ชื่อสามัญ มะม่วงน้ำดอกไม้
ชื่อวิทยาศาสตร์ Mangifera indica Linn.
ชื่ออื่นๆ
ถิ่นกำเนิดและประวัติความเป็นมา
มะม่วงน้ำดอกไม้ เป็นมะม่วงท้องถิ่นในไทย ปัจจุบันพบปลูกในทุกภาค และมีการปลูกเพื่อการค้ามากในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก
มะม่วงน้ำดอกไม้ มีหลายพันธุ์ เช่น น้ำดอกไม้สีทอง น้ำดอกไม้ทะวาย น้ำดอกไม้สีทองเบอร์ 4 น้ำดอกไม้มัน เป็นต้น แต่ละพันธุ์มีความต่างกันเช่น
- น้ำดอกไม้ธรรมดาออกลูกปีละครั้ง
- น้ำดอกไม้ทะวายออกปีละ 2-3 ครั้ง
- น้ำดอกไม้สีมองเบอร์ 4 สามารถออกลูกได้ตลอดทั้งปี ผลดิบมีสีเขียวนวล เนื้อมีสีขาวแน่น และหนา มีรสเปรี้ยวจัด ผลสุกมีสีเหลืองเข้มหรือเหลืองทอง เปลือกผลบาง เนื้อผลละเอียด ไม่มีเสี้ยน มีกลิ่นหอม ไม่มีเสี้ยน น้ำหนักผล 280-300 กรัม ความหวานประมาณ 19 องศาบริกซ์
- น้ำดอกไม้สีทอง เป็นมะม่วงที่กลายพันธุ์มาจากมะม่วงน้ำดอกไม้พระประแดง ผลดิบมีสีเขียวนวล เนื้อผลมีสีขาว มีรสเปรี้ยวจัด ผลแก่ที่อยู่บนต้นมีสีเหลืองอมครีม คล้ายกับมะม่วงสุก ผลเมื่อสุกจัดจะมีสีเหลืองอมส้มหรือสีเหลืองทอง เนื้อละเอียด และมีเสี้ยนเล็กน้อย น้ำหนักต่อผลประมาณ 300-400 กรัม ถือเป็นพันธุ์ที่มีเปลือกหนาขึ้น หนากว่ามะม่วงน้ำดอกไม้เบอร์ 4 และมีความหวานมากกว่า นอกจากนั้น ทนโรค และแมลงได้ดี รวมถึงตอบสนองต่อการบังคับให้ติดผลนอกฤดูได้ดี
- น้ำดอกไม้มัน เป็นลูกผสมของน้ำดอกไม้กับเขียวเสวย จะกินเป็นมะม่วงดิบรสชาติก็สู้เขียวเสวย กับมันขุนศรีไม่ได้ จะกินเป็นมะม่วงสุกก็สู้น้ำดอกไม้ธรรมดา กับอกร่องไม่ได้
ลักษณะทั่วไป
มะม่วงน้ำดอกไม้ เป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดกลาง มีอายุประมาณ 15-20 ปี ลำต้นสูงประมาณ 10-15 เมตร ลำต้นแตกกิ่งน้อย แลดูเป็นทรงพุ่มโปร่ง เปลือกลำต้นสีดำอมเทา
พันธุ์และการขยายพันธุ์
พันธุ์มะม่วงน้ำดอกไม้ น้ำดอกไม้สีทอง น้ำดอกไม้ทะวาย น้ำดอกไม้สีทองเบอร์ 4 น้ำดอกไม้มัน แนะนำควรเป็นการขยายพันธุ์แบบทาบกิ่ง ติดตา หรือเสียบยอด
วิธีการปลูก
นิยมปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ในช่วงต้นฝน เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน
- ขุดหลุมปลูกเป็นแถวตามแนวยาวของแปลงในทิศขวางกับดวงอาทิตย์ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับลักษณะแปลง ระยะห่างระหว่างแถว ประมาณ 6-8 เมตร หลุมขนาด 50 เซนติเมตร และลึก ประมาณ 50 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างหลุม ประมาณ 6-8 เมตร
- ผสมปุ๋ยคอก ประมาณ 3-5 กำมือ/หลุม และปุ๋ยสูตร 15-15-15 ประมาณ 1 กำมือ/หลุม ลงก้นหลุม พร้อมเกลี่ยหน้าดินลงคลุกให้เข้ากัน นอกจากนั้น อาจเพิ่มด้วยหินฟอสเฟต ประมาณ 2-3 กำมือ/หลุม
- ฉีกถุงเพาะออก นำต้นกล้าลงปลูก พร้อมเกลี่ยดินกลบให้พูนโคนต้นขึ้นมาเล็กน้อยปักไม้ไผ่ลงข้างลำต้น พร้อมผูกมัดด้วยเชือกฟาง
การดูแลรักษา
- หลังปลูกในปีแรก หากบางวันที่ฝนทิ้งช่วง ให้รดน้ำวันเว้นวัน เมื่อเข้าสู่ช่วงหน้าแล้ง ให้น้ำวันเว้นวัน
- ในระยะติดผลที่ 3-4 ปี หลังปลูก ให้น้ำวันเว้นวัน (วันที่ฝนไม่ตกหรือหน้าดินแห้งมาก) ทั้งในระยะออกดอก และติดผล
- หากจัดทำร่องน้ำ และปล่อยให้มีน้ำขัง จะช่วยให้ต้นมะม่วงได้รับน้ำที่เพียงพอตลอดเวลา
- การใส่ปุ๋ยในระยะ 1-3 ปีแรก ที่ต้นเติบโต ให้ใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง ในช่วงต้นฤดูฝน และอีกครั้งปลายฤดูฝน ใส่ปุ๋ยคอก 3-5 กำมือ/ต้น ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ประมาณ 1-2 กำมือ/ต้น
- ระยะติดผล หลังปลูก 3-4 ปี ให้ใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง ครั้งแรกในระยะก่อนออกดอกหรือออกดอก ครั้งที่ 2 ใส่หลังเก็บผล ระยะออกดอก ใส่ปุ๋ยในชนิดเดียวกับระยะ 1-3 ปีแรก แต่เปลี่ยนปุ๋ยเคมีเป็นสูตร 8-24-24 หรือ 10-10-20 ระยะออกดอก ใส่ปุ๋ยในชนิด และอัตราเช่นเดียวกับระยะ 1-3 ปีแรก
โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ
หนอนเจาะลำต้น เพลี้ยหอย เพลี้ยแปลง โรคแอนแทรคโนส โรคราแป้ง โรคช่อดอกดำ โรคสะแคบ
การใช้ประโยชน์
- เนื้อไม้ของต้นมะม่วง สามารถนำมาใช้ทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ได้
- ใช้ประกอบอาหารหรือใช้รับประทานเป็นของว่างได้หลากหลาย เช่น ทำน้ำพริก ยำมะม่วง ต้มยำ เมี่ยงส้ม หรือการทำเป็นมะม่วงน้ำปลาหวาน คั้นเป็นน้ำผลไม้ นำมาแปรรูปเป็นมะม่วงกวน มะม่วงแก้ว มะม่วงดอง มะม่วงแช่อิ่ม มะม่วงเค็ม น้ำแยมมะม่วง พายมะม่วง เป็นต้น
- ใบแก่ของมะม่วงใช้เป็นสีย้อมผ้าให้เป็นสีเหลือง
- ทรีตเมนต์บำรุงผิวหน้าด้วยการใช้มะม่วงสุกมาฝานเป็นชิ้นบาง ๆ จากนั้นใช้ช้อนบดขยี้เนื้อมะม่วงให้ละเอียด แล้วนำมาพอกหน้าทิ้งไว้ประมาณ 15 นาทีแล้วล้างออก จะทำให้ผิวหน้าดูสะอาดเกลี้ยงเกลา รูขุมขนดูกระชับ ผิวเรียบเนียนไร้รอยเหี่ยวย่น
- รับประทานมะม่วงก็ช่วยทำให้สดชื่นมีชีวิตชีวาได้เหมือนกัน มะม่วงมีวิตามินซีสูง จึงช่วยต้านอนุมูลอิสระได้เป็นอย่างดี มะม่วงมีวิตามินเอ วิตามินซี ซึ่งมีส่วนช่วยบำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่งสดใส ช่วยบำรุงและรักษาสายตา เพราะอุดมไปด้วยวิตามินเอและเบตาแคโรทีน เป็นผลไม้ที่มีส่วนช่วยบำรุงร่างกาย ช่วยทำให้ผ่อนคลายและหลับสบายยิ่งขึ้น ช่วยทำให้ร่างกายทำงานเป็นปกติ ปรับสมดุลภายใน
แหล่งพืชอนุรักษ์
ศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย