Search for:

ชื่อสามัญ ส้ม Orange

ชื่อวิทยาศาสตร์  Citrus spp.

ชื่ออื่นๆ 

ถิ่นกำเนิดและประวัติความเป็นมา

  1. ส้มมีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อนถึงกึ่งร้อนที่ละติจูด 40 องศาเหนือถึง 40 องศาใต้ รวมทั้งเขตแห้งแล้งและเขตที่มีความชื้นสูง เป็นพืชสำคัญและมีพื้นที่การผลิตทั่วโลก (Cooper and Chapot, 1977)พืชในสกุล  Citrus  สามารถจำแนกได้เป็น 4  กลุ่มได้แก่ 1. กลุ่มส้มเกลี้ยง (Oranges)  2. กลุ่มส้มเปลือกล่อน (Mandarins)  3. กลุ่มส้มโอและเกรฟฟรุต (pummelos and grapefruits) และ 4. กลุ่มส้มที่มีรสเปรี้ยว (Common Acid Members) นอกจากนี้ยังมีพืชในสกุลใกล้เคียงที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจด้วยเช่น กลุ่มกัมควอท (Fortunella sp.) และกลุ่มของส้มสามใบ (trifoliate orange; Poncirus trifoliate)    (รวี,มปป) ซึ่งแต่ละกลุ่มมีความสำคัญแตกต่างกันไปตามความต้องการของกลุ่มชน วัฒนธรรม รวมทั้งการใช้ประโยชน์ของส้มชนิดนั้นๆ ด้วยสำหรับส้มที่ปลูกในศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงรายนั้น เป็นพืชตระกูลส้มสายพันธุ์ต่างประเทศสำหรับใช้เป็นต้นตอ มีทั้งหมด 5 พันธุ์คือ1 .คลีโอพัตรา  แมนดาริน (cleopatra mandarin) จัดอยู่ในกลุ่มส้มเปลือกล่อน มีลักษณะผลแป้นกว่าส้มเกลี้ยง เปลือกบางกว่า เปลือกล่อนจึงปอกเปลือกเพื่อรับประทานได้ง่าย ส้มผลเล็กนำเข้าจากจีนมีรสหวานจัด ที่รู้จักกันในชื่อ ส้มซาถัง (Shatang mandarin)2.แรงเพอร์ ไลม์  (Rangpur  lime) จัดอยู่ในกลุ่มส้มที่มีรสเปรี้ยว ผลมีลักษณะค่อนข้างกลมคล้ายมะนาว ขนาด 2.5 นิ้ว เปลือกนอกสีเขียว ผิวผลเรียบเปลือกบาง เนื้อภายในผลมีสีเหลืองส้ม รสเปรี้ยว เมล็ดเป็นรูปไข่ปลายแหลม3.ทรอยเยอร์ ซิเตรนจ์ (Troyer Citrange) อยู่ในกลุ่มของส้มสามใบ เป็นลูกผสมระหว่างส้มสามใบกับส้มสวีท โอเรนจ์ มีลักษณะของส้มสามใบคือทนโรคโคนเน่า ผลมีคุณภาพดี มีการเจริญเติบโตคล้ายส้ม สวีท โอเรนจ์ คือ เจริญเติบโตแข็งแรง ลูกผสมนี้เป็นที่นิยมกันมากในปัจจุบัน ส้มสามใบนั้นได้มีการนำมาใช้เป็นต้นตอส้มนานมาแล้ว ในปัจจุบันได้มีการผลิตลูกผสมระหว่างส้มสามใบ และส้มเกลี้ยง (sweet orange) ได้เป็นลูกผสมที่เรียกว่า ซิแตรน (citrange) ขึ้น โดยพันธุ์ที่นำมาใช้เป็นต้นตออย่างกว้างขวางและรู้จักกันอย่างดี คือ Troyer และ Carrizo4.ซี 35 (C35)  อยู่ในกลุ่มของส้มสามใบ มีถิ่นกำเนิดในภาคเหนือของจีนและเกาหลี เป็นที่จดจำได้จากหนามขนาดใหญ่บนยอดและบนใบไม้ที่ผลัดใบของมัน ซึ่งหนามมีขนาด 1.2-2 นิ้ว มันมีเอกลักษณ์เฉพาะในฐานะพืชตระกูลส้มเนื่องจากผลของมันมีขนนุ่มคล้ายกับลูกพีช

    5.โวลคา เมอเรียน่า จัดอยู่ในกลุ่มส้มที่มีรสเปรี้ยว ผลกลมรี เปลือกสีเขียวเข้ม ผิวผลไม่เรียบ เมล็ดรูปไข่ขนาดใหญ่กว่า แรงเพอร์ไลม์ เนื้อภายในผลมีสีคล้ายมะนาว รสเปรี้ยวจัด

ลักษณะทั่วไป

1.คลีโอพัตรา  แมนดาริน (cleopatra mandarin) เป็นพันธุ์ที่มีเมล็ดมากต้นกล้าเจริญจากนิวเซลลัส  80–100  เปอร์เซ็นต์  เมล็ดงอกได้ดีที่สุดที่อุณหภูมิสูงกว่า 30 องศา ซ.  ต้นกล้าเจริญแข็งแรงในสภาพเขตร้อน แต่โตช้าในเขตหนาว  ต้นกล้าไม่แตกกิ่ง มีปล้องสั้นเกือบไม่มีหนาม ทนต่อความหนาวเย็น ง่ายต่อการติดตา ในดินทรายจะหยั่งลึกและมีรากแขนงมาก มีลักษณะทรงพุ่มกลม ผลขนาดเล็ก เจริญเติบโตได้ดี แม้ในสภาพอากาศดินเหนียงจัด แต่ไม่ทนต่อโรคโคนเน่าและมีคุณสมบัติทำให้กิ่วพันธุ์ดีมีขนาด ลำต้นเล็ก และให้ผลผลิตช้า

2.แรงเพอร์ ไลม์  (Rangpur  lime)  ต้นใหญ่แข็งแรง ทรงพุ่ม เป็นไม้พุ่มปานกลาง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-1.8 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านปานกลาง และมีหนาม ทรงต้นเป็นแบบเรือนยอดคล้ายร่ม  ผลมีลักษณะค่อนข้างกลมคล้ายมะนาว ขนาด 2.5 นิ้ว เปลือกนอกสีเขียว ผิวผลเรียบเปลือกบาง เนื้อภายในผลมีสีเหลืองส้ม รสเปรี้ยว เมล็ดเป็นรูปไข่ปลายแหลม  ทนดินเค็ม บังคับให้แตกกิ่งง่าย

3.ทรอยเยอร์ ซิเตรนจ์ (Troyer Citrange) เมล็ดให้ต้นกล้าเป็นนิวเซลลัสสูงสม่ำเสมอ  ไม่แตกกิ่งทำให้ง่ายต่อการติดตาและบังคับตา ส้มพันธุ์ดีบนต้นตอนี้มีผลโต คุณภาพดี สามารถทนสภาพเกลือต่าง ๆ ได้ดี  ต้านทานต่อโรคทริสเตซ่า แต่ไม่ทนต่อโรคเอ็กโซคอร์ติส

4.ซี 35 (C35) เมล็ดให้ต้นกล้าที่เกิดจากนิวเซลลัสสูง  อาจนำเมล็ดผ่านอุณหภูมิหนาวจัดเพื่อให้เมล็ดงอกดีที่สุด  ต้นกล้าแข็งแรงน้อยถึงปานกลางมีหนามมากทำให้ยากต่อการติดตา ต้นตอนี้มีความแข็งแรง ทนทานสูงต่อโรครากเน่าที่เกิดจากเชื้อราไฟทอปธอร่า ต้านทานต่อไส้เดือนฝอยและโรคทริสเตซ่า ทนต่อดินสภาพกรด แต่ไม่ทนต่อดินเกลือ และความแห้งแล้ง ส้มพันธุ์ดีบนต้นตอส้มสามใบให้ผลโต ผลผลิตสูง คุณภาพดี  แต่มีข้อเสียคือ  โตช้าและไม่ทนต่อเชื้อไวรัส เช่น เอ็กโซคอร์ดิส (Exocotis)  ส้มสามใบเหมาะสำหรับต้นตอส้มที่ปลูกซ้ำที่เดิม  เพราะต้านทานไส้เดือนฝอยส้มได้ดี

5.โวลคา เมอเรียน่า เป็นไม้พุ่มปานกลาง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางพุ่มประมาณ 1.5 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านปานกลาง มีหนามแหลม ลักษณะของทรงต้นคล้ายร่ม ผลกลมรี เปลือกสีเขียวเข้ม ผิวผลไม่เรียบ เมล็ดรูปไข่ขนาดใหญ่กว่า แรงเพอร์ไลม์ เนื้อภายในผลมีสีคล้ายมะนาว รสเปรี้ยวจัด   ทนดินเค็มและดินที่มีหินปูนสูง  แต่อ่อนแอต่อโรคโคนรากเน่า  ไวต่อสภาพอากาศหนาวเย็น

พันธุ์และการขยายพันธุ์

วิธีที่นิยมกันมากคือ  การตอนกิ่ง นอกจากนี้ยังมีวิธีการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการอื่นๆ การปักชำ การเสียบกิ่ง การติดตา เป็นต้น

  1. การเพาะเมล็ด

การเพาะเมล็ดส้มหลังจากที่แกะเมล็ดออกจากผลควรรีบนำไปเพาะทันที  อย่าทิ้งไว้หลายวัน จะทำให้เมล็ดส้มไม่งอก  หรืองอกน้อย ต้นกล้าที่ได้มักอ่อนแอ  นำเมล็ดที่ได้ล้างน้ำให้สะอาดเพื่อล้างเอาสารยับยั้งการงอกออก  หากต้องการเพิ่มเปอร์เซ็นต์การงอกควรใช้สาร  GA3 ความเข้มข้น  150 – 250  ส่วนต่อล้าน วัสดุที่เหมาะสมสำหรับการงอกของเมล็ดส้มคือ  ขี้เถ้าแกลบผสมกับดิน  อัตราส่วน  1:1  หรือ ขี้เถ้าแกลบผสมกับทรายอัตราส่วน  1:1  การเพาะอาจเพาะลงในถุงพลาสติก หรือเพาะในแปลงก็ได้ หลังจากที่เพาะส้มประมาณ  15  วัน  เมล็ดจะเริ่มงอกโดยปกติ  1  เมล็ดจะงอกหลายต้น  ยกเว้นส้มโอ

  1. การตัดชำ

วิธีการนี้ไม่ค่อยนิยมทำกันเพราะจะได้ต้นส้มมีขนาดเล็กแล้วยังมีระบบรากที่ไม่แข็งแรง  อย่างไรก็ตามได้มีการทดลองตัดชำกิ่งส้มโดยใช้สารเร่งรากพวก  IBA  หรือ  NAA  สามารถทำให้กิ่งตัดชำออกรากเพิ่มขึ้น  การชำจะนำกิ่งส้มกิ่งกึ่งอ่อนกึ่งแก่  ความยาวประมาณ  6 – 8  นิ้ว  ริดใบออกบางส่วนแล้วนำไปปักชำในแปลง พ่นหมอกซึ่งมีทรายกับขี้เถ้าแกลบเป็นวัสดุสำหรับการปักชำ ประมาณ  30 – 45  วัน กิ่งปักชำจะเริ่มเกิดราก

  1. การตอนกิ่ง ขั้นตอนการตอนกิ่งส้ม มีดังนี้

-คัดเลือกต้นส้มที่ให้ผลผลิตสูงปราศจากโรคและแมลงรบกวน ควรตอนกิ่งจากส้มที่มีอายุ  4 – 6 ปี และควรเลือกกิ่งที่ไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไป

-ขนาดของกิ่งควรมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ  1.0 – 2.0  เซนติเมตร ความยาวประมาณ 75 เซนติเมตร

-ควั่นกิ่งเป็น  2  รอย  ห่างกันประมาณ  1  นิ้ว ลอกเปลือกออกแล้วใช้มีดขูดเยื่อเจริญออกให้หมด

-หากต้องการเร่งการเกิดราก ควรใช้สาร IBA ความเข้มข้น 5,000  ส่วนต่อล้านหรือใช้  IBA ที่มีชื่อการค้าว่า  เซราดิกซ์  เบอร์ 2 หรือ 3 ทาบริเวณด้านบนของรอยควั่น

-หุ้มด้วยกาบมะพร้าวหรือขุยมะพร้าว  มัดกระเปาะหัวท้ายให้แน่น

-ฤดูที่เหมาะสมในการตอนกิ่งส้มคือ ฤดูฝน

            การตัดกิ่งตอนลงชำ

ปกติส้มจะเกิดรากประมาณ 1 เดือน  หลังจากตอนกิ่ง ในการตัดกิ่งตอนนั้นจะต้องสังเกตจากรากที่งอกออกมา  โดยจะทำการตัดได้เมื่อรากที่งอกออกจากกิ่งตอนเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และมีรากสีขาว ๆ แตกแขนงออกมาอีกทีจึงจะตัดได้  ช่วงเวลาตัดกิ่งควรเป็นช่วงที่มีอากาศเย็น  เช่นในเวลาตอนเย็น  เพราะใบจะมีการคายน้ำน้อย  ริดใบและกิ่งบางส่วนออกเพื่อลดการคายน้ำ  นำกิ่งตอนไปแช่ในน้ำให้ท่วมกระเปาะที่หุ้มรอยควั่น  ประมาณ  1 – 2 ชั่วโมง  จึงนำไปชำลงถุงต่อไป

  1. การเสียบกิ่ง

วิธีการนี้ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นในการที่จะใช้ประโยชน์จากต้นตอซึ่งมีคุณสมบัติต่าง ๆ ตามที่ได้กล่าวไว้ตอนต้น

วิธีการเสียบทำได้หลายวิธี  เช่นการเสียบลิ่ม  การเสียบข้าง และการเสียบกิ่งแบบฝานบวบ มีผู้ทดลองเสียบกิ่งส้ม ปรากฏว่าได้ผลถึง  90 – 100  เปอร์เซ็นต์  สำหรับวิธีเสียบกิ่งที่นิยมทำกันมากคือ การเสียบลิ่ม

การเสียบลิ่ม

ตัดยอดต้นตอให้สูงจากพื้นประมาณ  30 – 80  เซนติเมตร  ใช้มีดผ่าครึ่งยาวประมาณ  1  นิ้ว  ยอดพันธุ์ดีที่นำมาเสียบควรมีตาติดมาประมาณ  2  ตา  เฉือนโคนกิ่งพันธุ์ดีเป็นรูปลิ่มยาวประมาณ  1  นิ้ว  สอดโคนกิ่งพันธุ์ดีลงรอยแผลของต้นตอ  จัดแนวเยื่อเจริญให้สัมผัสกัน  แล้วพันด้วยพลาสติกและคลุมยอดด้วยถุงพลาสติกใสขนาด  4 x 6  นิ้ว  หุ้มด้วยกระดาษฟลอยด์อีกชั้นเพื่อป้องกันความร้อน   ประมาณ  20  วัน ทำการเกิดกระดาษฟลอยด์  ถ้ากิ่งพันธุ์ดีเริ่มแตกยอดก็สามารถเปิดถุงพลาสติกที่คลุมออกได้

  1. การติดตา

การติดตาส้มสามารถทำได้ทั้งในเรือนเพาะชำและในแปลงปลูกวิธีการนี้จะประหยัดกิ่งพันธุ์

ขั้นตอนการติดตา

ต้นตอควรมีขนาด  0.5  เซนติเมตรถึง  1  นิ้ว  ใช้มีดกรีดเปลือกต้นตอเป็นรูปตัวที  ยาวประมาณ  1  นิ้ว และสูงจากพื้นประมาณ  3 – 6  นิ้ว   เผยอเปลือกออกเพื่อที่จะสอดแผ่นตาพันธุ์ดี   การเตรียมแผ่นตา ให้เฉือนเป็นรูปโล่ ระวังอย่าให้ตาได้รับอันตรายแผ่นตา ควรมีก้านใบติดเพื่อสะดวกต่อการปฏิบัติ  แล้วลอกเอาเนื้อไม้จากแผ่นตาออก แล้วนำแผ่นตาสอดเข้าไปในแผลของต้นตอที่เตรียมไว้ แต่ถ้าสอดแผ่นตาแล้วยังมีส่วนของแผ่นตาโผล่ก็ให้ตัดเอาส่วนที่โผล่ออกแล้ว พันด้วยผ้าพลาสติก  ประมาณ  30  วันค่อยแกะเอาผ้าพลาสติกออก จะสังเกตได้ว่า ตาของกิ่งพันธุ์ดีที่นำมาติดจะมีสีเขียวและจากเริ่มแต่งขึ้น  แสดงว่าการติดตาได้ผล  ใช้พันพลาสติกใหม่โดยพันเว้นตา

การบังคับให้ตาแตก

เมื่อติดตาครบ ประมาณ  30  วัน  ให้ทำการบาก  หรือควั่นเหนือรอยแผลประมาณ 2 – 3  นิ้ว เพื่อกระตุ้นให้ตาที่ติด แตกออก เมื่อตาเจริญไปเป็นกิ่งให้ทำการตัดยอดต้นตอทิ้ง

วิธีการปลูก

ขุดหลุมขนาด กว้างxยาวxลึก =0.5×0.5×0.5 เมตร ใช้ระยะปลูก กว้างx ยาว 4×6 เมตร ยกร่องตื้นของแถวปลูก หว่านโดโลไมท์เตรียมหลุมปลูก รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกเก่า 10 กิโลกรัม/หลุม

การดูแลรักษา

ตัดแต่งกิ่งหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต

ใส่ปุ๋ย 46-0-0 + 18-46-0 + 0-0-60 ผสมกันที่อัตรา 1:1:1 จำนวนอย่างน้อย 3 ครั้ง/ปี

พ่นปุ๋ยทางใบ  ปุ๋ยสูตร 30-20-10 และโฟแม็กซ์ (สังกะสี+แมกนีเซียม) จำนวนอย่างน้อย 4 ครั้ง/ปี

ฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคแมลงตามผลการสำรวจเมื่อพบการระบาด

กำจัดวัชพืชโดยใช้เครื่องตัดหญ้าแบบสะพายไหล่

เก็บเกี่ยวผลผลิตเมื่ออายุผลแก่สุก 7 เดือนเป็นต้นไปขึ้นอยู่กับสายพันธุ์

โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ

1.โรคแคงเกอร์ สาเหตุ  เชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas axonopodis pv. citri (Hasse 1915) Vauterin et al.1995

ลักษณะอาการ  อาการที่ใบ ในระยะแรกเป็นจุดแผลกลมเท่าหัวเข็มหมุดใส และฉ่ำน้ำ จุดแผล ขยายใหญ่ขึ้น ฟูนูนคล้ายฟองน้ำ แผลปรากฏทั้งด้านบนและด้านล่างของใบ ต่อมาแผลเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มลักษณะฟูนูนยุบลงกลายเป็นสะเก็ดแข็ง และขรุขระ กลางแผลบุ๋มลง รอบๆ แผลมีวงสีเหลืองล้อมรอบ อาการที่กิ่ง เป็นแผลตกสะเก็ดแห้งแข็งสีน้ำตาล แต่แผลมักลุกลามไปรอบกิ่ง และกระจายไปตามความยาวของกิ่ง ส่วนอาการที่ผล เป็นแผลตกสะเก็ดแห้งแข็งสีน้ำตาลเช่นเดียวกับบนใบ ผลที่เป็นโรคมักจะแตกและร่วงในเวลาต่อมา

2.โรคกรีนนิ่ง เชื้อสาเหตุ    แบคทีเรีย Candidatus Liberibacter asiaticus

            ลักษณะอาการและความเสียหาย    โรคกรีนนิ่งเข้าทำลายต้นส้มได้ทุกระยะ โดยมีเพลี้ยไก่แจ้เป็นพาหะนำโรค อายุส้มระหว่าง 1-5 ปี  จะติดโรคง่ายและแสดงอาการชัดเจน แต่เมื่อต้นอายุเกิน 10 ปีขึ้นไป  การเข้าทำลายของเชื้อจะช้ากว่าและอาการของโรคจะไม่รุนแรง ลักษณะอาการของโรคสามารถแบ่งได้ดังนี้

ระยะแรก อาการเริ่มปรากฏที่กิ่งใดกิ่งหนึ่งก่อน คือ ยอดเหลืองตั้ง (yellow shoot) ใบเล็กลงและไม่พลิ้วไหวเหมือนใบปกติ อาการใบด่างเหลืองซีด (leaf mottling) หรือ ใบลาย ชี้ตั้ง เส้นกลางใบและเส้นใบมีสีเหลืองซีด ส่วนต้นได้รับเชื้อโรคมากและรุนแรงใบจะแสดงอาการคล้ายกับอาการขาดธาตุอาหาร เช่น สังกะสี แมงกานีส อย่างรุนแรง ใบที่แก่จะหนาผิดปกติและม้วนงอ อาจพบอาการเส้นใบบวมปูดและแตกสีน้ำตาลหรือ vein corking ผลที่เกิดจากกิ่งนี้จะเล็กไม่มีคุณภาพ ผิวเกลี้ยงใส เข้าสีเร็ว หลุดร่วงง่าย บริเวณขั้วผลมีสีส้มหรือแดง และกิ่งจะแห้งตายจากยอดลงมา (dieback)

ระยะที่สอง โรคจะลุกลามไปกิ่งที่อยู่ติดกัน เร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับการจัดการของเจ้าของสวน ปริมาณเชื้อโรคและอายุต้น สำหรับกิ่งส้มที่เป็นโรคหลังจากใบร่วงจะแตกยอดใหม่สั้นเป็นกระจุก ใบเล็กฝอย และแสดงอาการขาดธาตุค่อนข้างชัดเจน รวมทั้งออกดอกติดผลนอกฤดูแต่ไม่สมบูรณ์มีขนาดเล็กและร่วงง่าย

ระยะที่สาม โรคลุกลามไปทั่วทั้งต้นใช้เวลา 6 เดือน – 2 ปี อาการใบเล็กเหลืองและทรุดโทรมทั้งต้น ซึ่งเป็นที่มาของชื่อโรคนี้ว่า โรคใบเหลืองต้นโทรม ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายที่มีอาการทรงกับทรุด และยากแก่การวินิจฉัยว่าเกิดจากสาเหตุอะไร เพราะจะปนกับอาการของโรครากเน่า และอาการขาดธาตุอาหาร ฉะนั้นให้สังเกตโรคนี้ในช่วงการติดโรคระยะแรกกับระยะที่สองจะชัดเจนที่สุด และระยะที่สามนี้เมื่อได้รับการบำรุงรักษาโดยการปรับสภาพดินให้น้ำและปุ๋ย ใบจะเขียวขึ้น หลังจากนั้น 2-3 เดือนก็กลับสภาพดังเดิม และมักออกดอกมากผิดปกติ แต่ร่วงง่ายและเมื่อติดลูก ราวเดือนกรกฎาคมซึ่งเป็นฤดูฝนผลจะเริ่มร่วงมากขึ้น และพบอาการรากเน่าแทรกซ้อน เนื่องจากกระบวนการสังเคราะห์แสงของใบส้มเป็นแบบไม่ปกติ ทำให้รากขาดน้ำตาลจึงเกิดอาการอ่อนแอ เน่า และไม่พัฒนารากใหม่ สังเกตได้จากต้นส้มแสดงอาการทรุดโทรมทั้งต้น รากฝอยซึ่งทำหน้าที่ดูดธาตุอาหารไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของต้นมีน้อยกว่าปกติ

3.โรครากเน่า โคนเน่า (Root Rot and Foot Rot Disease) เชื้อสาเหตุ    รา  Phytophthora parasitica Dastur. ลักษณะอาการและความเสียหาย เกิดการเน่าของราก และโคนต้นอาการระยะแรก ใบเหลืองเริ่มจากเส้นกลางใบ และเส้นใบ จนค่อยๆร่วง กิ่งแห้งตายจากปลาย กรณีต้นที่เป็นโรครุนแรงใบจะร่วงเป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็ว และเกิดอาการยืนต้นตาย สำหรับต้นที่ติดผลขณะที่ยังมีขนาดเล็ก ผลจะติดค้างอยู่บนต้นโดยที่ใบส้มร่วงเกือบหมดต้น เมื่อขุดดูระบบรากจะพบรากฝอย และรากแขนงเน่าจากปลายรากลุกลามเข้ามายังส่วนของโคนต้น ส่วนของเปลือกรากเน่ามีสีน้ำตาล และถอดปลอก บางครั้งโรคอาจเกิดเฉพาะที่ส่วนโคนต้นระดับดิน ซึ่งสามารถสังเกตอาการได้ง่าย เป็นแผลฉ่ำน้ำสีน้ำตาลเข้ม หรือเน่าดำที่เปลือกของลำต้นบริเวณโคนต้น และอาจพบยางไหลจากแผล เมื่อถากเปลือกที่แสดงอาการออกจะพบว่าเปลือกเน่าและยุ่ยเนื้อโคนต้นใต้เปลือกมีแผลสีน้ำตาลหรือสีแดง หากปล่อยให้ลุกลามจะทำให้ต้นทรุดโทรมยากต่อการรักษาและป้องกันการระบาดของโรค

4.โรคสะแค็บ (Scab) เชื้อสาเหตุ สะฟาซีโลมา (Sphaceloma sp.)

ลักษณะอาการ บนใบเป็นจุดสีเหลืองส่วนด้านหลังใบจะเห็นแผลตกสะเก็ดนูนสีน้ำตาล ในสภาพการระบาดรุนแรงในพันธุ์ส้มที่อ่อนแอต่อโรค เช่น ส้มแรงเพอร์ไลม์ แผลสะเก็ดนูนเหล่านี้จะกระจายไปทั่วทั้งผืนใบ ทำให้ใบอ่อนแสดงอาการใบเหลือง เป็นคลื่นและบิดเบี้ยวไป บางครั้งจะพบอาการจุดแผลนูนด้านหลังใบส่วนด้านหน้าจะมีลักษณะบุ๋มลงไป อาการที่ผลจะพบมากในช่วงผลอ่อนจนอายุประมาณ 5-6 เดือน ลักษณะจุดนูนสีน้ำตาลหรือน้ำตาลปนเทารูปร่างไม่แน่นอน จุดนูนเหล่านี้จะไม่มีวงสีเหลืองล้อมรอบเหมือนกับโรค      แคงเกอร์

5.เพลี้ยไฟ (Thrips)

ลักษณะการทำลาย เพลี้ยไฟเป็นศัตรูที่สำคัญของส้ม ทำลายตา ใบอ่อน ดอกและผลอ่อน พบระบาดทั่วทุกแหล่งปลูกตลอดทั้งปี ช่วงการระบาดขึ้นอยู่กับการแตกยอดอ่อนและติดผลอ่อนของส้มโดยเฉพาะช่วงที่มีอากาศร้อน และฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยใช้ปากเขี่ยและดูดกินน้ำเลี้ยงส่วนอ่อนต่างๆ ของส้ม ทำให้ใบอ่อนมีลักษณะแคบเล็กกร้าน และบิดงอ บนผลเข้าทำลายตั้งแต่ติดผลภายหลังกลีบดอกร่วงหมด เกิดเป็นรอยแผลบนผิวของส้มเป็นทางเทาสีเงินเริ่มจากบริเวณใกล้ขั้วผล หากระบาดรุนแรงอาจเป็นทั่วทั้งผลได้ ผลส้มเจริญเติบโตได้ไม่ดี แคระแกรน บิดเบี้ยว ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศและตลาดส่งออก

6.ไรแดงแอฟริกัน

ลักษณะการทำลาย เป็นศัตรูพืชที่มีขนาดเล็ก ต้องดูด้วยแว่นขยายส่องดู ไรแดงเพศเมียมีสีน้ำตาลหรือสีแดงเข้ม ลำตัวกลมค่อนข้างแบนยาวเฉลี่ย 0.4 มม. มีขนบนหลังขาทั้ง 4 คู่สีเหลืองอ่อน ตัวเต็มวัยจะวางไข่และมีชีวิตประมาณ 5-7 วัน ไข่ฟักเป็นตัว 4-5 วัน ดูดกินน้ำเลี้ยงบนใบส้มด้านหน้าใบทำให้ใบส้มเปลี่ยนเป็นสีเขียวจางหรือซีดและหน้าใบเป็นมันและเป็นคราบฝุ่นหรือผงสีขาวอยู่ตามบริเวณหน้าใบ นอกจากนี้ทำลายผลส้มอ่อนอาจทำให้ผลเปลี่ยนเป็นสีซีดและกระด้าง

7.ไรขาวพริก (Broad mite)

ลักษณะการทำลาย ไรขาวพริก ลำตัวมีสีขาวและเป็นศัตรูสำคัญของพริก ไรขาวพริกตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใต้ใบอ่อน ทำให้ขอบใบส้มม้วนงอลง ใบเรียวเล็กมีสีเหลืองเข้ม ชะงักการเจริญเติบโต ส่วนที่ผลเข้าทำลายตั้งแต่ส้มติดผลจนอายุผลประมาณ 2 เดือน ถ้าทำลายรุนแรงเกิดอาการที่ผิวส้มเปลี่ยนเป็นสีเทาทั้งผล ทำให้ชาวสวนต้องปลิดทิ้งเพราะว่าไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ ส่วนผลที่ถูกกัดกินเป็นบางส่วนยังสามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ แต่พบว่ามีเปลือกหนา เนื้อน้อย มีน้ำหนักเบา ไรขาวพริกมีชีพจักรสั้นมาก ระยะจากไข่จนถึงตัวเต็มวัยใช้เวลานาน 4-5 วัน

การใช้ประโยชน์

รับประทานผลสด

แหล่งพืชอนุรักษ์

ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย

<<กลับไปหน้าฐานข้อมูลไม้ผล