Search for:

ชื่อสามัญ  จำปาดะสายพันธุ์ ตง.3 (Champedak)

ชื่อวิทยาศาสตร์   Artocarpus integer (Thunb.) Merr.

ชื่ออื่นๆ จำดะ (ภาคใต้)

ถิ่นกำเนิดและประวัติความเป็นมา

จำปาดะเป็นไม้ผลยืนต้นอยู่ในวงศ์ Moraceae ซึ่งอยู่ในวงศ์เดียวกับขนุน (A. heterophyllus Lam.) หรือ Jackfruit และ สาเก (A. altilis (Parkinson) Fosberg) หรือ Breadfruit มีถิ่นกำเนิดอยู่ในคาบสมุทรมลายู อินโดนีเซีย และเกาะนิวกินี ผลจำปาดะสามารถทำอาหารได้หลากหลาย มีกลิ่นแรงหอมเฉพาะตัว ทั้งกินเป็นผลไม้สด ชุบแป้งข้าวเจ้าแล้วทอดซึ่งเป็นที่นิยมในภาคใต้ของไทย สิงคโปร์ และมาเลเซีย เมล็ดนำไปต้มให้สุกรับประทานได้ หรือใส่ในแกงไตปลาแทนผัก ผลอ่อนต้มกับกะทิใช้เป็นผักรับประทานกับน้ำพริก ผลอ่อนนำไปแกง เนื้อไม้สีเหลืองหรือสีน้ำตาลใช้ทำเครื่องเรือนและต่อเรือ เปลือกลำต้นใช้ฟั่นเชือก

ลักษณะทั่วไป

ไม้ยืนต้นคล้ายขนุน มียางสีขาวขุ่น ใบสีเขียวเป็นมัน ผลคล้ายขนุนแต่เล็กและยาวกว่า ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางผล 12-15 เซนติเมตร ยาว 25-30 เซนติเมตร ผลดิบเปลือกแข็ง มียางสีขาวขุ่นแทรกซึมอยู่ตามเปลือก ผลสุกเปลือกนิ่มและมียางน้อยลง ยวงติดกับแกนไส้ เนื้อยวงเหลว เนื้อมีเส้นใยมาก กลิ่นหอมแรงและรสหวานจัด ในแต่ละยวงมีเมล็ด 1 เมล็ด ลำต้น เป็นไม้ผลยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดใหญ่ มีการแตกกิ่งก้านสาขาจำนวนมาก เป็นทรงพุ่มทึบ ความสูงของลำต้นมากกว่า 10 เมตร เปลือกของลำต้นสีน้ำตาลปนเทา ภายในเปลือกมีน้ำยางสีขาวขุ่น บริเวณกิ่งอ่อนจะมีขนอ่อนๆ ขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วกิ่ง ใบ ลักษณะรูปไข่ สีเขียวเป็นมัน บนใบมีขนสีน้ำตาลขนาดเล็กปกคลุม ใบกว้าง 2.5 – 12 เซนติเมตร ยาว 5 – 12 เซนติเมตร ดอก สีขาวหรือสีเหลือง มักออกมาตามลำต้นและบริเวณกิ่งขนาดใหญ่ จัดเป็นดอกแยกเพศร่วมต้น (dioecious) ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอยู่ในต้นเดียวกัน ลักษณะดอกเพศผู้เป็นทรงกระบอกยาว ดอกเพศเมียเป็นทรงกระบอกป้อม ผล ลักษณะกลมยาวคล้ายผลขนุนแต่มีขนาดเล็กกว่า เส้นผ่านศูนย์กลางผล 11 – 18 เซนติเมตร ความยาวผล 20 – 40  เซนติเมตร เปลือกผลเมื่อยังอ่อนอยู่จะมีสีเขียว แข็ง มีหนามตื้น และมียางสีขาวขุ่นมาก ผลสุกเปลือกผลจะนิ่มเป็นสีเหลืองอมน้ำตาล มียางสีขาวน้อยลง มีกลิ่นหอมรุนแรง ภายในผลมีเนื้อสีเหลืองติดกับแกนกลางผล ผลเริ่มสุกช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม เนื้อผลสุกมีเส้นใยยาว เหนียว สุกจัดเนื้อจะเละ รสหวานจัดและกลิ่นแรง น้ำหนักผล 1 – 5 กิโลกรัม เปอร์เซ็นต์เนื้อ 10-40 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักผล ผลที่มีคุณภาพดีมักจะอยู่บริเวณโคนกิ่ง เมล็ด ภายในเนื้อผลมีเมล็ดลักษณะกลมรี เปลือกหุ้มเมล็ดสีน้ำตาล เนื้อภายในเมล็ดมีลักษณะเป็นแป้งสีขาว มียางเล็กน้อย

พันธุ์และการขยายพันธุ์

พันธุ์ : จำปาดะสายพันธุ์ ตง.3 เป็นจำปาดะพื้นบ้านที่มีลักษณะผลผลิตดี ชื่อเดิม ยุมทองกระโสม เป็นพันธุ์คัดเลือกช่วงปี 2535-2540 ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเสียบยอดและนำมาปลูกในแปลงรวบรวมพันธุกรรมไม้ผลพื้นเมืองของศูนย์วิจัยพืชสวนตรังปี 2543 ในปี 2558 คัดเลือกเป็นรหัสต้น ตง.3 และขยายพันธุ์ด้วยวิธีเสียบยอดและนำมาปลูกใหม่ในแปลง ตัดแต่งกิ่งสร้างทรงพุ่ม และปฏิบัติดูแลเพื่อให้สมบูรณ์เพื่อประเมินศักยภาพการผลิตเชิงการค้า ลักษณะประจำพันธุ์ ผิวลำต้นแบบหยาบ รูปร่างทรงพุ่มแบบพีระมิด การแตกกิ่งแบบกระจาย ความหนาแน่นกิ่งแบบประปราย รูปแบบการแตกกิ่งแบบเวียน การแตกยอดใหม่ในแต่ละปีน้อย ใบ ใบรูปรี ปลายใบเรียวแหลม ฐานใบรูปลิ่ม ขอบใบเป็นคลื่น หลังใบสีเขียวอ่อน ขนด้านหลังใบแบบเกลี้ยง ขนด้านท้องใบแบบเกลี้ยง ขนบนเส้นกลางใบแบบประปราย ความยาวใบ 11.60 เซนติเมตร ความกว้างใบ 6.20 เซนติเมตร ก้านใบรูปร่างกลม ก้านใบยาว 1.60 เซนติเมตร ไม่ปรากฏร่องบนก้านใบ ก้านใบมุมป้าน ผล ผลยาว 22.47 เซนติเมตร กว้าง 12.83 เซนติเมตร ความหนาเปลือก 0.56 เซนติเมตร ความยาวก้านผล 7.50 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางก้านผล 0.94 เซนติเมตร น้ำหนักผล 1.83 กิโลกรัม น้ำหนักเปลือก 0.63 กิโลกรัม น้ำหนักแกนกลางผล 0.12 กิโลกรัม จำนวนยวง 36.00 ยวง เมล็ดกว้าง 2.57 เซนติเมตร เมล็ดยาว 3.17 เซนติเมตร สีเปลือกหุ้มเมล็ดเขียว (GO164A) สีเมล็ดเหลือง (YW158A) สีเนื้อเหลือง (YG12C) เปอร์เซ็นต์เนื้อ 30.79 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ทั้งหมด (TSS) 25.3 เปอร์เซ็นต์ อายุเก็บเกี่ยว 128 วันหลังดอกบาน

ลักษณะดีเด่น ด้านการบริโภค หวาน กลิ่นหอมแรง เนื้อล่อนจากเมล็ดง่าย เนื้อหนา เนื้อแห้ง และมีเส้นใยน้อย

การขยายพันธุ์  จำปาดะสายต้น ตง.3 ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ติดตา ทาบกิ่ง และเสียบยอด หากใช้วิธีเพาะจากเมล็ดมักจะกลายพันธุ์และให้ผลผลิตได้ในปีที่ 6 ขึ้นไป ในการขยายพันธุ์เพื่อผลิตเชิงการค้านิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเสียบยอด และทาบกิ่ง ซึ่งจะได้ลักษณะตรงตามพันธุ์และให้ผลผลิตเร็วขึ้นในประมาณปีที่ 3 จำปาดะสามารถปลูกได้ในทุกพื้นที่ แต่จะเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่มีความอุดมสมบูรณ์ สามารถระบายน้ำและอากาศได้ดี เนื้อดินที่ปลูกมีความลึก มีฝนตกชุก แต่ไม่ชอบสภาพน้ำขัง

วิธีการปลูก

  1. การเตรียมพื้นที่ปลูก จำปาดะเป็นพืชที่ต้องการน้ำมากในช่วงพัฒนาการทางลำต้นช่วงแรก และสามารถทนทานต่อสภาวะแห้งแล้งได้ดีเมื่อต้นมีอายุมากขึ้น แต่ระบบรากไม่ทนทานต่อการท่วมขังของน้ำ ดังนั้นการวางแผนปลูกจำปาดะในพื้นที่ลุ่มและน้ำท่วมถึงทุกปีจำเป็นต้องยกคันดินให้สูง เพื่อหลีกเลี่ยงน้ำท่วมขังและช่วยระบายน้ำออกจากดินช่วงฤดูฝน ขนาดคันดินกว้าง 4 – 6 เมตร ส่วนความยาวขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่และความสะดวกในการเข้าจัดการแปลงและการให้น้ำ ความสูงของคันดินไม่ควรสูงเกินไปเนื่องจากต้องให้น้ำปริมาณมากในช่วงฤดูแล้ง เตรียมคันดินปลูกโดยการปรับปรุงดินให้ร่วนซุยโดยการขุดตากดิน ใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เศษอินทรีย์วัตถุต่างๆ หมักไว้ให้มีการย่อยสลายอย่างดีก่อนปลูก พื้นที่น้ำท่วมไม่ถึงหรือที่ดอน ถ้าเป็นพื้นที่ๆ เคยปลูกพืชมาก่อนไม่จำเป็นต้องเตรียมดินมาก อาจมีเพียงปรับปรุงหน้าดิน โดยการไถพรวน ใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก ส่วนที่เป็นป่าเปิดใหม่ต้องถางที่ให้โล่งเตียน ไม่ให้มีไม้อย่างอื่นปนอยู่ พื้นที่แบบนี้มักจะมีสภาพดินร่วนซุยดีและมีอินทรียวัตถุสูงและไม่จำเป็นต้องปรับปรุงดินมาก แต่ในพื้นที่ที่เป็นทราย มีอินทรียวัตถุค่อนข้างน้อยควรใส่อินทรีย์วัตถุที่มีอยู่ในท้องถิ่นเพิ่ม เช่น มูลสัตว์ เศษใบไม้ใบหญ้าแห้ง กากถั่ว เปลือกถั่ว เป็นต้น หรือปลูกพืชตระกูลถั่วแล้วไถกลบให้ต้นถั่วสลายตัวผุพังอยู่ในดิน เป็นต้น
  2. การเตรียมหลุมปลูก การปลูกทั้งแบบยกคันดินและแบบปลูกในที่ดอน ควรวางแผนปลูกเป็นแถวเพื่อสะดวกในการปฏิบัติดูแล และการปฎิบัติงานภายในสวน ทั้งเรื่องของการให้น้ำ การจัดการโรคและแมลง เป็นต้น โดยปลูกด้วยระยะห่างระหว่างต้นและแถวเป็น 8-10 x 8-10 เมตร ขึ้นอยู่กับขนาดทรงพุ่มของแต่ละพันธุ์ โดยจะใช้จำนวนต้นกล้าจำปาดะ 16 – 25 ต้นต่อไร่ ให้ผลผลิตประมาณ 150 – 200 ผลต่อต้น เตรียมหลุมปลูกโดยขุดหลุมให้มีความกว้าง x ยาว x ลึก ขนาด 50 – 100 เซนติเมตร โดยพิจารณาขนาดหลุมจากสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดินปลูก ถ้าดินมีสภาพร่วนซุย มีอินทรีย์วัตถุมาก ขุดหลุมขนาด 50 เซนติเมตรก็เพียงพอ ส่วนดินที่มีสภาพไม่ดี มีอินทรีย์วัตถุน้อย ให้ใช้หลุมที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อจะได้ใช้วัสดุปรับปรุงดินเพิ่มในหลุมปลูกได้มากขึ้น ดินที่ขุดขึ้นมาจากหลุมนั้นให้แยกเป็นสองกอง คือดินชั้นบนกองหนึ่งและดินชั้นล่างอีกกองหนึ่ง ตากดินที่ขุดขึ้นมาประมาณ 15-20 วัน หากดินปลูกค่อนข้างมีสภาพเป็นกรดให้รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยร็อกฟอสเฟต (0-3-0) อัตรา 300 – 500 กรัมต่อหลุม แล้วผสมดินทั้งสองกองนั้นด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก กลบดินลงในหลุมโดยให้ดินชั้นบนลงไว้ก้นหลุมและดินชั้นล่างกลบไว้ด้านบน ดินที่กลบลงไปจะสูงเกินปากหลุม ให้ปล่อยทิ้งไว้ให้ดินยุบตัวดีก่อนทำการปลูกต้นกล้าจำปาดะ
  3. วิธีการปลูกและปฏิบัติดูแล การปลูกไม่ว่าจะปลูกด้วยกิ่งตอน กิ่งทาบ ต้นติดตา หรือต้นที่เพาะเมล็ด ต้องตรวจดูว่ารากที่อยู่ด้านล่างของภาชนะเพาะจับตัวกันแน่นหรือขดอยู่หรือไม่ ถ้ารากขดตัวแน่นต้องตัดปลายรากส่วนนี้ออก ถ้ารากอัดกันแน่นในดินให้ใช้มือแยกดินออกจากกันเล็กน้อย และค่อยๆ คลี่รากที่ม้วนไปมาให้แยกจากกัน เพื่อต้นกล้าจะได้เจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องและไม่ชะงัก วิธีการปลูกด้วยจากต้นกล้าที่ขยายพันธุ์แบบต่างๆ ดังนี้

1) การปลูกด้วยกิ่งตอน ให้กลบดินเสมอดินเดิมในภาชนะ หรือให้เหลือจุกมะพร้าวที่ใช้ในการตอนโผล่อยู่ อย่ากลบดินจนมิดจุกมะพร้าวเพราะทำให้ต้นเน่าได้ง่าย

2) การปลูกด้วยกิ่งทาบหรือต้นติดตา อย่ากลบดินจนมิดรอยต่อหรือรอยติดตา ให้ปลูกในระดับเดียวกับดินในภาชนะเดิมหรือสูงกว่าเดิมเพียงเล็กน้อย เพื่อลดการเข้าทำลายของโรคทางดินผ่านทางรอยแผลและช่วยให้ง่ายต่อการเลือกตัดกิ่งแขนงของต้นตอออก

3) การปลูกด้วยต้นที่เพาะเมล็ด เป็นวิธีการปลูกแบบดั้งเดิมที่ต้นจำปาดะจะกลายพันธุ์จากพันธุ์เดิม ใช้เวลา 6 – 8 ปี ในการให้ผลผลิต และอาจได้ต้นใหม่ที่มีลักษณะผลที่ดีกว่าเดิมหรือด้อยกว่าเดิมก็ได้ แต่เป็นการขยายพันธุ์อีกวิธีหนึ่งที่ต้องการระบบรากแข็งแรง ยึดเกาะในดินได้ตั้งแต่ช่วงแรกของการงอก มักจะปลูกต้นกล้าเพาะเมล็ดในดินที่มีสภาพแปลงดินที่มีน้ำท่วมขังบ่อยหรือดินอ่อนตัวมากเพื่อให้มีระบบรากแข็งแรง แล้วจึงทำการเปลี่ยนยอดหรือติดตาด้วยจำปาดะพันธุ์ดีในภายหลัง

เมื่อปลูกเสร็จให้หาไม้มาปักเป็นหลักผูกต้นกันลมโยก โดยใช้เชือกผูกแบบไขว้เพื่อป้องกันลำต้นเสียดสีกับไม้หลัก แล้วรดน้ำทันที ใช้ทางมะพร้าวหรือตาข่ายพรางแสงช่วยคลุมแดดในระยะแรก เพราะถ้าโดนแสงแดดจัดต้นจะเฉา ชะงักการเจริญเติบโต และผิวเปลือกต้นจะแห้งล่อนเป็นแผ่นทำให้ต้นเสียหาย คอยดูแลให้น้ำอย่างสม่ำเสมอตามสภาพอากาศ การใช้ฟางหรือหญ้าแห้งคลุมบริเวณโคนต้นจะช่วยรักษาความชื้นของดินได้ดี

การดูแลรักษา

  1. การให้น้ำ สัปดาห์แรกหลังจากปลูกถ้าฝนไม่ตกควรรดน้ำทุกวัน หลังจากนั้นรดน้ำ 3-4 วันต่อครั้ง โดยพิจารณาจากความชื้นของดินปลูก และดูแลให้น้ำกับต้นจำปาดะจนอายุถึง 1 ปี ซึ่งต้นจำปาดะเริ่มตั้งตัวได้จึงสามารถลดปริมาณน้ำลง โดยปกติจำปาดะเป็นพืชที่ทนแล้งอยู่แล้ว แต่การดูแลรดน้ำอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้ต้นจำปาดะมีการเจริญเติบโตอย่างสม่ำเสมอและให้ผลผลิตดี การงดน้ำในช่วงก่อนออกดอก 1-2 สัปดาห์ มีวัตถุประสงค์ให้ระบบรากแห้งเพื่อกระตุ้นการออกดอกที่พร้อมกันและสม่ำเสมอทั้งต้น เมื่อดอกบานและติดผลแล้วจึงให้น้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อบำรุงผลให้เติบโตและมีคุณภาพ
  2.   การให้ปุ๋ย จำปาดะสามารถปลูกได้ในดินทั่วไปแม้มีธาตุอาหารต่ำ แต่ถ้าดินนั้นอุดมสมบูรณ์มีธาตุอาหารเพียงพอก็จะเจริญได้ดี มีผลจำนวนมากและมีคุณภาพ การปรับปรุงดินให้ร่วนซุยและการเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดินจึงมีความจำเป็น ปุ๋ยที่ใช้แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

2.1 ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น มูลสัตว์แห้ง ใบไม้ใบหญ้าที่ผุพัง ปุ๋ยพืชสด เป็นต้น มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มธาตุอาหารรองและปรับปรุงโครงสร้างดิน ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ช่วงแรกในการเตรียมดิน อัตรา 5 – 10 กิโลกรัมต่อหลุม และให้เพิ่มตามจำนวนปี ปีละ 1-2 ครั้ง

2.2 ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ เป็นปุ๋ยที่ให้ประโยชน์แก่พืชอย่างรวดเร็วและมีธาตุอาหารหลักและรองตามปริมาณที่ระบุ โดยมีการใช้ปุ๋ยแบ่งตามระยะที่สำคัญ 6 ระยะ ดังนี้

1) ระยะต้นกล้า ช่วงเตรียมต้นกล้าก่อนย้ายปลูก ใช้ปุ๋ยสูตร 46-0-0 อัตรา 25-50 กรัม ผสมกับน้ำ 20 ลิตร รดเดือนละ 2 ครั้ง  เพื่อบำรุงต้นกล้าให้มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว

2) ระยะต้นกล้าหลังย้ายปลูกถึงอายุ 3 ปี (ก่อนให้ผลผลิต) ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 0.5-2.0 กิโลกรัมต่อต้น ทุก 3-4 เดือน ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ ปีละ 1 – 2 ครั้ง เพื่อกระตุ้นให้มีการแตกกิ่งใบใหม่ทำให้ต้นสมบูรณ์

3) ระยะเตรียมต้นก่อนออกดอก 2-3 เดือน ใช้ปุ๋ยสูตร 12-24-12 หรือ 8-24-24 อัตรา 0.5กิโลกรัมต่อต้น  เพื่อส่งเสริมการสะสมอาหารก่อนการออกดอกของจำปาดะ

4) ระยะติดผล หลังจากการผสมเกสรและติดผล จำปาดะมีการแบ่งเซลล์และขยายขนาดของเซลล์อย่างรวดเร็วเพื่อเพิ่มขนาดของผล ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 25-7-7 อัตรา 0.5-2.0 กิโลกรัมต่อต้น ช่วงผลขนาดเล็ก จำนวน 1 ครั้ง

5) ระยะก่อนการเก็บเกี่ยว 12 เดือน ใช้ปุ๋ยสูตร 13-13-21 หรือ  0-0-50 อัตรา 0.5-1.0 กิโลกรัมต่อต้น เพื่อเพิ่มคุณภาพของผลผลิตจำปาดะให้มีรสชาติดี

6) ระยะหลังการเก็บเกี่ยว ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 0.5-2.0 กิโลกรัมต่อต้น ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์เพื่อกระตุ้นให้มีการแตกกิ่งใบใหม่และทำให้ต้นสมบูรณ์

  1. การสร้างทรงพุ่มและการจัดการกิ่งช่วงแรก การสร้างทรงพุ่มในช่วงแรกของการเจริญเติบโตมีความสำคัญต่อการปลูกจำปาดะ เนื่องจากจำปาดะจะสร้างช่อดอกบริเวณลำต้นและด้านล่างของกิ่งที่มีขนาดใหญ่ ดังนั้นควรมีการสร้างกิ่งให้มีความสมบูรณ์และจัดเรียงกิ่งรอบลำต้นไม่ซ้อนทับกัน ควบคุมทรงพุ่มให้สูงไม่เกิน 10 เมตร และตัดแต่งกิ่งขนาดเล็กภายในทรงพุ่มออก
  2. การควบคุมการออกดอก ติดผล ต้นจำปาดะระยะที่ให้ผลผลิตแล้ว จำเป็นต้องมีช่วงแห้งแล้งเพื่อชักนำให้ออกดอก ปฏิบัติในช่วงก่อนออกดอก 1-2 สัปดาห์ โดยงดการให้น้ำและกวาดสิ่งปกคลุมรอบโคนต้นให้โปร่ง เมื่อจำปาดะเริ่มแทงช่อดอกและติดผลแล้วจึงเริ่มให้น้ำ และให้น้ำอย่างสม่ำเสมอจนถึงก่อนช่วงเก็บเกี่ยว จะช่วยให้ผลเจริญเติบโตสมบูรณ์และป้องกันผลแตกจากการได้รับน้ำฝนที่ตกกระทันหัน ก่อนการเก็บเกี่ยวผล 1 เดือนควรงดการให้น้ำเพื่อเพิ่มคุณภาพและรสชาติของจำปาดะ
  3. การห่อผล การห่อผลจำปาดะมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันแมลงเจาะทำลายผลและเพื่อให้ผิวผลสะอาด วัสดุที่ใช้ห่อผลนิยมใช้ใบมะพร้าวสานที่เรียกว่า “โคระ”  หรือใช้กระดาษถุงปูนหรือถุงอาหารสัตว์โดยเปิดก้นถุงออกแล้วคลุมผลจำปาดะให้ปากถุงผูกติดกับก้านผล ควรเริ่มห่อผลเมื่ออายุ 1 เดือนหลังดอกบาน
  4.   การเก็บเกี่ยว ใช้หลักเกณฑ์การเก็บเกี่ยว คือ 1) การนับอายุหลังดอกบาน จำปาดะใช้เวลาประมาณ 110 – 120 วัน ขึ้นอยู่กับพันธุ์ที่ทำให้อายุการเก็บเกี่ยวแตกต่างกันออกไป ส่วนจำปาดะขนุนใช้เวลาประมาณ 150 วัน  2) สังเกตบริเวณขั้วผล จะเริ่มพองออกและเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล 3) ใบที่ติดอยู่บริเวณขั้วผลเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล 4) ตาหนามที่เจริญขยายห่าง และผิวของผลเป็นสีเหลืองมากขึ้น 5) ใช้มีดกรีดที่ขั้วผล ถ้าผลแก่จะมียางไหลออกมาน้อยและมีลักษณะข้นเหนียว ให้ทำการเก็บเกี่ยวโดยใช้กรรไกรหรือมีดตัดขั้วผลที่ติดกับลำต้นหรือกิ่ง
  5. การตัดแต่งกิ่งหลังเก็บเกี่ยว การตัดแต่งกิ่งหลังเก็บเกี่ยว มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้โครงสร้างของลำต้นและกิ่งแข็งแรงพร้อมที่จะติดผลผลิตในฤดูกาลถัดไป การปฏิบัติสำหรับการตัดแต่งกิ่งควรตัดกิ่งกระโดง กิ่งในทรงพุ่ม กิ่งคดงอ กิ่งชี้ลง กิ่งไขว้ และกิ่งเป็นโรคออก การตัดแต่งกิ่งภายในทรงพุ่มควรให้โปร่งจนแสงส่องผ่านลงไปถึงโคนต้นได้

โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ

โดยทั่วไปจำปาดะไม่ค่อยมีโรคและแมลงเข้าทำลายมากนัก แต่หากไม่มีการจัดการหรือปล่อยละเลยต้นจำปาดะก็สามารถเสียหายได้มากเช่นกัน โรคและแมลงที่สำคัญของจำปาดะ คือ

  1. โรคจากเชื้อรา เกิดบริเวณดอกและผลอ่อน เน่าเป็นสีดำร่วงหล่นเสียหาย การป้องกันให้ฉีดด้วยยากันเชื้อราช่วงระยะผลอ่อน และมีการจัดการทรงพุ่มให้ได้รับแสงแดดทั่วถึงในทรงพุ่ม ต้นโปร่ง การบำรุงรักษาต้นให้แข็งแรง ดูแลทำความสะอาดสวนอยู่เสมอ ตัดกิ่งที่เป็นโรคทิ้งอยู่เสมอ
  2. โรคจากเชื้อแบคทีเรีย ต้นแห้งตายจากการทำลายของเชื้อ Erwinia nigrifluens ที่พบการระบาดมากช่วงฝนตกชุกระหว่างเดือนตุลาคมถึงธันวาคมที่มีความชื้นสัมพัทธ์อากาศมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ การเข้าทำลายของเชื้อฤดูฝนจะสร้างความเสียหายให้แก่ต้นจำปาดะมากกว่าฤดูแล้ง พบเชื้อแบคทีเรียก่อโรคแพร่กระจายอยู่เฉพาะในส่วนของท่อลำเลียงอาหาร (phloem) และไม่พบอยู่ในท่อลำเลียงน้ำ (xylem) ลักษณะอาการที่ปรากฏเด่นชัดภายนอกของต้นจำปาดะ คือ มียางสีขาวไหลออกมาจากระบบท่อลำเลียงหยดติดอยู่ที่ผิวเปลือกในระยะแรก และยางจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำ แผลบริเวณเปลือกต้นขยายลุกลาม เปลือกต้นแตก ใบเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ใบร่วง ใต้เปลือกปรากฏริ้วรอยแผลเป็นสีน้ำตาล ใช้เวลาในการทำลาย 2-8 สัปดาห์
  3. แมลงศัตรูจำปาดะที่สำคัญ

       3.1 หนอนเจาะลำต้น เป็นตัวอ่อนของด้วงหนวดยาวเจาะลำต้น (Batocera rufomaculata (De Geer)) พบมากในสวนที่ไม่ค่อยดูแลรักษา ปล่อยให้รก และพบมากในต้นขนุนที่มีอายุมาก ตัวหนอนจะเจาะไชอยู่ตามกิ่ง ต้น สังเกตได้คือรูที่หนอนไชจะมียางขนุนไหลออกมา การกำจัดจะทำได้ลำบาก โดยการเปิดปากรูแล้วใช้สำลีชุบสารกำจัดแมลงอุดเข้าไปในรูแล้วใช้ดินเหนียวอุดปากรูไว้ สารจะระเหยเข้าไปฆ่าหนอนได้ ส่วนกิ่งที่พบว่ามีหนอนไชมากให้ตัดเอาไปเผาทิ้ง ดูแลสวนให้สะอาดอยู่เสมอจะช่วยป้องกันการระบาดของแมลงได้ดี

3.2 แมลงวันผลไม้ จะวางไข่โดยแทงเข้าไปในผลจำปาดะตั้งแต่ระยะผลอ่อน ตัวหนอนที่ฟักจากไข่จะอาศัยและชอนไชอยู่ภายในผล ทำให้ผลเน่าเสียและร่วงหล่นลงพื้น ตัวหนอนจะออกมาเพื่อเข้าดักแด้ในดินแล้วจึงออกเป็นตัวเต็มวัย ในระยะเริ่มแรกจะสังเกตได้ยากอาจพบอาการช้ำบริเวณใต้ผิวเปลือกเมื่อหนอนโตขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้ผลเน่าเละและมีน้ำไหลเยิ้มออกทางรูที่หนอนเจาะออกมา ผลไม้ที่ถูกทำลายมักจะมีโรคและแมลงชนิดอื่นๆ เข้าทำลายซ้ำ ปริมาณแมลงวันผลไม้สูงสุดในช่วงเดือนที่มีผลไม้สุก

การใช้ประโยชน์

จำปาดะเป็นไม้ต้นไม่ผลัดใบสามารถปลูกเป็นร่มเงา เนื้อไม้สีเหลืองสวยงามนิยมทำเฟอร์นิเจอร์และต่อเรือ ผลอ่อนนำไปต้มรับประทานเป็นผัก ผลแก่นำไปแกง ผลสุกรับประทานเนื้อเป็นผลไม้สด หรือนำเนื้อไปชุบแป้งทอด เป็นส่วนผสมของขนมเพื่อให้มีกลิ่นหอม เป็นวัตถุดิบผลิตไวน์ เมล็ดนำไปต้มรับประทานเป็นขนม หรือนำไปแกงกับเครื่องแกงเผ็ด เช่น แกงไตปลา

แหล่งพืชอนุรักษ์

ศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย