Search for:

ชื่อสามัญ  ดีปลี (Long pepper, Indian long pepper, Javanese long pepper)

ชื่อวิทยาศาสตร์  Piper retrofractum Vahl.

ชื่ออื่นๆ  ดีปลีเชือก ประดงข้อ ปานนุ ฟันพญาไฟ บี้ฮวด พิษพญาไฟ

ถิ่นกำเนิดและประวัติความเป็นมา

ดีปลีเป็นพืชพื้นเมืองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีถิ่นกำเนิดที่เกาะโมลัคคาส (Moluccas) ในมหาสมุทรอินเดียและได้มีการนำมาปลูกกันอย่างแพร่หลาย และเกิดการแพร่กระจายในทางตอนใต้ของประเทศไทย รวมถึงในประเทศมาเลเซียและอินเดีย

ลักษณะทั่วไป

ไม้เถาเนื้อแข็ง ลำต้น สีเขียว ไม่มีขน ค่อนข้างกลม ผิวเรียบ เปราะ หักง่าย มีข้อนูน บริเวณข้อมีรากสำหรับยึดเกาะ แตกกิ่งก้านจำนวนมาก สูง 220 – 295 เซนติเมตร ใบ ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับตามข้อใบ สีเขียวเข้มเป็นมัน รูปไข่แกมขอบขนาน กว้าง 1.6 – 8.4 เซนติเมตร ยาว 2.5 – 20.5 เซนติเมตร ผิวใบด้านหน้ามัน หลังใบมีขนปกคลุมเล็กน้อย ปลายใบเรียวแหลม (acuminate) ฐานใบมน (obtuse) ขอบใบเรียบ (entire) ก้านใบยาว 2.-67 – 20.31 มิลลิเมตร ดอก ดอกช่อ มีดอกย่อยไม่มีก้าน ช่อดอกเพศผู้และเพศเมียอยู่คนละต้น รูปทรงกระบอก โคนดอกใหญ่ปลายเล็กมน แบบช่อเชิงลด ดอกสีขาวขนาดเล็ก แกนช่อดอกสีเขียว ผล ผลรวม (multiple fruit) ผลย่อยมีเมล็ดเล็กกลมและแข็ง ผลสดมีสีเขียว เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีแดง เมล็ด เดียว ขนาดเล็ก กลม และแข็ง

พันธุ์และการขยายพันธุ์

พันธุ์ดีปลี การขยายพันธุ์ การเพาะเมล็ด ปักชำเถา และปักชำส่วนยอดในถุงจนกระทั้งแตกราก

วิธีการปลูก

1.การเตรียมก่อนปลูก

1.1 การเตรียมดิน เลือกพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีความร่วนซุย และระบายน้ำดี

1.2 การเตรียมพันธุ์ดีปลีนิยมขยายพันธุ์โดยใช้เถาปักชำ โดยจะใช้ยอดหรือไหลมาชำก็ได้ แต่นิยมใช้ยอดมากกว่าเพราะให้ผลผลิตได้เลย ถ้าใช้ไหลปลูกใช้เวลาหลายปีกว่าจะออกดอก ปักชำส่วนยอดให้รากเดินดีก่อน ยอดที่จะนำมาชำให้ใช้ยอดกระโดงหรือยอดที่แยกออกด้านข้าง ตัดต่ำกว่าปลายยอดลงมา 5 ข้อ  จากนั้นนำเอาดินเหนียวหุ้ม 2 ข้อล่าง เพื่อเพิ่มความชื่นและทำให้แตกรากได้เร็วขึ้นไม่เช่นนั้นจะเหี่ยวเฉา จากนั้นจึงนำยอดไปชำลงในถุงจนกระทั่งแตกราก แล้วจึงนำไปปลูก

2.การปลูก

2.1 วิธีการปลูก ใช้ยอดแก่นำไปปลูกทันที โดยตัดยอดดีปลี ประมาณ 5 ข้อ แล้วนำไปปลูกติดกับเสาค้างเลย 3-5 ค้างต่อเสา ปลูก 3-4 ยอดต่อค้าง ฝังลงดินประมาณ 3 ข้อ นำยอดทั้งหมดผูกติดกับเสาค้างเพื่อให้รากที่เกิดขึ้นใหม่ยึดเกาะติดกับเสาค้าง จากนั้นพรางแสงด้วยทางมะพร้าวประมาณ 2 สัปดาห์  โดยค้างที่ใช้ปลูกดีปลีเป็นค้างไม้หรือค้างปูน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10-15 เซนติเมตร สูงประมาณ 2.5 เมตร ถ้าเป็นไม้ควรเป็นไม้เนื้อแข็ง เพื่อให้ต้นดีปลีสามารถยึดเกาะได้เป็นอย่างดี แต่รากของดีปลีที่ยึดเกาะกับเสาค้างคอนกรีตได้ไม่ดีเท่าค้างไม้เพราะเมื่ออุณหภูมิสูงจะเก็บความร้อน

2.2 การเตรียมดิน

2.3 ระยะปลูก ระหว่างต้น 1.5-2 เมตร ระหว่างแถว 2 เมตร

2.4 จำนวนต้นต่อไร่ 400-600 ต้นต่อไร่

การดูแลรักษา

  1. การใส่ปุ๋ย ปุ๋ยเป็นสิ่งจำเป็นเนื่องจากดีปลีเป็นพืชมีอายุหลายปี และให้ผลผลิตตลอดปี ดังนั้นถ้ามีการให้ปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอดีปลีจะให้ผลผลิตสูงตามไปด้วย ปุ๋ยที่ควรใช้มีทั้งปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 1 กิโลกรัมต่อต้นต่อปี และปุ๋ยเคมีสูตรหยอดที่โคนต้น 1 กำมือต่อต้น
  2. การให้น้ำ ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ใช้ระบบการให้น้ำตามร่อง 1 ครั้งต่อสัปดาห์ การให้น้ำไม่ควรให้แฉะจนเกินไป เพราะจะทำให้เกิดโรคโคนเน่าได้ง่าย
  3. การดูแลรักษาที่ต้องทำประจำ ตัดใบแก่ที่แห้งและลำต้นที่แห้งตายหรือไม่สมบูรณ์ออกให้หมดเพื่อสะดวกในการเก็บเกี่ยว

โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ

  1. วัชพืช กำจัดวัชพืช 2 ครั้งต่อเดือน ในช่วงฝนโดยวิธีถางตามแนวร่อง
  2. แมลง ได้แก่ เพลี้ยแป้ง ซึ่งจะเกาะช่อดอกดูดกินน้ำเลี้ยง และสัตว์จำพวกหนู กระรอก กระแตที่กัดกินผล
  3. ในช่วงใกล้ถึงเวลาเก็บเกี่ยวอาจมีใบไหม้ เนื่องจากได้รับแสงมากเกินไป

การใช้ประโยชน์

 ผล รสเผ็ดร้อนขม ใช้เป็นเครื่องเทศ มีกลิ่นหอม และเผ็ดมากกว่าพริกไทย รสคล้ายขิง ให้ความอบอุ่นกับร่างกาย บำรุงธาตุ ขับลมในลำไส้ ขับลมเย็น แก้ปวดกระเพาะ ปวดท้อง อาเจียน เรอเปรี้ยว ท้องเสีย แก้บิด ทำให้เจริญอาหาร โดยกระตุ้นให้น้ำลายไหลออกมาและทำให้เกิดการชาในปาก แก้กระษัยลมเย็น แก้ปวดหัว ปวดฟัน ไซนัส แก้หืดไอ แก้หลอดลมอักเสบ แก้ลมวิงเวียน ฟกช้ำบวมปวด ขับระดู แก้สตรีที่เลือดลมไม่ดี ประจำเดือนมาไม่ปกติ ปวดประจำเดือน ตกเลือด แก้ริดสีดวงทวารหนัก แก้โรคนอนไม่หลับ โรคลมบ้าหมู ขับน้ำดี ขับพยาธิ ใช้ภายนอกแก้ปวดกล้ามเนื้อ รักษาอาการอักเสบ ผลดีปลีใช้เป็นเครื่องเทศโดยใช้แต่งกลิ่นผักดองและช่วยถนอมอาหารมิให้เกิดการบูด

ใบ รสเผ็ดร้อน ใช้เป็นยาขับลม แก้อาการอ่อนเพลีย และช่วยย่อยอาหาร

เถา รสเผ็ดร้อน แก้เสมหะพิการ แก้ปวดท้อง จุกเสียด แก้ริดสีดวงทวาร แก้ลม เจริญอาหาร ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ

เถาและกิ่ง ฝนกับน้ำ ทาแก้ฟกบวม ใส่ฟัน แก้ปวดฟัน

รากสดและใบสด แก้ฟกช้ำ โดยตำให้แหลกผสมกับเหล้า พอกบริเวณที่ฟกช้ำ

ราก รสเผ็ดร้อนขม แก้เส้นอัมพฤกษ์อัมพาต แก้หืดไอ แก้ลมวิงเวียน แก้เสมหะ แก้ปวดท้อง บำรุงธาตุ รักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบ

ต้น แก้เสมหะ

ดอก แก้ท้องร่วง ขับลมในลำไส้ แก้ลมวิงเวียน แก้ริดสีดวงทวาร และช่วยให้เจริญอาหาร

ผลแห้ง มีน้ำมันหอมระเหยที่มีฤทธิ์สามารถฆ่าแมลงด้วงงวงและด้วงถั่วได้ และอาจนำมาสกัดเป็นสารกำจัดแมลงสูตรธรรมชาติได้

แหล่งพืชอนุรักษ์

ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง

<< กลับไปหน้าฐานข้อมูลพืชสมุนไพรและเครื่องเทศ