Search for:

ชื่อสามัญ ดาหลาพันธุ์ตรัง 5 (Torch ginger, Philippine wax flower, ginger flower, red ginger lily, torch lily)

ชื่อวิทยาศาสตร์ Etlingera elatior (Jack) R.M. Smith

ชื่ออื่นๆกาหลา  กะลา

ถิ่นกำเนิดและประวัติความเป็นมา

ดาหลาจัดเป็นพันธุ์ไม้หายาก ในประเทศไทย พบเฉพาะบริเวณป่าดิบชื้นทางภาคใต้ใกล้พรมแดน มาเลเซีย ที่ระดับความสูง 50-400 เมตร ออกดอกตลอดปี

ลักษณะทั่วไป

ลำต้น มีลำต้นใต้ดินเรียกว่าเหง้า (Rhizome) จะเป็นบริเวณที่เกิดหน่อดอกและหน่อลำต้น ลำต้นดาหลาเป็นลำต้นเทียม (Pseudostem) ที่โผล่เหนือดิน มีลักษณะเป็นกาบใบโอบซ้อนกันแน่นเช่นเดียวกับพวกกล้วย   ลำต้นเหนือดินปกติจะมีสีเขียวเข้ม สูง 3-6 เมตร (ขึ้นอยู่กับลักษณะประจำพันธุ์และสภาพแวดล้อม) ใบ รูปร่างยาวรี กลางใบกว้างแล้วค่อยๆ เรียวไปหาปลายและฐานใบ มีสีเขียว ผิวใบเรียบมันทั้งด้านบนและด้านล่าง ยาวประมาณ 70-90 เซนติเมตร กว้าง 14-20 เซนติเมตร ดอก มีลักษณะเป็นแบบดอกช่อ (Head) ประกอบด้วยกลีบประดับ 2  ขนาด คือ กลีบประดับรอบนอกมีขนาดใหญ่ และกลีบประดับด้านในจะมีขนาดลดลง กลีบดอกเรียงซ้อนจากล่างขึ้นบนเข้าหาศูนย์กลางของดอก ภายในระหว่างกลีบประดับที่เรียงซ้อนกัน จะมีดอกจริงขนาดเล็กเป็นดอกสมบูรณ์เพศอยู่จำนวนมาก ผล มีลักษณะเป็นผลกลุ่ม (Capsule) คล้ายสัปปะรด ผลย่อยแต่ละผลเกิดจากดอกจริงที่แทรกตัวอยู่ระหว่างกลีบประดับ ดอกหนึ่งสามารถติดผลย่อยประมาณ 35-80 ผล แต่ละผลย่อยมีเมล็ดสีดำ ประมาณ 50-64 เมล็ด  ผลเมื่อสุกเต็มที่มีสีเหลืองอมส้ม

พันธุ์และการขยายพันธุ์

ลักษณะเฉพาะพันธุ์ ลำต้นสีเขียว ใบสีเขียว ช่อดอกสีชมพู สีของดอกย่อยสีชมพูขอบเหลือง ให้ผลผลิตเฉลี่ย 136 ดอก/กอ/ปี (เมื่ออายุ 3 ปีหลังปลูก) อายุปักแจกันนาน 10 วัน

การขยายพันธุ์ การแยกเหง้าหรือหน่อ การเพาะเมล็ด และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช

วิธีการปลูก

ดาหลาเป็นพืชที่ปลูกง่าย โรคและแมลงรบกวนมีน้อย ทนทาน ไม่ต้องดูแลรักษามาก สามารถปลูกได้ทั่วไป ขยายพันธุ์โดยการใช้หน่อหรือต้นกล้าจากการเพาะเมล็ด การปลูกด้วยหน่อ ควรให้หน่อที่มีเหง้าและรากติดมาด้วย การเพาะเมล็ด  ฝักแก่ที่เปลือกเป็นสีน้ำตาล แกะเมล็ดออกแล้วแช่น้ำ 1 คืน ล้างเมือกสีขาวออกให้หมด จากนั้นนำไปเพาะในดินที่ผสมมะพร้าวและทรายในอัตราส่วนที่เท่ากัน หรือขุยมะพร้าวและทรายในอัตราส่วนที่เท่ากัน เป็นเวลา 3 เดือน ย้ายลงถุงชำ เพาะปลูกต่ออีก 6 เดือน จากนั้นย้ายลงแปลง โดยใช้ระยะปลูก 2×2  2×3 เมตร หรือ 3×3 เมตร ขุดหลุมขนาด 50x50x30 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก

การดูแลรักษา

1.การให้ปุ๋ย

-ปีแรก

1.ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 16-16-16 ร่วมกับ ยูเรีย แบ่งใส่ 3 ครั้ง

–  อายุ 3 เดือน อัตรา 100 กรัม/ต้น/ครั้ง

–  อายุ 6 เดือน อัตรา 150 กรัม/ต้น/ครั้ง

–  อายุ 12 เดือน อัตรา 200 กรัม/ต้น/ครั้ง

2.ใส่ปุ๋ยคอก (แนะนำมูลไก่ผสมแกลบ)  แบ่งใส่ 2 ครั้ง ครั้งละ 5 กก./กอ/ปี

-ปีที่ 2 เป็นต้นไป

1.ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 16-16-16 ทุก 6 เดือน อัตรา 300-500 กรัม/ต้น/ครั้ง (เพิ่มขึ้นตามอายุ)

2.ใส่ปุ๋ยคอกอัตรา 10 กก./กอ/ปี แบ่งใส่ 2 ครั้ง

2.การให้น้ำ ควรรดน้ำให้ชุ่มวันละครั้งเมื่อเริ่มปลูก หลังจากตั้งตัวแล้วให้ห่างกันครั้งละ 2-3 วัน และให้น้ำในช่วงแล้ง สัปดาห์ละ 3 ครั้ง

3.การตัดแต่ง เริ่มเมื่ออายุ 1 ปี หลังปลูก ในอายุ 1 ปีตัดแต่งให้มีต้นเหลือในกอประมาณ 80 % ของกอ อายุ 2 ปีเป็นต้นไปตัดแต่งให้มีต้นเหลือในกอประมาณ 70 % ของกอ

4.การเก็บเกี่ยว ดาหลาเริ่มให้ผลผลิตเมื่ออายุประมาณ 1-2 ปี หลังปลูก ควรตัดดอกในช่วงเช้าโดยตัดให้ชิดโคนต้น แล้วนำไปแช่น้ำสะอาดทันที ห่อดอกด้วยถุงพลาสติกเพื่อป้องกันไม่ให้กลีบดอกช้ำ

โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ

การใช้ประโยชน์

  1. ปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ
  2. ดอกสามารถรับประทานได้ มีสรรพคุณทางยา ช่วยแก้ลมพิษ แก้โรคผิวหนัง ช่วยขับลม และแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
  3. ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ได้แก่ ต้านอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็ง ยาต้านการงอกของเลือด ต้านเชื้อแบคทีเรีย และกิจกรรมพิษต่อเซลล์ เป็นต้น

แหล่งพืชอนุรักษ์

ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง