ชื่อสามัญ มันฝรั่ง Potato, Irish potato, Table potato
ชื่อวิทยาศาสตร์ Solanum tuberosum L.
ชื่ออื่นๆ
ถิ่นกำเนิดและประวัติความเป็นมา
มันฝรั่ง (potato) มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Solanum tuberosum Linn. ถูกค้นพบเมื่อ 350 ล้านปี มีวิวัฒนาการมาจากพืชตระกูล Solanaceae ที่มีพิษ (plant nightshade) กลุ่มพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น พริก มะเขือเทศ มะเขือยาว และยาสูบ เป็นต้น (มาโนช, 2541; Ravio, 2562) 15,000 ปีก่อนคริสตศักราช ชาวอินคาเข้าไปตั้งถิ่นฐานในเขตพื้นที่ราบสูงแอนเดียนของทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งเป็นดินแดนระหว่างประเทศเปรูและโบลิเวีย โดยเริ่มนำมันฝรั่งมาเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารเพื่อรับประทาน (Ravio, 2562) สำหรับประเทศไทยไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่ามันฝรั่งถูกนำเข้ามาในช่วงเวลาใด แต่มีรายงานว่า ก่อนปี 2496 ได้มีการปลูกมันฝรั่งซึ่งอาจเป็นสายพันธุ์ที่นำเข้ามาจากประเทศพม่าโดยชาวอังกฤษนำเข้ามาแพร่ขยาย (เกษม, 2520) เมื่อชาวจีน (จีนฮ่อ) อพยพผ่านชายแดนพม่าเข้ามาอาศัยอยู่บริเวณแถบภูเขาทางภาคเหนือของจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย จึงนำเข้ามาปลูกในประเทศไทย และเรียกมันฝรั่งว่า “อาลู” ซึ่งอาจเป็นสายพันธุ์พื้นเมืองของประเทศอินเดียคือพันธุ์ Alu ต่อมามีการขยายพื้นที่ปลูกมันฝรั่งพันธุ์ดังกล่าวมากขึ้นทั่วพื้นที่ภาคเหนือเป็นเวลากว่าสิบปี จนกลายเป็นความเข้าใจว่าเป็นพันธุ์พื้นเมือง (เกษม, 2520; มาโนช, 2525; มาโนช, 2541) ปัจจุบันสายพันธุ์อาลูได้สูญหายไป เนื่องจากมีรสเฝื่อน คุณภาพ และผลผลิตต่ำ เกษตรกรจึงหันมาปลูกมันฝรั่งพันธุ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศแทน เนื่องจากมีคุณภาพและให้ผลผลิตที่สูงกว่า
ลักษณะทั่วไป
มันฝรั่งเป็นพืชล้มลุกอยู่ในตระกูล พริก มะเขือ มะเขือเทศ ยาสูบ มันฝรั่งมีลักษณะทั่วไปดังนี้
ลำต้น (stem) มีลักษณะตั้งตรง มีความสูงอยู่ระหว่าง 50–100 เซนติเมตร ลำต้นมีปีกคู่ อาจเรียบ เป็นคลื่น และคลื่นเล็กน้อย เมื่อตัดตามขวางจะมีลักษณะกลวง และเป็นรูปสามเหลี่ยมจนถึงกลม สีของลำต้นโดยทั่วไปมีสีเขียวแต่อาจมีสีน้ำตาลแดงหรือม่วง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์
ใบ (leaf) เป็นใบประกอบ (compound leaf) แบบขนนกปลายคี่ (odd-pinnate) ประกอบด้วยใบย่อยส่วนปลาย (terminal leaflet) และใบย่อย ได้แก่ ใบย่อยปฐมภูมิ (first primary leaflets) และใบย่อยทุติยภูมิ (secondary leaflet) ใบย่อยจะมีหลายคู่เรียงตามความยาวของเส้นกลางใบ (rachis) และใบย่อยส่วนปลายเป็นใบเดี่ยวมีขนาดใหญ่ที่สุด รูปร่างของใบมีลักษณะกลม หรือ รูปไข่ ใบประกอบจะจัดเรียงแบบวนรอบลำต้นเป็นรูปเกลียว (spirally arranged) เนื้อใบอาจนุ่มหรือหยาบ เมื่อสัมผัสขอบใบอาจเป็นคลื่น สามารถแบ่งสีของใบมันฝรั่งออกเป็น 2 กลุ่มสี คือ สีเหลืองเขียว (yellow–green) และ เทาเขียว (grey–green)
ดอก (flower) เป็นช่อกระจุก (cyme) แต่ละดอกในช่อดอกจะมีก้านดอกย่อย แต่ละก้านดอกจะแบ่งย่อยออกเป็น 2 ก้าน เป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีเกสรเพศผู้ 5 อัน เกสรเพศเมีย 1 อัน กลีบดอกมี 5 กลีบ สีของดอกมีทั้งสีขาว น้ำเงิน แดง ชมพู ชมพูแกมม่วง และสีม่วง
ราก (root) ต้นที่เจริญจากเมล็ดจริง (true potato seed) จะมีระบบรากแก้ว (tap root) บอบบาง และรากแขนง (lateral roots) ส่วนต้นที่เจริญมาจากหัวจะมีแต่รากพิเศษ (adventitious roots) ที่งอกจากโคนของแต่ละหน่อ และงอกจากข้อของลำต้นที่ทอดเลื้อยอยู่ใต้ดิน หรือเรียกว่า ไหล (stolon) รากมีความยาว 40–50 เซนติเมตร
ไหล (stolon) เกิดจากตาของลำต้นที่อยู่ใต้ดิน เจริญออกไปด้านข้าง ส่วนปลายของไหลจะเจริญเป็นหัว แต่หากไหลเจริญโผล่พ้นดินก็จะเจริญเป็นลำต้นมีใบปกติ ความยาวของไหลแตกต่างกันในแต่ละพันธุ์ ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ ความยาวของวัน อุณหภูมิ และสภาพแวดล้อมอื่น ๆ ไหลจะเจริญและเริ่มสร้างหัวหลังการปลูกประมาณ 3–4 สัปดาห์
หัว (tuber) เป็นส่วนของไหลหรือลำต้นใต้ดินที่เปลี่ยนแปลงไปทำหน้าที่สะสมอาหารหรือแป้ง และขยายพันธุ์จากไหลที่เจริญไปตามแนวนอน แบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนโคนที่ติดอยู่กับไหล กับส่วนปลายที่อยู่ตรงข้าม หัวมันฝรั่งจะมีตาเปรียบเหมือนเป็นข้อของลำต้น มีรูปร่างกลมถึงกลมรี และรูปร่างยาว มีผิวสีขาวครีม เหลือง ส้มแดง หรือสีม่วง
ต้นอ่อนหรือหน่อเจริญ (sprout) เจริญมาจากตาของหัวมันฝรั่ง แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ บริเวณยอด เป็นส่วนบนสุดของหน่อ บริเวณส่วนกลาง อยู่เหนือฐานเจริญเป็นลำต้นเหนือดิน และส่วนฐานติดกับบริเวณหัวมันฝรั่ง มีช่องอากาศ (lenticel) จำนวนมาก ต้นอ่อนเจริญเติบโตเป็นลำต้นใต้ดิน ราก และไหล ต่อไป
ผลและเมล็ด (fruit and seed) ภายหลังการผสมเกสร รังไข่จะพัฒนาไปเป็นผลแบบมีเนื้อหลายเมล็ด (berry) ผลมีลักษณะกลม คล้ายมะเขือเทศ มีสีเขียว บางพันธุ์อาจมีสีขาวเป็นจุดหรือเป็นแถบ ลาย ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก รับประทานไม่ได้ สามารถนำไปปลูกได้แต่ไม่เป็นที่นิยม เพราะต้นมันฝรั่งที่ได้จะมีลักษณะไม่ตรงตามพันธุ์ ในหนึ่งผลมีเมล็ด 50-500 เมล็ดขึ้นอยู่กับขนาดผล โดยทั่วไปมีเมล็ดเฉลี่ย 200 เมล็ด เมล็ดมีรูปร่างแบน และกลมรี น้ำหนัก 1 กรัม มีประมาณ 1,500 เมล็ด
พันธุ์และการขยายพันธุ์
มันฝรั่งที่ปลูกในประเทศไทยนั้น ปัจจุบันมีอยู่ 2 ประเภท คือ มันฝรั่งพันธุ์บริโภค และมันฝรั่งพันธุ์ส่งโรงงานสำหรับการแปรรูป ดังนั้นพันธุ์ที่ใช้ปลูกจึงแตกต่างกันตามวัตถุประสงค์ของการใช้ประโยชน์ คือ
- มันฝรั่งพันธุ์บริโภค เป็นมันฝรั่งที่ปลูกเพื่อนำหัวมันฝรั่งไปประกอบอาหาร ได้แก่
พันธุ์ฝาง 60 หรือ B–71–240.2 (720088) เป็นพันธุ์รับรองของกรมวิชาการเกษตร นำมาจากประเทศอาร์เจนตินาและถูกคัดเลือกพันธุ์ให้มีความเหมาะสมกับการเพาะปลูกในสภาพเขตร้อนและกึ่งร้อน เป็นพันธุ์กึ่งเบา อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 90–100 วัน ให้ผลผลิตสูง และสม่ำเสมอ เฉลี่ยในแปลงทดสอบพันธุ์ 4.91 ตัน/ไร่ ปัจจุบันไม่มีการปลูกแล้ว
พันธุ์บินท์เจ (Bentje) เป็นพันธุ์ที่เหมาะสำหรับการบริโภคสด และสามารถแปรรูปได้ด้วย นำเข้าจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ตั้งแต่ปี 2494 เป็นพันธุ์เบาปานกลาง อายุปลูกถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 100–120 วัน ปัจจุบันไม่นิยมปลูกเนื่องจากอ่อนแอต่อโรคและให้ผลผลิตค่อนข้างต่ำ ปัจจุบันไม่มีการปลูกแล้ว
พันธุ์สปุนต้า (Spunta) เป็นพันธุ์ของประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อปี 2509 ใช้สำหรับการบริโภคสดจัดเป็นพันธุ์เบาปานกลาง มีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 90–110 วัน ให้ผลผลิตสูง ต้านทานแมลงได้ดี
- มันฝรั่งพันธุ์โรงงานสำหรับการแปรรูป เป็นการปลูกเพื่อนำหัวมันฝรั่งมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น มันฝรั่งแผ่นทอดกรอบ (potato chips) มันฝรั่งทอดหนา (french fries) ได้แก่
พันธุ์เคนนีเบค (Kennebec) เป็นพันธุ์จากสหรัฐอเมริกา ใช้สำหรับแปรรูปเป็นมันทอดแผ่นบาง จัดเป็นพันธุ์เบาปานกลาง มีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 100–120 วัน ให้ผลผลิตสูงปานกลาง มีการผลิตหัวพันธุ์จำหน่ายในหลายประเทศ เช่น แคนาดา เนเธอร์แลนด์ และออสเตรเลีย เป็นต้น นำเข้ามาปลูกในไทย ปี 2521 โดยบริษัทแปรรูปมันฝรั่ง ปัจจุบันมีการปลูกน้อยมากในประเทศไทย
พันธุ์แอตแลนติค (Atlantic) มีถิ่นกำเนิดในสหรัฐอเมริกา ใช้สำหรับการแปรรูปเช่นเดียวกับพันธุ์เคนนีเบค เป็นพันธุ์เบาปานกลางที่ผลิตเพื่อส่งเข้าโรงงานมากที่สุดประมาณ 80% ของมันฝรั่งแปรรูปทั้งหมด อายุเก็บเกี่ยว 90–100 วัน ให้ผลผลิตสูง มีคุณภาพในการแปรรูปดีเพราะมีเปอร์เซ็นต์แป้งสูง มีปริมาณความต้องการเป็นวัตถุดิบส่งเข้าโรงงานแปรรูปสูงถึงปีละประมาณ 170,000 ตัน บริษัทสยามสแน็ก จํากัด นำเข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกปี 2534–2535 ปัจจุบันเป็นพันธุ์ที่มีการปลูกมากที่สุดในประเทศไทย (มาโนช, 2541; พงษ์พันธ์, 2547; วินิจ, 2551; อรทัย, 2557; กรมส่งเสริมการเกษตร, 2557)
พันธุ์เชียงใหม่ 1 (Chiang Mai 1) เป็นมันฝรั่งสำหรับแปรรูป ได้จากการกลายพันธุ์ของต้นเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพันธุ์แอตแลนติก ในห้องปฏิบัติการของศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ กรมวิชาการเกษตร เป็นพันธุ์เบาปานกลาง อายุเก็บเกี่ยว 90–100 วัน ต้านทานต่อโรคใบไหม้ได้ดีในฤดูแล้ง (หนาว) ให้ผลผลิต 3,162 กิโลกรัม/ไร่ ในฤดูฝนให้ผลผลิต 3,429 กิโลกรัม/ไร่ จึงเหมาะสมที่จะปลูกในช่วงฤดูฝน ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม และได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตรให้เป็นพันธุ์แนะนำใหม่ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2559 ปัจจุบันเป็นที่นิยมปลูก และมีความต้องการสูง เพื่อนำมาทดแทนพันธุ์แอตแลนติก
พันธุ์เชียงใหม่ 2 (Chiang Mai 2) เป็นมันฝรั่งสำหรับแปรรูป ได้จากการกลายพันธุ์ของต้นเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพันธุ์แอตแลนติก ในห้องปฏิบัติการของศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ กรมวิชาการเกษตร เป็นพันธุ์เบาปานกลาง อายุเก็บเกี่ยว 90–100 วัน ต้านทานต่อโรคใบไหม้ได้ดีในฤดูแล้ง ให้ผลผลิต 3,608 กิโลกรัม/ไร่ จึงเหมาะสมที่จะปลูกในช่วงฤดูแล้ง ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม และได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตรให้เป็นพันธุ์แนะนำใหม่ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2559 ปัจจุบันเป็นที่นิยมปลูก และมีความต้องการสูง เพื่อนำมาทดแทนพันธุ์แอตแลนติก
วิธีการปลูก
- วิธีการผลิตหัวพันธุ์ชั้นพันธุ์ขยาย (G1)
1) นำหัวพันธุ์ชั้นพันธุ์หลัก (G0) ที่มีหน่องอกแข็งแรงพร้อมที่จะนำไปปลูกลงแปลงในสภาพไร่ โดยใช้หัวพันธุ์ 300 กิโลกรัม/ไร่ (30-35 หัว/กิโลกรัม) หรือ 10,000 หัว/ไร่
2) ทำร่องยาวตามแนวแปลง เพื่อวางหัวพันธุ์ ใช้ระยะปลูกมันฝรั่ง ระหว่างหลุม 15 เซนติเมตร ระหว่างร่อง 90 เซนติเมตร ปลูก 1 หัว/หลุม ประมาณ 10,000 หลุม/ไร่
- การปลูกซ่อม
ภายหลังจากปลูก และให้น้ำตามกำหนดแล้ว ให้สำรวจดูแปลงปลูก หากพบต้นมันฝรั่งตายหรือไม่งอก ให้รีบดำเนินการปลูกทดแทนโดยเร็วภายใน 7–10 วัน
- การพูนโคน
การพูนโคน คือ การขุดดินบริเวณกลางระหว่างแถวต้นมันฝรั่งขึ้นมากลบที่โคนต้น การพูนโคนมีความสำคัญต่อผลผลิตของมันฝรั่ง เนื่องจากการลงหัวมันฝรั่ง เกิดจากลำต้นใต้ดินที่เรียกว่าไหล ซึ่งงอกออกมาจากส่วนโคนของลำต้นตรงส่วนปลายของไหลนี้จะพองตัวออก ทำหน้าที่เก็บสะสมอาหารเป็นหัวมันฝรั่ง แต่ถ้าไหลนี้เกิดโผล่พ้นดินขึ้นมาก็จะเจริญเป็นลำต้นมีใบตามปกติ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพูนดินกลบโคนต้นเพื่อให้มีการลงหัวดี รวมทั้งเป็นการป้องกันไม่ให้หัวมันฝรั่งถูกแสงแดด ซึ่งจะทำให้หัวเกิดสีเขียว ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดหรือโรงงาน และถ้าดินบริเวณหัวมันฝรั่งตื้นทำให้อุณหภูมิบริเวณหัวมันฝรั่งสูงจะเร่งให้หัวมันฝรั่งออกราก
การดูแลรักษา
- การให้น้ำ
การให้น้ำ ทุก 1-2 ครั้ง/สัปดาห์ หรือ ตามความเหมาะสมขึ้นอยู่กับชนิดดิน และสภาพภูมิอากาศ ในพื้นที่ราบและอยู่ในเขตชลประทาน ใช้วิธีปล่อยน้ำไปตามร่อง (furrow irrigation) ให้น้ำไหลซึมไปสู่บริเวณราก ความลึก 2/3 ของร่อง ไม่แห้งหรือแฉะเกินไป หรือบางพื้นที่อาจให้เป็นระบบน้ำหยด หรือ แบบสปริงเกอร์ โดยพิจารณาระดับการซึมน้ำลงลึกจากผิวหน้าดิน 30 เซนติเมตร และต้องรักษาระดับความชื้นให้พอเหมาะ ซึ่งสามารถควบคุมปริมาณน้ำและประหยัดน้ำได้ดีกว่าแบบปล่อยน้ำไปตามร่อง และควรงดการให้น้ำก่อนเก็บเกี่ยวหัวพันธุ์ 7-10 วัน
- การให้ปุ๋ย
ก่อนปลูกมันฝรั่งควรสุ่มตัวอย่างดินวิเคราะห์ เพื่อใส่ปูนขาวและปุ๋ยตามค่าที่วิเคราะห์ได้ หรือใส่ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร และควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และปุ๋ยเคมีร่วมกัน โดยแบ่งใส่ปุ๋ย 3 ครั้ง ดังนี้
ครั้งที่ 1 ก่อนปลูกใส่ปุ๋ยมูลไก่อัดเม็ด อัตรา 100 กิโลกรัม/ไร่ ปุ๋ยเคมีสูตร 15–15–15 อัตรา 100 กิโลกรัม/ไร่ และปุ๋ยเคมีสูตร 13–13–21 อัตรา 100 กิโลกรัม/ไร่ โดยโรยเป็นแถวห่างจากหัวพันธุ์ 15-20 เซนติเมตร กลบหัวพันธุ์สูงประมาณ 30 เซนติเมตร
ครั้งที่ 2 เมื่อต้นมันฝรั่งมีอายุหลังปลูก 25–30 วัน ใส่ปุ๋ยยูเรีย (46–0–0) อัตรา 12.5 กิโลกรัม/ไร่ โดยใส่เป็นแถวข้างต้นพร้อมกับพูนดินกลบโคนในพื้นที่สูง ส่วนในพื้นที่ราบจะนิยมให้ปุ๋ยพร้อมกับให้น้ำแบบร่อง ครั้งที่ 3 เมื่อมันฝรั่งมีอายุหลังปลูก 40–45 วัน ใส่ปุ๋ยยูเรีย (46–0–0) อัตรา 12.5 กิโลกรัม/ไร่
- การป้องกันกำจัดโรคแมลงในมันฝรั่ง
หลังจากต้นมันฝรั่งงอกสูงประมาณ 10–15 เซนติเมตร หรือมีอายุประมาณ 15–20 วัน หลังจากปลูก ควรพ่นสารป้องกันกำจัดโรค ทุก 7–10 วัน สารเคมีที่นิยมใช้ ได้แก่ แมนโคเซ็ป (mancozeb) และเมทาเเล็กซิล (metalaxyl) ซึ่งปัจจุบันมีสารป้องกันกำจัดเชื้อราที่ใช้ป้องกันกำจัดโรคที่เกิดจากเชื้อราได้ผลดีหลายยี่ห้อ โดยเฉพาะโรคที่สำคัญคือโรคใบไหม้ ถ้ามีการระบาดรุนแรงควรพ่นทุก 3–5 วัน ส่วนโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคเหี่ยว และโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสทำให้ใบด่างและต้นแคระแกรน ยังไม่มีสารป้องกันกำจัดที่ให้ผลดี การควบคุมโรคคือ ถ้าพบต้นเป็นโรคให้ถอนทิ้งทันทีแล้วนำไปฝังหรือเผาทำลาย สำหรับโรคที่เกิดจากไวรัสควรพ่นสารฆ่าแมลงเพื่อกำจัดเพลี้ยอ่อนที่เป็นพาหะของโรค ส่วนแมลงศัตรูมันฝรั่งมีหลายชนิด ซึ่งจะเข้าทำลายทุกระยะของการเจริญเติบโต ตั้งแต่ย้ายลงแปลงปลูกจนถึงระยะเก็บเกี่ยว และระยะการเก็บรักษา ทำให้ผลผลิตมันฝรั่งที่ได้ลดลง ไม่มีคุณภาพ และไม่เป็นที่ต้องการของตลาด
โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ
ในประเทศไทยโรคสำคัญที่ทำความเสียหายแก่ผลผลิตและคุณภาพของมันฝรั่งในประเทศไทย ได้แก่ โรคใบไหม้ และโรคเหี่ยวเขียว โดยโรคใบไหม้ (late blight) เกิดจากเชื้อรา Phytophthora infestans โดยเชื้อรานี้จะงอกเข้าไปในใบมันฝรั่ง เจริญเติบโตอยู่ข้างในใบ ทำให้เนื้อเยื่อใบตายและดูดกินธาตุอาหาร โรคนี้เกิดได้ทั้งที่ใบ ลำต้น และหัวของมันฝรั่ง เชื้อราสามารถกระจายไปได้อย่างรวดเร็ว หากสภาพแวดล้อมเหมาะสม คือ มีความชื้นสูงกว่า 85% และอุณหภูมิต่ำ (ประมาณ 12–15 องศาเซลเซียส) โรคที่พบรองลงมา ได้แก่ โรคโคนเน่าและแผลสะเก็ดดำ (stem canker and black scurf) เกิดจากเชื้อรา Rhizoctonia solani โรคอื่นๆ ที่เกิดจากเชื้อรา ได้แก่ โรคใบจุดสีน้ำตาล (early blight) เกิดจากเชื้อราอัลเทอร์นาเรีย (Alternaria solani) โรคเหี่ยวและหัวเน่า (fusarium dry rot and wilt) เกิดจากเชื้อราฟิวซาเรียม (Fusarium spp.) โรคลำต้นเน่า (stem rot) เกิดจากเชื้อราสเคลอโรเทียม (Sclerotium rolfsii) ส่วนโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่สำคัญ ได้แก่ โรคเหี่ยวเขียวที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum (หรือชื่อเดิม Pseudomonas solanacearum) เชื้อชนิดนี้เป็นเชื้อที่อยู่ในดิน (soil borne organism) และเข้าสู่ต้นพืชทางระบบรากที่เกิดแผล เชื้อโรคสามารถกระจายไปยังพื้นที่อื่นผ่านทางการให้น้ำ การมีน้ำท่วม หรือการนำดินที่มีเชื้อไปยังแหล่งอื่น เชื้อสามารถมีชีวิตอยู่ในดินหลายปี และยากที่จะกำจัดให้หมดไป โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ ได้แก่ โรคเน่าดำและเน่าเละ (black leg and soft rot) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเออร์วิเนีย (Erwinia carotovora pv. carotovora และ E. chrysanthemi) โรคเน่าวงแหวน (ring rot) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียคลาวิแบคเตอร์ (Clavibacter michiganensis pv. sepedonicum) โรคขี้กลากหรือแผลสะเก็ด (common scab) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตมัยซีส (Streptomyces scabies) นอกจากนี้ยังมีโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส (virus) ได้แก่ โรคใบด่าง (mosaics) ที่เกิดจากเชื้อไวรัสใบด่าง PVX (potato virus X) และ PVY โรคใบม้วนงอ (leaf roll) ที่เกิดจากเชื้อไวรัสใบม้วน PLRV (potato leaf roll virus) และ โรคที่เกิดจากไส้เดือนฝอย (root–knot nematode) เกิดจากไส้เดือนฝอยรากปม (Meloidogyne incognita)
ส่วนแมลงศัตรูมันฝรั่งที่สำคัญ ได้แก่ หนอนเจาะหัวมันฝรั่ง (potato tuber moth) มีสาเหตุจาก Phthorimaea operculella หนอนแมลงวันชอนใบ (leaf miner flies) มีสาเหตุจาก Liriomyza huidobrensis เพลี้ยไฟ (thrips) เกิดจากเพลี้ยไฟฝ้าย (cotton thrips): Thrips palmi Karny, เพลี้ยไฟพริก (chili thrips): Scirtothrips dorsalis Hood หนอนกระทู้ (cutworm) เกิดจากหนอนกระทู้หอม (beet armyworm): Spodoptera exigua hubner, หนอนกระทู้ผัก (common cutworm): Spodoptera litura (fabricius) และหนอนกระทู้กัดต้น (black cutworm): Agrotis ipsilon (hufnagel) เพลี้ยอ่อน (aphid) มีสาเหตุจาก Myzus persicae Sulzer and Ahis gossypii Glover
การใช้ประโยชน์
มันฝรั่งเป็นพืชอาหารที่ให้พลังงานและโปรตีนสูง มีกรดอะมิโนที่มีประโยชน์ มีวิตามิน และแร่ธาตุที่มนุษย์ต้องการในปริมาณค่อนข้างสูง สำหรับประเทศไทยมีการใช้ประโยชน์จากการบริโภคมันฝรั่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
- มันฝรั่งบริโภคสด ใช้ประกอบอาหาร ได้แก่ มัสมั่น แกงกะหรี่ บาร์บิคิว รวมทั้งผสมในสลัดผัก
- มันฝรั่งทอดหนา (french fried) ทำเป็นอาหารประเภทเร่งด่วน หรือ fast food แบบชาวตะวันตก
- มันฝรั่งแผ่นทอดกรอบ (potato chip)
แหล่งพืชอนุรักษ์
ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่