Search for:

ชื่อสามัญ  มังคุด Mangosteen

ชื่อวิทยาศาสตร์  Garcinia mangostana L.

ชื่ออื่นๆ  แมงคุด

ถิ่นกำเนิดและประวัติความเป็นมา

มังคุดเป็นพืชที่มีแหล่งกำเนิดอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจจะเป็นบริเวณประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นที่รู้จักของชาวโลกตะวันตก ตั้งแต่ปี พ.ศ 2174 จากแหล่งกำเนิดนี้พบการแพร่กระจายไปยังบริเวณรอบๆ แต่ก็ยังคงอยู่ในพื้นที่บริเวณรอบๆ แหล่งกำเนิดเดิม ดังนั้นจึงพบการกระจายอยู่บริเวณคาบสมุทรมาเลย์ประเทศพม่า ไทย เขมร เวียดนามและหมู่เกาะซุนดาร์ อย่างไรก็ตามในปีพ.ศ. 2503 ได้มีการศึกษาถึงแหล่งกำเนิดที่แน่ชัดโดยสันนิษฐานว่าคาบสมุทรมาเลเซียน่าจะเป็นแหล่งกำเนิดเพราะพบว่าสายพันธุ์ที่เป็นพ่อและแม่ของต้นมังคุดอยู่ในบริเวณนี้ นอกจากนี้มีการสันนิษฐานว่ามังคุดเริ่มมีการปลูกเป็นพืชพื้นบ้านครั้งแรกในประเทศไทยหรือประเทศพม่า และจากคุณสมบัติพิเศษของมังคุดที่เมล็ดไม่ได้เกิดจากการผสมข้ามเนื่องจากละอองเกสรเป็นหมัน ดังนั้นมังคุดจึงไม่มีการกลายพันธุ์ ในประเทศไทยยังไม่มีรายงานที่แน่ชัดว่า มังคุดถูกนำเข้ามาปลูกเมื่อไหร่แต่คาดว่าจะมีมาก่อนกรุงรัตนโกสินทร์เพราะฝั่งธนบุรีแถบที่ตั้งโรงพยาบาลศิริราช ณ ปัจจุบัน เดิมเรียกว่า วังสวนมังคุด นอกจากนี้ยังพบหลักฐานว่าสมัยเริ่มตั้งกรุงรัตนโกสินทร์มังคุดน่าจะเป็นผลไม้ที่่มีการปลูกกมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากปรากฏในจดหมายเหตุของทูตชาวลังกา ที่มาขอพระสงฆ์ไทยไปอุปสมบทชาวลังกา เมื่อประมาณ 212 ปีมานี้ เมื่อคณะทูตมาถึงธนบุรี ข้าราชการหลายแผนกได้นำทุเรียน มังคุด มะพร้าวและอื่นๆ ให้กับคณะทูต แล้วจึงเดินทางต่อไปยังกรุงศรีอยุธยา

ลักษณะทั่วไป

ไม้ต้น สูง 10 – 12 เมตร ทุกส่วนมียางสีเหลือง ใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ หรือรูปวงรีแกมขอบขนาน กว้าง 6 – 11 ซม. ยาว 15 – 25 ซม. เนื้อใบหนา และค่อนข้างเหนียว คล้ายหนัง หลังใบสีเขียวเข้ม เป็นมัน ท้องใบสีอ่อน ดอกเดี่ยวหรือเป็นคู่ ออกที่ซอกใบ ใกล้ปลายกิ่ง สมบูรณ์เพศ หรือแยกเพศ กลีบเลี้ยงสีเขียวอมเหลือง กลีบดอกสีแดง ฉ่ำน้ำ ผลเป็นผลสด ค่อนข้างกลม

พันธุ์และการขยายพันธุ์

ขยายพันธุ์มังคุดด้วยการเพาะเมล็ด เสียบยอด และทาบกิ่ง

วิธีการปลูก

1.เลือกต้นพันธุ์ โดยคัดเลือกต้นพันธุ์ได้ได้จากการเพาะเมล็ด ที่มีลักษณะรากและต้นสมบูรณ์ แข็งแรง อายุไม่ต่ำกว่า 2 ปี ความสูงต้นมากกว่า 30 ซม
2.ระยะปลูก ระหว่างแถวและต้น 8×8 ม. หรือ 10×10 ม. ขุดหลุม กว้าง×ยาว×ลึก 50×50×50
3.ผสมดินปลูกด้วยหญ้าแห้ง ปุ๋ยคอก และปุ๋ยเคมี จากนั้นตากดินไว้ระยะหนึ่งจนดินยุบตัวคงที่
4.ปลูกต้นพันธุ์ในหลุม ให้รอยต่อระหว่างต้นพันธุ์และต้นตออยู่สูงกว่าระดับดิน กลบดินรอบต้นพันธุ์ให้แน่น จากนั้นผูกยึดต้นกล้ามังคุดติดกับไม้หลัก เพื่อกันการโยกคลอนของต้น

การดูแลรักษา

  1. การพรางแสงสำหรับต้นเล็ก

โดยใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น ทางมะพร้าว ปักเป็นกระโจมคร่อมต้นมังคุด หรือใช้ตาพรางแสง หรือปลูกต้นไม้โตเร็วระหว่างแถวมังคุด ให้มีระยะห่างระหว่างต้นของไม้โตเร็วที่สามารถแผ่ทรงพุ่มพรางแสงให้ต้นมังคุดได้ ประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ เช่น กล้วย และทองหลาง เป็นต้น

  1. การให้ปุ๋ย

ปุ๋ยคอก ใส่ 1 ปี แบ่งใส่ 2 ครั้ง ปุ๋ยเคมี ใช้ปุ๋ย สูตร 15-15-15 หรือ สูตร 16-16-16 อัตราเป็นกิโลกรัมต่อต้นต่อปี คิดเป็นเท่ากับเส้นผ่าศูนย์กลาง (เมตร)

  1. การให้น้ำ

ระบบการให้น้ำที่เหมาะสมใช้ระบบการให้น้ำแบบหัวเหวี่ยงเล็ก ความต้องการน้ำของมังคุดต้นเล็กประมาณ 0.6 เท่าของค่าอันตราการระเหยน้ำ (มิลลิเมตรต่อวัน)

  1. การตัดแต่งและควบคุมทรงพุ่ม

ต้นเล็กไม่จำเป็นต้องตัดแต่งกิ่ง แต่ต้องตัดกิ่งด้านล่างให้สูงจากพื้นดิน ประมาณ 50 ซม.

โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ

  1. โรคใบจุด

สาเหตุมาจากเชื้อรา ลักษณะอาการ ใบอ่อนมีแผลเป็นจุดสีน้ำตาล รูปร่างไม่แน่นอน ต่อมาบริเวณกลางแผลจะมีสีเทา เมื่อแผลมีขนาดใหญ่ขึ้นจะทำให้ใบแห้ง มีผลต่อการสังเคราะห์แสง ทำให้ความสมบูรณ์ของต้นลดลง ช่วงเวลาระบาด คือฤดูฝน ระยะใบอ่อนถึงเพสลาด

  1. โรคจุดสนิม

สาเหตุจากสาหร่าย เป็นจุดนูนกลม ลักษณะคล้ายขนบนใบ ระยะแรกมีสีเขียวต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีสนิม ช่วงเวลาระบาด คือเมื่อความชื่นในบรรยากาศสูง

  1. หนอนกินใบอ่อน ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนและหนอนมีสีเขียวแกมเหลืองเหมือนคล้ายสีใบอ่อนมังคุด กัดกินใบในเวลากลางคืน ทำให้บริเวณใบเกิดความเสียหาย ส่งผลให้มีการสังเคราะห์แสงลดลงและทำให้มังคุดเจริญเติบโตช้า ช่วงระบาด ระยะแตกใบอ่อน
  1. หนอนชอนใบ ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนและหนอนสีนวลปนแดง เข้าทำลายเฉพาะใบอ่อนโดยหนอนชอนเข้าไปอยู่ระหว่างผิวใบ สร้างทางเดินและอาศัยอยู่ในระหว่างผิวใบทั้ง 2 ด้าน ใบที่ถูกทำลายจะเห็นเป็นทางเดินของหนอนคดเคี้ยวไปมา ส่งผลทำให้ใบหงิกงอและไม่เจริญเติบโต ช่วงระบาด ระยะแตกใบอ่อน
  1. เพลี้ยไฟเป็นแมลงขนาดเล็ก สีเหลืองหรือน้ำตาลอ่อน เคลื่อนไหวรวดเร็ว ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อน ดอก และผล ส่งผลทำให้ใบแคระแกรน แห้ง และไหม้ และทำให้ผลเจริญเติบโตช้า ผิวผลมีรอยขรุขระเป็นขี้กลาก ช่วงเวลาระบาด ระยะแตกใบอ่อน ดอก และผลอ่อน ในช่วงอากาศแห้ง
  1. ไรแดง มีขนาดเล็ก สีน้ำตาลแดง เคลื่อนไหวไปมา มักระบาดควบคู่กับเพลี้ยไฟ ไรแดงจะดูดกินน้ำเลี้ยงที่ยอด ดอก และผลอ่อน ทำให้ยอดและผลอ่อนแห้ง ร่วง หรือเจริญเติบโตช้า หรือผลไม่สมบูรณ์ ช่วงเวลาระบาด ช่วงอากาศแห้งแล้ง

การใช้ประโยชน์

ผลมังคุดสามารถกินได้ มังคุดมีสรรพคุณทางเภสัชวิทยาของสารแซนโทน ซึ่งมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา ต้านการอักเสบ ต้านออซิเดชัน บรรเทาอาการแพ้ ต้านมะเร็ง  ป้องกันการแข็งตัวของหลอดเลือด ยับยั้งอนุมูลอิสระ เป็นต้น นอกจากนี้ยังนำมังคุดมาทำผลิตภัณฑ์ได้อีกมากมาย เช่น เนื้อมังคุดแช่เยือกแข็ง แยมมังคุด มังคุดกวน คุกกี้มังคุด เค้กมังคุด โลชันบำรุงผิวมือผสมสารสกัดเปลือกมังคุด เจลทำความสะอาดมือมังคุด เป็นต้น

แหล่งพืชอนุรักษ์

ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง ศูนย์วิจัยพืชสวนยะลา ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี

<<กลับไปหน้าฐานข้อมูลไม้ผล