Search for:

ชื่อสามัญ  ลิ้นจี่

ชื่อวิทยาศาสตร์ Litchi chinensis Sonn.

ชื่ออื่นๆ Litchi,  lichee,  Laichi,  Lerchee  และ  Lychee  ชาวอินเดีย  เรียกลิ้นจี่ว่า  ลิทจี  ชาวเขมร  เรียกลิ้นจี่ว่า ตะเสรเมือน  ซึ่งแปลว่า  ลูกหงอนไก่  คนไทยในแถบภาคตะวันออก  เช่น  ตราด  จันทบุรี  และระยอง เรียกลิ้นจี่ว่า  สีรามัน

ถิ่นกำเนิดและประวัติความเป็นมา

ลิ้นจี่เป็นไม้ผลที่มีแหล่งปลูกดั้งเดิม  อยู่ที่ทางตอนใต้ของแถบมณฑลกวางเจาประเทศจีน  เสฉวนและ        ยูนาน ปัจจุบันปลูกกันอย่างแพร่หลายในภาคเหนือของประเทศไทย  ส่วนมากเป็นพันธุ์ที่มาจากจีน  เช่น  พันธุ์ฮงฮวย  พันธุ์กิมเจง  พันธุ์โอเฮียะ  พันธุ์จุดบี้  และพันธุ์หน่อมีจือ

ลักษณะทั่วไป

ต้น  ต้นเพาะเมล็ดสูงตรงและมีรากแก้ว ต้นกิ่งตอนมีทรงพุ่มแผ่กว้างและมีรากฝอย ต้นสูง 9-15 เมตร ทรงพุ่มกว้าง 5-10 เมตร เปลือกลำต้นสีน้ำตาลหรือสีเทาปนน้ำตาล แตกเป็นสะเก็ดและมีร่องขรุขระ กิ่งกลม และเนื้อไม้มักเปราะหักง่าย

ใบ  จัดเป็นใบประกอบที่มีใบย่อยบนก้านใบร่วมกัน มีปลายใบเป็นคู่หรือใบเดี่ยว มีใบย่อย 4-10 ใบ ใบย่อยมีรูปร่างรีหอกกลับ รีค่อนข้างกว้างและรีค่อนข้างแคบ ขอบใบมักเรียบไม่มีหยัก ฐานใบย่อยรูปลิ่ม ปลายใบย่อยมีทั้งมน แหลม หรือเรียวแหลม แผ่นใบมักเรียบและเป็นคลื่นเล็กน้อย เนื้อใบมีทั้งคล้ายกระดาษและคล้ายแผ่นหนัง มีเส้นใบแขนงแตกกออกมาจากเส้นกลางใบชัดเจนใบอ่อนสีเขียวอ่อน หรือชมพูปนแดง ใบแก่สีเขียวหรือเขียวเข้ม ผิวใบด้านบนเป็นมันกว่าผิวใบด้านล่าง

ช่อดอก  ต้นเพาะเมล็ดเริ่มออกดอกหลังปลูก 7-8 ปี กิ่งตอนมักออกดอกหลังปลูกแล้ว 3-4 ปี ออกดอกปลายเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม กลุ่มพันธุ์ภาคกลาง เช่น อีไว ไทยเล็ก สีรามัน มักออกดอกเร็วกว่ากลุ่มพันธุ์ภาคเหนือ เช่น ฝาง#11 ช่อดอกมักพัฒนาจากปลายยอดใบซึ่งเจริญเติบโตเต็มที่ แต่บางครั้งก็อาจเกิดจากตาข้างของกิ่งก็ได้ ช่อดอกมีการจัดเรียงดอกโดยก้านช่อดอกหลักแตกก้านช่อดอกแขนงออกไป แล้วแต่ละก้านช่อดอกแขนงก็แตกแขนงย่อยต่ออีกครั้ง ถ้าผ่านอุณหภูมิต่ำมากเพียงพอจะทำให้ช่อดอกพัฒนาสมบูรณ์ไม่มีใบอ่อนหรือมีน้อยมาก ช่อดอกจะใช้เวลาพัฒนา 6-12 สัปดาห์จนดอกดอกใบช่อบานหมด

ดอก  ดอกสีครีมขนาด 6-8 มิลลิเมตร มีกลีบดอก 5 กลีบบางเรียวเล็ก สีขาวหม่น เรียงตัวเยื้องกัน มีกลีบรองดอก 5 กลีบ สีเขียวปนน้ำตาลและแข็ง ฐานกลีบรองดอกมีต่อมน้ำหวาน ดอกได้ 3 ชนิดคือ

4.1 ดอกตัวผู้ มีเกสรตัวผู้ 6-8 อัน เรียงเป็นชั้นเดียวอยู่บนจานรองดอก ก้านเกสรตัวผู้มีขนสีขาวขุ่น ยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร อับเกสรตัวผู้มีสีเหลืองอ่อน มี 2 หยัก และปริแตกตามยาวปลดปล่อยละอองเกสรตัวผู้ในช่วงบ่าย  ละอองเกสรตัวผู้มีสีเหลืองอ่อน รูปยาวรี แล้วเปลี่ยนเป็นสามเหลี่ยมหรือกลมรีเมื่อได้รับความชื้น ละอองเกสรตัวผู้มี 3 ขั้ว แต่ท่อละอองเกสรตัวผู้มักงอกจากขั้วเดียวเท่านั้น

4.2 ดอกกะเทยทำหน้าที่ดอกตัวเมีย รังไข่มีขนปกคลุม มี 2 พู แต่มีเพียงพูเดียวที่พัฒนาเป็นผลสมบูรณ์ อีกพูหนึ่งมักแห้งฝ่อและติดตรงขั้วผล ปลายยอดเกสรตัวเมียแยกเป็น 2 แฉก มีน้ำหวานและพร้อมรับละอองเกสรช่วงเช้าตรู่ มีเกสรตัวผู้ที่มีก้านเกสรสั้น 6-8 อัน ล้อมรอบรังไข่แต่อับเกสรตัวผู้เป็นหมัน

4.3 ดอกกะเทยที่ทำหน้าที่ดอกตัวผู้มีลักษณะคล้ายคลึงดอกกะเทยที่ทำหน้าที่ดอกตัวเมียมาก แต่อับเกสรตัวผู้ไม่เป็นหมัน มีละอองเรณูที่มีชีวิตเหมือนดอกตัวผู้ แต่ดอกชนิดนี้มักไม่ค่อยพบในสภาพธรรมชาติ ช่อดอกมักมีจำนวนดอกตัวผู้มากกว่าดอกกะเทยที่ทำหน้าที่ดอกตัวเมีย สัดส่วนของดอกทั้งสองชนิดนี้ผันแปรไปตามพันธุ์และสภาพแวดล้อมในช่วงที่ดอกพัฒนา นอกจากนี้ดอกทั้งสองชนิดนี้ในช่อดอกเดียวกันมักบานไม่พร้อมกัน และไม่แน่นอน ส่วนใหญ่ดอกตัวผู้เริ่มบานก่อนแล้วตามด้วยดอกกะเทยที่ทำหน้าที่ดอกตัวเมีย ทำให้มีช่วงการบานเหลื่อมกัน แต่ไม่ทราบปัจจัยที่ควบคุมรูปแบบการบาน

ผล  เป็นผลเดี่ยวที่พัฒนาจากรังไข่ของดอกกะเทยที่ทำหน้าที่ดอกตัวเมียซึ่งมีรังไข่สองพู แต่รังไข่เพียงพูเดียวที่พัฒนาเป็นผลสมบูรณ์ รังไข่อีกพูแห้งฝ่อและติดอยู่ที่ขั้วผล น้ำหนักผลเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ในช่วงแรกแล้วเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงต่อมา แล้วคงที่หรือไม่เปลี่ยนแปลงจนเก็บเกี่ยวผล จากเริ่มติดผลจนเก็บเกี่ยวใช้เวลา 4-6 เดือนขึ้นกับพันธุ์และสภาพแวดล้อม ผลมีรูปร่างและขนาดแตกต่างกันตามพันธุ์ เช่น ค่อนข้างกลมหรือกลมแป้น หลังติดผลแล้ว 7-8 วัน เปลือกผลเริ่มพัฒนาจากผนังรังไข่พร้อมกับเมล็ด ต่อมาเมล็ดหยุดพัฒนาแต่เปลือกผลยังพัฒนาต่อจนโตเต็มที่ เปลือกผลสีชมพูอมแดง แดงหรือแดงคล้ำ เปลือกผลอาจเป็นตุ่มหนามแหลมหรือค่อนข้างเรียบ ความหนาของเปลือกแตกต่างตามพันธุ์ เนื้อพัฒนาจากเนื้อเยื่อรอบก้านเมล็ดลงมาโอบจนรอบเมล็ด เนื้อสีขาวขุ่น ความหนาเนื้อและการแฉะน้ำแตกต่างกัน  รสหวานอมเปรี้ยว บางพันธุ์มีรสฝาดหรือกลิ่นหอมเล็กน้อย

เมล็ด  เมล็ดสีน้ำตาลหรือน้ำตาลแก่ รูปร่าง ขนาดและน้ำหนักแตกต่างตามพันธุ์ บางพันธุ์มีเมล็ดโต เช่น พันธุ์กิมจี้ นางลอย แต่บางพันธุ์มีเมล็ดลีบ เช่น พันธุ์เมล็ดลีบ และสยามมรกต

พันธุ์และการขยายพันธุ์

  1. พันธุ์ฮงฮวย

ใบ  :  ใบประกอบกว้าง  26.9  เซนติเมตร  และยาว  24.8  เซนติเมตร  ใบย่อย  3.9  คู่  ใบอ่อนสีเขียวอมเหลือง  ใบแก่สีเขียว  ใบค่อนข้างใหญ่  ใบย่อยกว้าง  4.3  เซนติเมตร  และยาว  14.5  เซนติเมตร  ก้านใบสีเขียวเข้ม  ใบรูปหอก  ขอบใบเป็นคลื่น  ผิวใบเรียบ  ปลายใบแหลม  ฐานใบรูปลิ่ม

ดอก  :  ออกดอกกลางเดือนมกราคม  กว้าง  22.1  เซนติเมตร  และยาว  30.6  เซนติเมตร    ดอกบานกลางเดือนกุมภาพันธ์

ผล  :  ติดผลกลางเดือนมีนาคม  เก็บเกี่ยวผลกลางเดือนพฤษภาคม  ผลป้อมยาวขนาดผลค่อนข้างใหญ่  กว้าง  3.5  เซนติเมตร  และยาว  3.4  เซนติเมตร  น้ำหนักผล  23.0  กรัม  เปลือกค่อมข้างหนา   น้ำหนักเปลือก  3.8  กรัม  เปลือกสีชมพูอมแดง  หนามห่าง  แหลม  และสั้น  น้ำหนักเนื้อ  15.3  กรัม   เนื้อฉ่ำน้ำปานกลาง  สีขาวขุ่น  รสหวานอมเปรี้ยว  มีกลิ่นหอม  ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้  17.7  องศาบริกซ์  ส่วนเนื้อที่รับประทานได้ร้อยละ  66.5

เมล็ด  :  น้ำหนัก  3.9  กรัม  เส้นผ่าศูนย์กลาง  1.4  เซนติเมตร  เมล็ดรียาว สีน้ำตาลแก่

  1. พันธุ์โอเฮียะ

ใบ  :  ใบประกอบกว้าง  30.4  เซนติเมตร  และยาว  24.0  เซนติเมตร  ใบย่อย  2.9  คู่  ใบอ่อนสีแดง  ใบแก่สีเขียวเข้ม  ใบย่อยกว้าง  3.6  เซนติเมตร  และยาว  12.3  เซนติเมตร  ก้านใบสีเขียวเข้ม    ใบรูปรี  ขอบใบเรียบ  ปลายใบเรียวแหลม  ผิวใบเรียบ  ฐานใบแหลม

ดอก  :  ออกดอกกลางเดือนมกราคม  กว้าง  14.4  เซนติเมตร  และยาว  20.9  เซนติเมตร    ดอกบานปลายเดือนกุมภาพันธ์

ผล  :  ติดผลกลางเดือนมีนาคม  เก็บเกี่ยวผลปลายเดือนพฤษภาคม  ผลรูปหัวใจ  ขนาดผลค่อนข้างใหญ่  กว้าง  3.1  เซนติเมตร  และยาว  3.3  เซนติเมตร  น้ำหนักผล  17.5  กรัม  เปลือกค่อนข้างบาง   น้ำหนักเปลือก  3.0  กรัม  เปลือกสีชมพูอมแดงหรือแดงเข้ม  หนามห่าง  แหมล  และสั้นมาก  น้ำหนักเนื้อ  12.0  กรัม  เนื้อฉ่ำน้ำปานกลาง  สีขาวขุ่น  รสหวาน  มีกลิ่นหอม  ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้  17.5  องศาบริกซ์  ส่วนเนื้อที่รับประทานได้ร้อยละ  68.7

เมล็ด  :  น้ำหนัก 2.4  กรัม  เส้นผ่าศูนย์กลาง  1.4  เซนติเมตร  เมล็ดรียาว  สีน้ำตาลแก่

  1. พันธุ์จักรพรรดิ

ใบ  :  ใบประกอบกว้าง  22.4  เซนติเมตร  และยาว  18.4  เซนติเมตร  ใบย่อย  2.9  คู่  ใบอ่อนสีแดง  ใบแก่สีเขียวเข้ม  ใบย่อยกว้าง  3.9  เซนติเมตร  และยาว  11.2  เซนติเมตร  ใบรูปหอก ขอบใบเรียบ    ปลายใบแหลม    ฐานใบรูปลิ่ม

ดอก  :  ออกดอกปลายเดือนมกราคม  กว้าง  14.2  เซนติเมตร  และยาว  21.7  เซนติเมตร   ดอกบานปลายเดือนกุมภาพันธ์

ผล  :  ติดผลปลายเดือนมีนาคม  เก็บเกี่ยวผลต้นเดือนถึงกลางเดือนมิถุนายน  ผลรูปหัวใจ  ปลายผลป้านกลม  ผลขนาดใหญ่  กว้าง  4.4  เซนติเมตร  และยาว  4.5  เซนติเมตร  น้ำหนักผล  32.3  กรัม  เปลือกหนา  น้ำหนักเปลือก  6.1  กรัม  เปลือกสีชมพูหรือแดงเข้ม  หนามห่าง  แหลม  และสั้นมาก  น้ำหนักเนื้อ  21.7  กรัม  เนื้อแฉะน้ำ  สีขาวขุ่น  รสหวาน  หอมเล็กน้อย  ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้  15.1  องศาบริกซ์  ส่วนเนื้อที่รับประทานได้ร้อยละ  67.5

เมล็ด  :  น้ำหนัก  4.4 กรัม  เส้นผ่าศูนย์กลาง  1.8  เซนติเมตร  เมล็ดป้อม  สีน้ำตาล

การขยายพันธุ์

การขยายพันธุ์ลิ้นจี่ทำได้หลายวิธี  เช่น  การเพาะเมล็ด  การตัดชำ  การตอนกิ่ง  การทาบกิ่ง      และการต่อกิ่ง  แต่วิธีการ  ขยายพันธุ์ที่เกษตรกรชาวสวนนิยมมากที่สุด  คือ  การตอนกิ่งเพราะว่าเป็นวิธีการที่ง่าย  และลิ้นจี่เป็นพืชที่ออกรากได้ง่าย

วิธีการปลูก

การเตรียมดิน ดินที่เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตและให้ผลผลิตของลิ้นจี่ ควรเป็นดินที่มีหน้าดินลึก มีอินทรียวัตถุมาก ได้แก่ ดินร่วน ดินร่วนปนทราย มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ ถึงเป็นกลาง คือ มีค่าความเป็นกรดเป็นด่าง ระหว่าง 5-6 และต้องมีการระบายน้ำ ดีและควรมีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลมากกว่า 400 เมตร

การปลูก ระยะปลูก 8 x 8 เมตร (ระยะระหว่างต้น x ระยะระหว่างแถว ) ปลูกได้ 25 ต้น/ไร่ หรือ 10 x 10 เมตร ปลูกได้ 16 ต้น/ไร่

การดูแลรักษา

1.การให้น้ำ การให้น้ำแก่ลิ้นจี่ช่วงต้นเล็กในระยะ 1 -2 ปีแรก การให้น้ำแก่ต้นลิ้นจี่ปลูกใหม่ในระยะ 2 ปีแรก โดยทั่วไปแล้วปริมาณน้ำที่ต้องรดให้แก่ต้นไม้ที่ปลูก ในปีแรกและปีที่ 2 ประมาณ 20 – 60 ลิตร ต่อระยะ 4-5 วัน (รดให้ดินเปียกน้ำกว้าง 0.5 และ 1.0 เมตร)

2.การใส่ปุ๋ย  แบ่งเป็น 3 ระยะ และอัตรา 0.5-1 กก./ต้น/ครั้ง ขึ้นอยู่กับสภาพดินและอายุของต้นลิ้นจี่

ระยะที่ 1 หลังการเก็บเกี่ยวผล ต้องตัดแต่งกิ่งและใส่ปุ๋ยในเดือนพฤษภาคมเพื่อ บำรุงต้นให้เจริญเติบโต และสมบูรณ์ ปุ๋ยเคมีที่ใช้คือสูตร 15-15-15

ระยะที่ 2 เพื่อเตรียมต้นลิ้นจี่ให้พร้อมที่จะ ออกดอกในฤดูกาล การให้ปุ๋ยควรอยู่ในช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม ให้ปุ๋ยสูตร 8-24-24

ระยะที่ 3 การให้ปุ๋ยในระยะติดผล ใช้ปุ๋ยสูตร 13-13-21 อัตรา 1 – 3 กก./ต้น เพื่อผลผลิตมีคุณภาพดี โดยแบ่งใส่ 3 ครั้งคือ ติดผลโต ขนาด 5 มม. ผลโตปานกลาง และผลโตเต็มที่

โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ

 1.โรคใบจุดสนิม อาการ เกิดบนใบแก่ลิ้นจี่ แผลเริ่มแรกเป็นจุดคุยสีเทาอมเขียว ฟูเล็กน้อย เกิดกระจัดกระจายบนใบ ต่อมาจุดจะขยายออกและเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแกมส้ม หรือสีสนิมลักษณะค่อนข้างกลมขนาด 3 – 5 มม. ต่อมาจุดจะแห้งและทำให้ เนื้อเยื่อใบทั้งด้านบนและใต้ใบ บริเวณแผลมีลักษณะสีน้ำตาลดำ ในที่สุดใบที่เป็นโรค จะมีสีซีดเหลืองปนน้ำตาลและใบร่วง

2.แมลง หนอนเจาะขั้วผลลิ้นจี่ เป็นแมลงศัตรูอันดับหนึ่งที่ทำลายผลผลิตของลิ้นจี่ หนอนชนิดนี้มีขนาดลําตัว ยาว 1 ซม. ตัวขาวนวล ในระยะผลอ่อนหนอนเจาะกินที่เนื้อและเมล็ดทําให้ผลอ่อนร่วง เมื่อผลโตหนอนจะกัดกินที่บริเวณขั้วผล ทําให้ผลร่วง

การใช้ประโยชน์

รับประทานผลสด หรือ นำไปอบแห้ง  ซึ่งมีวิตามินซีสูง

แหล่งพืชอนุรักษ์

ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย

<<กลับไปหน้าฐานข้อมูลไม้ผล