ชื่อสามัญ แก้ว
ชื่อวิทยาศาสตร์ Murraya paniculata L.
ชื่ออื่นๆ แก้ว, แก้วขาว (ภาคกลาง); แก้วขี้ไก่ (ยะลา); แก้วพริก, ตะไหลแก้ว (ภาคเหนือ); แก้วลาย (สระบุรี); จ๊า พริก (ลำปาง)
ถิ่นกำเนิดและประวัติความเป็นมา
แก้วเป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศจีน และในออสเตรเลีย ในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคในป่าดิบแล้งจากที่ราบสูงจนถึงที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 400 เมตร
ลักษณะทั่วไป
แก้วเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง จัดเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นไม้ผลัดใบขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตร ต้นแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกลมแน่นทึบ เปลือกลำต้นเป็นสีเทาแตกเป็นร่อง ๆ เนื้อไม้สีขาวนวล เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่ระบายน้ำได้ดี ชอบแสงแดดเต็มวัน-รำไร และความชื้นปานกลาง-ต่ำ
พันธุ์และการขยายพันธุ์
ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอน
วิธีการปลูก
- การปลูกในแปลงปลูกเพื่อประดับบริเวณบ้านและสวน คนไทยโบราณนิยมปลูกไว้เพื่อเป็นแนวรั้วบ้าน ขนาดหลุมปลูก 30 x 30 เซนติเมตร ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก : ดินร่วน อัตรา 1 : 2 ผสมดินปลูก การปลูกแบบนี้สามารถปลูกเป็นกลุ่ม หรือเป็นแถวก็ได้และสามารถตัดแต่งบังคับทรงพุ่มได้ตามความต้องการของผู้ปลูก
- การปลูกในกระถาง ควรใช้กระถางทรงสูงขนาด 12 – 16 นิ้ว ใช้ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก : ดินร่วนอัตรา 1 : 1 ผสมดินปลูก และควรเปลี่ยนกระถาง 1 – 2 ปี/ ครั้ง หรือตามความเหมาะสมของการเจริญเติบโตของทรงพุ่ม เพราะการขยายตัวของรากแน่นเกินไปและเพื่อเปลี่ยนดินปลูกใหม่ทดแทนดินปลูกเดิมที่เสื่อมสภาพไป
การดูแลรักษา
ให้น้ำ 3 – 5 วัน / ครั้ง ชอบดินร่วนซุย หรือดินร่วนทราย ต้องการแสงแดดจัด ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 1 – 2 กิโลกรัม/ต้น ใส่ปีละ 4 – 6 ครั้ง หรือใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ สูตร 15-15-15 อัตรา 200- 300 กรัม/ต้น ใส่ปีละ 4 – 6 ครั้ง
โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ
เพลี้ยแป้ง โรคใบแก้ว
การใช้ประโยชน์
- ก้านใบสามารถนำมาใช้ทำความสะอาดฟันได้
- ผลสุกสามารถนำมาใช้รับประทานเป็นอาหารได้
- ต้นแก้วเป็นไม้ประดับที่มีทรงพุ่มสวยงาม ตัดแต่งเป็นพุ่มได้ง่าย เป็นไม้ที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดีและไม่ต้องการการบำรุงรักษามากนัก
- ราก ช่วยคลายการอุดตันของเส้นเลือด ทำให้การไหลเวียนของเลือดลมเป็นไปได้ดีขึ้น
- ลำต้น รากและต้นแห้งนำมาหั่นและต้มเคี่ยวแล้วกรองเอาแต่น้ำมาใช้ ช่วยเร่งการคลอดบุตรของสตรี โดยใช้ผ้าพันแผลจุ่มกับน้ำยาสอดเข้าไปที่ปากมดลูก
- ใบ ใบมีรสร้อนเผ็ดและขม ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย เมื่อรับประทานใบสด 2-4 ใบจะทำให้ร่างกายอุ่นขึ้นเล็กน้อย
- ดอก ใช้สูดดมแก้อาการวิงเวียนศรีษะ ช่วยแก้อาการไอ
แหล่งพืชอนุรักษ์
ศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย