Search for:

ชื่อสามัญ  ลำไย  Longan

ชื่อวิทยาศาสตร์   Dimocarpus longan Lour.

ชื่ออื่นๆ บ่าลำไย (ภาคเหนือ)

ถิ่นกำเนิดและประวัติความเป็นมา

ลำไยเป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนและกึ่งร้อนของเอเชีย

ลักษณะทั่วไป

ต้น   ต้นเพาะเมล็ดสูงตรงและมีรากแก้ว ต้นกิ่งตอนมีทรงพุ่มแผ่กว้างและมีรากฝอย ต้นสูง 9-15เมตร ทรงพุ่มกว้าง 5-10 เมตร เปลือกลำต้นสีน้ำตาลหรือสีเทาปนน้ำตาล แตกเป็นสะเก็ดและมีร่องขรุขระเมื่อต้นมีอายุ กิ่งกลม ทำมุมแคบและเนื้อไม้มักเปราะทำให้กิ่งหักง่าย

ใบ  เป็นใบประกอบที่มีใบย่อยอยู่บนก้านใบร่วมกัน ใบย่อยจัดเรียงตัวแบบตรงข้ามหรือสลับกัน ขนาดใบประกอบกว้างและยาวแตกต่างกัน ก้านใบประกอบด้านบนสีน้ำตาลแดง เขียวปนเทาหรือเขียวปนน้ำตาล ก้านใบประกอบด้านล่างสีเขียวปนน้ำตาล เขียวหรือเขียวปนเทา สีใบอ่อน แบ่งได้ 3 กลุ่มสีคือสีเหลืองปนเขียว สีส้มปนเทาและสีแดงปนเทา สีใบแก่ส่วนมากเป็นสีเขียวและเขียวปนเหลือง ใบย่อยมีความกว้าง ยาว และก้านใบย่อยแตกต่างกันใบส่วนมากมีรูปร่างรี นอกนั้นอาจเป็นรูปร่างหอกกลับ รีค่อนข้างกว้างและรีค่อนข้างแคบ ใบเกือบทุกพันธุ์มีขอบใบเรียบ ยกเว้นพันธุ์ซูเหลียงมีขอบใบเป็นคลื่น และเบี้ยวเขียวลำพูน หนานซาวมีขอบใบหยัก ฐานใบย่อยเป็นลิ่ม ปลายใบย่อยมีทั้งมน แหลมหรือเรียวแหลม แผ่นใบมักเรียบ เนื้อใบมีทั้งคล้ายกระดาษและคล้ายแผ่นหนัง

ช่อดอกและดอก  ลำไยเริ่มออกดอกในปลายเดือนมกราคมหรือต้นเดือนกุมภาพันธ์ พันธุ์ดอและใบดำมักออกดอกเร็วกว่าพันธุ์อื่น ช่อดอกมักพัฒนาจากปลายยอดใบซึ่งแก่เต็มที่ แต่บางครั้งอาจพัฒนาจากตาข้างของยอดใบที่เจริญเต็มที่แล้วก็ได้ การจัดเรียงดอกย่อยเป็นแบบแพนนิเคิลคือ ก้านช่อดอกหลักมีก้านแขนงแยกออกไปและก้านแขนงก็แตกแขนงต่ออีกครั้งก้านช่อดอกสีครีมปนเหลือง แบ่งได้ 3 ชนิดคือ

1 ดอกตัวผู้ มีเกสรตัวผู้ 6-8 อัน เรียงเป็นชั้นเดียวอยู่บนจานรองดอก ก้านเกสรตัวผู้สีขาวขุ่นยาว 2-3 มิลลิเมตร อับเกสรตัวผู้มีสีเหลืองอ่อน มี 2 หยัก และปริแตกตามยาวปลดปล่อยละอองเกสรตัวผู้

2 ดอกกระเทยทำหน้าที่ดอกตัวเมีย รังไข่มีขนปกคลุม มีรังไข่ 2 พูแต่เพียงพูเดียวที่พัฒนาเป็นผล อีกพูหนึ่งแห้งฝ่อ และติดตรงขั้วผล  ก้านเกสรตัวเมียตัวเมียยาว 4-5 มิลลิเมตร มีเกสรตัวผู้ที่มีก้านเกสรสั้นๆ 6-8 อัน ล้อมรอบรังไข่ แต่อับเกสรตัวผู้มักเป็นหมัน เมื่อพร้อมรับละอองในช่วงเช้าตรู่ ปลายยอดเกสรตัวเมียแยกเป็น 2 แฉกและมีน้ำหวาน

3 ดอกกระเทยทำหน้าที่ดอกตัวผู้มีลักษณะคล้ายคลึงดอกกระเทยทำหน้าที่ดอกตัวเมียมาก แต่อับเกสรตัวผู้ไม่เป็นหมัน มีละอองเรณูที่มีชีวิตเหมือนดอกตัวผู้แต่ไม่ค่อยพบในสภาพธรรมชาติ

ช่อดอกลำไยมักมีดอกตัวผู้มากกว่าดอกกระเทยทำหน้าที่ดอกตัวเมีย สัดส่วนของดอกทั้งสอง ชนิดนี้ผันแปรตามพันธุ์และสภาพแวดล้อมเช่นอุณหภูมิและปริมาณน้ำฝน ดอกตัวผู้และดอกกระเทยทำหน้าที่ดอกตัวเมียในช่อดอกเดียวกันมักบานไม่พร้อมกันและมีรูปแบบการบานที่ไม่แน่นอน ส่วนใหญ่ดอกตัวผู้เริ่มบานก่อนแล้วตามด้วยดอกกระเทยทำหน้าที่ดอกตัวเมีย แต่ก็มีช่วงที่ดอกทั้งสองชนิดนี้บานเหลื่อมกัน

จำนวนดอกตัวผู้และดอกกระเทยทำหน้าที่ดอกตัวเมียในช่อดอกเดียวกัน แต่จำนวนดอกทั้งสองชนิดแตกต่างกันในแต่ละพันธุ์ ทำให้ระยะเวลาที่ดอกแรกบานจนดอกสุดท้ายบานในแต่ละช่อหรือแต่ละพันธุ์จึงแตกต่างกัน ดอกกระเทยทำหน้าที่ดอกตัวเมียมักมีขนาดใหญ่กว่าดอกตัวผู้  ความกว้างดอกกระเทยและดอกตัวผู้แตกต่างกัน สัดส่วนดอกตัวผู้ : ดอกกระเทยทำหน้าที่ดอกตัวเมียแตกต่างกัน

ผล   หลังผสมพันธุ์แล้วกลีบดอกกระเทยทำหน้าที่ดอกตัวเมียจะเหี่ยวและหลุดร่วง รังไข่ทั้งสองพู เริ่มพัฒนาพร้อมกัน เมื่อผลอ่อนมีขนาด 2-3 มิลลิเมตร รังไข่พูหนึ่งจะหยุดพัฒนาและแห้งเหี่ยวไป แต่รังไข่อีกพูยังพัฒนาต่อเป็นผลเดี่ยวต่อไปผลมีรูปร่างกลมหรือกลมแป้น ปลายผลป้านกลม ขนาดผลน้ำหนักผล น้ำหนักเนื้อและน้ำหนักเปลือกแตกต่างกันตามพันธุ์ เนื้อพัฒนาจากเนื้อเยื่อรอบก้านเมล็ดที่พัฒนาโอบรอบจนมิด เนื้อสีขาวขุ่น สีน้ำผึ้งและขาวอมชมพูแตกต่างกัน เนื้อมีทั้งแห้ง  หรือแฉะน้ำ ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้และเนื้อที่รับประทานได้แตกต่างตามพันธุ์

เมล็ด   เมล็ดรูปร่างกลมหรือกลมแบน เมล็ดเรียบเป็นมันสีน้ำตาลหรือน้ำตาลดำ ส่วนติดขั้วเมล็ดมีวงกลมสีขาว  คล้ายลูกนัยน์ตา จึงเรียกว่า “ตามังกร” รูปร่าง ขนาด และน้ำหนักแตกต่างตามพันธุ์ บางพันธุ์ไม่มีเมล็ด   ได้แก่ พันธุ์ไร้เมล็ด

พันธุ์และการขยายพันธุ์

  1. ดอหรืออีดอ

เป็นลำไยพันธุ์เบา ออกดอกติดผลและเก็บเกี่ยวได้เร็วกว่าพันธุ์อื่นๆ ติดลูกดก ผลโตสม่ำเสมอ เป็นลำไยที่ดูแลรักษาง่าย ทนทานต่อโรคแมลงดี สามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งการรับประทานสดและนำไปแปรรูปได้หลายประเภท จึงได้รับความนิยมในการปลูกสูงที่สุดในประเทศไทย โดยพบว่าพื้นที่ปลูกลำไยในประเทศไทยประมาณ 95% เป็นลำไยพันธุ์ดอ

-ขนาดของใบย่อยโดยเฉลี่ย ความยาว 12.66 เซนติเมตร  ความกว้าง 3.99 เซนติเมตร  สีของใบแก่ด้านบน เขียว  สีของใบแก่ด้านล่าง เขียว  ลักษณะขอบใบ เรียบ  ลักษณะแผ่นใบ เรียบ  ลักษณะของปลายใบ แหลม  ลักษณะฐานใบ ลิ่ม  รูปร่างของใบ รีค่อนข้างแคบ  ลักษณะของเนื้อใบ คล้ายแผ่นหนัง  ความมันของแผ่นใบ เป็นมัน สีก้านใบประกอบด้านบน เหลือง  สีก้านใบประกอบด้านล่าง เหลือง  จำนวนใบประกอบต่อช่อใบ 7-8 ใบ

-จำนวนดอกย่อยเฉลี่ย: 1,774 ดอก  ดอกเพศผู้ 1,522 ดอก  ดอกเพศเมียหรือดอกกระเทย 252 ดอก  สัดส่วนดอกเพศผู้ต่อดอกเพศเมียหรือดอกกระเทย 6:1

-ลักษณะผล: รูปร่าง กลมแป้น  ความสมมาตร ปานกลาง  ความสม่ำเสมอ ไม่สม่ำเสมอ  หน้าตัด ป้อมรี  ปลายผล ป้านกลม  ผิวเปลือก เรียบ  ความกว้างผล 30.38 เซนติเมตร  ความยาวผล 26.96 เซนติเมตร  น้ำหนักผล 12.84 กรัม  จำนวนผลต่อกิโลกรัม 78 ผล  ร้อยละของน้ำหนัก เปลือก: เนื้อ: เมล็ด 16:70:14  ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ 15.89 บริกซ์

  1. ชมพูหรือสีชมพู

เป็นลำไยพื้นเมืองดั้งเดิม การเจริญเติบโตดี แต่ไม่ทนแล้ง กิ่งเปราะหักง่าย ใบสีออกตองอ่อน (สีไม่เข้มเหมือนอีดอ) ออกดอกติดผลง่ายปานกลาง แต่ติดผลไม่สม่ำเสมอ ผลมีขนาดโตปานกลาง เปลือกหนาสีน้ำตาลมีกระตลอดผล เนื้อล่อน เนื้อหากแก่จัดจะมีแต้มสีชมพูชัดเจน รสชาติกรอบหวาน และมีกลิ่นหอม เหมาะสำหรับรับประทานสด

– ลักษณะใบ: ขนาดของใบย่อยโดยเฉลี่ย ความยาว 16.90 เซนติเมตร  ความกว้าง 4.36 เซนติเมตร  สีของใบแก่ด้านบน เขียว  สีของใบแก่ด้านล่าง เขียวซีด  ลักษณะขอบใบ เรียบ  ลักษณะแผ่นใบ เรียบ  ลักษณะของปลายใบ เรียวแหลม  ลักษณะฐานใบ ลิ่ม  รูปร่างของใบ รี ลั กษณะของเนื้อใบ คล้ายกระดาษ  ความมันของแผ่นใบ เป็นมัน  สีก้านใบประกอบด้านบน เขียวปนเทา  สีก้านใบประกอบด้านล่าง เขียวปนเทา  จำนวนใบประกอบต่อช่อใบ 6-8 ใบ

– จำนวนดอกย่อย: ดอกย่อยเฉลี่ย 1,669 ดอก/ช่อ  ดอกเพศผู้  1,630 ดอก  ดอกเพศเมียหรือดอกกระเทย 39 ดอก  สัดส่วนดอกเพศผู้ต่อดอกเพศเมียหรือดอกกระเทย 42:1

– ลักษณะผล : รูปร่าง บิดเบี้ยว  ความสมมาตร ไม่สมมาตร  ความสม่ำเสมอ ไม่สม่ำเสมอ  หน้าตัด ป้อมรี  ปลายผล ป้านกลม  ผิวเปลือก เรียบ  ความกว้างผล 31.62 เซนติเมตร  ความยาวผล 30.57 เซนติเมตร  น้ำหนักผล 15.30 กรัม  จำนวนผลต่อกิโลกรัม 74 ผล  ร้อยละของน้ำหนัก เปลือก: เนื้อ: เมล็ด 19:70:11  ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ 18.49 บริกซ์

  1. เบี้ยวเขียว

เป็นลำไยพันธุ์หนักออกดอกติดผลช้ากว่าพันธุ์อื่นๆ มักติดผลเว้นปี แต่ให้ผลดก เป็นพวงใหญ่ ผลเมื่อยังเล็กมีสีเขียวเข้ม เปลือกหนาสีเขียวปนน้ำตาล ผิวเรียบสวย เนื้อหนาสีออกเหลือง แต่ไม่กรอบเท่าเบี้ยวเขียวป่าเส้า หรือเบี้ยวเขียวก้านแข็ง ทนแล้งได้ดี แต่มักอ่อนแอต่อโรคพุ่มไม้กวาด

– ลักษณะใบ: ขนาดของใบย่อยโดยเฉลี่ย ความยาว 13.76 เซนติเมตร  ความกว้าง 4.17 เซนติเมตร  สีของใบแก่ด้านบน เขียวเข้ม  สีของใบแก่ด้านล่าง เขียวซีด  ลักษณะขอบใบ เรียบ  ลักษณะแผ่นใบ เรียบ  ลักษณะของปลายใบ มน ลักษณะฐานใบ ลิ่ม  รูปร่างของใบ รีค่อนข้างแคบ  ลักษณะของเนื้อใบ คล้ายกระดาษ  ความมันของแผ่นใบ ด้าน  สีก้านใบประกอบด้านบน เหลือง  สีก้านใบประกอบด้านล่าง เหลือง  จำนวนใบประกอบต่อช่อใบ 7-8 ใบ

– จำนวนดอกย่อย:ดอกย่อยโดยเฉลี่ย 1,476 ดอก/ช่อ  ดอกเพศผู้ 1,419 ดอก  ดอกเพศเมียหรือดอกกระเทย 57 ดอก  สัดส่วนดอกเพศผู้ต่อดอกเพศเมียหรือดอกกระเทย 25:1

-ลักษณะผล: รูปร่าง กลมแป้น  ความสมมาตร ปานกลาง  ความสม่ำเสมอ ไม่สม่ำเสมอ  หน้าตัด ป้อมรี ปลายผล ป้านกลม ผิวเปลือก เรียบ  ความกว้างผล 27.77 เซนติเมตร  ความยาวผล 26.37เซนติเมตร  น้ำหนักผล 7.98 กรัม  จำนวนผลต่อกิโลกรัม 90 ผล  ร้อยละของน้ำหนัก เปลือก: เนื้อ: เมล็ด 15:70:15  ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ 22.88 บริกซ์

การขยายพันธุ์

1.การเสียบกิ่ง

การปลูกลำไยในปัจจุบันชาวสวนลำไยมักปลูกลําไยด้วยกิ่งตอนจึงทำให้เกิดปัญหาการโค่นล้มเนื่องจากลมพายุ ทั้งนี้เนื่องจากระบบรากของลําไยที่ได้จากการตอนกิ่ง เป็นระบบรากพิเศษ คือ ระบบรากแบบนี้จะแผ่กว้างไปในแนวนอน จากการสังเกตรากของลําไยจะน้อยประกอบกับลําไยมีทรงพุ่มทึบและกว้างในปีที่ลำไยติดผลมากๆ เมื่อเกิดลมพายุจึงมักจะโค่นล้ม พบว่าปีหนึ่งๆ ลําไยถูกพายุโค่นล้มเป็นจํานวนมาก วิธีการที่จะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ทางหนึ่ง คือการปลูกกิ่งพันธุ์ลำไยด้วยกิ่งที่ขยายพันธุ์โดยวิธีการเสียบยอด ซึ่งจะมีระบบรากแก้วที่สามารถหยั่งลึกลงไปในดิน การเสียบกิ่งจําเป็นที่จะต้องอาศัยเทคนิคต่างๆ ในการทําจึงจะประสบผลสําเร็จ ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้

– การเตรียมต้นตอ

ต้นตอที่จะใช้ในการเสียบกิ่งได้จากการเพาะเมล็ด เมื่อแกะเอาเนื้อออกควรรีบนําไปเพาะทันทีหากเก็บเมล็ดไว้นานเมล็ดจะสูญเสียความงอก มีการศึกษาเกี่ยวกับการเก็บรักษาเมล็ดลําไย พบว่าเมล็ดที่แกะออกจากผลแล้วนําไปเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้อง พบว่า เพียง 10 วัน เมล็ดลําไยจะไม่งอกเลย ในกรณีที่จะเก็บเมล็ดไว้นาน ๆ ควรเก็บไว้ทั้งผล โดยแช่ในสารกันราพวกเบนโนมิล ความเข้มข้น 0.05 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร นาน 5 นาที สามารถเก็บไว้ได้นาน 30 วันโดยมีเปอร์เซ็นต์การงอกถึง 85 เปอร์เซ็นต์ การเพาะอาจเพาะลงในถุงพลาสติกหรือเพาะในกระบะ ฝังเมล็ดให้ลึกประมาณ 0.5เซนติเมตร รดนํ้าให้ชุ่ม ประมาณ 2 สัปดาห์ เมล็ดจะเริ่มงอก เมื่อต้นกล้ามีอายุประมาณ 1 ปี หรือมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.5-1.0 เซนติเมตร ก็สามารถนําไปใช้เป็นต้นตอได้

– การเตรียมยอดพันธุ์ดี

ยอดพันธุ์ที่ใช้ในการเสียบกิ่งควรมีความยาวประมาณ 6-8 นิ้ว เส้นผ่าศูนย์กลางใกล้เคียงกับขนาดของต้นตอ ลิดใบออกให้เหลือใบไว้ 2-3 ใบรวม มีใบย่อย 2-3 คู่ ช่วงเวลาที่เหมาะสมใน การเสียบยอดคือ ช่วงปลายฤดูร้อนถึงฤดูฝนขั้นตอนการเสียบกิ่งใช้วิธีการแบบเสียบลิ่มซึ่งได้ผลถึง 90 กว่าเปอร์เซ็นต์

  1. การตอนกิ่ง

การตอนกิ่งเป็นวิธีที่ง่าย แต่ที่ขยายพันธุ์เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและได้จํานวนต้นในปริมาณที่มากนั้นมีเทคนิคและขั้นตอนในการปฏิบัติดังนี้

2.1  การเลือกต้นพันธุ์ควรเลือกตอนกิ่งจากต้นพันธุ์ที่ออกดอกติดผลดี ข้อสําคัญต้นพันธุ์ต้องปราศจากโรคโดยเฉพาะโรคพุ่มไม้กวาด

2.2 เลือกกิ่งที่ตั้งตรง แต่ถ้าเป็นกิ่งนอนก็ใช้ได้ แต่การเกิดรากจะเกิดเฉพาะด้านล่างขนาดความยาวของกิ่งยาวประมาณ 75-100 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางของกิ่ง ประมาณ 1.5-2.0 เซนติเมตร

2.3 ใช้มีดควั่นกิ่งเป็น 2 รอย หรืออาจจะควั่นรอยเดียวจากนั้นให้ใช้คีมปากจิ้งจกบิดโดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้มีดกรีดเปลือก ส่วนของเนื้อเยื่อเจริญจะถูกขูดออกมาด้วย การใช้คีมบิดจะทําให้เกิดความรวดเร็ว

2.4 หุ้มด้วยดินเหนียว และกาบมะพร้าว และผ่าพลาสติก มัดกระเปราะหัวท้ายด้วยเชือกฟางหรือตอก (หรือหุ้มรอยควั่นด้วยถุงขุยมะพร้าว)

2.5 ประมาณ 30 วัน รากจะเริ่มออกเมื่อเห็นรากมีสีขาวและมีปริมาณมากจึงค่อยตัดมาชํา ในการตอนกิ่งเพื่อการค้า มักจะเริ่มทําในเดือนพฤษภาคม ซึ่งกิ่งตอนชุดนี้จะสามารถนําไปปลูกได้ในกลางๆ ฤดูฝนของปีเดียวกัน

วิธีการปลูก

  1. เตรียมหลุมขนาด 50x50x50 เซนติเมตร โดยใช้ระยะปลูก 8×8 เมตร
  2. แยกดินชั้นบนผสมกับปุ๋ยคอกเก่า อัตรา 10กิโลกรัม กับปุ๋ยเคมีสูตร 0-3-0 อัตรา 100กรัม ร่วมกับปุ๋ยจุลินทรีย์ย่อยละลายฟอสเฟตอัตรา 20 กรัม/ตัน คลุกเคล้ากับดินชั้นบน รองก้นหลุมปลูก

สภาพภูมิอากาศที่เหมาะสม

  1. อุณหภูมิ 20-30 องศาเซลเซียส
  2. ต้องการอุณหภูมิต่ำ 10-15 องศาเซลเซียส ในช่วง พ.ย.-ม.ค.
  3. ปริมาณน้้าฝน ไม่น้อยกว่า 1,000-2,000 มิลลิเมตร
  4. มีการกระจายตัวของวันที่ฝนตก 100-150 วัน/ปี

การดูแลรักษา

  1. การใส่ปุ๋ย

หลังปลูก 3 เดือน จึงเริ่มใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 24-7-7 หรือปุ๋ยคอกหรือมูลสัตว์ได้ ทั้งนั้น แต่ใส่เพียงเล็กน้อยก่อน ต่อไป 1 เดือนใส่ 1 ครั้ง เมื่อต้นโตขึ้นจึงเพิ่มปริมาณการใส่ปุ๋ยมากขึ้น เวลาปลูกใหม่ๆหรือต้นยังเล็กอยู่ จะมีตัวเต่าหรือตัวกระเบื้องมากินใบอ่อนในเวลากลางคืน สารชีพภาพฉีดไม่ตายต้องใช้สารเคมีสารไซเปอร์จึงตาย แต่จะฉีดตอนเวลา 1 ทุ่ม เพราะตัวเต่ากำลังกินจึงตายหมดพอต้นลำไยโตสูงเสมอหัวคนตัวเต่าก็จะไม่มากินใบอ่อน การกำจัดเพลี้ยไฟไรแดงและเพลี้ยต่างๆให้ใช้ยาเส้น 1 ขีด หมักในเหล้าขาว 1 ขวด ทิ้งไว้ 2 คืนขึ้นไปแล้วใช้ผ้าขาวบางกรองคั้นเอาเฉพาะน้ำมาใช้ยาที่คั้นแล้ว 50 ซี.ซี. นำไปผสมน้ำ 20 ลิตร และน้ำส้มส้มควันไม้ 10 ซี.ซี.ฉีดพ่นทุกๆ 7 วัน

เมื่ออายุของต้นลำไยได้ 2 ปีถึง 2 ปีครึ่ง ถ้าต้นสมบูรณ์งามดีก็สามารถที่จะบังคับให้ต้นลำไยออกดอกได้แล้ว โดยใช้สารโพแทสเซี่ยมครอเรต 200 กรัมผสมน้ำ 4 ลิตร ราดให้รอบใต้ในทรงพุ่ม หลังจากนั้นจะต้องให้น้ำ 2-3 วันต่อครั้งตลอด 25 วัน ต้นลำไยก็จะเริ่มแทงช่อดอกออกมาให้เห็นหลังจากดอกแล้วให้ใช้น้ำยาเส้น+เหล้าขาว+น้ำส้มควันไม้+สาหร่ายเขียวฉีดพ่นทุกๆ 7 วัน สังเกตดูว่าดอกลำไยออกมายางประมาณ 3-4 นิ้ว ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 ต้นละไม่เกิน 100 กรัม เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ดอกแข็งแรงจะได้ติดผลดก อย่าใส่มากจะทำให้ดอกร่วง พอดอกเริ่มบานให้หยุดการฉีดสารทุกชนิดเพื่อที่จะให้แมลงมาผสมเกสร เมื่อดอกบานหมดแล้วจึงใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ ใส่เดือนละหนึ่งครั้งๆที่สามให้ใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 เพื่อเร่งความหวาน หลังจากติดผลการบำรุงรักษาก็ฉีดพ่นเป็นปกติส่วนอาหารเสริมให้ใช้ได้ตามถนัด

  1. การให้น้ำ

ให้น้ำ 3-4 วันต่อครั้งหรือดูตามความเหมาะสมไม่ต้องให้น้ำเปียกเสมอบางครั้งต้องปล่อยให้แห้งบ้าง ลำไยจึงจะโตเร็วดี เมื่อลำไยติดผลแล้วเมล็ดเท่าถั่วเหลืองให้ทำการตัดแต่งกิ่งออกไปบ้าง ถ้าดกมาเกินไปให้ตัดช่อเล็กทิ้งและตัดปลายช่อใหญ่ทิ้งไปให้เหลือประมาณ 70-80 ผลต่อช่อก็พอจะได้ลำไยที่มีผลขนาดใหญ่เสมอกันหมด เวลาขายจะได้ราคาดีต้นไม่โทรมหลังเก็บเกี่ยว ถ้าปล่อยไว้มากเกินไป จะทำให้ได้ผลเล็กเวลาขายไม่ได้ราคา แล้วจะทำให้ต้นโทรมปีต่อไปจะให้ผลผลิตน้อย

3. การตัดแต่งกิ่งลำไย

วิธีการให้ตัดแต่งกิ่งต้นลำไยปีหนึ่งจะตัดแต่งสองครั้ง ครั้งแรกให้ตัดแต่งหลังจากติดผลแล้วประมาณ 5 วัน ให้ตัดกิ่งภายในทรงพุ่มออกให้หมด แล้วตัดกิ่งที่ไม่มีช่อดอกออกไปบ้างเพื่อที่จะให้ภายในทรงพุ่มโปร่ง จะได้ไม่เป็นที่อาศัยของแมลง และสะดวกในการดูแลรักษา

ครั้งที่สอง ให้ตัดแต่งหลังจากเก็บผลหมดแล้ว ในปีแรกเราเพียงตัดกิ่งที่สูงกว่าปกติตัดออกให้ได้ทรงพุ่มกลมสวย หลังจากเก็บผลปีสองก็ทำเหมือนเดิม หลังเก็บเกี่ยวปีที่สามต้นเริ่มชนกันให้ตัดแต่งเข้าไป 2-3 ช่วงใบที่แตกตัดทิ้งออกไป เพราะหลังจากเก็บผลแล้วต้นลำไยจะผลิใบยอดได้แค่ 3 รุ่นเท่านั้นเกษตรกรจึงจำเป็นที่จะต้องทำการตัดแต่งลำไยทุกปี เป็นการควบคุมทรงพุ่มไม่ให้กิ่งยอดลำไยเกยกัน จะทำให้ยอดลำไยไม่ได้รับแสงแดดไม่ออกดอก ก่อนตัดแต่งให้ใส่ปุ๋ย 24-7-7 ต้นละ 300 กรัม หรือ 500 กรัม แล้วแต่อายุของต้นเมื่อเกษตรกรตัดแต่งต้นเสร็จแล้วต้นลำไยก็พร้อมที่จะแทงยอดใหม่ พอต้นลำไยผลิยอดครั้งที่ 2 และ 3 ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 18-46-0 เป็นการสะสมตาดอก

โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ

  1. โรคพุ่มไม้กวาด (Witches broom) (A) สาเหตุเกิดจากเชื้อ Mycroplasma

ลักษณะอาการเหมือนพุ่มไม้กวาดลำไยที่เป็นโรครุนแรงจะโทรม เมื่อออกดอกติดผลน้อยพันธุ์ลำไยที่อ่อนแอต่อโรคนี้เคยพบในพันธุ์เบี้ยวเขียวก้านอ่อน อาการปรากฎที่ส่วนยอดและส่วนที่เป็นตา โดยเริ่มแรกใบยอดแตกใบออกเป็นฝอย มีลักษณะเหมือนพุ่มไม้กวาด ใบมีขนาดเล็กเรียวยาว ใบแข็งกระด้างไม่คลี่ออก   กลายเป็ยกระจุกสั้นๆขึ้นตามส่วนยอด หากยอดที่เป็นโรคเมื่อถึงคราวออกช่อดอก ถ้าไม่รุนแรงก็จะออกช่อชนิดหนึ่งติดใบบนดอกและช่อสั้นๆ ซึ่งอาจติดผลได้ 4-5 ผลถ้าเป็นโรครุนแรงต้นจะออกดอกติดผลน้อยพันธุ์ลำไยที่อ่อนแอต่อนโรคนี้คือพันธุ์เบี้ยวเขียวก้านอ่อน

สาเหตุของโรคและการแพร่ระบาด เกิดจากเชื้อมายโคพลาสมา (Mycroplasma) แพร่ระบาดได้ทางกรรมพันธุ์คือ สามารถแพร่ระบาดไปโดยการตอนกิ่งลำไยจากต้นที่เป็นโรค โรคนี้มีแมลงพวกเพลี้ยจั๊กจั่นสีน้ำตาลเป็นพาหะนำเชื้อโรคไปสู่ต้นอื่นๆ ได้

            การป้องกันและกำจัด

  1. คัดเลือกกิ่งพันธุ์จากต้นที่ไม่เป็นโรคไปปลูก
  2. ป้องกันแมลงจำพวกปากดูดพวกเพลี้ยจั๊กจั่นสีน้ำตาล โดยใช้สารเคมีเช่น ฟอสซ์ อัตรา 50 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ มิพซิน อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือลอร์สแมน อัตรา 80 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร
  3. สำหรับต้นที่เป็นโรคถ้าเป็นไม่มาก ควรตัดกิ่งที่เป็นโรคนำมาเผาทำลายซึ่งชาวสวนจะต้องพร้อมใจกันและกำจัดทุกๆ สวนเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่ระบาด

2.โรคราดำ  การทำลายของแมลงพวกปากดูด เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย แล้วถ่าย น้ำหวานมาปกคลุมส่วนต่างๆ ของลำไย เชื้อราที่มีอยู่ในอากาศโดยเฉพาะเชื้อรา Capnodium ramosum, Meliola euphoriae จะปลิวมาขึ้นบนส่วนที่มีน้ำหวาน

            ลักษณะอาการ     สีดำของเชื้อราขึ้นปกคลุมใบ กิ่ง ช่อดอก และผิวของผล ทำให้เห็นเป็นคราบสีดำคล้ายเขม่า บนใบที่ถูกเคลือบด้วยแผ่นคราบดำของเชื้อรานี้ เมื่อแห้งจะหลุดออกเป็นแผ่นได้ง่าย เชื้อราไม่ได้ทำลายพืช โดยตรงแต่ไปลดการปรุงอาหารของใบ อาการที่ปรากฎที่ช่อดอกถ้าเป็นรุนแรงทำให้ดอกร่วงไม่สามารถผสมเกสรได้ จึงเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ดอกร่วงเพราะถูกเชื้อราดำเข้ามาเคลือบ

            สาเหตุของโรคและการแพร่ระบาด ลักษณะอาการเช่นนี้ เกิดจากผลของการทำลายของแมลงพวกปากดูด ที่ดูดกินส่วนอ่อนของลำไย แล้วถ่ายน้ำหวานมาปกคลุมส่วนต่างๆ ของลำไย เชื้อราที่มีอยู่ในอากาศโดยเฉพาะเชื้อรา   จะปลิวมาขึ้นบนส่วนที่มีน้ำหวานที่แมลงขับถ่ายออกมา แล้วเจริญเป็นคราบสีดำ แมลงปากดูดเท่าที่พบ เช่น เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอยเพลี้ยจั๊กจั่น และเพลี้ยอ่อน เป็นต้น

            การป้องกันและกำจัด

ป้องกันและกำจัดแมลงพวกปากดูดดังกล่าว โดยพ่นสารเคมีเช่น คาร์บาริล 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร อาจพ่น ควบคู่กับสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น คอปเปอร์ออกซิคลอไรด์ หรือ ไซฟลูทริน 40 – 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

การใช้ประโยชน์

บริโภคสด หรือนำไปอบแห้ง  ช่วยบำรุงร่างกาย บำรุงเลือด บำรุงประสาท บำรุงตา และบำรุงหัวใจ เพราะลำไยมีแร่ธาตุ วิตามินและสารอาหารที่มีประโยชน์อยู่มาก

แหล่งพืชอนุรักษ์

ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย

<<กลับไปหน้าฐานข้อมูลไม้ผล