ชื่อสามัญ ไข่เน่า
ชื่อวิทยาศาสตร์ Vitex glabrata R.Br.
ชื่ออื่นๆ ขี้เห็น (เลย, อุบลราชธานี), ปลู (เขมร-สุรินทร์), คมขวาน ฝรั่งโคก (ภาคกลาง)
ถิ่นกำเนิดและประวัติความเป็นมา
ไข่เน่า เจริญเติบโตได้ดีในที่แห้งแล้ง โดยจะเริ่มให้ผลผลิตเมื่อมีอายุประมาณ 3-4 ปีหลังการปลูก โดยสามารถพบได้ตามป่าเบญจพรรณและป่าดิบทั่วไป ไข่เน่า เป็นผลไม้บำรุงสมองบำรุงสุขภาพของคนภาคกลาง โดยไข่เน่าจะมีสารแอนโทไซยานินสูง ซึ่งกำลังมีงานวิจัยในญี่ปุ่นและอินเดียว่าช่วยบำรุงสมองและกระดูกได้ เนื่องจากช่วยให้หลอดเลือดไหลเวียนดี จึงทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยในเรื่องโรคซางในเด็กที่ผอมแห้งแรงน้อย ช่วยให้เจริญอาหาร แต่ปัจจุบันต้นไข่เน่าในประเทศไทยมีน้อย และการเพาะปลูกต้องใช้เวลานานถึง 7 ปี จึงจะออกผล ซึ่งโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรกำลังนำไปอนุรักษ์และเพาะปลูก
ลักษณะทั่วไป
ไข่เน่า เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 10-25 เมตร ผิวลำต้นเกลี้ยงเป็นสีหม่นและมีด่างเป็นดวงสีขาว ๆ ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าเปลือกมีสีเทาหรือสีน้ำตาลแกมสีเหลือง ลักษณะผิวเรียบหรือแตกเป็นสะเก็ด หรือเป็นร่องตื้นตามความยาวของลำต้น ส่วนกิ่งอ่อนและยอดอ่อนจะมีขนนุ่ม กิ่งอ่อนมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม ส่วนต้นเป็นทรงเรือนยอดรูปกรวยแตกกิ่งต่ำ ใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ อยู่เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบย่อยมี 3-5 ใบ ใบมีสีเขียวเข้ม (คล้ายใบงิ้ว) ลักษณะคล้ายรูปไข่กลับ หรือเป็นรูปรีแกมรูปไข่กลับ ใบมีขนาดไม่เท่ากัน ปลายใบแหลมเป็นติ่ง ส่วนโคนใบสอบแหลมหรือมน ขนาดของใบกว้างประมาณ 3-10 เซนติเมตรและยาวประมาณ 9-22 เซนติเมตร ผิวใบด้านบนเกลี้ยงมีสีเขียวเข้มและเป็นมัน ส่วนท้องใบมีสีอ่อนกว่า และมีขนสั้นอยู่ประปราย ก้านใบย่อยยาวประมาณ 1-7 เซนติเมตร ส่วนก้านช่อใบจะยาวประมาณ 7-20 เซนติเมตร ดอกไข่เน่า ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกมีขนาดเล็กและมีกลิ่นหอม กลีบดอกมีสีม่วงอ่อน (หรือสีม่วงอมชมพู สีขาวมีแดงเรื่อ ๆ) กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดกว้าง และมีขนละเอียดที่ดอก ดอกเมื่อบานเต็มที่จะมีความกว้างประมาณ 0.8-1 เซนติเมตร โดยดอกจะเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศผสมตัวเองหรือต่างต้นต่างดอกก็ได้ และจะออกดอกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ผลไข่เน่า หรือ ลูกไข่เน่า ผลมีลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปไข่กลับ ผลมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร ขั้วผลเป็นรูปกรวยกว้าง ผลอ่อนมีสีเขียว ส่วนผลสุกจะเป็นสีม่วงดำ ผลมีเนื้ออ่อนนุ่ม และมีรสหวานอมเปรี้ยวและเหม็น ส่วนเมล็ดไข่เน่าจะมีขนาดเท่าปลายนิ้วก้อย และยังมีการสันนิษฐานว่า ชื่อไข่เน่านี้คงมาจากลักษณะและสีของผลนั่นเอง โดยผลแก่จะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม
พันธุ์และการขยายพันธุ์
การขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด และการตอนกิ่ง
วิธีการปลูก
- การปลูกโดยการใช้เมล็ด ให้นำเมล็ดไข่เน่าสุกที่รับประทานแล้วหรือแกะเนื้อออกแล้ว มาล้างให้สะอาดและผึ่งให้แห้งประมาณ 1 วัน หลังจากนั้นแกะเปลือกของเมล็ดข้างนอกออก ซึ่งเปลือกของเมล็ดข้างนอกจะค่อนข้างแข็ง ต้องใช้ความระมัดระวังในการแกะเปลือก หลังจากได้เมล็ดข้างในออกมา ก็มาจัดเตรียมดินเพื่อเพาะเมล็ด หลัง
- จากนั้นนำเมล็ดลงในดินโดยไม่ต้องกลบดินลึกมาก หลังจากนั้นรดน้ำทุกวัน วันละ 2 ครั้งเช้า-เย็น รอจนต้นกล้างอกออกมาจนต้นกล้าแข็งแรง แล้วนำไปปลูกลงดินอีกครั้งในการปลูกควรเลือกพื้นที่ที่มีบริเวณกว้าง เนื่องจากเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ต้องการพื้นที่ ถ้าปลูกในพื้นที่ 1 ไร่ ควรปลูกห่างกันในระยะ 5×5 เมตร
- การเตรียมดินปลูก ทำการขูดหลุมขนาด 50×50 เซนติเมตร นำดินขุดมาผสมแกลบดำและปุ๋ยคอกหรืออาจผสมปุ๋ยละลายช้า (สูตร13-13-13) ในอัตราส่วน 2:1:1 จากนั้นนำดินผสมรองก้นหลุมใส่ปุ๋ยละลายช้าประมาณ 100 กรัม นำต้นกล้าลงปลูกในหลุมที่เตรียมไว้ นำดินที่ผสมที่เหลือกลบหลุมให้มิดเหลือพื้นที่ Root Zone เพื่อระบายอากาศ แล้วรดน้ำให้ชุ่ม
การดูแลรักษา
ต้นไข่เน่าเป็นไม้ยืนต้นมีอายุยืนมากกว่า 100 ปี เมื่อต้นมีอายุมากกว่า 5 ปีขึ้นไป จึงไม่ต้องให้การดูแลเอาใจใส่มากนักสามารถรดน้ำสัปดาห์ละครั้งได้ ทำโคนต้นรักษาความชื้นให้สม่ำเสมอ แต่ในช่วง 1- 5 ปีควรให้น้ำสัปดาห์ละ 3 วัน การใส่ปุ๋ยคอกเดือนละ 2 ครั้ง คลุมโคนต้นด้วยเศษหญ้า เศษใบไม้
โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ
เพลี้ยแป้ง หนอนและแมลงทำลายทางใบ
การใช้ประโยชน์
- ผลสุกใช้รับประทานสดเป็นผลไม้ได้ แต่จะมีรสหวานเอียน ไม่อร่อยนัก หากใส่เกลือป่นหรือจิ้มเกลือก็จะทำให้มีรสชาติดีขึ้น หรือจะคลุกเคล้ากับเกลือแล้วนำไปผึ่งแดดเก็บไว้รับประทาน หรือจะรับประทานแบบสด ๆ หรือนำไปดองน้ำเกลือก็ได้เช่นกัน ผลไข่เน่ายังสามารถนำไปทำเป็นขนมที่เรียกว่า “ขนมไข่เน่า” ได้ด้วย โดยวิธีการทำก็คล้ายกับการทำขนมกล้วย แต่เปลี่ยนจากกล้วยเป็นไข่เน่า ด้วยการหยอดใส่ใบตองทรงกรวยแหลม แล้วเอามะพร้าวขูดโรยหน้าก่อนจะนำไปนึ่ง
- ต้นไข่เน่าเป็นไม้ยืนต้นที่มีอายุยืนยาวนับร้อยปี โดยจะนิยมปลูกไว้เพื่อเป็นร่มเงาเนื่องจากไม่ผลัดใบ เนื้อไม้ของต้นไข่เน่ามีความแข็งแรง สามารถนำมาใช้ทำเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องเรือน หรือเฟอร์นิเจอร์ได้
- เปลือกต้นไข่เน่า จะมีสารจำพวกสเตีอรอยด์ (Steroid) ที่มีชื่อว่า sitosterol และ ecdysterone และ anguside (p-hydroxybenzoic ester of aucubin ช่วยรักษาพิษตาน ซาง แก้ไข้ แก้เด็กถ่ายเป็นฟอง ขับพยาธิในเด็กที่มีอาการเบื่ออาหาร (โรคตานขโมย)
- ราก ช่วยรักษาอาการท้องร่วง ใช้ขับพยาธิไส้เดือน
- เปลือกผล ช่วยรักษาโรคกระเพาะ หรือโรคลำไส้อักเสบของเด็กทารก
- ต้น ช่วยแก้เลือดตกค้าง
- ผล เปลือกผล ช่วยแก้โรคเกล็ดกระดี่ขึ้นนัยน์ตา
- ราก เปลือกต้น มีรสฝาด ช่วยแก้อาการท้องเสีย แก้บิด ทำให้เจริญอาหาร
แหล่งพืชอนุรักษ์
ศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย