ชื่อสามัญ สาลี่
ชื่อวิทยาศาสตร์ Pyrus pyrifolia (Burm.) Nak.
ชื่ออื่นๆ
ถิ่นกำเนิดและประวัติความเป็นมา
สาลี่ที่ปลูกในประเทศไทยในปัจจุบันนั้นเป็นสาลี่เอเซียที่เรียกว่า สาลี่จีน หรือสาลี่ญี่ปุ่น มีปลูกในพื้นที่ที่อยู่บนที่สูง หรือบนภูเขาทางภาคเหนือของไทยสาลี่เป็นไม้ผลเขตหนาวอีกชนิดที่คนไทยชอบบริโภค ดังจะเห็นว่ามีการนำเข้าจากประเทศจีน และญี่ปุ่นเป็นจำนวนมากในแต่ละปี
ลักษณะทั่วไป
ดอกสีขาว ผลลักษณะคล้ายผลแอปเปิล มีหลายสี ตั้งแต่สีเหลือง เขียว แดงอมส้ม และน้ำตาล
พันธุ์และการขยายพันธุ์
เพาะเมล็ด เสียบยอด
วิธีการปลูก
ระยะปลูก 8X8 หรือ 10X10 เมตร ขุดหลุมปลูกให้มีขนาด กว้าง x ยาว x ลึก ประมาณ 70 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร ตากแดด 1 สัปดาห์ รองก้นหลุมด้วยหินฟอสเฟต (0-3-0) จำนวน 100 – 200 กรัม (1 – 2 ขีด) ต่อหลุม และปุ๋ยคอก (ปุ๋ยมูลสัตว์ต่างๆ) หรือปุ๋ยหมัก จำนวน 5 – 10 กิโลกรัมต่อหลุม ผสมคลุกเคล้ากับดินชั้นบนแล้วใส่ลงไปในหลุมให้พูนเหนือระดับเดิม 10 – 15 เซนติเมตร
ช่วงเวลาปลูกที่เหมาะสม
- ช่วงฤดูฝน (พฤษภาคม – สิงหาคม) เหมาะสำหรับพื้นที่ไม่มีแหล่งน้ำ
- ช่วงฤดูแล้งหรือฤดูการพักตัว (พฤศจิกายน – มกราคม) สำหรับพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำ
การดูแลรักษา
การใส่ปุ๋ย
ในช่วง 1-4 ปีแรก การใส๋ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) ร่วมกับปุ๋ย 15-15-15 โดยแบ่งใส่ 2 – 3 ครั้ง อัตรา 100 กรัมต่อต้น ในช่วงฤดูฝน (อัตราเพิ่มขึ้นปีละ 1 เท่าของปีก่อน) หลังจากมีการให้ผลผลิตแล้ว ในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน ใส่ปุ๋ย 15-15-15 อัตรา 1, 2, 3 กิโลกรัมในปีที่ 5 – 7 ในเดือนสิงหาคม – กันยายน ใส่ปุ๋ย 12-24-12 อัตรา 1, 2, 3 (อัตราเพิ่มขึ้นปีละ 1 กิโลกรัม) ในปีที่ 5 – 7 สำหรับปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ใส่ปีละ 1 ครั้ง ในช่วงต้นฤดูฝน (พฤษภาคม – มิถุนายน) อัตรา 5 – 10 กิโลกรัม และเพิ่มขึ้นตามขนาดของทรงพุ่ม
การให้น้ำ
สาลี่เป็นไม้ผลเขตหนาวที่ต้องการน้ำมาก โดยเฉพาะในช่วงหลังจากปลูกจนมีอายุ 1 ปี และในช่วงฤดูแล้งหลังจากมีการออกดอกควรมีการให้น้ำ 1 – 2 ครั้งต่อสัปดาห์
การกำจัดวัชพืช
ควรกำจัดวัชพืชบริเวณชายพุ่ม สำหรับบริเวณระหว่างต้นหรือแถวให้ตัดหญ้าหรือวัชพืชให้สั้นเพื่อไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของโรคและแมลง
การจัดทรงพุ่ม
สาลี่นั้นสามารถตัดแต่งกิ่งจัดทรงพุ่มแบบปิรามิด ปิรามิดดัดแปลงหรือเปิดกลาง ขึ้นกับสภาพพื้นที่และการจัดการดูแลรักษา สำหรับพื้นที่ที่มีความลาดชัน การจัดทรงพุ่มแบบเปิดกลางเพราะสามารถจัดการดูแลรักษาต่างๆ ได้สะดวกสำหรับพื้นที่ราบสามารถจัดทรงพุ่มได้ทั้ง 3 รูปแบบ
การโน้มกิ่ง
สาลี่เป็นไม้ผลที่มีการออกดอกติดผลที่กิ่งสั้นมีข้อถี่ มีอายุ 2 ปี ซึ่งการเกิดกิ่งตาดอกนี้จะเกิดขึ้นมากเมื่อมีการโน้มกิ่งให้ขนานกับพื้นที่ ดังนั้นควรมีการโน้มกิ่งหลักหรือกิ่งข้างให้ขนานกับพื้นดินเมื่อสาลี่มีอายุตั้งแต่ 2 – 3 ปีขึ้นไป
การปลิดผล
สาลี่จะออกดอกและติดผลเป็นช่อซึ่งจะมีจำนวนดอกหรือผล 7 – 8 ดอก หรือผลต่อช่อ ซึ่งมีจำนวนมากเกินไป ดังนั้นจึงควรมีการปลิดผลให้เหลือจำนวน 2 – 3 ผลต่อช่อ จะทำให้ผลมีขนาดใหญ่และคุณภาพดี
การห่อผล
หลังจากปลิดผลแล้วต้องมีการห่อผลด้วยกระดาษทึบแสง เช่น กระดาษหนังสือพิมพ์ กระดาษถุงปูน เพื่อให้ผลมีผิวและสีสวย นอกจากนี้ยังสามารถป้องกันการทำลายผลโดยแมลงต่าง ๆ
โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ
โรคที่สำคัญ ได้แก่ โรคใบจุด ราสนิม ราแป้ง และโรคผลเน่า
แมลงที่สำคัญ ได้แก่ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยหอย หนอนเจาะลำต้น และหนอนเจาะผล
การใช้ประโยชน์
รับประทานผลสด การรับประทานสาลี่จะมีประโยชน์สูงสุดเมื่อรับประทานในขณะอิ่มหรือรับประทานหลังอาหาร และการรับประทานควรเคี้ยวสาลี่ให้ละเอียด ค่อย ๆ รับประทาน และไม่ควรรับประทานเกินหนึ่งลูกต่อวัน และสาลี่ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการท้องเดิน ผู้ที่อาเจียนจากกระเพาะเย็น ไอจากความเย็น ผู้ที่มีอาการท้องร่วง และสตรีหลังคลอด
แหล่งพืชอนุรักษ์
ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่