Search for:

ชื่อสามัญ กล้วย banana

ชื่อวิทยาศาสตร์ Musa sp

ชื่ออื่นๆ กล้วยในภาคอีสานเเละภาคเหนือเรียกเหมือนกันคือ ก้วย ส่วนภาคใต้เรียกว่า กล้วย

ถิ่นกำเนิดและประวัติความเป็นมา

คำว่า Musa มาจากคำอาหรับ Muz หมายถึงกล้วย ซึ่งคำว่า Muz มีรากศัพท์มาจากคำภาษาสันสกฤตว่า Mocha ซึ่งหมายถึงกล้วยเช่นกัน ส่วนคำว่า banana นั้นเรียกชื่อตามภาษาแอฟริกาตะวันตกที่ชาวพื้นเมืองใช้เรียกกล้วย เมื่อโปรตุเกสและสเปนเข้าครอบครองหมู่เกาะกินีและคานารีก็เรียกตามกัน และเมื่อมีการนำกล้วยไปปลูกกันเป็นล่ำเป็นสันที่อเมริกากลางและอเมริกาใต้ โดยใช้แรงงานทาสแอฟริกาตะวันตก คำว่า banana จึงแพร่หลายกว้างขวางจนกลายเป็นคำสามัญใช้เรียกกล้วยในปัจจุบันกล้วยเป็นพันธุ์ไม้ท้องถิ่นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หมายความว่าเป็นพืชพื้นถิ่นที่มีอยู่ในประเทศไทยมานานแล้ว กล้วยเป็นผลไม้เก่าแก่พอๆ กับข้าว ที่มีอยู่ตามท้องถิ่นภูมิภาคนี้เช่นกัน จากหลักฐานทางโบราณคดีบ่งชี้ว่า มีการเดินเรือค้าขายระหว่างเกาะชวากับแอฟริกาตะวันออก โดยเฉพาะเกาะมาดากัสการ์ ตั้งแต่หลายร้อยปีก่อนคริสตกาล สินค้าสำคัญจากชวาก็คือ ข้าวและกล้วย หรือแม้แต่อินเดียซึ่งเป็นแหล่งผลิตกล้วยสำคัญทั้งในอดีตและปัจจุบัน ก็ได้รับกล้วยป่าจากการเดินเรือค้าขายระหว่างอินเดียตอนใต้กับอุษาคเนย์ตั้งแต่หลายพันปีมาแล้ว กล้วยเจริญงอกงามดี ในบริเวณอากาศอบอุ่นชุ่มชื้น ภายหลังจึงแพร่พันธุ์ไปทั่ว เเละเเพร่ไปยังเอเชียในส่วนอื่นๆ ของโลกที่มีภูมิอากาศเหมาะสมกับการปลูกกล้วย และเขตอบอุ่นชุ่มชื้นส่วนอื่นของโลก

ลักษณะทั่วไป

กล้วยเป็นไม้ล้มลุกขนาดใหญ่ มีลำต้นอยู่ใต้ดินที่เรียกว่า “เหง้า” ลำต้นเทียมที่อยู่บนดินเกิดจากการหุ้มซ้อนกันของกาบใบ ใบกล้วยเป็นใบเดี่ยวขนาดใหญ่ยาว ผิวใบด้านบนสีเขียวเป็นมัน มีเส้นนูนตั้งฉากกับก้านใบ ท้องใบมีนวลเคลือบกล้วยออกดอกเป็นปลี กาบปลีมีสีเเดงอมม่วง ใต้กาบประกอบไปด้วยผลกล้วยที่อยู่ติดกันเป็นหวี กล้วยมีลักษณะผลยาวรี ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-4 เซนติเมตร ผลกล้วยดิบเปลือกเเข็งสีเขียว กล้วยสุกเปลือกสีเหลืองหรือเขียวเเล้วเเต่พันธุ์ เนื้อสีเหลือง รสหวาน มีเมล็ดสีดำเล็กๆ เเทรกอยู่บริเวณกลางผล ยาว 8-15 เซนติเมตร

กล้วยเป็นพืชที่ปลูกง่าย ขึ้นได้ทั่วไป ต้นหนึ่งตกเครือเพียงครั้งเดียว ต้นก็จะตายไป กล้วยเป็นพืชที่มีการเเตกหน่อทดเเทนต้นที่ตายไป และหน่อก็จะออกดอกติดผลและเก็บเกี่ยวได้ในรุ่นต่อไป

ปัจจุบันมีการปลูกกล้วยอยู่ทั่วไปในแถบเส้นศูนย์สูตรขึ้นไปทางเหนือและลงมาทางใต้ในประเทศที่มีดินฟ้าอากาศเหมาะสม จะมีการปลูกกล้วยเพื่อบริโภคในท้องถิ่น เช่น ประเทศในทวีปแอฟริกา เอเชียและหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก สำหรับเมืองไทย กล้วยเป็นพืชที่ขึ้นได้ทุกภาค แหล่งที่ปลูกกล้วยมากที่สุด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร กาญจนบุรี เพชรบุรี ตาก ชุมพร เลย ระนอง นครราชสีมา และหนองคาย

พันธุ์และการขยายพันธุ์

กล้วยกล้ายหรือกล้าย บางแห่งเรียกว่า กล้วยโกก กล้วยโคก กล้วยหมอนทอง ปลูกไม่แพร่หลาย มีที่จังหวัดจันทบุรี ตราด ที่บางกอกน้อย (กรุงเทพฯ) ต้นสูง 3.5-4 เมตร กาบลำต้นด้านนอกสีชมพูแดง มีประดำค่อนข้างมาก ด้านในสีเขียวอ่อนมีเส้นสีชมพู ก้านใบมีประดำเล็กน้อย มีร่องค่อนข้างแคบ เส้นกลางใบสีเขียวอ่อน ช่อดอกประกอบด้วยดอก ตัวเมียที่ดอกตัวผู้เป็นหมัน ไม่มีดอกตัวผู้หรือดอกกะเทย เมื่อดอกเป็นผลจึงไม่มีปลีเหลืออยู่ ช่อดอกย่อยมี 2-3 ช่อ ช่อหนึ่งมีดอกย่อยเล็กๆ 6-7 ดอก เครือหนึ่งมี 10-20 ผล ผลยาว 20 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางผล 4.5 เซนติเมตร เรียงตัวไม่เป็นระเบียบ ก้านผลสั้น ผลยาวโค้งงอ เปลือกค่อนข้างหนา เมื่อดิบสีเขียว เมื่อสุกเปลือกสีเหลืองคล้ายกล้วยน้ำว้า เนื้อสีส้ม รสหวานอ่อน มีกลิ่นหอมไส้เนื้อกล้วยแข็งเล็กน้อย เนื้อเหนียวอร่อยเมื่อสุก ผลไม่มีเมล็ด เพราะดอกกล้วยไม่มีการผสมพันธุ์

 กล้วยขม หรือกล้วยขมเบา ขมหนักกล้วยขมพบมากในภาคใต้ของประเทศไทย ลำต้นสูงประมาณ 2 เมตร กาบลำต้นด้านนอกมีสีเขียวเข้ม มีปื้นสีดำ ก้านใบมีสีเขียวเข้มเป็นมันร่องใบเปิด เครือหนึ่งมีประมาณ 5 หวี หวีหนึ่งมีประมาณ 10 ผล ลักษณะผลอ้วนกลม ผิวสีสดใสปลายผลมีจุก เมื่อผลสุกจะมีสีเหลืองเข้ม เนื้อสีีเหลืองอ่อน นิ่มฟู รสหวานหอม

กล้วยไข่เป็นกล้วยที่ปลูกมากที่จังหวัดกำแพงเพชร เพชรบุรี ตาก และสุรินทร์ เครือกล้วยไข่มีขนาดเล็ก แต่ละหวีมีลูกดก ขนาดผลเล็ก ผิวสีเหลืองไข่ ผิวเปลือกบาง เนื้อสีเหลืองสวย รสหวานหอม กล้วยไข่ตกเครือให้ลูกสุกในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ซึ่งตรงกับช่วงเข้าพรรษา ที่มีการทำข้าวกระยาสารทถวายพระ กล้วยไข่เป็นผลไม้ที่นิยมรับประทานคู่กับกระยาสารทจะได้รสชาติที่อร่อยลงตัวพอดี กล้วยไข่ที่ขึ้นชื่อคือ กล้วยไข่กำแพงเพชร กล้วยไข่สายพันธุ์อื่นๆ เช่น กล้วยไข่พระตะบอง กล้วยไข่โบราณ เเละกล้วยไข่เล็กยโสธร มีเปลือกบางสีเหลือง รสหวานอร่อย เนื้อสีเหลืองไข่ เหนียวหวานหอม รับประทานสุกเป็นผลไม้ ทำเป็นขนมหวาน กล้วยเชื่อม กล้วยบวชชี และแปรรูปเป็นกล้วยตาก

กล้วยไข่ทองขี้แมวลักษณะกล้วยไข่ทองขี้แมว ลำต้นสูงประมาณ 2.5-3 เมตร ลำต้นเทียมด้านนอก สีเขียวเข้มมีจุดประสีน้ำตาลเข้มจำนวนมาก และมีนวลมาก ด้านในสีออกชมพู ปลีมีใบประดับรูป ไข่ยาว ปลายแหลม และม้วนขึ้น ใบประดับมีสีแดงเทาไม่มีไข กลีบรวมใหญ่สีขาว ปลายสีเหลือง กลีบรวมเดี่ยวใสไม่มีสี มีดอกตัวผู้และตัวเมีย ใบประดับมีรูปร่างเรียวยาวปลายแหลม ด้านในสีซีด เครือกล้วยชี้ไปทางด้านข้างรวมทั้งปลี เครือหนึ่ง มีประมาณ 7 หวี หวีหนึ่งมี 10-16 ผล ผลเมื่อสุกมีสีเหลืองอมส้ม มีเมล็ดด้านใน

กล้วยไข่พระตะบองหรือกล้วยไข่บอง เจ็กบอง ปลูกมากในแถบภาคกลาง เช่น จังหวัดตราด สุรินทร์ ชัยภูมิ นนทบุรี ชลบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี ลำต้นสูง 2.5-3.5 เมตร เครือหนึ่งมีประมาณ 7 หวี หวีหนึ่งมี 14-16ผล ผลโตกว่ากล้วยไข่ทั่วไป ก้านผลค่อนข้างสั้น ผลไม่มีเหลี่ยมปลายผลมนโค้งขึ้นเล็กน้อย เปลือกค่อนข้างหนา เนื้อด้านในสีเหลือง รสหวานอมเปรี้ยว มีกลิ่นหอมเล็กน้อย หากไม่ชอบรสเปรี้ยวของกล้วยควรนำไปต้มทั้งเปลือกหรือนำไปทำกล้วยบวชชี จะช่วยให้ความเปรี้ยวลดลง

กล้วยเงินมีลำต้นเทียมสูงประมาณ 2.5-3.5 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 15 เซนติเมตร ลำต้นมีสีเขียวมีประดำเล็กน้อย ก้านใบและเส้นกลางใบสีเขียว ก้านใบมีปีก ก้านเครือไม่มีขน ปลีมีรูปไข่ป้อมสีม่วงเข้มปลายแหลม มีไขเล็กน้อย เครือหนึ่งมีน้อยกว่า 7 หวี หวีหนึ่งมี 10-16 ผล ผลเมื่อสุกมีสีเหลือง มีขนาดใหญ่เกือบเท่ากล้วยเทพรส รูปร่างคล้ายกล้วยไข่ขนาดใหญ่มาก เนื้อสีเหลือง

กล้วยจีนมีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น กล้วยนมสวรรค์ บ้างก็เรียกว่า กล้วยน้ำนมราชสีห์ กล้วยลังกากล้วยไข่ฝรั่ง ชาวพัทลุงเรียกว่า กล้วยจีน ปลูกกันมากที่อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง จังหวัดทางภาคใต้ปลูกที่พัทลุงและที่สวนโมกข์ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เรียกว่า กล้วยส้ม เป็นต้นกล้วยที่แข็งแรงต้นสูงใหญ่ กาบด้านนอกสีเขียวมะกอก เส้นกลางใบสีชมพูอมม่วงชัดเจน เครือเป็นรูปกรวย การเรียงตัวของหวีแน่น เครือหนึ่งมี 8-10 หวี ผลมีจุกเหมือนจุกขวด ผลเล็ก ก้านสั้น เมื่อดิบสีเขียวสด เมื่อสุกสีเหลืองสด ผลไม่หลุดจากเครือ รสหวานอมเปรี้ยว

กล้วยช้างรูปร่าง ลักษณะต้น ใบ และปลี คล้ายกล้วยเทพรส ลักษณะที่ต่างกันคือ ปลีจะหลุดหายไปเมื่อติดผลหวีสุดท้าย แต่เครือกลับชี้ลงดิน เหมือนกล้วยเทพรสชนิดปลีปกติ ช่วงระหว่างหวีห่างจากกันการเรียงตัวของผลแผ่และเรียงตัวไปในทางเดียวกันคล้ายกล้วยน้ำว้า รอยต่อของขั้วหวีกับก้านเครือมีรอยตะเข็บนูนชัดเจน ขนาดของผลและรสชาติคล้ายกล้วยเทพรส

กล้วยตานีเป็นกล้วยป่าที่มาจากประเทศอินเดีย ปลูกเพื่อนำใบมาใช้เป็นใบตอง ผลกล้วยมีเมล็ด กล้วยตานีดิบใช้ปรุงเป็นอาหาร เช่น ส้มตำกล้วยดิบ กล้วยดิบกินกับแหนมเนือง นำไปดองหรือแกง เป็นต้น

กล้วยตีบหรือกล้วยตีบคำ อีตีบ เป็นลูกผสมระหว่างกล้วยป่ากับกล้วยตานี ลำต้นสูง 3-4 เมตร กาบด้านนอกสีเขียวมีประสีน้ำตาล ต้นอ่อนสีชมพู ก้านใบสีชมพู ก้านใบมีร่องค่อนข้างแคบ ใบอ่อนด้านล่างมีสีชมพู ท้องใบมีนวลสีขาว กาบใบยาวและเรียงตัวกันแน่นคล้ายเป็นลำต้น ลักษณะผลงอเล็กน้อย ปลายผลมีจุกใหญ่ ผลมีลักษณะคล้ายกล้วยหอม แต่ขนาดผลเท่ากล้วยไข่ หวีหนึ่งมีประมาณ 16-18 ผล ผล มีเหลี่ยมเห็นชัดเจน ผลสุกมีสีเหลืองทองสวย รสหอมหวาน

กล้วยทองร่วงหรือกล้วยไข่ทองร่วง ค่อมเบา พบมากในภาคใต้ ลักษณะกล้วยทองร่วงมีลำต้นเทียมความสูงไม่เกิน 2.5-3.5 เมตร กาบลำต้นด้านนอกมีประดำปานกลาง เครือชี้ออกด้านข้าง เครือหนึ่งมีมากกว่า 7 หวี หวีหนึ่งมีประมาณ 10-16 ผล น้ำหนักผลหนักประมาณ 87 กรัมต่อผล ขนาดผลเล็กใกล้เคียงกับกล้วยไข่แต่ผลใหญ่กว่า เปลือกสีเขียวอมเหลือง เมื่อสุกมีผิวสีเหลืองสดใส เนื้อมีสีเหลืองเข้ม รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย เมื่อสุกเต็มที่ผลมักร่วงออกจากเครือ

กล้วยเทพรสหรือที่เรียกกันว่า กล้วยสิ้นปลี หรือกล้วย ปลีหาย เพราะเวลาตกเครือปลีจะหดหายไป กล้วยเทพรสในหนึ่งเครือมี 5-7 หวี แต่ละหวีมีราว 11 ผล ลักษณะผลมีขนาดใหญ่ มีสันเหลี่ยมตามเปลือกผลชัดเจน ปลายผลทู่ ก้านผลยาว ผลดิบสีเขียวหม่น เมื่อแก่จัดมีสีเขียวอมเทา ผลสุกเปลือกสีเหลืองส้ม เนื้อในสีครีม นำไปฉาบ เชื่อม ต้ม หรือเผารับประทาน เนื้อจะเหนียวและหวาน

กล้วยนมสาวพบมากในแถบภาคใต้ ลำต้นสูง 2.5-3.5 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 15 เซนติเมตร กาบลำต้นด้านนอกสีเขียวเข้ม มีปื้นสีดำ ก้านใบค่อนข้างสั้น มีประดำ ร่องก้านใบเปิด ปลีเป็นทรง ดอกบัว ปลายแหลม สีแดงอมม่วง เครือหนึ่งมี 5-7 หวี หวีหนึ่งมี 10-12 ผล ลักษณะผลอ้วนกลม ผิวสีสดใส ปลายผลมีจุกใหญ่งอนขึ้น เมื่อผลสุกเปลือกจะหนา รสชาติหอมหวาน

กล้วยนมหมีพบมากแถบภาคกลาง ลำต้นมีความสูงประมาณ 2-2.5 เมตร ผลมีขนาดใหญ่ มีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร เครือหนึ่งมีประมาณ 4-7 หวี หวีหนึ่งมีประมาณ 10-16 ผล ผลมีขนาดใหญ่กว่ากล้วยหักมุก ปลายผลชี้ไม่เป็นระเบียบ มีจุกใหญ่ปลายมน ผลกว้างประมาณ 5-6 เซนติเมตร ยาวประมาณ 12-13 เซนติเมตร มักพบแถบปลายผล

แตกเป็นสีน้ำตาล ผลดิบมีสีเขียวแตกลายงาสีน้ำตาล เมื่อสุกสีจะออกเหลืองอมส้ม เนื้อสีขาวแน่น รสชาติหวาน เปลือกบาง เวลารับประทานควรนำผลไปทำให้สุกด้วยความร้อน จะช่วยให้รสชาติอร่อยขึ้น

กล้วยนากเปลือกกล้วยสีออกสีนาก สีอมเเดงค่อนข้างคล้ำ (สีนากเป็นสีผสมระหว่างทองคำกับทองเเดง คนโบราณใช้ทำเข็มขัดนาก กำไลนาก) พันธุ์กล้วยนากมีกล้วยนากแดง กล้วยน้ำครั่ง กล้วยครั่ง กล้วยกุ้งแดง ผลดิบผิวเขียวอมเเดงหม่น ผลสุกผิวสีนากเเดง มีกลิ่นหอม รสหวาน กึ่งกล้วยไข่กึ่งกล้วยหอม เนื้อออกสีเหลืองส้ม ชาวมอญและชาวกะเหรี่ยงนำมาบดป้อนลูกเด็กเล็กเเดง เป็นกล้วยที่รับประทานกันมากในประเทศพม่า

กล้วยน้ำหรือกล้วยกระเจาะเนิก มีลำต้นเทียมสูง 2.5 เมตร ปลีรูปไข่ออกยาว ปลายปลีแหลม ปลีมีสีม่วงเข้มไม่มีไข ด้านในสีแดง ปลายปลีม้วนขึ้น เครือของกล้วยน้ำห้อยลง เครือหนึ่งมีประมาณ 7 หวี หวีหนึ่งมี 14 ผล ผลสุกสีเหลืองอมส้มมีรสหวานมาก

กล้วยน้ำไทเป็นกล้วยที่ครั้งหนึ่งเคยใช้ในการเซ่นบวงสรวงเทพยดาฟ้าดิน ไหว้ครู ร่วมกับขนมต้มแดงขนมต้มขาว หัวหมู ส้มสุกลูกไม้อื่น ๆ แต่ความที่เป็นกล้วยหายากในปัจจุบันจึงใช้กล้วยน้ำว้าแทน กล้วยน้ำไทผลสั้นกว่ากล้วยหอม ผลสุกผิวสีเหลืองอร่าม เนื้อกล้วยเหนียวคล้ายกล้วยน้ำว้า รสหวานเข้มคล้ายกล้วยหอม บางท้องถิ่นเรียกว่า กล้วยหอมน้อย

กล้วยน้ำนมพบในแถบภาคเหนือ ลำต้นสูง 2.5-3 เมตร ปลีสีม่วงอมแดง ก้านเครือสีเขียวมีขน เครือหนึ่งมี 7-12 หวี หวีหนึ่งมี 16-20 ผล ผลกลมเล็ก ปลายจุกงอนขึ้น เมื่อสุกจะมีสีเหลือง เปลือกหนา สีขาวนวล กลิ่นหอม เนื้อนุ่ม รสชาติหวานแหลม

กล้วยน้ำว้าเป็นกล้วยพื้นบ้านของคนไทยมีหลายสายพันธุ์ เช่น กล้วยน้ำว้ากาบขาว กล้วยน้ำว้าค่อม กล้วยน้ำว้าแดง กล้วยน้ำว้าเขียว เเละกล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง กล้วยน้ำว้ายังมีแบบไส้ดำ ไส้เหลือง ไส้แดง กล้วยน้ำว้าเมื่อดิบเปลือกสีเขียว (นอกจากเป็นกล้วยน้ำว้าเปลือกดำที่พบที่วัดสวนแก้ว จังหวัดนนทบุรี) เนื้อเเน่น มีรสฝาด เมื่อสุกเปลือกเหลืองบาง เนื้อเเน่นนิ่ม มีรสหวาน กลิ่นหอม รับประทานทั้งแบบดิบด้วยการนำไปปรุงสุกเป็น เเกงกล้วย ทำตำกล้วย ผัดผลกล้วย กล้วยปิ้ง กล้วยบวชชี กล้วยเชื่อม กล้วยฉาบ กล้วยตาก กล้วยกวน และรับประทานสุกเป็นผลไม้

 กล้วยน้ำว้ากาบขาวมีลำต้นเทียมสูงประมาณ 2.5-3.5 เมตร กาบลำต้นด้านนอกมีสีเขียวอ่อน โคนกาบมีสีน้ำตาลปนแดง มีประดำเล็กน้อย ด้านในสีเขียวอ่อน ก้านใบมีร่องค่อนข้างแคบ เส้นกลางใบมีสีเขียว ท้องใบมีนวลมาก เครือหนึ่งมี 7-12 หวี ผลดิบมีสีเขียวนวล มีเหลี่ยมเห็นชัด เปลือกค่อนข้างหนา เมื่อผลสุกเหลี่ยมจะลบและผลมีสีเหลืองกระดังงา เนื้อสีขาวเหนียว ไส้กลางมีสีเหลือง รสหวาน

กล้วยน้ำว้ากาบดำพบที่จังหวัดจันทบุรี ลักษณะกล้วยน้ำว้ากาบดำมีลำต้นสูง 3.5-4.5 เมตร กาบด้านนอกมีสีเขียวอ่อน มีลายดำเล็กน้อย กาบด้านในมีสีเขียวอ่อน ลักษณะก้านใบสีเขียวอ่อน ร่องใบเปิด ดอกสีม่วงอมแดง ลักษณะเรียวยาว เครือหนึ่งมีประมาณ 5-7 หวี หวีหนึ่งมี 10-17 ผล ผลมีลักษณะยาวเรียว

กล้วยน้ำว้าเขียวพบได้ทั่วไป ลำต้นสูง 2.5-3 เมตร กาบลำต้นด้านนอกมีสีเขียวมะกอก ผลดิบสีเขียวสดไม่มีนวล เปลือกค่อนข้างหนา เมื่อสุกเหลี่ยมลบหมดมีสีเหลืองอมเขียว ที่สันเหลี่ยมยังคงทิ้งสีเขียวไว้จางๆ เนื้อมีสีขาว ไส้กลางสีเหลือง เนื้อเหนียว รสหวานอมเปรี้ยวนิดๆ นิยมนำมาทำให้สุกก่อนรับประทาน เช่น กล้วยฉาบ กล้วยทอด

กล้วยน้ำว้าค่อมพบได้ทั่วทุกภาค บางท้องถิ่นเรียกน้ำว้าเตี้ย หรืออีเตี้ย เป็นต้นที่กลายพันธุ์มาจากกล้วยน้ำว้า กาบขาว ลำต้นสูงเพียง 2 เมตร ใบค่อนข้างใหญ่และเปราะ เครือหนึ่งมี 7-10 หวี หวีหนึ่งมี 14-18 ผล ก้านผลยาว ช่องว่างระหว่างหวีน้อยกว่ากล้วยน้ำว้าทั่วไป จึงค่อนข้างแน่น บางครั้งเบียดกันมากจนทำให้บางผลมีลักษณะเรียวแหลม เมื่อสุกมีสีเหลืองอมขาว ไส้กลางมีสีเหลือง รสหวานอร่อย ให้เนื้อเยอะ ผลใช้รับประทานสด และแปรรูป

กล้วยน้ำว้าแดงแพร่เรียก กล้วยน้ำว้าในออก นครสวรรค์เรียก กล้วยสุกไส้แดง ชัยภูมิเรียก กล้วยอ่อง เป็นกล้วยที่กลายพันธุ์มาจากกล้วยน้ำว้า ลักษณะต้นโดยทั่วไปคล้ายกล้วยน้ำว้ากาบขาว กาบลำต้นนอกมีสีเขียวอ่อนปนแดง มีประดำเล็กน้อย หน่อมีสีแดงจัดกว่าพันธุ์กาบขาว ก้านใบมีร่องค่อนข้างแคบ เส้นกลางใบสีเขียวหม่น ท้องใบมีนวลมาก เครือหนึ่งมี 7-12 หวี เมื่อสุกเนื้อในเป็นสีขาวปนชมพู ไส้กลางมีสีชมพูแดง รสหวาน เนื้อเหนียว จึงไม่นิยมใช้เลี้ยงทารก เพราะย่อยยาก

กล้วยน้ำว้าดำพบได้ทั่วไปในแถบภาคกลาง ลำต้นสูง 2.5-3 เมตร เครือหนึ่งมี 5-7 หวี หวีหนึ่งมี 10-15 ผลผลอ่อนมีลายตามผิว ผลเป็นเหมือนสนิม เมื่อผลแก่จะมีลายเกือบเต็มผล และมีสีน้ำตาลเข้ม เมื่อผลสุกส่วนที่เป็นสีเขียวจะกลายเป็นสีเหลือง ส่วนที่เป็นสีน้ำตาลสีจะซีดลง ผิวเปลือกบาง เนื้อผลสีขาว รสหวานมีกลิ่นเล็กน้อย

กล้วยน้ำว้ามะลิอ่องบ้างเรียกกล้วยน้ำว้าสวน หรือทองมาเอง พบที่บางกอกน้อย จังหวัดนนทบุรี มีลำต้นเทียมสูงไม่เกิน 2.5 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 15 เซนติเมตร กาบลำต้นด้านนอกมีสีเขียวปนแดง มีประดำค่อนข้างมาก ก้านใบสีเขียวสด ท้องใบมีนวลมาก เครือหนึ่งมี 5-7 หวี ลักษณะผลภายนอกเหมือนกล้วยน้ำว้ากาบขาว ผลสุกมีสีเหลืองปนน้ำตาล เปลือกบาง บางครั้งมีกระที่ผิว เนื้อในมีสีขาวเหลือง รสหวานจัดกว่าทุกพันธุ์ เป็นกล้วยที่นิยมปลูกในสวนแถบบางกอกน้อย และสวนทุเรียนที่จังหวัดนนทบุรี

กล้วยน้ำว้าลูกไส้ดำพบที่จังหวัดกำแพงเพชร ลักษณะกล้วยน้ำว้าลูกไส้ดำมีลำต้นสูง 3 เมตร กาบด้านนอกเขียวอ่อน ก้านใบสีเขียวอ่อน ฐานใบโค้งงอ ปลีรูปร่างค่อนข้างใหญ่ทรงเรียวปลายแหลม ด้านนอกสีแดงอมม่วง ด้านในสีหม่น เมื่อกาบปลีเปิดจะม้วนงอขึ้น เครือหนึ่งมี 5-7 หวี หวีหนึ่งมี 10-15 ผล ปลายผลจะมีเกสรตัวเมียติดอยู่ เมื่อผ่าดูจะเห็นไข่ที่ไม่ได้รับการผสมเรียงกันเป็นเส้นสีดำ นิยมรับประทานผลสุก

กล้วยนิ้วมือนางหรือกล้วยหวาน พบที่จังหวัดนครสวรรค์ ลำต้นสูง 2.5-3.5 เมตร กาบด้านนอกเขียว ด้านในสีเหลืองอมเขียว ก้านใบสีเขียว ร่องใบเปิด ปลีมีสีแดงรูปไข่เรียวแหลม ปลายแหลม ก้านเครือมีขนเครือหนึ่งมีประมาณ 7 หวี หวีหนึ่งมี 10-16 ผล ผลยาว 12-16 เซนติเมตร กว้าง 3-4 เซนติเมตร เมื่อสุกจะมีสีเหลือง รสหวานเล็กน้อย

กล้วยบัวสีชมพูหรือกล้วยบัว พบได้ทั่วไป ลำต้นสูงประมาณ 2.5 เมตร ก้านใบมีร่องค่อนข้างแคบเส้นกลางใบสีเขียว ใบมีลักษณะเรียวเล็กรูปใบพาย ช่อดอกไม่มีขน ก้านช่อดอกตั้งขึ้น ใบประดับรูปไข่ค่อนข้างยาวสีชมพูคล้ายกลีบดอกบัว ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ ผลมีรูปรีแกมขอบขนาน เมื่อผลสุกจะมีสีเหลือง แต่ละหวีมี 1 แถว ผลจะเรียงตัวกันไม่เป็นระเบียบ

กล้วยบัวสีส้มพบได้ทั่วไป พบมากที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ลำต้นสูง 1.5-2 เมตร ลำต้นมีขนาดเล็ก ต่างจากกล้วยบัวสีชมพูที่การแตกกอ โดยกล้วยบัวสีส้มจะแตกตัวกระจัดกระจาย ก้านใบมีสีเขียว ใบสีเขียว ช่อดอกชูตั้งขึ้น ก้านช่อดอกไม่มีขน ใบประดับ รูปร่างคล้ายกลีบดอกบัว สีส้ม ผลมีสีเขียว ผิวเรียบ ขนาดเล็ก นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ

กล้วยผาหรือกล้วยครก กล้วยโทน กล้วยป่า พบในป่าแถบภาคเหนือและภาคอีสาน ลักษณะกล้วยผา มีลำต้นเทียมเตี้ย สูงต่ำกว่า 0.5 เมตร กาบใบมีนวลหนาและเรียงตัวหลวมๆ ลำต้นเทียมขยายใหญ่ ก้านใบสั้นสีเขียว เส้นใบสีเขียว ช่อดอกใหญ่ ชูตั้งและโน้มลงตรงขนานกับพื้นดิน ใบประดับและดอกอยู่สลับกัน และชิดติดกันมาก ใบประดับมีขนาดใหญ่สีแดงอมม่วง รูปค่อนข้างป้อม ปลายป้าน ดอกที่อยู่โคนช่อดอกเป็นดอกกะเทยผลใหญ่ เรียงกันไม่เป็นระเบียบ รูปป้อม ปลายแหลม มีเมล็ดมาก เมล็ดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 5-6 มิลลิเมตร หรือมากกว่า เมล็ดพักตัวได้เป็นเวลานานและสามารถงอกได้เองในฤดูฝน ต่อมาเป็นกล้วยที่ทนความแห้งแล้งได้ดี ขึ้นตามซอกหน้าผาที่เป็นหินได้

กล้วยพม่าแหกคุกพบได้ทั่วไปตามแถบภาคกลาง ลักษณะกล้วยพม่าแหกคุก มีลำต้นเทียมสูงไม่เกิน 3.5-4 เมตร กาบลำต้นด้านนอกมีประสีดำมาก ด้านในซีดขาว ก้านใบมีร่องแคบมาก ก้านช่อดอกไม่มีขน ใบประดับมีรูปร่างป้อม ปลายมน ด้านนอกสีม่วงแดง มีไขมาก ด้านในสีแดงไม่ซีด กลีบรวมใหญ่สีม่วง ปลายสีเหลือง กลีบรวมเดี่ยวสีม่วงใส ที่ปลายสีเหลืองมีหยักเล็กน้อย ก้านของเกสรตัวเมียมีหยักที่โคนซึ่งมีลักษณะเหมือนกล้วยซาบาของฟิลิปปินส์ มีรังไข่ตรงสีม่วง เกสรตัวเมียและเกสรตัวผู้สีครีม ก้านเกสรตัวเมียสั้นกว่าเกสรตัวผู้เล็กน้อย เครือหนึ่งมี 8-12 หวี หวีหนึ่งมีประมาณ 14-20 ผล ผลมีสีเขียวเข้มเป็นเงา เมื่อสุกมีสีเหลืองจำปา เปลือกหนาเป็นเงา มีขนาดใกล้เคียงกับกล้วยหักมุก รูปร่างของผลใกล้เคียงกับกล้วยหักมุกเช่นกัน เนื้อแน่น มีลักษณะเหนียวๆ เนื้อผลสีขาว รสหวาน มีกลิ่นหอมอ่อนๆ เมื่อนำไปย่าง

กล้วยร้อยหวีมีถิ่นกำเนิดที่ประเทศอินโดนีเซีย เรียกชื่อว่า ปิซัง เซเรบู (pisang serebu) บางทีก็เรียกว่า กล้วยงาช้าง ลำต้นเหมือนกล้วยทั่วไปแต่ต้นเล็กกว่าต้นกล้วยน้ำว้า ใบสีเขียวเข้ม สูงราว 1.5-2 เมตร อายุการออกดอกใช้เวลา 6 เดือน เมื่อออกดอกแล้วก็จะเริ่มตกปลี ระยะตกปลีจนสุดปลายเครือใช้เวลาทยอยเป็นหวีกล้วยเล็กๆ ยาวนาน 9-12 เดือน จึงจะสุดเครือ ช่อดอกมีดอกแน่นมาก เป็นดอกตัวเมียส่วนใหญ่ ออกเป็นเครือห้อยย้อยลง ยาวเฟื้อยเหมือนงวงช้าง บางครั้งจึงเรียกว่ากล้วยงวงช้าง ในเครือที่สมบูรณ์ เครือหนึ่งมี 200-300 หวี มีผลกว่า 3,000 ผล เครือยาวถึง 6 ฟุต ปลายปลีเล็กเรียว เมื่อสุกรสหวานอ่อน เนื้อน้อย

กล้วยเล็บช้างกุดกล้วยเล็บช้างกุด หรือกล้วยโก๊ะ อีเต่า พบมากทางภาคใต้ ลำต้นสูง 3.5-4 เมตร กาบลำต้น ด้านนอกมีสีเขียว ก้านใบสีเขียว เส้นกลางใบสีเขียว ช่อดอกไม่มีขน ปลีค่อนข้างป้อม มีความกว้างมาก ปลายมน ด้านนอกมีสีแดงอมม่วง มีนวล ด้านในสีแดงสดใส เมื่อกาบปลีกางออกจะตั้งฉากกับช่อดอก กาบปลีแต่ละใบจะซ้อนกันลึก เครือหนึ่งมีประมาณ 8 หวีขึ้นไป หวีหนึ่งมี 14-18 ผล ลักษณะผลป้อมคล้ายกล้วยตานี ปลายผลมน ก้านผลยาว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง รสหวาน เนื้อมีแป้งมาก บางผลมี เมล็ด ถ้าต้มแล้วเนื้อจะแน่นเหนียว นิยมรับประทานผลสดเมื่อสุก

กล้วยเล็บมือนางเป็นกล้วยกลายพันธุ์มาจากกล้วยป่า ปลูกกันมากทางภาคใต้โดยเฉพาะที่อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร นับเป็นกล้วยที่แพร่หลายมากชนิดหนึ่ง (คนนครศรีธรรมราชเรียกว่า กล้วยหมาก พัทลุงเรียกว่า กล้วยทองหมาก นครสวรรค์เรียกว่า กล้วยเล็บมือ เลยเรียกว่า กล้วยหอม) มีลำต้นผอมสูง กาบด้านนอกสีชมพูอมแดง ผลมีขนาดเล็กเท่านิ้วมือ ปลายยาวเรียว โค้งงอ ปลายผลมีสีดำเล็กแหลมเป็นก้านเกสรเรียกว่า “เล็บ” ในหนึ่งหวีมีผลเเน่นมาก ขนาด 30-40 ผล ผลสุกสีเหลืองทอง เนื้อในสีเหลือง กลิ่นหอมแรง รสหวาน เนื้อนุ่ม รับประทานสุกเป็นผลไม้ เเปรรูปเป็นกล้วยตาก เเละกล้วยฉาบอบใบเตย

กล้วยเลือดหรือเรียกว่า กล้วยเสือพราน กล้วยทหารพราน กล้วยใบลาย เป็นกล้วยป่าชนิดใบประ ต้นเดี่ยว กอเล็ก ต้นเทียมสูงเพียง 2-3 เมตรเท่านั้น ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 12 เซนติเมตร กาบลำต้นเทียมสีเขียวอมเหลือง มีปื้นดำเป็นประใหญ่อยู่ทั่วไป ด้านในกาบใบสีเขียวอ่อนตลอดลำต้น ใบมีประสีแดงอมม่วง โดดเด่นสวยงาม เมื่อต้นโตขึ้นประก็จะจางลง จึงนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ ดอกช่อสั้น ก้านเครือลูกกล้วยมีขน ปลีเล็กเรียวปลายแหลม สีแดงอมม่วง ผลเล็กเกาะกันแน่นในแต่ละหวี เมื่อผลโตขึ้นกลายเป็นสีเขียว เครือหนึ่งมี 7-8 หวี หวีหนึ่งมี 10-16 ผล ผลสุกสีเหลือง มีรสหวาน แต่มีเมล็ดมาก พบที่จังหวัดแพร่และบริเวณภาคเหนือของไทย

กล้วยส้มจันทบุรีเรียก กล้วยหักมุก ราชบุรีเรียก กล้วยหักมุกเหลือง นนทบุรีเรียก กล้วยหักมุกสีทอง พบทั้งทางภาคเหนือ และภาคตะวันออก ลักษณะกล้วยส้มมีลำต้นเทียมสูง 2.5-3.5 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางลำต้นประมาณ 15 เซนติเมตร กาบลำต้นด้านนอกสีเขียวเข้ม ด้านในมีสีชมพูอ่อน มีไขปานกลาง ก้านใบมีร่องค่อนข้างแคบ ไม่มีปีก ก้านใบเอนลงมีสีเขียว เส้นกลางใบสีเขียว ก้านช่อดอกไม่มีขน ใบประดับ มีสีม่วงเข้ม มีนวล ด้านในสีแดงเข้มไม่ซีด โคนทั้งสองข้างของใบประดับหรือกาบปลีมีสีเหลือง ปลายมนและมีสีเหลือง ค่อนข้างป้อม มีไขมาก เมื่อบานเต็มที่จะม้วนขึ้น ก้านดอกตัวเมียสีแดงเรื่อๆ กลีบรวมใหญ่สีครีมส้ม ปลายสีเหลือง กลีบรวมเดี่ยวสีครีมใส รูปร่างของผลเหมือนกล้วยหักมุกขาว มีจุกใหญ่ หวีแรกจะแตกลายงา เครือห้อยลง เครือหนึ่งมีประมาณ 7-8 หวี หวีหนึ่งมีประมาณ 16-18 ผล ผลมีเหลี่ยมคล้ายกล้วยหักมุก เปลือกหนาสีเขียว ก้านผลยาว ปลายผลมีจุกใหญ่ เมื่อสุกจะมีสีเหลืองทอง เนื้อผลสีเหลืองอมส้ม รสหวานอมเปรี้ยว นิยมรับประทานผลสุก

กล้วยสาพบมากในภาคใต้ ลำต้นสูง 2-2.5 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 เซนติเมตร กาบด้านนอกมีสีเขียวอ่อนมีลายประดำ กาบด้านในมีสีเขียวอ่อน ก้านใบยาว โคนก้านใบมีปื้นดำเล็กน้อย ตัวใบมีสีเขียวอ่อน รูปทรงใบยาวปลายเรียว ปลีสีม่วงอมแดงเข้ม ปลีเป็นรูปทรงกระบอก ยาว 15-17 เซนติเมตร เครือหนึ่งมี 5-7 หวี หวีหนึ่งประมาณ 10 ผล ขนาดกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 9 เซนติเมตร ลักษณะผลคล้ายกล้วยไข่ ผลเหยียดยาวตรง เนื้อผลสีครีม รสหวาน หอม

กล้วยสามเดือนพบได้ทั่วไป มีลำต้นเทียมสูง 2.5-3.5 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 18 เซนติเมตร มีประสีดำปานกลาง กาบลำต้นด้านในมีสีเขียวอ่อนปนชมพูมีไขปานกลาง ก้านใบและเส้นกลางใบสีเขียว ร่องใบปิด ไม่มีปีก เครือและปลีห้อยลง ก้านเครือมีขนปลีมีใบประดับรูปไข่ ปลายแหลมและม้วนขึ้น มีไขปานกลาง ปลีสีม่วงแดง เครือหนึ่งมีประมาณ 7-8 หวี หวีหนึ่งมี 15-20 ผล ผลมีเหลี่ยมชัดเจน เปลือกหนา เมื่อผลสุกจะมีสีเหลืองอมส้ม รสหวานเล็กน้อย

กล้วยหกหรือกล้วยป่าอ่างขาง กล้วยแดง เป็นกล้วยตานีป่า พบมากตามภูเขาสูงแถบภาคเหนือ ลำต้นสูงประมาณ 2.5-4 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 15 เซนติเมตร กาบลำต้นด้านนอกสีเขียวอมเหลือง มีประดำเล็กน้อย ด้านในสีเหลืองอ่อน ก้านใบสีเขียวอมเหลือง และมีประเล็กน้อย ก้านดอกมีขน ปลีรูปไข่ ปลายมน ด้านบนสีเหลืองอมม่วงเข้ม ไม่มีนวล ด้านล่างมีสีครีม แต่ละใบเรียงซ้อนกันลึก และเมื่อกาบปลีหลุดมีสันตื้น เครือหนึ่งมี 5-7 หวี หวีหนึ่งมี 9-13 ผล ลักษณะผลป้อมปลายทู่ ก้านผลยาวเกือบเท่าความยาวของผล เนื้อสีเหลือง มีเมล็ด นิยมนำปลีมาปรุงอาหาร

กล้วยหอมจันทน์หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กล้วยน้ำ กล้วยขนุน ลำต้นขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 25 เซนติเมตร สูง 3-3.5 เมตร กาบนอกสีชมพูอมแดงเล็กน้อย กาบใบสีชมพูอมแดง ร่องใบกว้าง เครือหนึ่งมี 7-11 หวี หวีหนึ่งมี 12-14 ผล ผลเล็กเรียว ก้านผลสั้น ปลายผลเป็นจุกสั้น เปลือกหนาปรากฏเหลี่ยมบนผลชัดเจนเรียงตัวเป็นระเบียบไปทางเดียวกัน ผลดิบสีเขียวสด ผลสุกสีเหลืองเข้ม รสหวานเย็นรสชาติดีมาก มีกลิ่นหอมจัดจนฉุน ปลูกที่จังหวัดนครนายกเรียก กล้วยหอมนางนวล นครศรีธรรมราชเรียก กล้วยแก้ว สกลนครและชัยภูมิเรียก กล้วยหอม ยโสธรเรียก กล้วยหอมเล็ก ส่วนที่กาฬสินธุ์เรียก กล้วยหอมจันทน์

กล้วยหอมทองเป็นพันธุ์กล้วยเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง ลำต้นขนาดใหญ่ แข็งแรง ก้านใบมีร่องค่อนข้างกว้างและมีปีก ก้านช่อดอกมีขน ผลยาวรี ปลายคอดมีจุก เปลือกบาง เมื่อดิบเปลือกสีเขียว สุกเปลือกกลายเป็นสีเหลืองทอง เนื้อสีส้มอ่อน กลิ่นหอม รสหวาน เนื้อนุ่มเนียนกล้วยที่ค้าขายกันในโลกส่วนใหญ่เป็นกล้วยหอมพันธุ์คาเวนดิช (Cavendish) และกรอสไมเคิล(Gros Michael) ซึ่งมีรสหวาน เปลือกสีเหลืองหนา และขั้วเหนียว อันเป็นคุณสมบัติที่เหมาะกับการ ขนส่งทางไกล

กล้วยหอมสั้นลำต้นเทียมมีความสูงน้อยกว่า 2.5 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 15 เซนติเมตร ลำต้นมีประดำและไขปานกลาง กาบลำต้นด้านในมีสีชมพู ก้านใบมีปีกเป็นสีชมพู เส้นกลางใบสีเขียว เครือออกทางด้านข้างขนานกับดินรวมทั้งปลีด้วย ก้านช่อดอกมีขนเล็กน้อย ปลีมีใบประดับรูปไข่ยาว ปลายแหลม สีม่วงเข้ม ปลายม้วนขึ้น เครือหนึ่งมีน้อยกว่า 7 หวี หวีหนึ่งมี 10-16 ผล ผลสุกมีสีเหลืองอมส้ม มีขนาดใกล้เคียงกับกล้วยน้ำว้าแต่รูปร่างเหมือนกล้วยไข่ รสหวาน

กล้วยหักมุกเป็นกล้วยที่นิยมนำมาปิ้งรับประทาน ตามแผงปิ้งกล้วยก็มักจะมีกล้วยหักมุกปิ้งทั้งเปลือกขายร่วมอยู่ด้วยเสมอ กล้วยหักมุกสุกเนื้อจะหยาบและแน่นขึ้น มีสีเหลืองอร่ามน่ารับประทาน รสหวานอ่อนอมเปรี้ยว มีกลิ่นหอม นอกจากนี้ยังนำมาทำกล้วยหักมุกฉาบ ที่พม่ารับประทานกล้วยหักมุกสุกเป็นผลไม้ กล้วยส้มเป็นกล้วยหักมุกชนิดหนึ่ง ปลูกที่จังหวัดจันทบุรี

กล้วยหินเป็นกล้วยคู่แม่น้ำปัตตานี ปลูกตามควน (ตามเนินแนวลาดของภูเขาหรือเนินเขา) แถวบันนังสตาจังหวัดยะลา เป็นกล้วยที่ช่วยเสริมรายได้ให้ชาวบ้านอย่างมาก เพราะเมื่อนำไปแปรรูปแล้วจะอร่อยมากกล้วยหินต้มที่สามแยกบ้านเนียง อำเภอบันนังสตา มีชื่อเสียงเลื่องลือว่าอร่อยมาก กล้วยฉาบหินจากตำบลถ้ำทะลุก็ดังไม่แพ้กัน

วิธีการปลูก

การปลูกขยายพันธุ์โดยการใช้หน่อ เตรียมหลุมปลูกขนาด 50x50x50 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์ ใช้ระยะปลูก 4×4 เมตร

การดูแลรักษา

หลังปลูกใหม่และไม่มีฝนตกควรให้น้ำ ส่วนการให้ปุ๋ยควรใส่ปุ๋ยเคมีทางดินสูตร 15-5-20 อัตรา 100 กรัมต่อต้นต่อครั้ง เมื่ออายุ 1 เดือน และอายุ 3, 6 และ 8 เดือน หลังปลูกให้ใส่อัตรา 200 กรัมต่อต้น ต่อครั้ง

โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ

โรคใบลาย ด้านบนของใบล่างเป็นปื้นหรือแถบสีส้มปนน้ำตาล ใต้ใบมีกลุ่มเส้นใยและสปอร์จำนวนมาก ป้องกันกำจัดโดยตัดใบที่เป็นโรคเผาทำลายนอกแปลง พ่นสารคาร์เบนดาซิม โรคผลจุดหรือจุดกระบนผล พบจุดขนาดปลายเข็มหมุดบนผลกล้วย ป้องกันกำจัดโดยพ่นด้วยสารเคมี เช่น สารคาร์เบนดาซิมในช่วงปลีเปิด แล้วห่อเครือกล้วยด้วยถุงพลาสติกชนิด โพลีเอทิลีน

ด้วงงวง หนอนกัดกินและชอนไชภายใน เหง้ากล้วยใต้ระดับผิวดินบริเวณโคนต้น ป้องกันกำจัดโดยรักษาความสะอาดแปลง เผาต้นที่เน่าและ ถูกทำลาย ทำกับดักล่อตัวเต็มวัยของด้วงเมื่อพบ  2-4 ตัวต่อกับดัก ราดด้วยสารฟิโปรนิลรอบโคนต้น  ด้วงเจาะลำต้น วางไข่ตามกาบกล้วยบริเวณกลาง ลำต้น หนอนกัดกินและไชชอนทั่วต้นทะลุถึง  ไส้กลางลำต้น ป้องกันกำจัดโดยรักษาความสะอาด แปลง เผาต้นที่เน่าและถูกทำลาย ทำกับดักล่อตัว เต็มวัยของด้วงเมื่อพบ 2-4 ตัวต่อกับดัก ราดด้วย สารฟิโปรนิล หนอนม้วนใบกล้วย ใบม้วนห่อตัวเป็น หลอดยาวแล้วกัดกินอยู่ภายใน ป้องกันกำจัดโดยรักษาความสะอาดแปลง เผาต้นที่เน่าและถูกทำลาย  ทำกับดักล่อตัวเต็มวัยของด้วงเมื่อพบ 2-4 ตัวต่อกับดัก ราดด้วยสารฟิโปรนิล เพลี้ยไฟ ตัวอ่อนและตัว เต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากผล ป้องกันกำจัดโดยพ่นด้วยสารเคมี เช่น สารแลมป์ดาไซฮาโลทริน เพลี้ยแป้ง ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากกาบใบบริเวณลำต้นคอยอดและเครือกล้วย ป้องกันกำจัด โดยห่อผลทั้งเครือหรือพ่นสารคาร์บาริล

การใช้ประโยชน์

กล้วยมีคุณค่าอาหารสูง ให้พลังงาน 100 กิโลแคลอรีต่อ 100 กรัม กล้วยสุกย่อยง่าย ให้คาร์โบไฮเดรต เเละวิตามินเอสูง ทั้งกล้วยดิบและกล้วยสุกนำมาใช้แก้อาการผิดปกติของทางเดินอาหาร แก้อาการของโรคกระเพาะ แก้อาการท้องผูก ช่วยแก้ปวดข้อ แก้ไข้ ช่วยลดความดันโลหิตสูง แก้เจ็บคอ แก้เบาหวาน แก้ปัสสาวะขัด และริดสีดวงทวารได้อีกด้วย

แหล่งพืชอนุรักษ์

ศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย