Search for:

ชื่อสามัญ  มะคาเดเมีย Macadamia

ชื่อวิทยาศาสตร์   Macadamia integrifolia Maiden & Betche

ชื่ออื่นๆ  แมคคาเดเมีย Queensland nut, Australian nut, bopple nut, bush nut, bauple nut, nut oak

ถิ่นกำเนิดและประวัติความเป็นมา

ถิ่นกำเนิดอยู่ที่ออสเตรเลีย แต่มีนักธุรกิจชาวสหรัฐอเมริกา นำไปพัฒนาต่อยอดที่เกาะฮาวาย มะคาเดเมีย ชื่อดั้งเดิมคือ แมคคาเดเมีย ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติ แก่ มร.แมคคาดัม ชาวสก๊อตแลนด์ ด้วยท่านได้ทุ่มเทให้กับมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น แห่งออสเตรเลีย อย่างเต็มความสามารถ

สำหรับประเทศไทยนำเข้ามาทดลองปลูกในปี พ.ศ. 2496 จากฮาวาย มีการวิจัยพันธุ์มาอย่างยาวนาน ระยะแรกไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2515 สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เริ่มพัฒนาการวิจัย

ลักษณะทั่วไป

ไม้ผลยืนต้นขนาดใหญ่ สูง 9-18 เมตร และทรงพุ่มแผ่กว้าง 9-12 เมตร ใบมีสีเขียวตลอดปี ไม่ผลัดใบ

ต้น        ต้นแมคคาเดเมีย ต้นไม้ที่มีลักษณะสูงและตั้งตรง เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่แล้วสามารถมีความสูง ได้ถึง 20 เมตร  และแผ่กิ่งก้านสาขาออกได้กว้างถึง 20 เมตร เป็นไม้ยืนต้นที่มีรูปทรงคล้ายพีรามิดสวยงามโดยจะมีความเขียวชอุ่มอยู่ตลอดทั้งปี

ใบ       จะมีลักษณะเป็นรูปทรงรี  ในส่วนบริเวณขอบของใบจะมีหนามเล็กๆขึ้นอยู่บางๆ ประปราย รอบใบ ใบจะมีสีเขียว-เขียวเข้ม ผิวของใบมีลักษณะเรียบและมันเงา

ดอก      มีสีขาวเรียงตัวกันเป็นช่อยาวสวยงาม มีกลิ่นหอม ซึ่งภายในดอกจะมีทั้งเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่บนก้านดอกเดียวกัน

ผล        มีสีเขียวเข้ม  เปลือกด้านนอกมีลักษณะแข็งและหนา เปลือกของผลแมคคาเดเมียจะมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ แบบผิวขรุขระ (Rough-shelled Macadamia) และแบบผิวเรียบ (Smooth-shelled Macadamia)  ภายในผลจะมีเมล็ดสีขาว เนื้อแน่น รับประทานได้  มีรสชาติมันอร่อยคล้ายถั่วซึ่งเมล็ดด้านในที่ว่านี้จะถูกหุ้มไว้ด้วยเปลือกแข็งๆ ที่เรียกว่า ‘ กะลา ’ อีกชั้นหนึ่ง

พันธุ์และการขยายพันธุ์

มะคาเดเมียพันธุ์แนะนำ 3 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์เชียงใหม่ 400 พันธุ์เชียงใหม่  700 และ พันธุ์ เชียงใหม่ 1000

พันธุ์

  1. พันธุ์เชียงใหม่ 1 (A4)

ทรงต้นรูปร่างกลม (round shape) กิ่งก้านแผ่กว้าง ขนาดผลใหญ่ เฉลี่ย 123 ผลต่อกิโลกรัม (ทั้งกะลา) และมีกะลาบางเฉลี่ย 0.25 มิลลิเมตร ออกดอกดกเฉลี่ย 196 ดอกต่อช่อ ให้ผลผลิตปีแรกหลังปลูก 0.80 กิโลกรัม ต่อต้น

  1. พันธุ์เอชทู (H2 หรือ Hinde)

นิสัยการเจริญเติบโตทรงต้นตั้งตรง ทรงพุ่มกลมโปร่ง แผ่กว้าง ใบเขียวเป็นคลื่น ไร้หนาม ปลายใบ กลมมน ดอกสีขาว ใบอ่อนสีเขียว กะลาเรียบแต่ขรุขระเล็กน้อย ขนาดผลปานกลาง กะลาหนาเล็กน้อย (142 ผลต่อกิโลกรัม) ผลมีรอยบุ๋มหรือลักยิ้มที่ตรงขั้วของผล เจริญเติบโตทางลําต้นได้ดีทั่วทุกภาคของ ประเทศไทย เนื้อในค่อนข้างแบนเล็กน้อย เปอร์เซ็นต์เนื้อในต่ำกว่ามาตรฐานเล็กน้อย เป็นตัวให้ละออง เรณูแก่พันธุ์อื่นเพื่อช่วยการติดผล เหมาะสําหรับใช้เป็นต้นตอ

  1. พันธุ์เบอร์ 344 (Kau)

ทรงต้นคล้ายสนฉัตร ใบสีเขียว ปลายใบแหลม เป็นคลื่นเล็กน้อย ใบเขียวตลอดปี แม้ปลูกในที่ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ กะลาผิวเรียบและขรุขระเล็กน้อย ดอกสีขาว ขนาดผลใหญ่ กะลาหนาเล็กน้อย(130-150 ผลต่อกิโลกรัม) ข้อจํากัด คือ ให้ผลผลิตช้ากว่าพันธุ์อื่น ๆ แต่เมื่ออายุมากขึ้นจะให้ผลผลิตสูง ถ้าปลูกในพื้นที่ต่ำกว่า 700 เมตรจากระดับทะเล และมีความชื้นต่ำจะมีกะลาหนา อ่อนแอต่อการเข้าทําลายของหนอนเจาะผลและกิ่ง และเพลี้ยหอย เหมาะสําหรับพื้นที่ระดับ 800 เมตรจากระดับทะเลขึ้นไป และควรปลูกร่วมกับพันธุ์เชียงใหม่ 400 และเชียงใหม่ 700

  1. พันธุ์เชียงใหม่ 2 (849)

ทรงต้นเป็นแบบตั้งตรง ใบรูปหอกหัวกลับ ปลายใบมน มีหนาม เล็กน้อย ใบเรียบเป็นคลื่น ขนาดผลปานกลางเฉลี่ย 151 ผลกิโลกรัม (ทั้งกะลา) และมี กะลาบางเฉลี่ย 0.26 มิลลิเมตร ออกดอกดกปานกลางเฉลี่ย 142 ดอกต่อช่อ ให้ผลผลิตปีแรกหลังปลูก 0.65 กิโลกรัมต่อต้น

  1. พันธุ์เชียงใหม่ 400

ทรงต้นแบบตั้งตรง ทรงคล้ายพีระมิด ขนาดลำต้นโดยประมาณ 15-20 เมตร ผลมีขนาดปานกลาง กะลาบาง มีเมล็ดทรงกลมสีขาว มีน้ำหนักเมล็ดแห้งรวมกะลาประมาณ 5-8 กรัม  ให้ผลผลิตต่อต้นประมาณ 11-17 กิโลกรัม เหมาะกับพื้นที่ที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเล 700 เมตรขึ้นไป เช่น จ.เชียงราย  จ.เชียงใหม่

  1. พันธุ์เชียงใหม่ 700

ทรงต้นแบบตั้งตรง ทรงคล้ายพีระมิด พุ่มแน่น ขนาดลำต้นโดยประมาณ 15-20 เมตร ผลมีขนาดปานกลาง กะลาบาง มีเมล็ดทรงกลมสีน้ำตาลอ่อน  มีน้ำหนักเมล็ดแห้งรวมกะลาประมาณ 6-8 กรัม  ให้ผลผลิตต่อต้นประมาณ 13-21 กิโลกรัม เหมาะกับพื้นที่ที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเล 700 เมตรขึ้นไป

  1. พันธุ์เชียงใหม่ 1,000

ทรงต้นแบบกึ่งตรง ทรงคล้ายพีระมิด  พุ่มแน่น  สามารถแตกกิ่งก้านสาขาได้กว้างกว่าทุกพันธุ์ มีขนาด  ลำต้นโดยประมาณ 15-20 เมตร  ผลมีขนาดปานกลาง  กะลาบาง  มีเมล็ดทรงกลมสีน้ำตาลอ่อน  มีรอยแตกสีดำที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน  มีน้ำหนักเมล็ดแห้งรวมกะลาประมาณ 5-8 กรัม  ให้ผลผลิตต่อต้นประมาณ 21-33 กิโลกรัม เหมาะกับพื้นที่ที่มีสภาพอากาศหนาวในระดับความสูง 1000 เมตรขึ้นไป

การขยายพันธุ์

การขยายพันธุ์สามารถทําได้หลายวิธี แต่ที่นิยมในปัจจุบัน มี 2 วิธี ดังนี้

  1. การทาบกิ่งแบบเสียบข้าง ( Modified veneer side grafting)

1.1 เลือกกิ่งพันธุ์ดีขนาดเท่ากันหรือใหญ่กว่าต้นตอเล็กน้อยและควรเป็นกิ่งแก่จะทําให้เปอร์เซ็นต์ติด สูง

1.2 ทําการเฉือนกิ่งพันธุ์ดีเฉียงเข้าเนื้อไม้เล็กน้อย 1.5 – 2 นิ้ว

1.3 เฉือนด้านบนเฉียง 30 องศาทําเป็นลิ้มและเฉือนต้นตอเป็นปากฉลามยาวเท่ากับรอยแผลพันธุ์ดี

1.4 เฉือนตัดด้านหลังเล็กน้อยเพื่อเป็นลิ้ม สอดต้นตอเข้ากับกิ่งพันธุ์ดี ให้เนื้อเยื่อเจริญตรงกันด้านใดด้านหนึ่ง

1.5 พันด้วยพลาสติกให้แน่น 2 รอบจากบนลงล่างและจากล่างขึ้นบน ผูกเชือกปากถุงต้นตอยึดกับ กิ่งให้แน่น ใช้เวลาประมาณ 30 – 40 วัน รอยแผลติดสนิทแล้วตัดยอดต้นตอทิ้ง

1.6 ควั่นกิ่งดีใต้รอยทาบ และประมาณ 2 สัปดาห์ตัดลงชําในกะบะทรายหรือขี้เถ้าแกลบ ประมาณ 1 – 2 เดือนแล้วจึงย้ายลงถุงเพาะอนุบาลในโรงเรือนควบคุมความชื้น

  1. การต่อกิ่งแบบเสียบลิ่ม ( Cleft grafting)

2.1 เตรียมกิ่งพันธุ์ดีด้วยการควั่นกิ่งก่อนทําการเสียบลิ้มทิ้งไว้ 6 – 8 สัปดาห์

2.2. ตัดต้นตอสูงจากดินประมาณ 10–15 เซนติเมตร ถ้าต้นตออยู่ในถุงให้ต้นตอสูงประมาณ 15–20 เซนติเมตร ตัดให้ตั้งฉากกับกิ่ง

2.3 ผ่าต้นตอลึกประมาณ 1–2 นิ้ว และบิดใบมีดเล็กน้อย

2.4 ตัดกิ่งพันธุ์ดียาวประมาณ 7 – 10 เซนติเมตร หรือมีข้อ 1 – 2 ข้อ

2.5 เฉือนโคนกิ่งเป็นรูปลิ่มยาวเท่ารอยผ่านต้นตอรอยเฉือนต้องเรียบเพื่อให้เนื้อเยื่อเจริญประสานกัน ได้ง่าย

วิธีการปลูก

การปลูกมะคาเดเมียนั้นควรเว้นระยะห่างระหว่างต้นและระยะห่างของแถวประมาณ 8×10 เมตร ในช่วง 1-4 ปีแรกสามารถปลูกพืชขนาดเล็กอื่นๆ แซมได้ เช่น กล้วย สตรอเบอรี่ เป็นต้น การขุดเตรียมหลุมที่จะใช้ในการปลูก ควรเตรียมไว้ขนาด 75x75x75 เซนติเมตร ถึง 1x1x1 เมตร จากนั้นนำปุ๋ยหมักหรือแกลบ มารองก้นหลุม 5 กิโลกรัม/หลุม  และหินฟอสเฟต 2 กิโลกรัม/หลุม

การดูแลรักษา

การจัดทรงต้นและการตัดแต่งกิ่ง : เริ่มจัดทรงต้นในช่วง 6-12 เดือนแรก จะต้องบังคับให้มีกิ่งหรือลำต้นประธานเพียง 1 กิ่ง เท่านั้น กิ่งแขนงอื่น ๆ ควรตัดออก และเมื่อกิ่งประธานสูง 80-100 เซนติเมตร

การจัดการน้ำ : ช่วงการออกดอกและติดผลระยะแรกควรมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ  จะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง อายุ โดยช่วงแรก อายุ 1-4 ปี ให้แบบพ่นฝอยขนาดเล็กมาก หรือน้ำหยด ช่องที่สอง อายุ 5 ปีขึ้นไป ให้แบบพ่นฝอยขนาดเล็ก

การจัดการปุ๋ย : ปุ๋ยที่จำเป็นมี 2 ประเภท คือ ปุ๋ยอินทรีย์(มูลวัว มูลไก่ มูลค้างคาว ปุ๋ยหมักเศษใบไม้) และ ปุ๋ยเคมี(ปุ๋ย15-15-15 46-0-0 และ12-12-17-2 (Mg)

โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ

ศัตรูพืช (Pest) ได้แก่ สัตว์ศัตรู (Animai pest) โรคพืช (Plant disease) แมลงศัตรู (Insect pest) และวัชพืช (Weed) จัดว่าเป็นปัญหาสำคัญของการทำการเกษตร เนื่องจากสร้างความเสียหายให้กับพืช ผลผลิตและคุณภาพลดลง ทำให้ต้นพืชอ่อนแอลง โทรมลง และอาจตายในที่สุด ทำให้ต้องหาแนวทางและวิธีการต่างๆ เพื่อควบคุมศัตรูพืชให้มีปริมาณลดลง จนไม่ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อพืช ในแต่ละปีเกษตรต้องสูญเสียทั้งเงิน เวลา และความรู้ต่างๆ ในการควบคุมศัตรูพืชเป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องศึกษาเกี่ยวกับศัตรูพืช และวิธีการควบคุม เพื่อใช้เป็นพื้นฐานของการจัดการศัตรูพืชในการผลิตพืชให้ได้ผลผลิตตามศักยภาพของพันธุกรรมพืช

  1. สัตว์ศัตรูและการป้องกันกำจัด

-กลุ่มกระรอก (Squirrel family Sciuridae) ได้แก่ กระรอกดินข้างลาย (Menetes berdmori) กระรอกหลายสี (Variable Squirrel),Collosciurus finlaysoni) และกระเล็น (Himalayan striped squirrel,Tamiops macclelend)

-กลุ่มหนู (Rat and mice family; Muridae) ได้แก่ หนูฟันเหลือง (Maxomys surifer) หนูป่าอินโดจีน (Indochinese forest rat, Rattus andamanensis) หนูขนเสี้ยน (Spiny rats, Niviventer sp.) หนูท้องขาวบ้าน (Rattus rattus) และหนูหริ่งป่าเล็กขนเสี้ยน (Mus pahari)

-กลุ่มอ้น (Mole rat family; Rhizomyidae) ได้แก่ อ้นใหญ่ (Rhizomys sumatrensis) ลักษณะการทำลาย จะเริ่มทำลายผลมะคาเดเมีย เมื่อผลแก่ใกล้เก็บเกี่ยว และยังนำเอาผลไปกินในรังหรือที่อื่นๆ ทำให้ผลผลิตเสียหาย ผลผลิต และคุณภาพลดลง

การป้องกัน กำจัดสัตว์ฟันแทะในมะคาเดเมียโดยวิธีผสมผสาน กรณีกระรอก วางกรงดักที่มีกล้วยหรือขนุนเป็นเหยื่อล่อ มัดติดกับกิ่งไม้ในทรงพุ่มบนต้น หรือบริเวณคาคบ และในกรณีหนู วางกรงดักที่มีข้าวโพดหรือผลมะคาเดเมียเป็นเหยื่อล่อโดยวางที่โคนต้น รอยทางวิ่งหนู หรือบริเวณที่พบรอยกัดทำลายการใช้สารกำจัดหนูประเภทออกฤทธิ์ช้า ได้แก่ โบรไดฟาคูม (brodifacoum 0.005 เปอร์เซ็นต์) หรือโฟลคูมาเฟน (flocoumafen 0.005 เปอร์เซ็นต์) ชนิดก้อนขี้ผึ้ง หนักก้อนละ 5 กรัม โดยวางใส่ท่อพีวีซี เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 9 เซนติเมตร ยาวประมาณ 50 เซนติเมตร หรือผูกแขนด้วยลวดมัดติดกับกิ่งไม้ในทรงพุ่มบนต้น และวางบริเวณโคนต้น หรือบริเวณที่พบร่องรอยของสัตว์ฟันแทะ จุดละ 3 ก้อน ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด เริ่มวางสารกำจัดหนูตั้งแต่มะคาเดเมียเริ่มออกดอก จนกระทั่งเก็บเกี่ยวหรือเมื่อพบว่าประชากรสัตว์ฟันแทะเริ่มสูงขึ้น และพบรอยกัดทำลายมากขึ้น โดยแต่ละครั้งวางสารกำจัดหนูห่างกัน 3-4 สัปดาห์ จำนวนครั้งในการวางขึ้นอยู่กับประชากรสัตว์ฟันแทะขณะนั้น จนกระทั่งเก็บเกี่ยวผล

  1. แมลงศัตรูและการป้องกันกำจัด

-เพลี้ยอ่อนดำส้ม (black citrus aqhid: Toxoptera aurantii (Boyer de Fonscolombe))

ลักษณะการทำลาย ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของเพลี้ยอ่อนจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดใบอ่อน และช่อดอกตูม ส่วนของพืชที่ถูกทำลายจะบิดงอ และเกิดราดำจากน้ำหวานที่เพลี้ยอ่อนผลิตออกมา

การป้องกันกำจัด

1) ตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง ลดความทึบของทรงพุ่ม เพื่อลดการสะสมของแมลง

2) หมั่นสำรวจยอด ใบอ่อน และช่อดอกอยู่เสมอ

3) เมื่อพบการเข้าทำลาย ให้ตัดส่วนที่พบเพลี้ยอ่อนออกไปทำลายนอกแปลง

– เพลี้ยไฟ พบ 4 ชนิด คือ

1.เพลี้ยไฟหลากสี (color thrips: Thrips coloratus Schmutz)

2.เพลี้ยไฟพริก (chili thrips: Scirtothrips dorsalis Hood)

3.เพลี้ยไฟมะละกอ (papaya thrips: Thrips parvispinus Karny)

4.เพลี้ยดอกไฟ (flower bean thrips: Megalurothrips usitatus Bagnall)

ลักษณะการทำลาย ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณยอดอ่อน ใบอ่อน ช่อดอก และผลอ่อน พบมากช่วงดอกบาน การทำลายทำให้ใบบิดงอ ดอกแห้งและร่วง ผลเป็นแผลขี้กลากสีน้ำตาล

การป้องกันกำจัด

1) หมั่นสำรวจยอด ใบอ่อน ดอก และผลอ่อน

2) หากพบการระบาด พ่นด้วยสารฆ่าแมลง ฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อิมิดาโคลพริด 70% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 3 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสไปนีโทแรม 12% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์บาริล 85% ดับเบิลยูพี อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร อย่างใดอย่างหนึ่ง

-เพลี้ยแป้งแปซิฟิก (Pacific mealybug: planococcus minor (Maskell))

ลักษณะการทำลาย ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงบนยอด ใบ กิ่ง และขั้วผล มักพบอยู่เป็นกลุ่มร่วมกับมด ส่วนของพืชที่ถูกทำลายมักพบราดำจากน้ำหวานที่เพลี้ยแป้งผลิตออกมา

การป้องกันกำจัด

1) ตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง ลดความทึบของทรงพุ่ม เพื่อลดการสะสมของแมลง

2) หมั่นสำรวจยอด ใบ กิ่ง และผล อยู่เสมอ หากพบเพลี้ยแป้งให้ตัดส่วนที่พบออกไปทำลาย

นอกแปลง

 -เพลี้ยหอยเกล็ด (lesser snow scale : Pinnaspis buxi (Bouche))

ลักษณะการทำลาย ดูดกินน้ำเลี้ยงจากกิ่ง ก้าน ใบ ผล และลำต้น

การป้องกันกำจัด

1) ตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง ลดความทึบของทรงพุ่ม เพื่อลดการสะสมของแมลง

2) หมั่นสำรวจกิ่ง ก้าน ใบ และผล อยู่เสมอ หากพบเพลี้ยหอยให้ตัดส่วนที่พบออกไปทำลาย

นอกแปลง

  -หนอนเจาะผล พบ 2 ชนิด คือ หนอนเจาะผลเงาะ (rambutan fruit borer : Deudoric epijarbas (Moore)) และหนอนเจาะผล (yellow peach moth : Conogethes punctiferalis (Guenee))

ลักษณะการทำลาย หนอนเจาะเข้าไปกัดกินอยู่ภายในผล ทำให้ผลผลิตเสียหาย ร่วงหล่น

การป้องกันกำจัด

1) ตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง ลดความทึบของทรงพุ่ม เพื่อลดการสะสมของแมลง

2) ระยะผลหมั่นสำรวจ หากพบการเข้าทำลาย ให้เก็บผลที่ถูกทำลายออกไปทิ้งนอกแปลง

  1. โรคและการป้องกันกำจัดแมลง

 -โรคใบไม้ (leaf blight) เกิดจากเชื้อรา Neopestalotiopsis clavispora

ลักษณะอาการ อาการเริ่มจากเป็นจุดแผลขนาดเล็ก สีน้ำตาล ขอบแผลมีสีเหลือง กระจายทั่วใบและเมื่ออาการรุนแรงจุดแผลจะขยายรวมกัน ทำให้เกิดเป็นใบไม้

การป้องกันกำจัด

1) ทำลายส่วนที่เป็นโรค โดยการนำไปเผาทิ้งนอกแปลงปลูก

2) ตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง ลดความทึบของทรงพุ่ม เพื่อลดการสะสมของโรค

 -โรคใบจุด (leaf spot sinv anthracnose) เกิดจากเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides

ลักษณะอาการ อาการเริ่มจากเป็นจุดแผลขนาดเล็ก สีน้ำตาล จากนั้นขยายใหญ่ขึ้นเป็นจุดกลม ขอบแผลมีสีน้ำตาลแดง กระจายทั่วไปและเมื่ออาการรุนแรงจุดแผลจะขยายรวมกัน ทำให้ใบไม้แห้งตาย แสดงอาการทั้งบนใบอ่อน ใบแก่ เปลือกผล และทำลายผลที่ใกล้จะแก่ด้วย ทำให้ผลแห้งแข็งคาเปลือก และผลห้อยติดอยู่กับต้น

            การป้องกันกำจัด

1) ทำลายส่วนที่เป็นโรค โดยการนำไปเผาทิ้งนอกแปลงปลูก

2) ตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง ลดความทึบของทรงพุ่ม เพื่อลดการสะสมของโรค

-โรคโคนเน่าหรือเปลือกผุ (Phytophthora trunk and stem canker) เกิดจากเชื้อรา phytophthora cinnamomi

ลักษณะอาการ ระยะต้นกล้า จะเกิดเป็นแผลช้ำบริเวณโคนต้นในระดับดิน ทำให้โคนต้นคอดลงต้นเหี่ยวแห้งและตายอย่างรวดเร็ว ในระยะต้นโต สีของเนื้อไม้บริเวณโคนต้นจะเปลี่ยนเป็นสีเข้มขึ้นต้องเอาเปลือกไม้ด้านนอกออกจึงสังเกตเห็นอาการ อาการสามารถลุกลามจากโคนต้นไปยังส่วนของกิ่งได้

   การป้องกันกำจัด

1) ใช้ต้นกล้าที่มาจากแหล่งปลอดโรค

2) จัดทำร่องระบายน้ำในบริเวณสวนที่มีพื้นที่ต่ำ เพื่อไม่ให้มีน้ำท่วมขัง

3) ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา รองก้นหลุม โดยคลุกเคล้าเชื้อสดปริมาณ 150-300 กรัม กับดินในหลุมก่อนนำกล้าพืชลงหลุม

การใช้ประโยชน์

เมล็ดอบแห้ง นิยมนำเมล็ดอบแห้งมารับประทานและใช้ประกอบเมนูต่างๆ  ให้รสชาติมันอร่อยคล้ายถั่ว  เนื่องจากแมคคาเดเมียถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีราคาสูง  ชาวเกษตรกรทั่วโลกจึงนิยมนำมาเพาะปลูกไว้จำหน่ายเพื่อสร้างรายได้  โดยสามารถจำหน่ายได้ทั้งในรูปแบบที่เป็นเมล็ดอบแห้ง ต้นพันธุ์ รวมถึงการนำเมล็ดแมคคาเดเมียแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกมากมาย  การทานเมล็ดแมคคาเดเมีย พบว่าสามารถช่วยลดอัตราการเกิดโรคหัวใจ  ป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง ต่อต้านการเกิดอนุมูลอิสระ ช่วยบำรุงผิวพรรณ บำรุงสมอง-หัวใจ ช่วยลดคอเลสเตอรอลได้  เป็นต้น

เปลือก เปลือกของต้นแมคคาเดเมียสามารถนำปำปุ๋ยหมักเพื่อบำรุงดินได้

กะลา ได้มีการนำกะลาแมคคาเดเมียไปเป็นส่วนประกอบในอุตสาหกรรมพลาสติกด้วย

แหล่งพืชอนุรักษ์

  • ศูนย์วิจัยพืชสวนเลย
  • ศูนย์ว์จัยเกษตรหลวงเชียงใหม่
  • ศูนย์วิจัยเกษตรที่สูงเพชรบูรณ์

<<กลับไปหน้าฐานข้อมูลพืชอุตสาหกรรม