Search for:

ชื่อสามัญ   หมากสูง (Areca plam, Betel plam)

ชื่อวิทยาศาสตร์  Areca catechu L.

ชื่ออื่นๆ  เค็ด เซียด แซ ปีแน พลา มะ สะลา สีซะ หมาก หมากมู้ หมากเมีย หมากสง

ถิ่นกำเนิดและประวัติความเป็นมา

มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียเขตร้อน พบในหลายประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้แถบมหาสมุทรแปซิฟิกในส่วนที่เป็นเขตร้อนและบางส่วนของทวีปแอฟริกา

ลักษณะทั่วไป

ลำต้นสูง มีเส้นผ่านศูนย์กลางของลำต้นค่อนข้างเล็ก ปล้องยาวมากกว่า 12 เซนติเมตร ใบยาว จั่นยาว ให้ผลผลิตสูง

พันธุ์และการขยายพันธุ์

พันธุ์หมากสูง การขยายพันธุ์ การเพาะเมล็ด

วิธีการปลูก

  1. ช่วงเหมาะสมสำหรับการปลูกหมาก คือ ช่วงต้นฤดูฝน เพราะดินมีความชุ่มชื้นเพียงพอต่อการปลูก
  2. ขุดหลุมปลูกขนาด 50x50x50 เซนติเมตร ก่อนปลูกให้ใช้ดินที่ขุดขึ้นมาผสมกับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก และหินฟอสเฟตรองก้นหลุม คลุกเคล้าให้เข้ากัน
  3. การวางหน่อหมาก นำต้นกล้าลงปลูกในลักษณะตั้งตรง ใช้ดินที่เหลือกลบพอแน่น รดน้ำให้ชุ่ม ในระยะแรกของการปลูกควรมีการพรางแสงเพื่อป้องกันใบไหม้ และลดการคายน้ำลง ควรใช้ฟางข้าว หรือหญ้าแห้งคลุมโคนเพื่อป้องกันการระเหยของน้ำในช่วงหน้าแล้ง

การดูแลรักษา

การให้น้ำ

การปลูกหมากส่วนใหญ่ปลูกโดยอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก หมากเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก (แต่น้ำไม่ขัง) ถ้าหมากขาดน้ำ การเจริญเติบโตจะช้า ต้นเล็กเรียว และให้ผลผลิตต่ำ ดังนั้นหมากระยะต้นกล้า ควรให้น้ำทุกวัน หมากเล็กควรให้น้ำ 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ และหมากโตที่ให้ผลผลิตแล้ว ควรให้น้ำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

การใส่ปุ๋ย

  1. ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และปุ๋ยพืชสด เป็นต้น ใส่ปีละ 1-2 ครั้ง อัตรา 800-5000 กก./ไร่/ปี หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต
  2. ปุ๋ยเคมี แบ่งตามระยะการเจริญเติบโต คือ หมากต้นเล็ก อายุ 1-2 ปี ใส่ปุ๋ยสูตร 46-0-0 ปีละ 1-2 ครั้ง อัตรา 50 กิโลกรัม/ไร่/ปี หมากต้นโตที่ให้ผลผลิตแล้ว อายุ 3 ปีขึ้นไป ใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21, 15-15-15, 16-16-16, หรือสูตร 12-12-17-2 ปีละ 2-3 ครั้ง อัตรา 50-100 กิโลกรัม/ไร่/ปี หลังเก็บเกี่ยวผลผลิต

โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ

โรคพืช

  1. โรคยอดเน่า (Bud rot) เกิดจากเชื้อรา Pythium sp. โรคนี้พบทั้งในระยะต้นกล้าและต้นโตที่ตกผลแล้ว ในสภาพที่มีฝนชุกและอากาศมีความชื้นสูง อาการของโรคในระยะแรกจะพบแผลเน่าดำบริเวณโคนยอด จากนั้นจะขยายลุกลามต่อไปจนทำให้ใบยอดเน่าและแห้งตายไป ต้นที่เป็นโรค ยอดสามารถดึงหลุดออกได้ง่าย และหลังจากนั้นต้นหมากจะค่อยๆ ตายไปในที่สุด การป้องกันอย่าให้หน่อที่ขนย้ายช้ำ หลีกเลี่ยงการให้น้ำในขณะแสงแดดจัด ฉีดพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อราที่มีส่วนประกอบของทองแดง และทำลายต้นที่เป็นโรคทิ้ง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค
  2. โรคใบจุด (Leaf spot) เกิดจากเชื้อรา Curvularia sp. โรคนี้อาจทำความเสียหายให้แก่หมากในระยะที่เป็นต้นกล้ามากกว่าต้นที่ปลูกในแปลงแล้ว เกิดเป็นจุดแผลสีเหลืองอ่อนขนาดเล็กแล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดงหรือสีเทา แผลจะขยายใหญ่ขึ้นจนแผลชนกันทำให้ใบแห้ง หมากจะชะงักการเจริญเติบโตและอาจถึงตายได้ ในการป้องกัน ฉีดพ่นด้วยสารและกำจัดเชื้อรา เช่น ไทแรม (thiram) หรือตัดใบที่เป็นโรคไปทำลาย
  3. โรคผลเน่า เกิดจากการเข้าทำลายของเชื้อรา อาการเริ่มแรกที่ผลหรือขั้วมีแผล หลังจากนั้นเชื้อราในอากาศจะเข้าทำลาย ทำให้ขั้วผลหรือแผลเน่า ผลร่วงหล่นก่อนการเก็บเกี่ยวได้
  4. โรครากเน่าและโคนเน่า เกิดจากเชื้อรา ถ้าหากพื้นดินที่ปลูกหมากชื้นมาก หรือมีน้ำขัง เชื้อราจะเข้าทำลายผลหมากซึ่งร่วงหล่นลงดิน แล้วเข้าทำลายรากหมากหรือโคนหมาก การป้องกันกำจัด คือ ทำความสะอาดบริเวณสวนหมาก และในแปลงปลูกหมาก อย่าให้น้ำขังหรือมีความชื้นมากจนเกินไปหรือใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา ราดลงดิน ขุดและเผาทำลายต้นที่เป็นโรคทิ้ง

แมลงศัตรู

แมลงที่เป็นศัตรูของหมากมีหลายชนิด เช่น หนอนปลอก เพลี้ยไฟ เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย ไรแดงและปลวก เป็นต้น

  1. หนอนปลอก เป็นหนอนผีเสื้อที่กัดกินใบหมากเท่าที่พบเป็นหนอนปลอกทั้งชนิดเล็กและชนิดใหญ่ ใช้ใบหมากเป็นปลอกหุ้มตัว แล้วกัดกินใบหมาก หรือแทะผิวใบหมาก การระบาดจะระบาดในช่วงฤดูแล้ง การป้องกันกำจัด เก็บหนอนมาเผาทำลาย หรือใช้สารเคมีฉีดไปที่ใบหมาก เมื่อหนอนกัดกินจะตายได้ เช่น สารพวกมาลาไธออน เป็นต้น
  2. เพลี้ยไฟ เป็นแมลงขนาดเล็ก มีสีน้ำตาลถึงดำ สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า มีปีก 2 คู่ เคลื่อนไหวได้เร็ว การทำลาย เพลี้ยไฟจะดูดน้ำเลี้ยงจากใบหมาก หรือกาบหมากที่มีสีเขียว ทำให้หมากชะงักการเจริญเติบโตได้ ในการป้องกันกำจัด ใช้สารเคมีพวกเซฟวิน-85 พ่นให้ทั่วโดยเฉพาะใต้ใบ
  3. เพลี้ยแป้งและเพลี้ยหอย เป็นแมลงขนาดเล็ก มองเห็นได้ง่าย เพลี้ยแป้งจะมีเส้นใยสีขาวปกคลุมลำตัว ผนังลำตัวอ่อนสามารถเคลื่อนไหวได้ง่าย ส่วนเพลี้ยหอยจะมีลักษณะกลมๆ เกาะติดกับส่วนของพืชแน่น ไม่เคลื่อนไหว ที่ลำตัวจะมีสารเหนียวๆ ที่สร้างขึ้นมาปกคลุมเอาไว้ เพลี้ยทั้ง 2 ชนิดนี้ จะดูดกินน้ำเลี้ยงของหมาก บริเวณที่พบส่วนใหญ่อยู่ที่ผิวใบด้านล่าง ชอกกาบใบ จั่น และลำต้น ในการป้องกันกำจัดใช้สารโมโนโครโตฟอส
  4. ไรแดง พวกนี้จะระบาดในช่วงฤดูแล้ง โดยดูดน้ำเลี้ยงตามบริเวณใต้ผิวใบหรือซอกกลีบใบย่อยทำให้หมากชะงักการเจริญเติบโต ในการป้องกันกำจัด ใช้สารเคมีที่ป้องกันพวกไร เช่น อะมิทราซไวท์ออยล์ เป็นต้น
  5. ปลวก ปลวกอาจเข้าไปกัดกินลำต้นหรือรากหมาก ทำให้หมากตายได้ ในการป้องกันกำจัด ใช้สารเคมีพวกคาร์บาริล โรยที่รังปลวกหรือบริเวณโคนต้นหมาก

การใช้ประโยชน์

ใช้ในอุตสาหกรรมฟอกหนัง ฟอกเส้นใย เครื่องสำอาง ยารักษาโรคทั้งในคนและสัตว์ และบริโภคทั้งแบบสดและแห้ง กาบใบใช้ทำเครื่องจักรสาน

แหล่งพืชอนุรักษ์

  • ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง
  • ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร

<<กลับไปหน้า “หมาก”

<< กลับไปหน้าฐานข้อมูลพืชสมุนไพรและเครื่องเทศ