Search for:

ชื่อสามัญ กระท้อนป่า

ชื่อวิทยาศาสตร์  Sandoricum koetjape (Burm.f.) Merr.

ชื่ออื่นๆ  เตียน, ล่อน, สะท้อน (ภาคใต้) มะต้อง (ภาคเหนือ, อุดรธานี) มะติ๋น (ภาคเหนือ) สตียา, สะตู (มาเลย์- นราธิวาส) สะโต (มาเลย์-ปัตตานี)

ถิ่นกำเนิดและประวัติความเป็นมา

กระท้อนป่า มีถิ่นกำเนิดบริเวณเขตร้อนแถบมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดียและไทย ป่าเบญจพรรณทั่วทุกภาคของไทย พบแพร่กระจายมากในแถบภาคใต้ ต่อมาค่อยพบแพร่กระจายในทุกภาคของประเทศ เนื่องจากเป็นไม้ที่เติบโตได้ในทุกสภาพดิน และสามารถทนต่อความแห้งแล้งได้ดี

ลักษณะทั่วไป

ต้นกระท้อนป่า เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ 10 – 25 เมตร ลำต้นปลายตรง เรือนยอดเป็นพุ่มทึบรูปไข่ ลำต้นมักเป็นพูพอน เปลือกลำต้น ชั้นนอกเป็นสีน้ำตาลออกชมพู เปลือกในสีชมพู ใบเป็นใบประกอบ มีใบย่อย 3 ใบ แผ่นใบเป็นรูปไข่ รูปรี สีเขียวเมื่อแก่จะเป็นสีแดง ความกว้าง 6-15 เซนติเมตร ยาว 8-15 เซนติเมตร โคนใบมน ปลายใบเรียวแหลม หลังใบเป็นคลื่น มีนวลปกคลุม ท้องใบมีเส้นใบนูนเห็นได้ชัด ขอบใบเรียบเป็นคลื่น ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบ ดอกมีกลิ่นหอม ยาว 10-15 เซนติเมตร มีดอกย่อยจำนวนมาก กลีบเลี้ยง 5 กลีบ มีขนหนาด้านนอก กลีบดอกมีสีเหลืองแกมเขียว กลีบบานแยกแผ่ออก จำนวน 5 กลีบ ยาว 1 เซนติเมตรเกสรเพศผู้ 10 อันเชื่อมติดกัน เป็นหลอด ผล รูปทรงกลมแป้น อาจมีจุกผลที่ขั้วหรือไม่มีก็ได้ ผิวมีขนคล้ายกำมะหยี่อ่อนนุ่ม ผลอ่อนจะมีสีเขียวมีน้ำยางสีขาว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและมีน้ำยางที่น้อยลง เนื้อนิ่ม ฉ่ำน้ำ รสหวานอมเปรี้ยว เมล็ด มี 2-5 เมล็ด รูปกลมรี มีเยื้อหุ้มที่เกิดจากเปลือกหุ้มเมล็ด

พันธุ์และการขยายพันธุ์

การปลูกกระท้อน ปัจจุบันนิยมปลูกด้วยต้นพันธุ์จากการตอน หรือ การเสียบยอด เพราะจะได้ผลที่มีลักษณะ และมีรสตามต้นเดิม และต้นไม่สูงมาก ต้นแตกกิ่งที่ระดับต่ำ ที่สำคัญจะให้ผลหลังการปลูกเพียง 2-3 ปี ส่วนวิธีดั้งเดิม คือ การปลูกด้วยการเพาะเมล็ด ซึ่งไม่ค่อยนิยมแล้ว เพราะได้ต้นสูงใหญ่ และกว่าจะติดผลได้ก็ประมาณ 5-7 ปี หลังปลูก

วิธีการปลูก

1. พื้นที่ลุ่ม พื้นที่ปลูกแบบนี้มักพบในภาคกลาง มีลักษณะเป็นที่ลุ่ม น้ำท่วมถึงง่าย ดังนั้น จึงนิยมยกร่องเป็นคันสูงสำหรับปลูก

2. พื้นที่ดอน และที่ราดเชิงเขา มักพบในทุกภาค ยกเว้นภาคกลาง พื้นที่ลักษณะนี้สามารถขุดหลุมปลูกได้เลย เพราะไม่ต้องกังวลในเรื่องน้ำท่วม

3. การเตรียมแปลงในพื้นที่ดอนจำต้องไถให้เรียบเสมอ และกำจัดวัชพืชออกก่อน หลังจากนั้น ทำการขุดหลุมปลูก ขนาดหลุมลึก กว้างที่ 50 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างหลุมหรือระยะปลูกที่ 6-8 x 6-8 เมตร

4. การปลูกจะต้องปลูกในช่วงต้นฝนจะดีที่สุด เริ่มด้วยการหว่านโรยก้นหลุมด้วยหินฟอสเฟต ประมาณ 0.5-1 กิโลกรัม/หลุม ร่วมกับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ประมาณ 1 ถังเล็ก/หลุม และปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ประมาณ 2 กำมือ/หลุม แล้วเกลี่ยดินบนคลุกผสมให้เข้ากัน ก่อนนำต้นพันธุ์ลงปลูกตรงกลาง พร้อมเกลี่ยดินกลบให้พูนเล็กน้อย จากนั้น ใช้ฟางข้าวหรือเศษใบไม้โรยรอบโคนต้น ก่อนจะรดน้ำให้ชุ่ม

5. หลังการปลูก หากฝนไม่ตกหรืออยู่ในช่วงแล้งจะต้องให้น้ำช่วย 3-5 ครั้ง/เดือน และให้น้ำอย่างสม่ำเสมอหากเริ่มออกดอก และติดผล

การดูแลรักษา

1. การใส่ปุ๋ยในระยะ 1-2 ปีแรก หรือ ขณะที่ต้นยังไม่เริ่มติดผล ควรเน้นใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยที่ได้จากวัสดุอินทรีย์เป็นหลัก โดยแบ่งใส่ 3 ครั้ง/ปี แต่ละครั้งใส่ประมาณ 5 กำ/ต้น และใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-6-6 ร่วมด้วย ประมาณ 2 ครั้ง/ปี ในอัตรา 1-2 กำมือ/ต้น 2. เมื่อต้นเริ่มออกดอกครั้งแรกให้ใส่ปุ๋ยคอกตามเดิม แต่ปุ๋ยเคมีให้เปลี่ยนมาใช้สูตร 12-12-24 แทน ในอัตราเท่ากันในช่วงแรก แต่ต้องกะรยะการให้ คือ ต้องให้ก่อนหรืออยู่ในระยะออกดอก

โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ

ด้วงหนวดยาวเจาะลำต้น แมลงวันทอง

การใช้ประโยชน์

1. ผล ใช้รับประทานเป็นอาหาร ใช้ทำอาหารคาวหวานได้หลากชนิด เช่น แกงคั่ว แกงฮังเล ผัด ตำกระท้อน ส่วนอาหารหวานก็เช่น กระท้อนทรงเครื่อง กระท้อนลอยแก้ว กระท้อนดอง กระท้อนกวน กระท้อนแช่อิ่ม เยลลี่กระท้อน แยมกระท้อน น้ำกระท้อน หรือใช้กินเป็นผลไม้สดก็ได้เช่นกัน

2. ลำต้นใช้ทำเป็นไม้ใช้สอยต่าง ๆ เช่น ทำไม้กระดาน

3. ราก มีรสเปรี้ยวเย็นฝาด ใช้ขับลม เป็นยาธาตุ แก้ท้องร่วง แก้บิดมูกเลือด ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้ไข้รากสาด ถ้าเอามาสุมเป็นถ่านรากมีรสฝาดเย็น ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้ไข้รากสาด แก้บิด ผสมในยามหานิล แก้พิษกาฬ

4. ดอกและผล แก้ท้องเสีย แก้ฝี

5. เปลือกลำต้น ถากนำมาต้มย้อมผ้า ให้เฉดสีน้ำตาลอมเหลือง

แหล่งพืชอนุรักษ์

ศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย

<<กลับไปหน้าฐานข้อมูลไม้ผล