมูลออกมาปะปนอยู่กับเนื้อทุเรียน ทำให้เนื้อทุเรียนเสียคุณภาพ กระทั่งเมื่อหนอนโตเต็มที่พร้อมเข้าดักแด้ จะเจาะเปลือกเป็นรูออกมาและทิ้งตัวลงบนพื้นดินเพื่อเข้าดักแด้ในดิน เกษตรกรเห็นแต่รูไม่พบตัวหนอนอยู่ภายในหรือบางครั้งพบความเสียหายเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตเรียบร้อยแล้ว หลังจากหนอนเจาะออกมาจึงเรียกหนอนชนิดนี้อีกชื่อว่า “หนอนรู”

การป้องกันกำจัด

  1. เกษตรกรไม่ควรขนย้ายเมล็ดทุเรียนจากที่อื่นเข้ามาในแหล่งปลูก ถ้ามีความจำเป็นควรทำการคัดเลือกเมล็ดอย่างระมัดระวัง หรือแช่เมล็ดด้วยสารฆ่าแมลง เช่น malathion (Malathion 83% EC) อัตรา 40 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ carbaryl (Sevin 85 WP 85% WP) อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ก่อนทำการขนย้ายจะช่วยกำจัดหนอนได้
  2. การห่อผลระยะยาวโดยใช้ถุงพลาสติกสีขาวขุ่นขนาด 40×75 เซนติเมตร เจาะก้นถุงเพื่อระบายน้ำ สามารถป้องกันไม่ให้ตัวเต็มวัยมาวางไข่ได้โดยเริ่มห่อผลตั้งแต่ผลทุเรียนมีอายุ 6 สัปดาห์เป็นต้นไป จนถึงเก็บเกี่ยว ก่อนห่อตรวจสอบผลทุเรียนที่จะห่อให้ปราศจากเพลี้ยแป้ง ถ้ามีให้กำจัดโดยใช้แปรงปัดออก แล้วพ่นด้วยสาร chlorpyrifos (Pyrenex 20% EC) อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
  3. การป้องกันกำจัดด้วยวิธีผสมผสาน โดยการพ่นสารฆ่าแมลง cypermethrin/phosalone (Parzon 6.25%/22.5% EC) อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ห่างกันครั้งละ 1 สัปดาห์เริ่มเมื่อผลอายุ 6 สัปดาห์และห่อด้วยถุงพลาสติกขาวขุ่น ขนาด 40×75 เซนติเมตร เจาะมุมก้นถุงเพื่อระบายน้ำ เมื่อผล อายุ10 สัปดาห์โดยเลือกห่อเฉพาะผลที่มีขนาดและรูปทรงได้มาตรฐาน ก่อนห่อผลควรมีการสำรวจเพลี้ยแป้ง และพ่นสารกำจัดแมลงเมื่อพบเพลี้ยแป้งระบาด
  4. การใช้กับดักแสงไฟ black light เป็นเครื่องมือตรวจการระบาดของผีเสื้อหนอนเจาะเมล็ด ทุเรียนเพื่อให้ทราบว่ามีการระบาดในช่วงไหน สามารถช่วยให้การใช้สารฆ่าแมลงมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถลดจำนวนการพ่นสารฆ่าแมลงจากที่เกษตรกรนิยมปฏิบัติอยู่ที่พ่นตั้งแต่ทุเรียนเริ่มออกดอก
  5. การป้องกันกำจัดโดยใช้สารฆ่าแมลง เมื่อพบว่าตัวเต็มวัยเริ่มระบาดให้ใช้สาร carbaryl (Sevin 85 WP 85% WP), deltamethrin (Decis 3 3% EC), lambdacyhalothrin (Karate Zeon 2.5 CS 2.5% CS), betacyfluthrin (Folitec 025 EC 2.5% EC), แ ล ะ cypermethrin/phosalone (Parzon 6.25%/22.5% EC) อัตรา 50 กรัม 15, 20, 20 และ 40 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร ตามลำดับ ห่างกันครั้งละ 1 สัปดาห์ เริ่มเมื่อผลอายุ 6 สัปดาห์

 

2.เพลี้ยไก่แจ้ทุเรียน (durian psyllids) ชื่อวิทยาศาสตร์ : Allocaridara malayensis Crawford.

ลักษณะการทำลาย เพลี้ยไก่แจ้ทุเรียน พบระบาดทำความเสียหายให้กับทุเรียนอย่างมากในแหล่งปลูกทุเรียนทั่วไป ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูด กินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อน ทำให้ใบอ่อนเป็นจุดสีเหลือง ไม่เจริญเติบโต เมื่อระบาดมากๆ ทำให้ใบหงิกงอ และถ้าเพลี้ยไก่แจ้เข้าทำลายในช่วงที่ใบอ่อนยังเล็กมากและ ยังไม่คลี่ออกจะทำให้ใบแห้งและร่วง ตัวอ่อนของแมลงชนิดนี้จะขับสารเหนียวสีขาวออกมาปกคลุมใบทุเรียน เป็นสาเหตุทำให้เกิดเชื้อราตามบริเวณที่สารชนิดนี้ถูกขับออกมา ระยะตัวอ่อนทำความ เสียหายมากที่สุด และแมลงชนิดนี้ทำความเสียหายให้กับทุเรียนพันธุ์ชะนีมากที่สุด

            การป้องกันกำจัด

    1. เพลี้ยไก่แจ้จะทำลายเฉพาะใบอ่อนทุเรียนที่ยังไม่โตเต็มที่ และโดยปกติทุเรียนแตกใบอ่อนไม่พร้อมกันแม้แต่ทุเรียนในสวนเดียวกัน ชาวสวนทุเรียนควรจะพ่นสารฆ่าแมลงเมื่อทุเรียนส่วนใหญ่แตกใบอ่อน สำหรับต้นที่แตกใบอ่อนไม่พร้อมต้นอื่นควรพ่นเฉพาะต้น วิธีนี้ช่วยลดการใช้สารฆ่าแมลง และเปิดโอกาสให้ ศัตรูธรรมชาติได้มีบทบาทในการควบคุมเพลี้ยไก่แจ้ และยังเป็นการอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติเหล่านี้อีกด้วย
    2. วิธีบังคับให้ทุเรียนแตกใบอ่อนพร้อมกัน ซึ่งอาจกระตุ้นด้วยการพ่นยูเรีย (46-0-0) อัตรา กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อลดช่วงการเข้าทำลายของเพลี้ยไก่แจ้จะช่วยลดการใช้สารเคมีลงได้มาก โดยปกติทุเรียนต้องการใบอ่อน ที่สมบูรณ์ 2-3 ชุดต่อปี เพี่อให้ต้นทุเรียนพร้อมที่จะให้ผล
    3. ใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพเมื่อเพลี้ยไก่แจ้ระบาดมาก คือ lambdacyhalothrin (Karate 5% EC) อัตรา10 มิลลิลิตร หรือ carbosulfan (Posse 20% EC) อัตรา50 มิลลิลิตรหรือ carbaryl (Sevin 85 WP 85% WP) อัตรา 10 กรัม หรือ cypermethrin/phosalone (Parzon 6.25%/22.5% EC) อัตรา 40 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7-10 วัน ในช่วงระยะแตกใบอ่อน

3.เพลี้ยไฟ (thrips) ชื่อวิทยาศาสตร์ : Scirtothrips dorsalis Hood. ชื่ออื่น : เพลี้ยไฟพริก

ลักษณะการทำลาย ในทุเรียนพบเพลี้ยไฟหลายชนิดทำลายใน ระยะพัฒนาการต่างๆ แต่ที่พบมากและสำคัญที่สุดคือ เพลี้ยไฟพริก ทั้งตัวอ่อนและ ตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่างๆ ของพืช มีผลทำให้ใบอ่อนหรือยอดอ่อน ชะงักการเจริญเติบโต แคระแกร็น ใบโค้ง แห้ง หงิกงอ และไหม้ การทำลายในช่วงดอก ทำให้ดอกแห้ง ดอกและก้านดอกเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล แคระแกร็น และร่วง ในช่วงผลอ่อน ทำให้ชะงักการเจริญเติบโต หนามเป็นแผลและเกิดอาการปลายหนามแห้ง ผลไม่สมบูรณ์และแคระแกร็น เพลี้ยไฟจะระบาดรุนแรงในช่วงแล้ง ระหว่างเดือนธันวาคม–พฤษภาคม ซึ่งตรงกับระยะที่ต้นทุเรียนออกดอกติดผล เพลี้ยไฟมีอาหารอย่างอุดมสมบูรณ์ สามารถเพิ่มปริมาณได้มาก

            การป้องกันกำจัด

  1. หากพบเพลี้ยไฟระบาดเล็กน้อยให้ตัดส่วนที่ถูกทำลายทิ้ง
  2. เมื่อพบเพลี้ยไฟระบาดรุนแรง ใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพในการ ป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟ ได้แก่ อิมิดาโคลพริด หรือ ฟิโพรนิล หรือ คาร์โบซัลแฟน อัตรา 10, 10 และ 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ตามล าดับ และไม่ควรใช้สารฆ่าแมลงชนิด ใดชนิดหนึ่งซ้ำติดต่อกันหลายครั้ง เพราะทำให้เพลี้ยไฟสร้างความต้านทานต่อสารฆ่าแมลง

4.มอดเจาะลำต้น (shot hole borer) ชื่อวิทยาศาสตร์ : Xyleborus fornicatus Eichoff. ชื่ออื่น : มอดเจาะลำต้น

ลักษณะการทำลาย  หนอนและตัวเต็มวัยเจาะเข้าไปกินในลำต้น และกิ่งของทุเรียน ส่วนมากพบทำลายบริเวณโคนต้นและกิ่งขนาดใหญ่ ต้นทุเรียนที่ถูกแมลงชนิดนี้ทำลายสังเกตได้ง่ายคือ มีรูพรุนตามโคนต้น และที่ปากรูมีมูลของหนอนลักษณะเป็นขุยละเอียดอยู่ทั่วไป มอดเจาะเข้าไปกินในลำต้นหรือกิ่งลึกตั้งแต่ 2-3 เซนติเมตรขึ้นไป หากเป็นทุเรียนต้นเล็กทำให้ต้นตายได้ สำหรับทุเรียนต้นใหญ่ถ้าถูกทำลายน้อยจะไม่เป็นอันตรายมากนัก แต่รอยเจาะของมอดเป็นทางให้เชื้อของโรครากเน่า-โคนเน่า เข้าทำลายและทำให้ทุเรียนตายได้ โดยทั่วไปมักพบมอดเจาะลำต้นระบาดร่วมกับโรครากเน่า-โคนเน่าในบางครั้ง จึงสามารถใช้ร่องรอยการทำลายของมอดในการหาแผลเน่าที่อยู่ภายใต้เปลือกไม้ได้

            การป้องกันกำจัด

    1. หมั่นตรวจดูตามลำต้นทุเรียน ถ้าพบกิ่งแห้งที่ถูกมอดทำลาย ควรตัดและเผาไฟทิ้งเสียอย่าปล่อยทิ้งไว้ให้มอดขยายปริมาณและการทำลายออกไปยังต้นอื่นๆ
    2. สำาหรับส่วนที่ไม่สามารถตัดทิ้งได้ เช่น ในส่วนของลำต้นหรือกิ่งใหญ่ อาจจำเป็นต้องใช้สารฆ่าแมลง เช่น คลอร์ไพริฟอส อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นบนลำต้นหรือกิ่งที่มีรูมอดเจาะ

5.หนอนด้วงหนวดยาวเจาะลำต้นทุเรียน (long horned beetles) ชื่อวิทยาศาสตร์ : Batocera rufomaculata De Geer. ชื่ออื่น : ด้วงบ่าหนามจุดนูนดำ

ลักษณะการทำลาย ด้วงหนวดยาวที่ทำลายทุเรียนในประเทศไทยมีหลายชนิด ที่พบมาก คือ ด้วงบ่าหนามจุดนูนดำ การระบาดของแมลงศัตรูชนิดนี้ เกิดขึ้นในลักษณะค่อยๆ สะสมความรุนแรงแบบภัยมืด โดยชาวสวนไม่ทราบว่ามีการระบาดของศัตรูพืช เนื่องจากเป็นแมลงกลางคืน พฤติกรรมต่างๆ เกิดขึ้นในช่วงกลางคืน ส่วนใหญ่พบทำลายทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่ โดยฝังไว้ใต้เปลือกตามลำต้นและกิ่งขนาดใหญ่ สามารถวางไข่ได้มากถึง 15 ฟองต่อคืน หนอนจะกัดกินชอนไชไปตามเปลือกไม้ด้านในไม่มีทิศทางหรืออาจกัดควั่นเปลือกรอบต้น การทำลายที่เกิดจากหนอนขนาดเล็กไม่สามารถสังเกต ได้จากภายนอกแต่เมื่อหนอนโตขึ้นจะพบขุยไม้ละเอียดซึ่งเป็นมูลของหนอนตามแนวรอยทำลาย หรือตรงบริเวณที่หนอนทำลายกัดกินอยู่ภายใน จะเห็นมีน้ำเป็นสีน้ำตาลแดงไหลเยิ้มอยู่ ในระยะต่อมาจึงจะพบมูลหนอนออกมากองเป็นกระจุกอยู่ข้างนอกเปลือก เมื่อใช้มีดปลายแหลมแกะเปลือกไม้จะพบหนอนอยู่ภายใน เกษตรกรจะสังเกตพบรอยทำลายต่อเมื่อหนอนตัวโตและอาจเจาะเข้าเนื้อไม้หรือกินควั่นรอบต้นทุเรียนแล้ว ซึ่งจะมีผลทำให้ท่อน้ำท่ออาหารถูกตัดทำลายเป็นเหตุให้ต้นทุเรียนเริ่มทรุดโทรม ใบเหลืองและร่วง และยืนต้นตายได้  หนอนแต่ละตัวสามารถกัดกินเปลือกไม้ได้เป็นทางยาวมากกว่า 1 เมตร เนื่องจากตัวเต็มวัยมีอายุขัยยาวนาน ช่วงเวลาการวางไข่จึงมีระยะเวลายาว ในต้นหนึ่งๆ จึงพบไข่และหนอนระยะต่างๆ กันเป็นจำนวนมาก

            การป้องกันกำจัด

  1. กำจัดแหล่งขยายพันธุ์โดยตัดต้นทุเรียนที่ถูกทำลายรุนแรงจนไม่สามารถให้ผลผลิตเผา และควร มีการดูแลรักษาต้นทุเรียนให้มีความสมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอ
  2. กำจัดตัวเต็มวัยด้วงหนวดยาว โดยใช้ไฟส่องจับตัวเต็มวัยตามต้นทุเรียนในช่วงเวลา 20.00 น. ถึงช่วงเช้ามืด หรือใช้ตาข่ายดักปลาตาถี่พันรอบต้นหลายๆ ทบ เพื่อดักตัวด้วง
  3. หมั่นตรวจสวนเป็นประจำโดยสังเกตรอยแผลซึ่งเป็นแผลเล็กและชื้นที่ตัวเต็มวัยทำขึ้น เพื่อการวางไข่ ถ้าพบให้ทำลายไข่ทิ้ง หรือถ้าพบขุย และการทำลายที่เปลือกไม้ให้ใช้มีดแกะ และจับตัวหนอนทำลาย
  4. ถ้าระบาดไม่รุนแรง และหนอนเจาะเข้าเนื้อไม้แล้ว ให้ใช้มีดแกะหารูฉีดสารกำจัดแมลงเข้าไป ในรูแล้วใช้ดินเหนียวอุด
  5. แหล่งที่มีการระบาดรุนแรง ควรป้องกันการเข้าทำลายของด้วงหนวดยาว โดยพ่นสารฆ่าแมลง thiamethoxam/lambdacyhalothrin (Eforia 247 ZC 14.1%/10.6% ZC) อัตรา 40 มิลลิลิตร หรือ clothianidin (Dantosu 16% SG) อัตรา 20 กรัม หรือ imidacloprid (Confidor 100 SL 10% SL) อัตรา 30 มิลลิลิตร หรือ acetamiprid (Molan 20% SP) อัตรา 50 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร ให้ทั่วบริเวณต้น และกิ่งขนาดใหญ่

การใช้ประโยชน์

บริโภคสดภายในประเทศ , เพื่อการส่งออกในรูปผลไม้สด , เพื่อการแปรรูป และการใช้เมล็ดเป็นต้นตอในการขยายพันธุ์ด้วยวิธีอื่น

แหล่งพืชอนุรักษ์

ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี