Search for:

ชื่อสามัญ  กาแฟโรบัสต้า: พันธุ์ชุมพร 84-5 Robusta coffee

ชื่อวิทยาศาสตร์ coffea canephora Pierre ex Froehner

ชื่ออื่นๆ  

ถิ่นกำเนิดและประวัติความเป็นมา

กาแฟพันธุ์โรบัสตาพันธุ์ชุมพร 84-5 หรือกาแฟโรบัสตาสายต้น FRT68 เป็นกาแฟที่ได้นำมาจากประเทศฝรั่งเศส เข้ามาในประเทศพร้อมกับกาแฟโรบัสตาสายต้น (clones) อื่น ๆ รวมทั้งสิ้น 26 สายต้น ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมวิชาการเกษตรและบริษัทควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด โดยนำเข้ามาในช่วงปี 2538 – 2542 ในรูปของต้นกล้าเล็ก (plantlets) ขนาดยาวประมาณ 2-5 มม. บนอาหารวุ้น โดยต้นกล้านี้ได้จากการเพาะเลี้ยงเอเยื่อส่วนใบในสภาพปลอดเชื้อ (in vitro) กระตุ้นแคลลัสให้เกิดยอดและรากและพัฒนาเป็นต้นกล้าที่สมบูรณ์ กลุ่มสายต้นชุดนี้เป็นกลุ่มที่ 2 จำนวน 12 สายต้น ทำการปลูกเปรียบเทียบกับพันธุ์เขาทะลุที่เพาะจากเมล็ดจากการคัดเลือกพันธุ์ พบว่า สายต้น FRT68 และ FRT68 เป็นสายต้นที่ดีที่สุด ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์เขาทะลุ 3.9 เท่า และคุณภาพของเมล็ดดีเป็นที่ยอมรับของตลาดสมควรให้เป็นพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตรเพื่อเผยแพร่ให้เกษตรกรปลูกต่อไป จากข้อมูลบริษัทควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (นิรนาม,2545) รายงาน       ว่า กาแฟโรบัสตาสายต้น FRT68 เป็นสายต้นที่ได้จากประเทศจีน เป็นสายต้นในกลุ่มคองโกลิส (C/Congolese type)

ลักษณะทั่วไป

ลักษณะลำต้นตั้งตรง ใบรูปร่างรี ขอบใบเรียบ เป็นคลื่นปลายใบแหลม ผิวใบมันสีเขียว แผ่นใบส่วนที่อยู่ระหว่างเส้นใบโป่งออกทางด้านที่เป็นมัน ดอกสีขาว ผลรูปร่างรีแบนคล้ายผลละหุ่ง รูปร่างเมล็ดกลมรี

พันธุ์และการขยายพันธุ์

กาแฟโรบัสตา: พันธุ์ชุมพร 84-5 การขยายพันธุ์ใช้วิธี การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และการเสียบยอด

วิธีการปลูก

1.ปลูกในช่วงต้นฝนโดยปลูกเสมอปากหลุมปลูก

2. ปักหลักไม้ผูกต้นกล้าป้องกันลมพัดต้นกาแฟโยก

3. ควรให้น้ำต่อเนื่องหลังจากปลูก 2-3 สัปดาห์หากไม่มีฝนตก

4. ควรทำร่มเงาชั่วคราวให้ต้นกล้ากรณีปลูกกลางแจ้ง

การดูแลรักษา

  1. การให้น้ำ ในช่วงปลูกใหม่ๆถ้าฝนไม่ตก ต้องมีการให้น้ำให้ดินชื้นสม่ำเสมอ ช่วงดอกตูมหลังจากที่ดอกเจริญเต็มที่แล้วดอกจะหยุดการเจริญเติบโต หรือเรียกได้ว่า “อยู่ในช่วงพักตัว” ช่วงนี้เป็นช่วงที่กาแฟไม่ต้องการน้ำ หลังจากดอกพักตัวเต็มที่แล้วเมื่อได้ฝนหรือน้ำจึงจะบานพร้อมเพรียงกัน หากปริมาณฝนไม่เพียงพอควรให้น้ำเพิ่มในช่วงนี้ นอกจากนั้น ช่วงติดผล และช่วงที่ผลขยายขนาดอย่างรวดเร็ว อย่าให้กาแฟขาดน้ำ ควรให้น้ำทุกๆ 3-4 สัปดาห์ต่อครั้งหากฝนไม่ตก
  2. การให้ปุ๋ย ในระยะกาแฟยังไม่ให้ผลผลิตใส่ปุ๋ยสูตร 46-0-0, 18-46-0 และ 0-0-60 หรือใส่ปุ๋ยสูตร  15-15-15 เมื่อให้ผลผลิตแล้ว (3 ปีขึ้นไป) ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0, 18-46-0 และ 0-0-60 อัตรา 60 กรัมต่อต้น
  3.   การตัดแต่งกิ่ง ตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรคหรือแมลง กิ่งแห้ง กิ่งแขนงที่ไม่ต้องการออกควรไว้กิ่งหลักเพียง 3-5 กิ่งก็เพียงพอที่กาแฟสามารถให้ผลผลิตได้ดี ไม่กระทบต่อผลผลิต

โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ

  1. โรคกิ่งแห้ง เกิดจากเชื้อรา Colletotrichum coffeanum Noack. และ Colletotrichum gloeosporioides (Penz.) Penz. and Sacc. อาการ มีรอยไหม้บนกิ่งสีเขียว ข้อและปล้องของต้นมีสีเหลืองซีด ใบเหลือง และร่วงในเวลาต่อมา กิ่งจะเหี่ยวและแห้ง ตาดอกเหี่ยว การทำลาย มักเกิดเมื่อสภาพแห้งแล้งเป็นเวลานานหรือเมื่อต้นพืชอ่อนแก่จากสาเหตุอื่นๆ เหมาะต่อเชื้อเข้าทำลายได้ การป้องกัน ตัดแต่งกิ่งเป็นโรคออกเผาทำลาย บำรุงต้นกาแฟให้แข็งแรง ใช้สารเคมีกำจัดเชื้อรา เช่น บอร์โดมิกซ์เจอร์ และ แมนโคเซป เป็นต้น
  2. หนอนเจาะต้นกาแฟสีแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Zeuzera coffeae เกิดกับต้นและกิ่งของกาแฟทั้งต้นเล็กและต้นให้ผลผลิตแล้ว การทำลาย หนอนเจาะต้นและกิ่งจนหักโค่นล้ม การป้องกันกำจัด ทำลายพืชอาศัยรอบบริเวณสวนกาแฟ หมั่นทำความสะอาดแปลง หากพบรอยหนอนเจาะเข้าทำลายตัดกิ่งนำไปเผาทำลาย
  3. มอดเจาะผลกาแฟ (Coffee Berry Borer) ชื่อวิทยาศาสตร์ Hypothenemus hampei (Ferrari) ตัวเต็มวัยเป็นด้วงปีกแข็ง ตัวเมียจะเจาะปลายผลกาแฟเข้าไปถึงส่วนของเนื้อเมล็ด วางไข่ขยายพันธุ์ตัวหนอนจะกัดกินเนื้อเยื่อเป็นอาหาร ตัวเต็มวัยสามารถอาศัยอยู่ในผลกาแฟแห้งดำที่ตกค้างบนต้นและใต้ทรงต้น การป้องกันกำจัด เก็บผลกาแฟให้หมดอย่าทิ้งให้ค้างไว้บนต้น ทำกับดักล่อมอดทั้งในแปลง และโรงเก็บผลกาแฟแห้ง โดยใช้เมทิลแอลกอฮอล์ และเอธิลแอลกอฮอล์ อัตรา 1:1

การใช้ประโยชน์

  1. กาแฟคั่ว คือการนำสารกาแฟมาคั่วด้วยอุปกรณ์ตามประเภทของการคั่วแยกเป็นคั่วไฟแก่ คั่วไฟปานกลาง หรือคั่วไฟอ่อน แล้วยังสามารถปรุงแต่งความน่าดื่มน่าบริโภค ในภาชนะต่างๆกัน ตามสูตรผสมของผู้คั่วด้วย
  2.   กาแฟสำเร็จรูป เป็นกาแฟที่ชงกับน้ำร้อนแล้วละลายหมดได้ทันทีโดยไม่มีกากกาแฟเหลืออยู่ สะดวกต่อการชงและการเก็บรักษา

แหล่งพืชอนุรักษ์

ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร  พื้นที่ปลูกภายในศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร จำนวน 0.5 ไร่