Search for:

ชื่อสามัญ  ลาเวนเดอร์  Lavandula

ชื่อวิทยาศาสตร์   Lavandula angustifolia

ชื่ออื่นๆ  –

ถิ่นกำเนิดและประวัติความเป็นมา

มีต้นกำเนิดในเมดิเตอร์เรเนียนตะวันตก หลัก ๆ ในเทือกเขาพิเรนีสและเทือกเขาอื่นทางเหนือของประเทศสเปน สำหรับประเทศไทยมีการนำเข้าลาเวนเดอร์ในรูปแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ  และมีการทดลองปลูกลาเวนเดอร์โดยมูลนิธิโครงการหลวงจำนวน 50-60 พันธุ์ พบว่า พันธุ์ที่เหมาะสมคือ Spanish Eyes เพื่อใช้ประโยชน์เป็นดอกไม้แห้ง รวมถึงบริษัทเอกชนต่างๆ ก็มีการนำมาปลูกเพื่อประดับสถานที่ให้ความสวยงามและเป็นส่วนประกอบอาหาร  สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มีพระราชดำริในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรมวิชาการเกษตร ด้านการวิจัย โดยให้ทางมูลนิธิชัยพัฒนามีหนังสือถึงกรมวิชาการเกษตรเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2557 ให้ศึกษาเรื่องการปลูกลาเวนเดอร์และสมุนไพรต่างประเทศที่มีอยู่และหาพันธุ์ไม้มาเพิ่มเติม เพื่อศึกษาการเจริญเติบโต การให้ดอก น้ำมัน การแปรรูป รวมถึงคุณสมบัติอื่น ๆ

ลักษณะทั่วไป

เป็นพืชดอกในวงศ์มินต์ Lamiaceae เป็นไม้พุ่มมีกลิ่นแรง โตได้สูง 1 ถึง 2 เมตร ไม่ผลัดใบ ใบยาว 2–6 เซนติเมตร และกว้าง 4–6 เซนติเมตร ดอกสีชมพู-ม่วง มักปลูกลาเวนเดอร์สามัญเป็นไม้ประดับ ได้รับความนิยมจากดอกสีสวยงาม กลิ่นหอมและทนแล้งได้ เติบโตไม่ดีในดินชื้นต่อเนื่อง ค่อนข้างทนได้ดีต่ออุณหภูมิต่ำ ทนต่อดินกรดแต่ชอบดินกลาง ดอกลาเวนเดอร์นั้นจะมีลักษณะเป็นช่อชูขึ้นมาและมีกลีบสีม่วงเข้ม

พันธุ์และการขยายพันธุ์

ลาเวนเดอร์ มี 48 ชนิด  และมีเพียง 3 ชนิด (species) ที่นิยมนำมาผลิตเชิงการค้า คือ

1.True Lavender หรือ English Lavender (Lavandula angustifolia, L. officinalis, L. vera) ลาเวนเดอร์ กลุ่มนี้ ชอบขึ้นในที่สูง อากาศแห้งๆ  มีลักษณะใบแหลมเรียวคล้ายโรสแมรี่ ให้น้ำมันหอมระเหยที่มีคุณภาพคือ กลิ่นหอมหวานกว่า ดีกว่าสองกลุ่มที่เหลือ แต่ให้ปริมาณน้ำมันหอมระเหยน้อยกว่า ใช้ทำน้ำมันหอมระเหยและน้ำหอม

2.Spike Lavender (Lavandula stoech, L. spica, L. latifolia) มีใบกว้างกว่าพวก True Lavender กลิ่นหอมของ Spike Lavender จะออกไปทางกลิ่นของน้ำมันยูคาลิปตัส ใช้สำหรับทำสเปรย์ปรับอากาศ สเปรย์ดับกลิ่น สบู่ ยาไล่แมลง และยาฆ่าเชื้อในอุตสาหกรรม และใช้เป็นส่วนผสมของสินค้าที่ต้องการให้มีกลิ่นสดชื่น

3.Lavandin (Lavandula. x intermedia, x hybrida) หรือ Dutch lavender เป็นลูกผสมระหว่าง True Lavender และ Spike Lavender ปลูกง่ายกว่า ให้ดอกใหญ่และสีสดกว่า กลิ่นหอมจะออกไปทางกลิ่นการบูร ถึงแม้จะกลิ่นแรงแต่หอมไม่ทน เนื่องจากดอกสวยและทน จึงมักถูกนำไปใช้งานประดิษฐ์ต่างๆ (ช่อดอกไม้แห้ง หรีดประดับ) ส่วนน้ำมันหอมระเหยมักถูกใช้ไปผสมพวกเวชสำอาง โลชั่น น้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม)

สำหรับการขยายพันธุ์นั้นจะมีด้วยกัน 2 แบบ คือ การปักชำ และการเพาะเมล็ด ต้นลาเวนเดอร์ที่เกิดจากการเพาะเมล็ดนั้น จะใช้เวลา 6 เดือนถึงจะออกดอก แต่ถ้าเป็นการปักชำจะใช้เวลา 3 – 4 เดือน

วิธีการปลูก

1.การเตรียมพื้นที่ปลูก

ไถพรวนและพลิกหน้าดินตากแดดไว้ 7-10 วัน นำเศษวัชพืชออกจากแปลง แล้วปรับสภาพดินด้วยโดโลไมท์ อัตรา 100 กิโลกรัมต่อไร่ ปล่อยทิ้งไว้ รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยอินทรีย์ อัตรา 100 กิโลกรัมต่อไร่ ผสมปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ ปลูกแถวคู่แบบสลับ ระยะปลูก 30 x 30 เซนติเมตร รดน้ำให้ชุ่มทั้งแปลงขนาดแปลงปลูกกว้าง 0.6 เมตร ยาวตามสภาพพื้นที่ ปรับขนาดให้เหมาะสม และง่ายต่อการปฏิบัติดูแลรักษา

2.การย้ายต้นกล้าปลูก

ควรย้ายต้นกล้าที่มีอายุไม่เกิน 50 วัน หรือมีจำนวนใบจริง 2-3 คู่ ไม่ควรย้ายต้นกล้าที่มีอายุมากเกินไปเพราะระบบรากจะแผ่กระจายช้า เนื่องจากแก่เกินไป ควรย้ายกล้าระหว่าง 45-50 วัน ซึ่งจะทำให้รากของต้นกล้ามีการพัฒนาที่ดีกว่า การหาอาหารของรากจะมีประสิทธิภาพดีขึ้น  ช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการย้ายปลูกคือช่วงเย็น (แดดไม่แรง) เพื่อช่วยลดการสูญเสียน้ำของต้นกล้า ส่งผลให้ต้นกล้ามีการตั้งตัวได้ดีหลังการย้ายปลูก การปลูกควรจัดวางเป็นคู่ จะได้ผลดีกว่าจัดวางเป็นแถวเดี่ยว เนื่องจากจะช่วยเก็บความชื้นในดินได้ดีกว่าแบบแถวเดี่ยว

การดูแลรักษา

  1. การให้น้ำ

หลังการย้ายปลูกควรให้น้ำสม่ำเสมอจนต้นฟื้นตัว ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ และควรรักษาความชื้นในดินให้เหมาะสมไม่แห้ง จนทำให้ต้นเหี่ยว และ ไม่แฉะ หรือมีน้ำขังเป็นเวลานานเกินไป จะทำให้เกิดโรคได้ง่าย หรือหากดินขาดความชื้น จะทำให้พวกเพลี้ยไฟ ไรแดง ระบาดได้ง่าย

หลังจากต้นฟื้นตัว ควรรดน้ำทุกวันในตอนเช้าหรือเย็น หากรดน้ำตอนเย็นควรให้น้ำค้างอยู่บนใบแห้งก่อนพระอาทิตย์ตกดิน และเมื่อมีดอกไม้บาน อย่ารดน้ำถูกดอกไม้มาก เพราะจะทำให้ดอกช้ำหรือเน่าได้ การให้น้ำควรให้สภาพดินชุ่มสลับแห้ง ไม่ควรให้ชุ่มตลอดเวลา เพราะอาจเป็นสาเหตุของโรครากเน่า โคนเน่า และทำให้ระบบรากไม่พัฒนา ส่งผลให้ต้นแคระแกรน ไม่สมบูรณ์ สามารถสังเกตสีของดิน หรือวัสดุเพาะ หากมีสีดำ หรือสีน้ำตาลเข้ม แสดงว่าดินยังชุ่ม มีน้ำอยู่ เมื่อดินเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาลอ่อน แห้งแข็ง แสดงว่าดินขาดน้ำ ไม่ควรรดน้ำโดนใบ หรือดอก เพราะจะทำให้เกิดโรคตามมาได้ง่าย

  1. การให้ปุ๋ย

1) ปุ๋ยน้ำ หลังจากย้ายกล้า ประมาณ 7 วัน ให้ปุ๋ยไนโตรเจน เช่น 15-0-0 หรือ 25-7-7 ในอัตรา 1 ช้อนโต๊ะ ละลายน้ำ 20 ลิตร รดทุก ๆ 5-7 วัน ประมาณ 2-3 ครั้ง ช่วงการเจริญเติบโต ถึงระยะสังเกตเห็นตุ่มดอก ให้ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 75 กรัม หรือ 5 ช้อนโต๊ะ ละลายน้ำ 20 ลิตร รดทุก ๆ 3 วัน จนกระทั่งดอกเริ่มบาน เมื่อดอกเริ่มบาน ให้ปุ๋ยเคมีสูตร 8-24-24 หรือ 13-13-21 อัตรา 75 กรัมหรือ 5 ช้อนโต๊ะ ละลายน้ำ 20 ลิตร รดทุก ๆ 3 วัน ต่อเนื่องตลอดอายุการให้ดอก

2) ปุ๋ยเม็ด สามารถให้ปุ๋ยสูตรต่าง ๆ  เหมือนสูตรน้ำ ระยะที่ 1-3 อัตรา 10 กรัม/ ต้น ทุก ๆ 7 วัน โดยฝังในดิน หรือใช้ดินกลบ

โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ

1.โรครากเน่า, โคนเน่า (Root Rot, Stem Rot) เชื้อสาเหตุ : มีสาเหตุเกิดจากเชื้อราหลายชนิด ได้แก่ Pythium spp., Rhizoctonia spp., Phytophthora spp. เป็นต้น

การแพร่ระบาด : โรคจะเกิดขึ้นเมื่อวัสดุเพาะมีความชื้นสูงเกินไป และมีต้นกล้าขึ้นหนาแน่น พบการเกิดโรคในช่วงที่ต้นกล้าเริ่มมีใบเลี้ยง ไปจนถึงมีใบจริง 3- 4 คู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีน้ำขังในแปลงมากเกินไป หรือการระบายน้ำในแปลงไม่ดี

ลักษณะอาการ : เชื้อเข้าทำลายได้ตั้งแต่ระยะเมล็ดก่อนงอกทำให้เมล็ดไม่งอก หรือเข้าทำลายหลังจากที่งอกเป็นต้นอ่อนแล้ว แต่ยังไม่ทันโผล่พ้นดินก็เน่าตาย หากเชื้อโรคเข้าทำลายหลังจากที่ต้นกล้างอกโผล่พ้นดินขึ้นมาแล้ว เริ่มแรกจะเกิดรอยช้ำใส ๆ บริเวณโคนต้นกล้า จากนั้นรอยช้ำจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ต้นกล้าจะแสดงอาการใบซีดเหี่ยว และหักฟุบลงไปกับพื้น ที่ระดับคอดิน

การป้องกัน : รดน้ำเฉพาะช่วงเช้า ดูแลพื้นที่ไม่ให้มีน้ำขัง อากาศถ่ายเทสะดวก

สารชีวภัณฑ์ : ไตโครเดอร์มา, บาซิลลัส ซับทิลิส

สารเคมีที่ใช้ : ใช้สารป้องกันเชื้อรา เช่น แคปแทน คาร์เบนดาซิม (Carbendacim) หรือแมนโคเซบ (ตามอัตราที่แนะนำ)

2.โรคใบจุด (Septoria leaf spot, lavender leaf spot, Septoria lavendulae) เชื้อสาเหตุ : เชื้อรา Septoria lavandul

การแพร่ระบาด : สามารถติดไปกับน้ำ และลม แพร่ระบาดได้ดีเมื่อความชื้นสูง สปอร์สามารถพักตัวอยู่ในแปลงปลูกลาเวนเดอร์เดิมได้

ลักษณะอาการ : เริ่มแรกมักจะพบในใบแก่ และใบที่อยู่ต่ำก่อน โดยจะปรากฏเป็นแผลจุดสีเทาเล็ก ๆ มีขอบแผลสีม่วงถึงสีน้ำตาล จากนั้นจุดแผลจะขยายใหญ่ขึ้น ทำให้ใบร่วงหล่น ชะงักการเจริญเติบโต และลำต้นทรุดโทรม

การป้องกัน : ดูแลแปลงปลูกให้มีการระบายน้ำ และอากาศได้ดี เพื่อให้แปลงปลูกแห้ง จะช่วยลดการติดเชื้อใบจุดได้ หมั่นตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเริ่มพบอาการแรก ๆ ควรรีบกำจัดใบที่ติดเชื้อ และเศษซากที่หล่นลงมา ออกไปทำลายนอกแปลง  สามารถช่วยยับยั้งการแพร่กระจายไปยังต้นอื่น ๆ ได้ หากพบอาการรุนแรงพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น คลอโรทาโลนิล (Chlorothalonil), แมนโคเซบ (mancozeb) และ คอปเปอร์ (copper) ตามอัตราที่แนะนำ

สารชีวภัณฑ์ : ไตโครเดอร์มา, บาซิลลัส ซับทิลิส

สารเคมีที่ใช้ : คลอโรทาโลนิล (Chlorothalonil), แมนโคเซบ (mancozeb) และ คอปเปอร์ (copper) (ตามอัตราที่แนะนำ)

3.เพลี้ยไฟ (Thrips)  ชื่อวิทยาศาสตร์ : Scirtothrips dorsalis Hood

ลักษณะอาการ : ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณยอดอ่อน ดอก และใบอ่อน โดยยอดและใบจะหงิกงอ และจะไหม้ใบที่สุด ส่งผลให้ดอกไม่พัฒนา และลำต้นแคระแกร็น หากพบการระบาดรุนแรง อาจทำให้พืชจะตายได้ นอกจากนี้เพลี้ยไฟยังเป็นพาหะนำโรคไวรัสมาสู่ต้นได้อีกด้วย พบมากในช่วงแล้ง ฝนทิ้งช่วง

 การป้องกัน : หมั่นสำรวจการระบาดอย่างสม่ำเสมอ ตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง หากพบการระบาดควรตัดแต่งออกไปทำลายนอกแปลง

สารชีวภัณฑ์ : เชื้อราบิวเวอร์เรีย เชื้อราเมตาไรเซียม

สารเคมีที่ใช้ : สไปนีโทแรม (spinetoram), ฟิโปรนิล (fipronil), อีมาเมกติน เบนโซเอท (emamectin benzoate), ไทอะมีทอกแซม (thiamethoxam), อิมิดาคลอพริด (imidacloprid) (ตามอัตราที่แนะนำ) ฉีดพ่นทุก ๆ 5-7 วัน หากระบาดมากทุก ๆ 2-3 วัน

4.เพลี้ยอ่อน (Aphid) ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aphis gyossypii Glover

ลักษณะอาการ : ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณยอดอ่อน ใบ และดอก ทำให้หงิกงอเป็นคลื่น หากพบการระบาดมาก จะทำให้ดอกเหี่ยวและอ่อนแอ ไม่ออกดอก บริเวณที่มีเพลี้ยอ่อนมักจะพบเห็นมดอาศัยกินน้ำหวานที่เพลี้ยอ่อนถ่ายออกมา ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดราดำ

การป้องกันกำจัด : หมั่นสำรวจการระบาดอย่างสม่ำเสมอ ตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง หากพบการระบาดควรตัดแต่งออกไปทำลายนอกแปลง

สารชีวภัณฑ์ : เชื้อราบิวเวอร์เรีย เชื้อราเมตาไรเซียม

สารเคมีที่ใช้ : อิมิดาคลอพริด (imidacloprid), ไทอะมีทอกแซม (thiamethoxam), แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน (lambda-cyhalothrin), อีมาเมกติน เบนโซเอท (emamectin benzoate), พิริมิฟอส-เมธิล (pirimiphos-methyl)

การใช้ประโยชน์

  1. ด้านการแพทย์ ลาเวนเดอร์ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางกับสมุนไพรและน้ำมันหอมระเหย สามารถบรรเทาแมลงกัด แผลไหม้ และอาการปวดหัวได้ นอกจากนี้ ช่อลาเวนเดอร์ยังสามารถขับไล่แมลง สามารถนำมาต้มดื่มเป็นชาลาเวนเดอร์ ช่วยให้นอนหลับสบาย ช่วยลดอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อยได้ดี ดื่มหลังอาหารยิ่งรู้สึกสบายท้อง เพราะในดอกลาเวนเดอร์มีสารโพลีฟีนอล ช่วยต้นเชื้อแบคทีเรียและกรดต่างๆ ในกระเพาะอาหาร และยังใช้น้ำมันหอมระเหยที่ได้จากการสกัดพืชที่มีกลิ่นหอมเพื่อบำบัดอาการป่วย ช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ลดความเครียดและความวิตกกังวล รวมถึงอาจช่วยลดอาการปวด อโรมาเธอราพี (Aromatherapy) หรือสุคนธบำบัด
  2. ด้านอุตสาหกรรม ลาเวนเดอร์นั้นเป็นที่นิยมในอุตสาหกรรมมากมาย จากประโยชน์ในเรื่องของกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ของมันซึ่งช่วยให้ผ่อนคลาย หลากหลายอุตสาหกรรมใช้ลาเวนเดอร์ในผลิตภัณฑ์สำหรับทำสเปรย์ปรับอากาศ สเปรย์ดับกลิ่น สบู่ ยาฆ่าแมลง และยาฆ่าเชื้อในอุตสาหกรรม และใช้เป็นส่วนผสมของสินค้าที่ต้องการมีกลิ่นสดชื่น น้ำมันดอกลาเวนเดอร์ เป็นได้ทั้งยาและเครื่องประทินโฉมชั้นดี โดยน้ำมันดอกลาเวนเดอร์จะช่วยบรรเทาอาการแสบหรือคันจากแมลงสัตว์กัดต่อย โดยเฉพาะการช่วยรักษาอาการบวมจากผึ้งต่อยได้อย่างเห็นผล หรือถ้าอยากรู้สึกผ่อนคลาย ก็แค่ใช้น้ำมันดอกลาเวนเดอร์นวดบริเวณศีรษะ เท่านี้ระบบไหลเวียดเลือดก็จะทำงานได้ดียิ่งขึ้น ในส่วนของความงาม น้ำมันดอกลาเวนเดอร์เหมาะแก่การนำมาทาผิวหนัง เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิว ทั้งยังช่วยลดกลิ่นตัว ลดเหงื่อไคล และบรรเทาอาการผิวหนังอักเสบให้ทุเลา ที่สำคัญ ยังช่วยลดริ้วรอยและกระชับรูขุมขนได้อย่างเห็นผล แต่อุตสาหกรรมที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุดเห็นจะเป็นอุตสาหกรรมน้ำหอมและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เช่น สบู่ ครีม โลชั่น น้ำยาปรับผ้านุ่ม เป็นต้น ส่วนสารสกัดจากลาเวนเดอร์นำไปใช้ในผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์ (Pharmaceutical tuberculosis)

แหล่งพืชอนุรักษ์

ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่

<< กลับไปหน้าฐานข้อมูลพืชสมุนไพรและเครื่องเทศ