Search for:

ชื่อสามัญ ดาหลาพันธุ์ตรัง 1 (Torch ginger, Philippine wax flower, ginger flower, red ginger lily, torch lily)

ชื่อวิทยาศาสตร์ Etlingera elatior (Jack) R.M. Smith

ชื่ออื่นๆกาหลา  กะลา

ถิ่นกำเนิดและประวัติความเป็นมา

ดาหลาจัดเป็นพันธุ์ไม้หายาก ในประเทศไทย พบเฉพาะบริเวณป่าดิบชื้นทางภาคใต้ใกล้พรมแดน มาเลเซีย ที่ระดับความสูง 50-400 เมตร ออกดอกตลอดปี

ลักษณะทั่วไป

ลำต้น มีลำต้นใต้ดินเรียกว่าเหง้า (Rhizome) จะเป็นบริเวณที่เกิดหน่อดอกและหน่อลำต้น ลำต้นดาหลาเป็นลำต้นเทียม (Pseudostem) ที่โผล่เหนือดิน มีลักษณะเป็นกาบใบโอบซ้อนกันแน่นเช่นเดียวกับพวกกล้วย   ลำต้นเหนือดินปกติจะมีสีเขียวเข้ม สูง 3-6 เมตร (ขึ้นอยู่กับลักษณะประจำพันธุ์และสภาพแวดล้อม) ใบ รูปร่างยาวรี กลางใบกว้างแล้วค่อยๆ เรียวไปหาปลายและฐานใบ มีสีเขียว ผิวใบเรียบมันทั้งด้านบนและด้านล่าง ยาวประมาณ 70-90 เซนติเมตร กว้าง 14-20 เซนติเมตร ดอก มีลักษณะเป็นแบบดอกช่อ (Head) ประกอบด้วยกลีบประดับ 2  ขนาด คือ กลีบประดับรอบนอกมีขนาดใหญ่ และกลีบประดับด้านในจะมีขนาดลดลง กลีบดอกเรียงซ้อนจากล่างขึ้นบนเข้าหาศูนย์กลางของดอก ภายในระหว่างกลีบประดับที่เรียงซ้อนกัน จะมีดอกจริงขนาดเล็กเป็นดอกสมบูรณ์เพศอยู่จำนวนมาก ผล มีลักษณะเป็นผลกลุ่ม (Capsule) คล้ายสัปปะรด ผลย่อยแต่ละผลเกิดจากดอกจริงที่แทรกตัวอยู่ระหว่างกลีบประดับ ดอกหนึ่งสามารถติดผลย่อยประมาณ 35-80 ผล แต่ละผลย่อยมีเมล็ดสีดำ ประมาณ 50-64 เมล็ด  ผลเมื่อสุกเต็มที่มีสีเหลืองอมส้ม

พันธุ์และการขยายพันธุ์

ลักษณะเฉพาะพันธุ์ ลำต้นสีเขียว ใบสีเขียว ช่อดอกสีขาว สีของดอกย่อยสีขาวขอบเหลือง ให้ผลผลิตเฉลี่ย 39 ดอก/กอ/ปี (เมื่ออายุ 3 ปีหลังปลูก) อายุปักแจกันนาน 7 วัน

การขยายพันธุ์ การแยกเหง้าหรือหน่อ การเพาะเมล็ด และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช

วิธีการปลูก

ดาหลาเป็นพืชที่ปลูกง่าย โรคและแมลงรบกวนมีน้อย ทนทาน ไม่ต้องดูแลรักษามาก สามารถปลูกได้ทั่วไป ขยายพันธุ์โดยการใช้หน่อหรือต้นกล้าจากการเพาะเมล็ด การปลูกด้วยหน่อ ควรให้หน่อที่มีเหง้าและรากติดมาด้วย การเพาะเมล็ด  ฝักแก่ที่เปลือกเป็นสีน้ำตาล แกะเมล็ดออกแล้วแช่น้ำ 1 คืน ล้างเมือกสีขาวออกให้หมด จากนั้นนำไปเพาะในดินที่ผสมมะพร้าวและทรายในอัตราส่วนที่เท่ากัน หรือขุยมะพร้าวและทรายในอัตราส่วนที่เท่ากัน เป็นเวลา 3 เดือน ย้ายลงถุงชำ เพาะปลูกต่ออีก 6 เดือน จากนั้นย้ายลงแปลง โดยใช้ระยะปลูก 2×2  2×3 เมตร หรือ 3×3 เมตร ขุดหลุมขนาด 50x50x30 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก

การดูแลรักษา

1.การให้ปุ๋ย

-ปีแรก

1.ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 16-16-16 ร่วมกับ ยูเรีย แบ่งใส่ 3 ครั้ง

–  อายุ 3 เดือน อัตรา 100 กรัม/ต้น/ครั้ง

–  อายุ 6 เดือน อัตรา 150 กรัม/ต้น/ครั้ง

–  อายุ 12 เดือน อัตรา 200 กรัม/ต้น/ครั้ง

2.ใส่ปุ๋ยคอก (แนะนำมูลไก่ผสมแกลบ)  แบ่งใส่ 2 ครั้ง ครั้งละ 5 กก./กอ/ปี

-ปีที่ 2 เป็นต้นไป

1.ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 16-16-16 ทุก 6 เดือน อัตรา 300-500 กรัม/ต้น/ครั้ง (เพิ่มขึ้นตามอายุ)

2.ใส่ปุ๋ยคอกอัตรา 10 กก./กอ/ปี แบ่งใส่ 2 ครั้ง

2.การให้น้ำ ควรรดน้ำให้ชุ่มวันละครั้งเมื่อเริ่มปลูก หลังจากตั้งตัวแล้วให้ห่างกันครั้งละ 2-3 วัน และให้น้ำในช่วงแล้ง สัปดาห์ละ 3 ครั้ง

3.การตัดแต่ง เริ่มเมื่ออายุ 1 ปี หลังปลูก ในอายุ 1 ปีตัดแต่งให้มีต้นเหลือในกอประมาณ 80 % ของกอ อายุ 2 ปีเป็นต้นไปตัดแต่งให้มีต้นเหลือในกอประมาณ 70 % ของกอ

4.การเก็บเกี่ยว ดาหลาเริ่มให้ผลผลิตเมื่ออายุประมาณ 1-2 ปี หลังปลูก ควรตัดดอกในช่วงเช้าโดยตัดให้ชิดโคนต้น แล้วนำไปแช่น้ำสะอาดทันที ห่อดอกด้วยถุงพลาสติกเพื่อป้องกันไม่ให้กลีบดอกช้ำ

โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ

การใช้ประโยชน์

  1. ปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ
  2. ดอกสามารถรับประทานได้ มีสรรพคุณทางยา ช่วยแก้ลมพิษ แก้โรคผิวหนัง ช่วยขับลม และแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
  3. ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ได้แก่ ต้านอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็ง ยาต้านการงอกของเลือด ต้านเชื้อแบคทีเรีย และกิจกรรมพิษต่อเซลล์ เป็นต้น (Ghasemzadeh et al., 2015)

แหล่งพืชอนุรักษ์

ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง  ศูนย์วิจัยพืชสวนเลย