Search for:

ชื่อสามัญ เข็มขาว

ชื่อวิทยาศาสตร์   Ixora lucida R.Br. ex Hook.f.

ชื่ออื่นๆ  เข็มพระราม (กรุงเทพฯ), เข็มปลายสาน (ปัตตานี), เข็มขาว (นครศรีธรรมราช), เข็มขาว (ภาคตะวันตก- เฉียงเหนือ), เข็มไม้ (ไทย)

ถิ่นกำเนิดและประวัติความเป็นมา

เข็มขาว เจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินร่วนชุ่มชื้น มีแสงแดดจัด ทนแล้งได้ดี เป็นพรรณไม้ที่ชอบขึ้นตามธรรมชาติในป่าราบหรือตามป่าเบญจพรรณ

ลักษณะทั่วไป

เข็มขาว จัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ขึ้นเป็นพุ่มแน่น แตกกิ่งใกล้ผิวดินจำนวนมาก ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 1-3 เมตร เปลือกต้นเป็นสีดำ รากมีรสหวาน มีหูใบ 2 ข้าง น้ำยางใส ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ใบมีลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปรีขอบขนาน ปลายใบมน แหลม หรือเรียวแหลม ส่วนขอบใบเรียบ ผิวใบค่อนข้างหนา ดอกออกรวมกันเป็นช่อแบบซี่ร่มขนาดใหญ่แน่นทึบ ก้านดอกยาวกว่าดอกเข็มชนิดอื่น ๆ ดอกย่อยเป็นรูปหลอดปลายแยกออกเป็นกลีบ 4-5 กลีบ ดอกเป็นสีขาวและมีกลิ่นหอม ลักษณะของผลเป็นรูปรี มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.8 เซนติเมตร มีเนื้อนุ่ม ผลอ่อนเป็นสีเขียว ผลแก่เป็นสีดำ

พันธุ์และการขยายพันธุ์

นิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอนกิ่ง ทาบกิ่ง และปักชำ

วิธีการปลูก

สามารถปลูกเป็นไม้กระถางได้ และสามารถปลูกเป็นไม้ดอกตกแต่งพื้นที่ได้ ในการปลูกลงดินควรเตรียมดินปลูก โดยทำการขูดหลุมขนาด 30×30 เซนติเมตร นำดินขุดมาผสมแกลบดำและปุ๋ยคอกหรืออาจผสมปุ๋ยละลายช้า (สูตร13-13-13) ในอัตราส่วน 1:1:1 จากนั้นนำดินผสมรองก้นหลุมใส่ปุ๋ยละลายช้าประมาณ 50 กรัม ต้นกล้าลงปลูกในหลุมที่เตรียมไว้ นำดินที่ผสมที่เหลือกลบหลุมให้เหลือพื้นที่ Root Zone เพื่อระบายอากาศ แล้วรดน้ำให้ชุ่ม

การดูแลรักษา

เข็มขาว เป็นต้นไม้ที่เลี้ยงง่ายไม่ต้องดูแลมากนัก ทนต่อความแห้งแล้งได้ดี ชอบแดด ต้องการน้ำปานกลาง ปลูกได้ทุกที่ทั้งในกระถาง และพื้นดินทั่วไปที่มีการระบายน้ำดี ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี

โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ

เพลี้ยแป้ง หากปลูกในบริเวณที่มีน้ำขังเป็นเวลานานทำให้เก็บเชื้อราที่รากและลำต้นได้

การใช้ประโยชน์

1. รากใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาช่วยเจริญอาหาร ใช้ปรุงเป็นยารักษาโรคตาต่าง ๆ

2. นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับสวย ชอบดินร่วนซุยระบายน้ำได้ดี ดอกมีกลิ่นหอม สามารถออกดอกเกือบตลอดทั้งปี

แหล่งพืชอนุรักษ์

ศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย

<<กลับไปหน้าฐานข้อมูลไม้ดอกไม้ประดับ