Search for:

ชื่อสามัญ ชาน้ำมัน

ชื่อวิทยาศาสตร์ (Camellia Oil Tea: Camellia oleifera ,C. Abel)

ชื่ออื่นๆ  –

ถิ่นกำเนิดและประวัติความเป็นมา

ชาน้ำมัน พืชในสกุลตระกูลTheaceae เป็นพืชยืนต้น ถิ่นกำเนิดที่ทางตอนใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน พบการแพร่กระจายในระดับความสูง 500 -1,300 เมตร จากระดับน้ำทะเลในบริเวณป่าไม้ ป่าทึบ ริมลำธาร และเชิงเขา ชาน้ำมันเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่เขตกึ่งร้อน (subtropical) หรือพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล ชอบดินร่วน ระบายน้ำดี ความเป็นกรดด่างในช่วง 5-6.5 ในระยะแรกชอบร่มเงาบางส่วนในป่าโปร่ง และเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในแสงแดดตลอดวัน และสามารถทนทานต่อความแห้งแล้ง สภาพอุณหภูมิไม่หนาวจัดมากช่วงอุณหภูมิเฉลี่ยที่เหมาะสม 16-18 องศาเซลเซียส ไม่มีน้ำค้างแข็งและอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า ลบ 5-10องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 1000 มิลลิเมตรต่อปี การปลูกชาน้ำมันในไทยเริ่มต้นจาก มูลนิธิชัยพัฒนาและมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง สนองพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีตั้งแต่ปีพ.ศ. 2548 โดยทางมณฑลกวางสี สาธารณรัฐประชาชนจีนได้น้อมเกล้าถวายเมล็ดพันธุ์ชาน้ำมัน จำนวน 2,500 กิโลกรัม และต้นกล้าชาน้ำมันจำนวน 40,000 ต้น โดยเริ่มปลูกในไทยครั้งแรกในโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (โป่งน้อย) พื้นที่แปลงชาน้ำมันบ้านโป่ง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ พื้นที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา พื้นที่บริเวณสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตฯ พื้นที่บ้านบางปะหัน บ้านปูนะ และพื้นที่ใกล้เคียง ในตำบลเทอดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ซึ่งในปัจจุบันได้ให้ผลผลิตแล้ว เนื่องจากชาน้ำมันเป็นพืชผสมข้าม ต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ดมีการกระจายตัวลักษณะต่างๆ มาก จึงมีปัญหาในการจัดการทรงพุ่ม การจัดการผลผลิต เพื่อให้มีผลผลิตเข้าสู่โรงงานอย่างสม่ำเสมอ กรมวิชาการเกษตรเริ่มดำเนินการวิจัยและพัฒนาชาน้ำมันในปี พ.ศ. 2553-2557 โดยได้รับอนุมัติโครงการจากสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) กระทรวงการต่างประเทศ ภายใต้โครงการวิจัยร่วมและพัฒนาภายใต้ความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และวิชาการไทย-จีน ร่วมกับ National Center for Oil-tea Camellia Science and Technology (NCOCS), The Research Institute of Subtropical Forestry (RISF), Chinese Academy of Forestry เมือง Fuyang มณฑล Zhejiang สาธารณรัฐประชาชนจีน ต่อมาได้ดำเนินงานต่อในปี พ.ศ. 2557-2563 ได้รับการสนับสนุนโครงการจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และในปี พ.ศ. 2564 ได้รับการสนับสนุนโครงการจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในการวิจัยการพัฒนาพันธุ์ชาน้ำมัน โดยการรวบรวมพันธุ์ คัดเลือกพันธุ์ เปรียบเทียบพันธุ์ การขยายพันธุ์ การตัดแต่งกิ่ง การจัดการดินและปุ๋ย ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ และศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย สถาบันวิจัยพืชสวน ดำเนินงานวิจัย

ลักษณะทั่วไป

ชาน้ำมัน เป็นไม้พุ่มไม่ผลัดใบ ทรงพุ่มกลมหรือแจกัน มีการเจริญเติบโตช้า  ความสูงประมาณ 4-5 เมตร ในที่แสงน้อยอาจสูงประมาณ 8 เมตร เป็นดอกสมบูรณ์เพศ กลีบดอกสีขาว มี 5-7 กลีบ ออกดอกในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน และ กันยายน-ตุลาคม(ในจีนออกดอกช่วงเดือน ตุลาคม-มกราคม) แต่ละดอกบาน 3-4 วัน มีกลิ่นหอม ผลกลมค่อนข้างแบน (spherical or flat round) ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-4 เซนติเมตร มีช่องว่างภายในรังไข่ 1-3 ช่องแต่ละช่องประกอบด้วย 1-2 เมล็ด เมล็ดมีสีน้ำตาลแดงชาน้ำมันเป็นพืชผสมข้ามต้องอาศัยแมลงในการผสมในการผสมข้ามพันธุ์ จึงจะให้ผลผลิตสูง ทั้งนี้ในช่วงดอกบานพืชต้องการความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสม

พันธุ์และการขยายพันธุ์

วิธีเสียบยอดในระยะต้นอ่อน (Hypocotyl grafting) วิธีเสียบยอดบนต้นตอที่มีอายุ 1-2 ปี และ วิธีเสียบยอดบนต้นตอที่อายุมาก

วิธีการปลูก

ส่วนใหญ่ปลูกพื้นที่ตามไหล่เขา ระยะปลูก 2×3 เมตร ถ้าพันธุ์ปลูกมีทรงพุ่มใหญ่ ให้ตัดเว้นต้น ในแถวระยะ 2 เมตร เป็นระยะปลูก4×3 เมตรหลุมลึก 50x50x50 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยมูลสัตว์ ช่วงปลูกที่เหมาะสม คือ เดือนธันวาคม ชาน้ำมันเป็นพืชผสมข้ามต้น การปลูกควรใช้พันธุ์หลักมากกว่า 1 พันธุ์เพื่อการเก็บเกี่ยวผลผลิต และปลูกพันธุ์ที่ช่วยผสมเกสรแทรกในแปลงปลูก โดยต้องพิจารณาถึงทั้งพันธุ์ปลูกและพันธุ์คู่ผสมมีช่วงการพัฒนาการออกดอก ติดผลและเก็บเกี่ยวสอดคล้องกัน การปลูกพันธุ์คู่ผสมที่ช่วยในการให้ละอองเกสร ในที่ราบสามารถปลูกแทรกเป็นแถวระหว่างพันธุ์ดี ในอัตราพันธุ์ดี 4-9 แถว และพันธุ์คู่ผสม 1 แถว (ก) ส่วนในพื้นที่เชิงเขาซึ่งปลูกบนแนวขั้นบันได (contour line) ไม่มีแถวชัดเจน ก็สามารถปลูกแทรกในแถวตามอัตรา 4-9 ต่อ 1 แถว (ข) ทั้งนี้ จึงต้องปลูกหลายพันธุ์ร่วมกันเพื่อช่วยผสมเกสร และควรปลูกอย่างน้อย 2สายพันธุ์ต่อพื้นที่ 1 ไร่ โดยมีพันธุ์หลักและพันธุ์คู่ผสมที่แนะนำ ได้แก่ พันธุ์หลัก No.3 พันธุ์คู่ผสมคือ No.53 หรือ No.18 และพันธุ์หลัก No.4 พันธุ์คู่ผสมคือ No.53 หรือ No.166 เป็นต้น

การดูแลรักษา

การตัดแต่งเป็นปัจจัยหนึ่งในการเพิ่มผลผลิตและคุณภาพ เพื่อสร้างทรงพุ่มกับผลผลิตที่เหมาะสมทางเศรษฐกิจ สามารถลดขนาดทรงพุ่ม และจัดการให้มีการลดความชื้นในทรงพุ่มการระบายอากาศ ปริมาณแสงที่ส่องผ่านในทรงพุ่มให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโต โดยทั่วไปจะพบว่าชาน้ำมันจะมีทรงพุ่มแบบทรงกลม (round) และแบบทรงเปิด (open center) ซึ่งเมื่อตัดแต่งกิ่งแบบทรงเปิด จะพบว่า เพิ่มอัตราและจำนวนการออกดอก เพิ่มน้ำหนักผลผลิตต่อต้นซึ่งจะทำให้ผลผลิตในปีต่อไปมีคุณภาพเพิ่มขึ้นการตัดแต่งกิ่ง ควรตัดในช่วงที่มีการพักตัว มีการเจริญเติบโตน้อย วิธีการตัดคือ ตัดให้ใกล้บริเวณตา ตัดกิ่งที่มุมแคบ แบบทรงเปิด เริ่มตัดแต่งตั้งแต่เริ่มปลูกสูงจากพื้น 50 เซนติเมตร เหลือกิ่งหลัก 3-5 กิ่ง แต่ละกิ่งเหลือประมาณ 2 ตาช่วงออกดอก ควรปลิดดอกอ่อนบริเวณปลายยอดออกบ้าง เพื่อลดการแข่งขัน

การใส่ปุ๋ยแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกคือ เมื่อต้นอายุ 1-3 ปี เป็นช่วงระยะการเจริญเติบโตทางลำต้นในปีที่ 1 และปีที่ 2 หลังปลูกใส่ปุ๋ย 46-0-0 อัตรา 22 กิโลกรัมต่อไร่ ปุ๋ย 18-46-0 อัตรา 9 กิโลกรัมต่อไร่ และปุ๋ย 0-0-60 อัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่ โดย แบ่งใส่ 4 ครั้งๆ ละเท่าๆ กันในเดือนมีนาคม มิถุนายน กันยายน และธันวาคม และช่วงที่ 2 เมื่อต้นอายุ 4 ปีขึ้นไป เป็นช่วงระยะการให้ผลผลิต ใส่ปุ๋ย 46-0-0 อัตรา 40 กิโลกรัมต่อไร่ ปุ๋ย 18-46-0 อัตรา 28 กิโลกรัมต่อไร่ และปุ๋ย 0-0-60 อัตรา 40 กิโลกรัมต่อไร่ แบ่งใส่ 4 ครั้งๆ ละเท่าๆ กันในเดือนมีนาคม มิถุนายน กันยายน และธันวาคม ทั้งนี้ช่วงที่มีการออกดอก พ่น Ca-B อัตรา 10-20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 7-10 วันจำนวน 8 ครั้ง

โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ

โรคที่สำคัญ

1.โรคใบจุดสีน้ำตาล หรือแอนแทรคโนส (Brown blight, Anthracnose) เชื้อสาเหตุ : เชื้อรา Colletotrichum spp. และ เชื้อรา Gloeosporium theaesinensis

การแพร่ระบาด สปอร์ของเชื้อสามารถติดไปกับน้ำ ลม สามารถแพร่ระบาดได้ดีเมื่อความชื้นสูง

ลักษณะอาการของโรค เริ่มจากเกิดเป็นจุดสีน้ำตาล ขอบแผลสีเหลือง ต่อมาจุดจะขยายใหญ่และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม หรือดำ แผลมีลักษณะเป็นวงแหวน เนื้อเยื่อใบที่เป็นโรคจะแห้งตาย หากอาการรุนแรง จะทำให้ใบร่วง  และอาจมีจุดเล็ก ๆ สีดำกระจายอยู่บนแผล โรคนี้มักเกิดกับใบและยอดอ่อน

            การป้องกันกำจัด

หมั่นตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเริ่มพบอาการผิดปกติควรรีบกำจัดใบที่ติดเชื้อ และเศษซากที่หล่นลงมา นำไปทำลายนอกแปลงปลูก

สารชีวภัณฑ์: ไตโครเดอร์มา, บาซิลลัส ซับทิลิส

สารเคมีที่ใช้: เบนโนมิล (benomyl) (กลุ่ม 1) ใช้สลับกับสารประกอบทองแดง เช่น คอปเปอร์ออกซี่คลอไรด์ (copper oxychloride) (กลุ่ม M 01 ) โปรคลอราช (prochloraz) (กลุ่ม 3) อะซอกซีสโตรบิน (azoxystrobin) (กลุ่ม 11) (ตามอัตราที่แนะนำ) พ่นเมือพบเริ่มมีการระบาดของโรค ควรใช้สลับกลุ่มกัน

2.โรคใบจุดสีเทา (Camellialeaf blight, Grey blight, Leaf blight) เชื้อสาเหตุ : เชื้อรา Pestalotiasp. และเชื้อรา Phyllostictasp.

การแพร่ระบาด สปอร์ของเชื้อสามารถติดไปกับน้ำ ดินหรือวัสดุปลูก สามารถแพร่ระบาดได้ดีเมื่อความชื้นสูง

            ลักษณะอาการของโรค เริ่มแรกเป็นแผลจุดเล็ก ๆ สีน้ำตาล จากนั้นขยายใหญ่ขึ้นเป็น สีเทา ขนาดไม่แน่นอน ขอบแผลสีน้ำตาล อาจจะมีจุดเล็ก ๆ สีดำกระจายอยู่บนแผล มักเกิดในใบชาแก่

            การป้องกันกำจัด

ดูแลแปลงปลูกให้ระบายน้ำ และอากาศได้ดี หมั่นตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเริ่มพบอาการแรกๆ ควรรีบกำจัดใบที่ติดเชื้อ และเศษซากที่หล่นลงมา นำไปทำลายนอกแปลงปลูก

            สารชีวภัณฑ์: ไตโครเดอร์มา, บาซิลลัส ซับทิลิส

            สารเคมีที่ใช้: ใช้สารป้องกันเชื้อรา เช่น เบนโนมิล (benomyl) (กลุ่ม 1) แคปแทน (captan) (กลุ่ม M 40) อะซอกซีสโตรบิน (azoxystrobin) (กลุ่ม 11) คลอโรทาโลนิล (chlorothalonil) (กลุ่ม M 05) (ตามอัตราที่แนะนำ) พ่นเมื่อพบเริ่มมีการระบาดของโรค ควรใช้สลับกลุ่มกัน

3.โรคใบไหม้ (Ramorum leaf blight) เชื้อสาเหตุ : เชื้อรา Phytophthora ramorum

            การแพร่ระบาด สปอร์ของเชื้อสามารถติดไปกับน้ำ ดิน หรือวัสดุปลูก สามารถแพร่ระบาดได้ดีเมื่อมีความชื้นสูง หรือมีการระบายไม่ดี

            ลักษณะอาการของโรค ริ่มเข้าทำลายที่ใบล่างของต้นก่อน เป็นแผล ช้ำฉ่ำน้ำ ที่บริเวณเส้นใบ และก้านใบ ทำให้ใบร่วงหล่น น้อยครั้งจะแสดงอาการบริเวณขอบใบ หากเชื้อเข้าทำลายในระยะออกดอก จะทำให้ตาดอกเน่า ในบางครั้งจะเกิดอาการแห้งตายบริเวณปลายยอดลงมา (dieback)

สารชีวภัณฑ์: ไตโครเดอร์มา, บาซิลลัส ซับทิลิส

 สารเคมีที่ใช้ : ใช้สารป้องกันเชื้อรา เช่น ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม (fosetyl-aluminium) (กลุ่ม P07) เมทาแลกซิล (metalaxyl) (กลุ่ม 4) หรือ ไดเมโทมอร์ฟ (dimethomorph) (กลุ่ม 40) (ตามอัตราที่แนะนำ) พ่นเมื่อพบเริ่มมีการระบาดของโรค ควรใช้สลับกลุ่มกัน

แมลงศัตรู

1.มวนชา หรือ มวนยุง (Tea mosquito bug/Mosquito bug ) ชื่อวิทยาศาสตร์ : Helopeltis spp.

ลักษณะการทำลาย ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อนและใบเพสลาด ใบชาน้ำมันที่ถูกทำลายจะหงิก ม้วนเป็นคลื่น ขอบใบห่อ ใบเป็นจุดสีน้ำตาลไหม้ และเปลี่ยนเป็นสีดำทั่วทั้งใบ ยอดไม่สามารถเจริญเติบโตและขยายกิ่งแขนง ไม่ออกดอก และติดผล พบมากในช่วงฤดูแล้ง

            การป้องกันกำจัด

  1. สำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ ถ้าพบการเข้าทำลายให้รีบกำจัดโดยด่วน
  2. พ่นสารเคมี ได้แก่ คาร์บาริล 85 %WPอัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือเมทิโอคาร์บ 50 %WP

อัตรา 15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5 %EC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

2.มวนเมี่ยง หรือ มวนหลังเต่าชา (Camellia shield bug/Tea seed bug) ชื่อวิทยาศาสตร์ : Poecilocoris latus Dallas

ลักษณะการทำลาย ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากตาดอก ใบ และผล ทำให้ต้นชาชะงักการเจริญเติบโต ไม่ออกดอก แตกใบ สำหรับผลชาที่ถูกทำลายมักเป็นผลชาอ่อนที่ยังมีสีขาวอยู่ ทำให้เมล็ดชาลีบ รอยแผลที่ถูกดูดกินมักมีเชื้อราลุกลามเข้าทำลายต่อ

            การป้องกันกำจัด ถ้ามีการระบาดพ่นสารเคมี เช่น ฟิโปรนิล 5 %SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ มาลาไธออน 83 %EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

3.เพลี้ยอ่อนถั่วเหลือง (Soybean aphids) ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aphis glycines Glover

 ลักษณะการทำลาย ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณยอดอ่อน ทำให้ยอดคลี่ออกไม่เต็มที่ ใบหงิกม้วน ยอดมีสีซีดจาง มักระบาดในช่วงฤดูแล้ง เพลี้ยอ่อนผลิตน้ำหวานจึงมักพบร่วมกับมด

            การป้องกันกำจัด

  1. พ่นด้วยเชื้อราบิวเวอร์เรีย เพื่อกำจัดตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของเพลี้ยอ่อน โดยพ่นทุก 3-7 วัน อัตราการใช้1-4 ลิตรผสมน้ำ 20 ลิตร ผสมสารจับใบสำหรับชีวภัณฑ์ 5-10 มิลลิลิตรขึ้นอยู่กับความรุนแรงและการระบาดของเพลี้ยอ่อน
  2. หากพบการระบาดพ่นด้วยสารเคมีเช่น ไตรอะโซฟอส 40 %EC อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์โบซัลแฟน 20 %EC อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แลมบ์ดาไซฮาโลทริน 2.5 %EC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่น 1-2 ครั้ง โดยพ่นเป็นจุด ๆ ที่พบเพลี้ยอ่อนลงทำลายทุก 10-15 วัน

4.เพลี้ยจักจั่นเขียวชา (Tea green leafhopper) ชื่อวิทยาศาสตร์ : Jacobiasca formosana (Paoli)

ลักษณะการทำลาย  ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใต้ใบชาน้ำมัน ทำให้ใบงองุ้มลง หงิกงอ ทำให้ใบชาไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้เต็มที่

            การป้องกันกำจัด

ทำการสำรวจต้นชาน้ำมัน โดยสำรวจประมาณ 20 ต้น ต้นละ 5 ใบ เมื่อพบตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของเพลี้ยจักจั่น มากกว่า 1 ตัวต่อใบ

พ่นด้วยสารเคมีอิมิดาโคลพริด 10 %SL อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟิโปรนิล 5 %SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรืออีโทเฟนพรอกซ์ 10 %EC อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

5.เพลี้ยไฟพริก (Chili thrips)  ชื่อวิทยาศาสตร์ : Scirtothrips dorsalis Hood

            ลักษณะการทำลาย ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนอ่อนของพืช เช่น ยอดอ่อน ใบอ่อน ตาใบ/ดอก ดอกและผลอ่อน ทำให้ยอด และใบอ่อนหงิกงอ ใบแห้งกรอบ ไม่เจริญเติบโต ขอบใบม้วน เป็นรอยสะเก็ดสีน้ำตาล ถ้าระบาดรุนแรงอาจทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโตได้ มักพบระบาดในช่วงเปลี่ยนฤดู จากฤดูฝนเป็นฤดูหนาว

การป้องกันกำจัด

หมั่นตรวจการระบาดเมื่อพืชเริ่มออกดอก ถ้าพบไม่มากให้ตัดส่วนที่พบแมลงไปเผาทำลาย เพราะเพลี้ยไฟมักอยู่รวมกันเป็นกลุ่มบริเวณส่วนอ่อนของพืช ถ้าพบระบาดรุนแรง พ่นสารเคมีเมื่อพบการระบาดในระยะใบอ่อนพ่น 1–2 ครั้ง ห่างกัน 7–10 วัน ควรพ่นก่อนดอกบาน และระยะชาน้ำมันติดผลขนาด 5–10 มิลลิเมตร ในกรณีที่มีการระบาดรุนแรงควรพ่นในระยะที่ผลมีขนาด 3-4 มิลลิเมตรด้วยพ่นสารเคมี ได้แก่อิมิดาโคลพริด 10%SL อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์โบซัลแฟน 20%EC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% EC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เฟนโพรพาทริน10%EC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือคาร์บาริล 85%WP อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

6.หนอนบุ้ง (Hairy-Caterpillar Moths)ชื่อวิทยาศาสตร์ : Euproctis sp.

            ลักษณะการทำลาย ระยะหนอนทำลายพืชโดยกัดกินใบชาน้ำมันและผลชาน้ำมันทำให้ผลชาน้ำมันเป็นรอยทำให้ผลเกิดความเสียหาย นอกจากนี้ระยะหนอนมีขนพิษ เมื่อถูกผิวหนังจะเกิดอาการปวดแสบปวดร้อนเป็นอย่างมาก สร้างความเดือดร้อนแก่เกษตรกรที่ปฏิบัติงาน

การป้องกันกำจัด

หากพบใบเว้าแหว่งจากการทำลายให้เก็บหนอนทิ้ง แต่หากระบาดมากพ่นด้วยสาร แลมบ์ดาไซฮาโลทริน 2.5 %EC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์บาริล 85 %WP อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

7.แมลงวันหนอนชอนใบ (Leafminer flies) ชื่อวิทยาศาสตร์ : Liriomyza sp.

            ลักษณะการทำลาย ระยะหนอนทำลายพืช ตัวหนอนจะชอนไชอยู่ในใบทำให้เกิดรอยเส้นสีขาวคดเคี้ยวไปมาเมื่อนำใบพืชมาส่องดูจะพบหนอนตัวเล็กๆ สีเหลืองอ่อนโปร่งแสง ใส อยู่ภายในเนื้อเยื่อใบพืช หากระบาดรุนแรงจะทำให้ใบเสียหายร่วงหล่น

            การป้องกันกำจัด

โดยการเผาทำลายเศษใบพืชที่ถูกทำลายเนื่องจากหนอนชอนใบตามพื้นดิน จะสามารถช่วยลดการแพร่ระบาดได้เนื่องจากดักแด้ที่อยู่ตามเศษใบพืชจะถูกทำลายไปด้วย การใช้สารป้องกันกำจัด สารสกัดสะเดา 100 ppm. สามารถป้องกันและกำจัดหนอนชอนใบได้ดี หรือสารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัด เช่น เบตาไซฟลูทริน 2.5 %EC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟิโพรนิล 5 %SC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

8.หนอนม้วนใบ (Tea tortrix caterpillar) ชื่อวิทยาศาสตร์ : Homona coffearia(Nietner)

ลักษณะการทำลาย  ระยะทำลายพืช โดยหนอนที่ฟักออกจากไข่ใหม่ๆ จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ชักใยบางๆ คลุมตัวไว้ แล้วกัดกินผิวใบ เมื่อหนอนโตขึ้นจึงกระจายกันออกไปทั่วทั้งแปลง สร้างใยยึดใบพืชจากขอบใบ ของใบเดียวเข้าหากันหรือยึดใบมากกว่า 2 ใบ เข้าหากันแล้วอาศัยกัดกินอยู่ในห่อใบนั้นจนหมด  แล้วเคลื่อนย้ายไปทำลายใบอื่นต่อไป

การป้องกันกำจัด

  1. หมั่นสำรวจต้นชาน้ำมัน หากพบการทำลายของหนอนม้วนให้เก็บใบชาน้ำมันที่เสียหายทิ้ง
  2. ทำการตัดแต่งทรงพุ่มให้เหมาะสมเสมอ เพื่อลดการเข้าทำลายของหนอนม้วนใบ

9.แมลงค่อมทอง (Green weevil)  ชื่อวิทยาศาสตร์: Hypomeces  squamosus Fabricius

ลักษณะการทำลาย ระยะตัวเต็มวัยทำลายพืชโดยการกัดกินยอดอ่อน ลักษณะใบที่ถูกทำลายจะเว้าๆ แหว่งๆ ถ้าระบาดรุนแรงจะกัดกินเหลือแต่ก้านใบ และมีมูลถ่ายออกมาปรากฏให้เห็นตามบริเวณยอด พบได้เกือบทั้งปี ช่วงที่ระบาดมากคือ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม และ มิถุนายน -สิงหาคม

การป้องกันกำจัด

  1. จับตัวเต็มวัยโดยการจับสั่นหรือเขย่าบริเวณกิ่งที่มียอด แมลงค่อมทองจะร่วงลงดิน จากนั้นค่อยเก็บรวบรวมกำจัดต่อไป
  2. หากพบการระบาดมาก พ่นด้วยสารคาร์บาริล 85 %WP อัตรา 30-45 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อะซีเฟต 75 %SP อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

10.หนอนเจาะลำต้นชาน้ำมัน, ชื่อวิทยาศาสตร์ : Squamura disciplaga(Swinhoe)

            ลักษณะการเข้าทำลาย ระยะหนอนทำลายพืชเมื่อฟักออกจากไข่หนอนจะทำลายเปลือกโดยการแทะกัดกินเปลือกของลำต้นชาน้ำมัน ตัวหนอนจะอาศัยอยู่ในอุโมงค์ที่อยู่บริเวณกิ่งและลำต้นชาน้ำมันที่สร้างจากเส้นใยผสมกับมูลที่ขับถ่ายออกมา หรืออาศัยบริเวณง่ามกิ่ง หรือลำต้น โดยมีพฤติกรรมการกินอาหารในเวลากลางคืนและหยุดกินตอนกลางวัน เมื่อหนอนโตเต็มที่จะเจาะจะเป็นรูตื้นๆ เพื่อเข้าดักแด้การป้องกันกำจัดหนอนกัดกินเปลือกชาน้ำมัน

  1. ตัดแต่งพุ่มชาน้ำมันให้โปร่ง และรักษาความสะอาดของแปลงปลูก รวมทั้งกำจัดวัชพืชเพื่อไม่ให้เป็นที่หลบอาศัยของผีเสื้อ
  2. เก็บทำลายหนอนที่อาศัยอยู่ในอุโมงค์ที่บริเวณลำต้นและกิ่ง ส่วนหนอนที่อาศัยอยู่ในรูให้ใช้ลวดเกี่ยวลำตัวออกมาเพื่อทำลาย ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี ซึ่งไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ปลูกชาน้ำมันซึ่งอยู่บริเวณไหล่เขา และเพื่อเป็นการลดพิษภัยที่จะมีผลต่อตัวเกษตรกร และมลพิษที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

การใช้ประโยชน์

น้ำมันเมล็ดชาเป็นน้ำมันเพื่อบริโภคที่มีคุณภาพสูง สีใส มีองค์ประกอบกรดไขมันคล้ายน้ำมันมะกอก (olive oil) จึงมีการใช้เป็นน้ำมันสำหรับประกอบอาหาร (cooking oil) ในน้ำมันเมล็ดชามีวิตามินอี ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม แคลเซียม เหล็ก แมงกานีส สามารถเก็บได้ดีที่อุณหภูมิห้องและเก็บได้นานโดยไม่ต้องเติมสารกันหืน น้ำมันเมล็ดชามีสารสำคัญที่มีบทบาทในการนำไปใช้ได้หลากหลาย เช่น ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต มาการีน สบู่ โลชั่น น้ำมันใส่ผม น้ำมันหล่อลื่นและสี สารสำคัญในน้ำมันเมล็ดชา ได้แก่

➢ สารซาโปนิน ใช้ในยาป้องกันโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ยาฆ่าแมลง

ยาฆ่าเชื้อรา

➢ สาร squalene ที่มีความสามารถในการปรับภูมิคุ้มกันโรคช่วยลดความเสี่ยงของโรคต่างๆ เช่น หัวใจ หลอดเลือด มะเร็ง และเบาหวาน

➢ สารโพลีฟีนอลที่มีสรรพคุณในการปกป้องผิว ป้องกันความเสียหายจากแสงยูวี ป้องกันริ้วรอย รอยย่น และสิว

แหล่งพืชอนุรักษ์

ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่