Search for:

ชื่อสามัญ มะม่วง mango

ชื่อวิทยาศาสตร์   Mangifera indica

ชื่ออื่นๆ  

ถิ่นกำเนิดและประวัติความเป็นมา

มะม่วงเป็นไม้ผลที่ปลูกกันมากในเมืองไทย มีชื่อเรียกในแต่ละภาคคล้ายคลึงกัน ภาคอีสานเรียกว่า บักม่วง ภาคเหนือเรียกว่า บะม่วง ภาคใต้เรียกว่า ลูกม่วงมีชื่อสามัญว่า mango ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mangifera indica L.

ชาวต่างชาติขนานนามมะม่วงว่า “แอปเปิลของเมืองร้อน” มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย ต่อมาได้นำพันธุ์ไปขยายในประเทศต่างๆ เช่น แอฟริกา สหรัฐอเมริกา อเมริกาใต้ เม็กซิโก บราซิล อาร์เจนตินา อิตาลี สเปน มลายู ชวา ฟิลิปปินส์ พม่า

ไทย เวียดนาม เขมร และเกาะต่างๆ เช่น คิวบา ฮาวานา จาเมกา บาร์เบโดส และฮาวาย เป็นต้น

สันนิษฐานว่ามะม่วงเข้ามาในเมืองไทย ในช่วงที่มีการติดต่อทางการค้าและวัฒนธรรมกับอินเดีย ประมาณปี พ.ศ.2143-2193 เพราะในเวลานั้น ไทยได้มีการนำพืชพันธุ์ต่างๆ เข้ามาจากประเทศอินเดียหลายชนิด

ลักษณะทั่วไป

มะม่วงเป็นไม้ยืนต้นอยู่ในวงศ์ Anacardiaceae ลำต้นตรง มีกิ่งก้านแผ่ออกเป็นทรงพุ่มแน่นทึบ ไม่ผลัดใบ มีอายุยืนยาวกว่า 100 ปี ต้นมีขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 10-30 เมตร ใบเดี่ยวเรียงตัวสลับกัน ขอบใบเรียบ โคนใบมน ปลายใบแหลม ใบอ่อนสีออกแดง เมื่อแก่จะเป็นสีเขียว ดอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่งหรือตามตากิ่ง แต่ละช่อจะมีดอกตัวผู้และดอกสมบูรณ์เพศ ดอกมีหลายสี เช่น แดง ชมพู หรือขาว แต่ละดอกมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ และกลีบดอกอีก 5 กลีบ มีกลิ่นหอม ผลมีความแตกต่างตามพันธุ์ รูปร่างมีตั้งแต่กลมไปจนถึงรูปไข่ค่อนข้างยาว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางผล 6-8 เซนติเมตร ผลดิบมีสีเขียว เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือเหลืองอมส้ม มีเมล็ดกลางผล 1 เมล็ด

มะม่วงในเมืองไทยมีมากมายหลายพันธุ์ ทั้งพันธุ์พื้นเมือง เช่น มะม่วงกะล่อน มะม่วงแก้ว ตะเพียนทอง นวลจันทร์ทะวาย เศรษฐีทะวาย มันเดือนเก้า ศาลายา สามฤดู ชมทิว มะม่วงเบาภาคใต้ กะล่อนขี้ไต้ กะล่อนทอง แก้มแดง แก้วลืมรัง เขียวไข่กา ไข่เหี้ย เจ้าพระยา ตับเป็ด แตงกวา ทะวายมัน ทุเรียน ทองดำ ทองปลายแขน

นกกระจิบ น้ำตาลจีน น้ำตาลปากกระบอก พิมเสนขาว พราหมณ์ขายเมีย พรวนมันทะวายพิเศษ แมวเซา ลิ้นงูเห่า สาวกระทืบหอ สังขยา สำปั้น หงสา เหนียงกระทุง แห้ว หัวช้าง หมอนทอง และอินทรชิต เป็นต้น

พันธุ์มะม่วงที่ปลูกเป็นการค้า ได้แก่ อกร่อง ทองดำ พิมเสน เขียวเสวย แก้ว ทูลถวาย แรด  น้ำดอกไม้สีทอง น้ำดอกไม้เบอร์ 4 ฟ้าลั่น ทะวายเดือนเก้า ขายตึก หนองแซง หนังกลางวัน เจ้าคุณทิพย์ สามปี ตลับนาค โชคอนันต์ และมหาชนก

พันธุ์และการขยายพันธุ์

1.มะม่วงพันธุ์แก้วมีลักษณะทรงพุ่มต้นปานกลาง เปลือกลำต้นขรุขระ ลักษณะกิ่งเลื้อย ใบป้อม ปลายใบเรียวแหลม ฐานใบแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบ ผลมีขนาดค่อนข้างโต เปลือกหนา เนื้อหนา ลักษณะของผลค่อนข้างกลมป้อม ตรงขั้วผลอูมใหญ่ ส่วนท้ายสั้นเล็ก เปลือกเหนียว เมื่อยังอ่อนสีเขียว เมื่อแก่จัดมีสีเขียวเข้ม เนื้อสีขาว รสเปรี้ยว เมื่อผลเริ่มห่ามเกือบสุกเปลือกจะมีสีเหลืองหรือสีส้มแดงเป็นวงที่ผิวด้านบนใกล้กับขั้ว เนื้อมีสีเหลืองหรือส้มแดง รสชาติหวานอมเปรี้ยว เมล็ดค่อนข้างโต น้ำหนักของผลมะม่วงแก้วประมาณ 160-200 กรัมต่อผล มะม่วงแก้วเป็นมะม่วงรับประทานดิบ ที่นำมาแปรรูปได้หลากหลาย เช่น ทำมะม่วงดอง มะม่วงกวนมะม่วงพันธุ์แก้วนิยมปลูกกันอย่างแพร่หลาย และชาวสวนนิยมใช้ทำเป็นต้นตอในการขยายพันธุ์มะม่วง เพราะเป็นพันธุ์ที่มีเปอร์เซ็นต์การเกิดต้นกล้าต่อเมล็ดสูง มีระบบรากดี ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ดี ทั้งสภาพที่ดอนและที่ลุ่ม มะม่วงแก้วมีหลายสายพันธุ์ เช่น แก้วจุก แก้วเขียว แก้วขาว แก้วแดง แก้วดำ และมีสายพันธุ์ที่กรมวิชาการเกษตร โดยศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ได้คัดสายพันธุ์ที่น่าสนใจคือพันธุ์ ศก.0007-88-10 คัดจากมะม่วงแก้วจุก มะม่วงต้นนี้ให้ผลที่อายุ 10 ปี ได้ผลเฉลี่ย 215.5 ผล น้ำหนักผลเฉลี่ย 293.5 กรัม

2.มะม่วงแก้วหรือมะม่วงลิ้นงูเห่า มะม่วงแก้วลืมคอน เป็นมะม่วงพันธุ์รับประทานผลดิบ (มัน) มีถิ่นกำเนิดอยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ลักษณะต้นเป็นพุ่มใหญ่ การเจริญเติบโตดี ใบคล้ายใบพันธุ์ “หนังกลางวัน” สีเขียวเข้ม เป็นพันธุ์ที่ออกดอกเป็นช่อ มีดอกย่อยที่เพศผู้และสมบูรณ์เพศอยู่ในช่อเดียวกัน ติดผลดีมาก ผลกลมค่อนข้างยาว ปลายผลงอนเล็กน้อยคล้ายพันธุ์ “หนังกลางวัน” น้ำหนักประมาณ 350 กรัมต่อผล ลักษณะเปลือกผลหนาและเหนียวมีต่อมเห็นได้ไม่ชัดนัก เมื่อดิบผิวเปลือกสีเขียวเข้ม สีของเนื้อขาวนวลหรือสีงาช้าง เนื้อค่อนข้างละเอียด เมื่อแก่จัดรสมันกรอบ เมื่อสุกผิวของเปลือกสีเขียวปนเหลือง สีขาวเนื้อเหลืองนวล เนื้อละเอียด มีเสี้ยน รสชาติหวานมัน เมล็ดรูปร่างยาว หัวค่อนข้างกลม ปลายแบน มีเสี้ยนติดเมล็ดน้อย

3.มะม่วงพันธุ์ขาวแตงกวาเป็นพันธุ์ดั้งเดิมในอดีตที่มีปลูกกันในแถบภาคกลาง ลำต้นสูงใหญ่ รูปร่างใบป้อมที่กลางใบ ปลายใบแหลม ฐานใบมน ขอบใบเป็นคลื่น โดยจะออกดอกติดผลปีละ 1 ครั้ง ผลแก่เร็วประมาณ 100 วัน ผลทรงกลมรีคล้ายเขียวไข่กา ผิวเรียบ ผิวสีเขียวเข้ม เปลือกหนา ผลอ่อนเนื้อมันหวาน เหมาะสำหรับรับประทานผลดิบผลสุกรสหวานไม่มาก

4.มะม่วงพันธุ์เขียวไข่กา มีถิ่นกำเนิดแถบ อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ลักษณะผลมีขนาดเล็ก กลมป้อม ปลายผลค่อนข้างแหลมเปลือกผลค่อนข้างหนาและเหนียว มีต่อมมองเห็นได้แต่ไม่ค่อยชัด เมื่อดิบผิวเปลือกสีเขียวเข้ม เนื้อสีขาว เนื้อหยาบ กรอบ มีเสี้ยนมาก ผลอ่อนรสเปรี้ยว ผลแก่จัดรสมัน เมื่อสุกผิวเปลือกสีเขียวปนเหลือง สีของเนื้อเหลืองเข้ม รสหวาน เมล็ดมีขนาดเล็ก มีเนื้อในเมล็ดเต็ม มีเสี้ยนติดกับเมล็ดมาก เมล็ดเมื่อเพาะมีต้นอ่อนขึ้นหลายต้นจากเมล็ดเดียว

5.มะม่วงพันธุ์เขียวเสวยเป็นพันธุ์ดั้งเดิมของชาวอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เป็นมะม่วง ที่มีลักษณะเฉพาะตัวต่างจากมะม่วงพันธุ์อื่นๆ คือผลโตปานกลาง น้ำหนักต่อผลประมาณ 335 กรัม ทรงผลยาวรี ด้านหลังผลโค้งนูนออก ด้านท้องผลค่อยๆ ลาดลง ปลายผลออกแหลมมน ผิวเรียบ สีเขียวเข้ม มีจุดขนาดเล็กสีขาวเกิดถี่ปานกลาง เปลือกหนาและเหนียว ผลดิบเปลือกสีเขียวแก่มีนวลเด่นชัด เนื้อละเอียด กรอบ สีขาวอมเหลือง รสหวานมันอมเปรี้ยวเล็กน้อย ผลสุกเปลือกสีเขียวปนเหลือง เนื้อนิ่มสีเหลืองละเอียด รสหวานอร่อย เมล็ดค่อนข้างยาวแบน เนื้อเมล็ดค่อนข้างเต็ม มีเสี้ยนน้อย มะม่วงเขียวเสวยสามารถปลูกได้ทุกภาคทั่วประเทศและนิยมรับประทานผลดิบ

6.มะม่วงพันธุ์เจ้าคุณทิพย์เป็นมะม่วงรับประทานผลดิบ (มัน) เป็นพันธุ์เบา ต้นเป็นพุ่มปานกลาง พุ่มทึบมีการเจริญเติบโตดี ใบขนาดปานกลาง ปลายใบแหลม ออกดอกติดผลค่อนข้างดก ผลขนาดปานกลาง น้ำหนักเฉลี่ย 250-300 กรัมต่อผล หัวใหญ่ เรียวลงมาปลายผล เปลือกผลค่อนข้างหนา เหนียว เนื้อผลละเอียด รสชาติไม่เปรี้ยวตั้งแต่ผลยังเล็ก เมื่อแก่จัดรสหวาน หอม มัน มีเสี้ยนน้อย เมื่อสุกรสหวานชืด เมล็ดมีน้ำหนักประมาณ 30 กรัม ผลผลิตของต้นอายุประมาณ 9-10 ปี ให้ผลผลิตประมาณ 300 ผลต่อต้น

7.มะม่วงพันธุ์โชคอนันต์พบครั้งแรกที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นมะม่วงที่กลายพันธุ์มาจากมะม่วงป่า มะม่วงโชคอนันต์มีลักษณะเฉพาะตัวต่างจากมะม่วงพันธุ์อื่นๆ คือเป็นมะม่วงออกดอกทะวายทั้งปี ไม่กลัวฝนติดผลง่าย การติดผลลักษณะเป็นพวง ผลมีขนาดกลาง ยาวรี ก้นผลมน อกป่อง เปลือกหนาสีเขียวเข้มเหมาะในการเก็บรักษานานๆ และการขนส่งไกลๆ ลักษณะเนื้อสีขาวอมเหลือง รสเปรี้ยวเล็กน้อย ผลสุกเปลือกสีเหลือง เนื้อสีเหลืองเข้ม เนื้อในแข็ง มีเสี้ยน รสหวานอร่อย มีกลิ่นหอม เมล็ดค่อนข้างยาวแบน เนื้อเมล็ดค่อนข้างเต็ม น้ำหนักผลเฉลี่ย 270-300 กรัมต่อผล ระยะเวลาออกดอกจนถึงเก็บเกี่ยวผลแก่ ประมาณ 110 วัน ให้ผลผลิตช่วงเดือนเมษายน นิยมขยายพันธุ์ด้วยการทาบกิ่ง มะม่วงโชคอนันต์ปลูก ได้ทุกภาคทั่วประเทศ

8.มะม่วงพันธุ์ตลับนาคมีลักษณะทรงพุ่มทึบ ใบค่อนข้างใหญ่หนาสีเขียว มีเส้นใบเห็นเด่นชัด ติดผลดก ผลมีขนาดกลางถึงใหญ่ รูปร่างอ้วนป้อม แต่ค่อนข้างแบนเล็กน้อยเหมือนตลับ เนื้อหนา หัวและท้ายกลม เปลือกค่อนข้างบาง มีต่อมมองเห็นได้ชัดกระจายทั่วผล เมื่อดิบผิวเปลือกสีเขียวเข้มปนแดง เนื้อสีขาวนวล ละเอียด มีเสี้ยนน้อย รสเปรี้ยว เมื่อสุกผิวเปลือกสีเขียวปนเหลือง ผิวไม่เรียบนัก เนื้อสีเหลืองทอง ลักษณะเนื้อละเอียดรสหวานหอม เมื่อเพาะเมล็ดมีต้นอ่อนขึ้นหลายต้นจากเมล็ดเดียว ลักษณะเมล็ดใหญ่ค่อนข้างแบน เนื้อในเมล็ดเต็ม มีเสี้ยนติดกับเมล็ดน้อย

9.มะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้มีผลโตปานกลางน้ำหนักประมาณ 350 กรัมต่อผล ลักษณะทรงผลรูปไข่ ยาวรี ด้านขั้วผลอูมค่อยๆ สอบเข้าสู่ปลายผลที่เรียวแหลม ไหล่ผลด้านท้องมน ไหล่ผลด้านหลังลาดลง จะงอยผลเล็กมาก ผิวผลเรียบ ผลดิบเปลือก สีเขียวอ่อนนวล เนื้อมากแน่น สีขาวนวล รสเปรี้ยวจัด แต่เมื่อแก่จัดเปลือกสีเขียวอ่อนนวล สีเนื้อจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองนวล ฉ่ำน้ำ รสหวานจัด มีกลิ่นหอม ผลสุกผิวเปลือกสีเหลืองนวลจนถึงเหลืองทอง เปลือกบาง เมล็ดแบนยาวมีเนื้อในเมล็ดน้อยการขยายพันธุ์นิยมใช้การทาบกิ่งและการเสียบยอดระยะเวลาออกดอกจนผลแก่ 115 วัน มะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สามารถบังคับให้ออกนอกฤดูได้ดี ทำให้เกษตรกรขายได้ราคาดีกว่ามะม่วงในฤดู มะม่วงน้ำดอกไม้ปลูกได้ทุกภาค ปัจจุบันมะม่วงน้ำดอกไม้มีสายพันธุ์ เช่น น้ำดอกไม้เบอร์ 4 น้ำดอกไม้สีทอง มะม่วงพันธุ์บุญบันดาล มะม่วงพันธุ์บุญบันดาลเป็นมะม่วงรับประทานได้ทั้งเปรี้ยว มัน และสุก เป็นมะม่วง ทะวาย ให้ผลเร็วเพียง 8 เดือนแรกหลังปลูก ข้อดีสามารถปลูกระยะชิดได้ ออกดอกติดผลง่ายเพราะมีเปอร์เซ็นต์ดอกสมบูรณ์เพศสูง อายุเก็บเกี่ยว 120 วันหลังดอกบาน ผลรูปทรงสวยไม่บิดเบี้ยว น้ำหนักเฉลี่ย 300-350 กรัมต่อผล เปลือกหนา ผิวดีสีสวย รสชาติดีทุกระยะ ไม่มีกลิ่นขี้ไต้ ผลดิบเนื้อกรอบไม่แข็ง ผลสุกเนื้อละเอียดไม่มีเสี้ยน รสหวาน เมล็ดแบน จุดเด่นคือ ทนโรคและสภาพแห้งแล้งได้ดีมาก

10.มะม่วงพันธุ์พราหมณ์ขายเมียปลูกมากแถบฝั่งธนบุรี ลักษณะทรงพุ่มต้นใหญ่ กิ่งไม่เลื้อย ลักษณะใบมีขอบขนานปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีสีเขียว ลักษณะผลรูปทรงรี ดูด้านตัดของผลตามขวางจะมีลักษณะกลม ฐานผลตื้น ท้องผลกลมแคบ ไหล่ด้านหลังผลลาดลง ลักษณะสีเนื้อผลดิบจะมีสีเขียวขาว เนื้อผลสุกสีส้มอมเหลือง รสชาติผลดิบจะมีรสเปรี้ยว และเมื่อผลสุกจะมีรสหวาน

11.มะม่วงพันธุ์เพชรบ้านลาดเป็นมะม่วงรับประทานดิบ (มัน) เป็นมะม่วงพันธุ์เบา มีถิ่นกำเนิดในอำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี ต้นแข็งแรง ทรงพุ่มใหญ่ ติดผลก่อนฤดูได้ดี ลักษณะผลรูปร่างค่อนข้างแบน หัวผลใหญ่ หนา ปลายผลมนกลม ผิวเปลือกเมื่อดิบสีค่อนข้างเขียวอ่อน มีจุดกระขนาดใหญ่เห็นได้ชัด สีขาวคล้ายมะม่วงพิมเสนมันผิวเปลือกเมื่อสุกสีเหลืองทอง เปลือกค่อนข้างหนา เนื้อแข็งหยาบปานกลาง มีเสี้ยนเล็กน้อย เนื้อดิบสีขาว เมื่อสุกสีเหลืองทอง เนื้อเมื่อรับประทานดิบกรอบอร่อย ขนาดของผลเฉลี่ย 3-4 ผลต่อกิโลกรัม น้ำหนักของผลเฉลี่ย 250-330 กรัมต่อกิโลกรัม มะม่วงเพชรบ้านลาดจัดเป็นมะม่วงรับประทานดิบ ที่รสชาติดี แต่ไม่ค่อยเป็นที่มักคุ้นอย่างพันธุ์ เขียวเสวย ข้อดีคือ ติดดอกออกผลดีขณะที่ยังแตก ใบอ่อนอยู่

12.มะม่วงพันธุ์ฟ้าลั่นเป็นมะม่วงรับประทานผลดิบ (มัน) ลักษณะมะม่วงฟ้าลั่นมีทรงพุ่มค่อนข้างทึบ ใบเรียวยาวปลายใบแหลม รูปใบหอกแกมรลักษณะคล้ายใบของมะม่วงพันธุ์ “เขียวเสวย” แต่สั้นกว่าและบางกว่า เป็นมะม่วงที่ติดผลง่าย ผลค่อนข้างดก ลักษณะผลกลมมน รูปทรงขอบขนานแกมรี หัวโต ปลายแหลม ด้านหลังผลและท้องผลโค้งนูน ผลแก่จัดผิวยังมีสีเขียวอ่อน มีนวล เปลือกหนา ผิวเรียบ มีจุดขนาดใหญ่เห็นเด่นชัดอยู่กันห่างๆ ผลแก่จัดผิวสีเขียวอ่อน มีนวล เมื่อผลสุกผิวผลสีเขียวอมเหลือง เนื้อผลดิบรสชาติมันอมเปรี้ยว กรอบอร่อย ลักษณะเนื้อหยาบเปราะมาก จะปริแตกทันทีเมื่อถูกคมมีด และเสียงดังลั่น จึงกลายเป็นลักษณะประจำพันธุ์ที่เห็นเด่นชัด มีเสี้ยนค่อนข้างน้อย รสมันตั้งแต่ผลเล็ก ๆ เมื่อผลแก่จัดเนื้อสีขาวอมเหลือง รสชาติมันกรอบค่อนข้างชืด เมื่อสุกเนื้อสีเหลือง ลักษณะเนื้อค่อนข้างละเอียด มีเสี้ยนน้อย รสหวานไม่จัดนัก น้ำหนักผลประมาณ 250 กรัมต่อผล เมล็ดแหลมเล็ก ยาวแบน มีเนื้อในเมล็ดไม่เต็ม อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 95 วันหลังดอกบาน มะม่วงฟ้าลั่นผลมักจะแตกง่าย

13.มะม่วงพันธุ์มหาชนกเป็นมะม่วงพันธุ์ผสมขึ้นใหม่เป็นพิเศษคือ ผสมพันธุ์ระหว่างมะม่วงหนังกลางวันเป็นแม่พันธุ์ผสมกับมะม่วงพันธุ์ซันเซท (sunset) จากประเทศอินเดีย ได้พันธุ์ใหม่ขึ้นมาให้ชื่อว่า “มะม่วงมหาชนก” ต้นกำเนิดพันธุ์เกิดจากการเพาะเมล็ดจากสวนทิวทอง จังหวัดลำพูน ลักษณะผล มีเปลือกหนา จึงสามารถเก็บรักษาได้นาน ขนาดผลสม่ำเสมอ ทรงผลยาวรี รูปทรงดี เมื่อสุกผิวสีเหลืองเข้ม มีริ้วสีแดงเด่นชัด น้ำหนักผลดี ประมาณ 250-400 กรัมต่อผล เนื้อหนา เมล็ดลีบ รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย เมื่อสุกงอมรสหวานจัดขึ้น เนื้อไม่เละ มีกลิ่นหอม เส้นใยน้อย บริโภคสดและนำไปแปรรูปเป็นมะม่วงปั่น ไอศกรีมมะม่วง มะม่วงกวน เชอร์เบทมะม่วงมหาชนก น้ำมะม่วงคั้นมะม่วงพันธุ์มหาชนก ต้นโตเร็ว ทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดี ผลมะม่วงเมื่อติดแล้วก็ไม่ร่วงง่ายเหมือนมะม่วงน้ำดอกไม้ แต่จะสลัดผลทิ้งเองตามธรรมชาติ ซึ่งขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้น ถ้าปลูกแบบกิ่งทาบภายในปีที่สองจะเริ่มออกดอกติดผล มะม่วงพันธุ์มันขุนศรีมะม่วงพันธุ์มันขุนศรีเป็น มะม่วงรับประทานผลดิบ (มัน) ลักษณะทรงพุ่มปานกลาง เปลือกลำต้นขรุขระ รูปร่างของใบป้อมกลางใบ ปลายใบเป็นเรียวแหลม ฐานใบแหลม ขอบใบเป็นคลื่น แผ่นใบเรียบ สีใบแก่สีเขียวเข้ม ผลทรงรี รูปหน้าตัดทรงผลขวาง ป้อมรี ความลึกของฐานผลตื้น ผลมีจุก ไหล่ด้านท้องผลกลมนูนขึ้น ไหล่ด้านหลังผลลาดลง รอยเว้าด้าน ท้องผลมีจะงอย การออกดอกปานกลาง ติดผลปานกลาง อายุเก็บเกี่ยวตั้งแต่ดอกจนเก็บผลผลิต ประมาณ 100-110 วัน น้ำหนักประมาณ 230 กรัมต่อผล ผลดิบเปลือกสีเขียว เนื้อสีเขียวอมขาว กลิ่นหอมอ่อน ๆ ผลสุกเปลือกสีเหลืองอมเขียว เนื้อสีเหลือง รสหวาน

14.มะม่วงพันธุ์มันเดือนเก้ามีถิ่นกำเนิดแถบจังหวัดฉะเชิงเทรา ออกดอกติดผลง่าย รูปทรงผลสวยงาม เมื่อแก่จัดเนื้อกรอบอร่อย รสเปรี้ยวจัดตั้งแต่ผลดิบจนกระทั่งแก่มะม่วงพันธุ์ยายกล่ำเมืองนนท์

15.มะม่วงพันธุ์ยายกล่ำเมืองนนท์เป็นมะม่วงพันธุ์ดีของจังหวัดนนทบุรีที่มีมานานแล้ว มะม่วงยายกล่ำเมืองนนท์มีผลไม่ใหญ่มาก รูปร่างคล้ายมะม่วงเจ้าคุณทิพย์แต่ผลเล็กกว่า เป็นมะม่วงรับประทานสุกที่มีรสชาติหวานชื่นใจ มีกลิ่นหอมผลผลิตจะออกก่อนมะม่วงทั่วไปอย่างน้อย 1 เดือน ดังนั้นจึงขายได้ราคาดี

16.มะม่วงพันธุ์แรดเป็นมะม่วงรับประทานดิบหรือสุก เป็นพันธุ์เบา ทรงต้นเป็นพุ่มใหญ่ ค่อนข้างทึบ ใบมีขนาดกลาง ไม่เรียบสีเขียว ส่วนมากเป็นรูปใบหอกแกมรูปไข่ การเรียงตัวของใบเป็นระเบียบ ผลปกติเก็บเกี่ยวได้ในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ออกดอกติดผลสม่ำเสมอทั้งต้นทุกปี ติดผลดกผลแก่เร็ว ผลมีขนาดโตปานกลาง หนักประมาณ 250 กรัมต่อผล ผลกลม หัวใหญ่อ้วน ปลายเรียวเล็กน้อย ผิวเป็นคลื่นไม่เรียบ ลักษณะเด่นคือมี “นอ” ตรงส่วนบนด้านหลังเห็นได้ชัด แต่บางผลก็ไม่มีนอ ลักษณะผลดิบผิวเปลือกสีเขียวอ่อน ผลสุกผิวสีออกเหลือง และอาจมีส้มๆ แต้ม เปลือกของผิวและผลค่อนข้างหนาและเหนียว มีต่อมใหญ่ไม่ค่อยชัดเจนกระจายทั่วผล เนื้อผลที่ยังอ่อนมีสีขาว รสเปรี้ยวจัด ผลแก่จัดเนื้อมีสีขาวอมเหลือง ละเอียด รสหวานมันอมเปรี้ยวเล็กน้อย ผลสุกเนื้อสีเหลืองเข้ม เนื้อแน่น รสหวานจัด มีกลิ่นหอมเล็กน้อย มีเสี้ยนมากปานกลาง เมล็ดแบน ค่อนข้างสั้น อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 90-100 วันหลังดอกบาน

มะม่วงพันธุ์ศาลายา

มะม่วงพันธุ์ศาลายาเป็นมะม่วงรับประทานผลดิบ (มัน) ต้นเป็นพุ่มขนาดปานกลาง กิ่งค่อนข้างห้อยลงหรือกิ่งเลื้อย ซึ่งเป็นลักษณะประจำพันธุ์ ติดดอกออกผลทะวาย จัดเป็นมะม่วงมัน รับประทานได้ทั้งระยะแก่จัดและผลสุก ลักษณะใบขนาดปานกลาง สีเขียวจาง ผลขนาดปานกลาง น้ำหนักผลประมาณ 270-300 กรัมต่อผล ผลมีลักษณะหัวโต ปลายเรียวแหลม งอเล็กน้อย เปลือกบาง ผลดิบผิวสีเขียวอ่อนมีจุดกระเห็นชัด เมื่อสุกผิวสีเหลือง เนื้อผลดิบมีสีขาว รสมันอมเปรี้ยวเล็กน้อย เมื่อแก่จัดรสหวานมันกรอบอมเปรี้ยว ผลสุกรสหวาน เมล็ดขนาดเล็ก เป็นพันธุ์ที่ตลาดมีความนิยมอีกพันธุ์หนึ่ง

 

มะม่วงพันธุ์สามฤดู

มะม่วงพันธุ์สามฤดูจัดเป็นมะม่วงรับประทานผลดิบ (เปรี้ยว) เป็นพันธุ์ทะวายดีมาก แม้แต่ต้นแก่แล้วก็ยังออกทะวายได้ดี ติดผลเป็นพวง ผลเล็ก เมล็ดใหญ่ ผลอ่อนมีรสเปรี้ยว ผลแก่มีรสเปรี้ยวน้อยผลสุกมีรสหวานอมเปรี้ยว มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ ออกผลปีละ 3 ครั้ง บางท้องที่เรียกแตกต่างกันไป เช่น จังหวัดกาญจนบุรีและสุพรรณบุรีเรียก “ทองไม่รู้วาย” และจังหวัดสิงห์บุรีเรียก “ทองมะลิวาย”

มะม่วงพันธุ์อกร่องเขียว

มะม่วงพันธุ์อกร่องเขียว ผลมีขนาดเล็ก ผลดิบเปลือกสีเขียว เนื้อสีขาว รสเปรี้ยว ผลสุกเปลือกสีเขียวอมเหลือง เนื้อสีเหลืองอ่อน รสชาติเหมือนกับมะม่วงอกร่องทอง มีเสี้ยนค่อนข้างมาก มะม่วงอกร่องให้ผลผลิตมากช่วงเดือนเมษายน ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ตอนกิ่ง หรือทาบกิ่ง ปลูกได้ทุกภาคทั่วประเทศ มะม่วงอกร่องนิยมรับประทานผลสุก รับประทานกับข้าวเหนียวมูน ทำมะม่วงแผ่นตากแห้ง ทำแยม

มะม่วงพันธุ์อกร่องทอง

มะม่วงพันธุ์อกร่องทองเป็นมะม่วงรับประทานผลสุกกับข้าวเหนียวมูน หรือที่เรียกกันว่าข้าวเหนียว มะม่วง เป็นพันธุ์เก่าแก่ที่รู้จักกันทั่วไป ให้ผลดก แต่มักออกผลเว้นปี ต้นเป็นพุ่มขนาดปานกลาง ใบขนาดปานกลาง ใบสอบลง ผลขนาดค่อนข้างเล็ก ทรงผลยาวแบนเล็กน้อย มีร่องตรงเส้นท้องเป็นทางยาวจนเห็นได้ชัด ไหล่ผลด้านท้องมน ไหล่ผลด้านหลังค่อยลาดลง จะงอยไม่ชัด ผลดิบผิวเปลือกสีเขียวซีด มีเปลือกบาง เหนียว ผิวมีต่อมมองได้ไม่ค่อยชัดนัก สีของเนื้อขาวนวล ผลอ่อนมีรสเปรี้ยวจัด มีเสี้ยนน้อย ผลแก่รสชาติมันอมเปรี้ยวเล็กน้อย ผลสุกผิวของเปลือกสีฟางข้าวหรือสีเหลืองทองสดใส และเหี่ยวย่น เปลือกบางเนื้อสีเหลือง ฉ่ำน้ำ เนื้อนุ่มละเอียด มีเสี้ยนปานกลาง รสชาติหวานจัด กลิ่นหอม น้ำหนักผล 250 กรัมต่อผล เมล็ดขนาดปานกลาง เมล็ดยาวแบน มีเนื้อในเมล็ดน้อย เป็นมะม่วงที่ได้มาจากการเพาะเมล็ดพันธุ์ “อกร่องธรรมดา” แหล่งที่ปลูกอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ศรีสะเกษ สุรินทร์ และหนองคายมะม่วงเริ่มให้ผลผลิตประมาณต้นเดือนมีนาคมเรื่อยไปถึงมิถุนายน แหล่งเพาะปลูกมะม่วงมาก ที่สุด 3 อันดับแรกคือ จังหวัดนครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และชัยภูมิ ปัจจุบันปลูกได้ทั่วประเทศ และสามารถบังคับให้ออกดอกติดผลได้ดี จึงทำให้มีมะม่วงรับประทานตลอดปี

วิธีการปลูก

นิยมขยายพันธุ์โดยการทาบกิ่ง การปลูกเตรียมหลุมปลูกขนาด 50x50x50 เซนติเมตร รองก้นหลุม ด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์ ระยะปลูกแบบถี่ 2.5×2.5 เมตร หรือ 4×4 เมตร ระยะปลูกแบบห่าง 6×6 เมตร

การดูแลรักษา

การให้ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ที่หมักตัวสมบูรณ์แล้ว อัตรา 10-20 กิโลกรัมต่อต้น การให้ปุ๋ยเคมีควรใส่ทันทีหลังการตัด แต่งกิ่งโดยใช้สูตร 15-5-20 ช่วงก่อนออกดอกใส่สูตร 12-24-12 และช่วงหลังห่อผลใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 อัตรา 1 ใน 3 ของ เส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม (หน่วยเป็นกิโลกรัม) ไม่เกิน 2 กิโลกรัม ต่อครั้ง

โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ

1.โรคแอนแทรคโนส เป็นได้ทุกส่วนทั้งใบ กิ่ง ดอก และผล ป้องกันกำจัดโดยพ่นสารเคมี เช่น สารคาร์เบนดาซิม

2.โรคราแป้ง พบผงสีขาวขึ้นปกคลุมก้านดอกและใบอ่อนทำให้ ใบอ่อนและช่อดอกหลุดร่วง ป้องกันกำจัดโดยตัดกิ่งและใบที่เป็นโรค ทำลายโดยเผาหรือฝังดิน ระยะดอก ติดผลอ่อน พ่นสารไดโนแคป หรือไตรอะไดเมฟอน หรือกำมะถันผง โรคราดำ เป็นคราบดำเคลือบอยู่บนผิวนอกของใบพืชและผล เนื่องจากเชื้อราดำเจริญปกคลุมบนผิวโดยใช้สารน้ำหวานที่แมลงปากดูดถ่ายทิ้งไว้ โรคผลเน่าหรือโรคขั้วผลเน่า พบกับมะม่วงหลังเก็บเกี่ยว ป้องกันกำจัดเช่นเดียวกับโรคแอนแทรคโนส และควรเก็บมะม่วงอย่างระมัดระวัง และหลังจากหักก้านให้วางคว่ำบนผ้ากระสอบที่สะอาด ไม่ควรวางกับดินหรือหญ้า

3.เพลี้ยไฟ ดูดกินน้ำเลี้ยงใบอ่อนและช่อดอก ทำให้ใบร่วงดอกร่วง ป้องกันกำจัดโดยระยะเริ่มผลิใบอ่อนและก่อนดอกบานจนติดผลขนาด 2-3 เซนติเมตร พ่นด้วยสารแลมป์ดาไซฮาโลทริน หรือสารเฟนโพรพาทริน ด้วงกรีดใบหรือด้วงงวงกัดใบมะม่วง พบการร่วงของใบอ่อนบริเวณโคนต้น ป้องกันกำจัดโดยเก็บใบอ่อนตามโคนต้นไปฝังหรือเผาทำลายเพื่อทำลายไข่และตัวหนอน หรือพ่นด้วยสารคาร์โบซัลแฟน ด้วงหนวดยาว เจาะทำลายลำต้นหรือกิ่ง พบขุยไม้ติดอยู่ภายนอก ป้องกันกำจัดโดยพ่นด้วยสารอิมิดาโคลพริดให้ชุ่มบริเวณต้นและกิ่งขนาดใหญ่ จำนวน 2 ครั้ง ห่างกัน 2 สัปดาห์ เพลี้ยจักจั่นมะม่วง พบการทำลายที่ช่อดอกตั้งแต่เริ่มออกดอกโดยดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ดอกและผลร่วง ป้องกันกำจัดโดยพ่นสารแลมป์ดาไซฮาโลทริน หนอนผีเสื้อเจาะผลมะม่วง พบการทำลายเจาะผลมะม่วง ป้องกันกำจัดโดยเก็บผลที่หนอนเข้าทำลายเผา หรือฝังดิน หรือห่อผลมะม่วงด้วยถุงกระดาษ เมื่อผลอายุ 40-50 วัน แมลงวันผลไม้ พบการทำลายผลมะม่วงที่กำลังสุก ป้องกันกำจัดโดยใช้วิธีการห่อผล

การใช้ประโยชน์

มะม่วงมีแคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก โซเดียม โพแทสเซียม แมกนีเซียม และวิตามินซี มะม่วงสุกอุดมไปด้วยสารเบต้า-แคโรทีนที่ร่างกายสามารถเปลี่ยนเป็นวิตามินเอได้ และทำหน้าที่เป็นแอนติออกซิ-แดนท์ ช่วยต้านอนุมูลซึ่งเป็นสารที่ก่อมะเร็ง ตลอดจนบรรเทาอาการเสียดท้องและช่วยย่อยอาหาร อีกทั้งเป็นยาแก้อาการไอ ละลายเสมหะ แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน ดับกระหาย ขับปัสสาวะ ใบนำมาต้มกับน้ำเปล่านำมาล้างแผลได้ หรือใช้ใบที่ตำละเอียดมาพอกที่แผลจะช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น

แหล่งพืชอนุรักษ์

ศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย

<<กลับไปหน้า”มะม่วง”

<<กลับไปหน้าฐานข้อมูลไม้ผล