Search for:

ชื่อสามัญ ลองกอง

ชื่อวิทยาศาสตร์ Lansium domesticum Corres

ชื่ออื่นๆ –

ถิ่นกำเนิดและประวัติความเป็นมา

แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และทางภาคใต้ ของประเทศไทย

ลักษณะทั่วไป

ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 10-15 ม. ขนาดทรงพุ่ม 6-10 ม. ไม่ผลัดใบ ทรงพุ่มรูปกรวยแผ่กว้าง แน่น เปลือกต้นสีน้ำตาลอ่อน ค่อนข้างเรียบหรือแตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ

ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ ใบย่อย 5-7 ใบใบย่อยปลายรูปไข่กลับ ปลายใบ เป็นติ่งแหลม    โคนใบมนเบี้ยว ขอบใบเป็นคลื่น แผ่นใบค่อนข้างหนา และเหนียว ย่นเป็นลอน ใบสีเขียวเข้มเป็นมัน

ดอก สีขาวอมเหลือง ออกเป็นช่อแบบช่อเชิงลดที่กิ่งแก่และลำต้น มีทั้งช่อดอกตั้งและช่อดอกห้อย

ผล ผลสดแบบมีเนื้อ ทรงกลมเป็นจุกหรือรูปไข่กลับ สีเขียวเข้ม เมื่อสุกสีน้ำตาลอมเหลืองเมล็ดมีเนื้อสีน้ำผึ้งใส    ห่อหุ้มและติดกับแกนกลาง ผล มี 5 กลีบ เมล็ดรูปมนรี สีเหลืองอมเขียว 1-2 เมล็ดต่อผล

พันธุ์และการขยายพันธุ์

ลองกองแกแลแมร์ (ลองกองแปรแมร์), ลองกองคันธุลี ลองกองธารโต และลองกองกาญจนดิษฐ์ การขยายพันธุ์ แบบไม่อาศัยเพศ ได้แก่ การเสียบยอด การทาบกิ่ง การเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง

วิธีการปลูก

เลือกพื้นที่ปลูก ควรเป็นพื้นที่ราบ น้ำไม่ท่วมขัง ดินเป็นดินร่วน ระบายน้ำ ได้ดี ค่าความเป็นกรดเป็นด่าง 5.5-6.5 ภูมิอากาศ อุณหภูมิ 25-30 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ค่อนข้างสูง 70-80%

พื้นที่ดอน ไถพรวน ปรับพื้นที่ให้เรียบ หากมีปัญหาน้ำท่วมขัง ให้ขุดร่องระบายน้ำ

พื้นที่ลุ่ม ยกโคกปลูก หากมีน้ำท่วมขังมากและนานควรยกร่องสวนให้มีขนาดสันร่องกว้างไม่น้อยกว่า 6 เมตร ร่องน้ำกว้าง 1.5 เมตร ลึก 1 เมตร มีระบบระบายน้ำ เข้า-ออกเป็นอย่างดี

กำหนดระยะปลูกที่เหมาะสม คือ 4X 6 เมตร หรือ 6 X 6 หรือ 6 X 8 เมตร ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ การเตรียมหลุมปลูกควรใส่ปุ๋ยคอก วัสดุปรับปรุงดิน ได้แก่ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และปุ๋ยเคมีสูตร 0-3-0 (ร็อกฟอสเฟต)  ผสมกับดินเดิมก่อนปลูก

การดูแลรักษา

การให้น้ำปีแรกที่ปลูกควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ เมื่ออายุ2 – 3 ปีควรให้สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ปุ๋ยอินทรีย์ (ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก) ใส่ปีละ 2 ครั้ง อัตรา 10 – 15 กิโลกรัมต่อต้นต่อปี

ระยะก่อนออกดอก

  1. ใส่ปุ๋ย 8-24-24, 13-13-21
  2. ตัดแต่งกิ่งแขนง
  3. ให้น้ำสม่ำเสมอ

ระยะแทงช่อดอก

  1. งดน้ำอย่างน้อย 30-45 วัน
  2. สังเกตใบลองกองเหี่ยว ให้น้ำเต็มที่ 1 ครั้ง
  3. เมื่อเห็นตาดอกเริ่มให้น้ำสม่ำเสมอ
  4. ใส่ปุ๋ย 15-15-15 อัตรา 1 กก./ต้น
  5. พ่น GA3 100 มิลลิกรัม + น้ำ 1 ลิตร เพื่อยืดช่อ
  6. ตัดแต่งช่อดอกเหลือ 1-2 ช่อดอกต่อกลุ่มดอก ระยะช่อห่าง 25-30 เซนติเมตร

ระยะพัฒนาผล

  1. ตัดแต่งช่อผล 2-3 สัปดาห์ และ 7-8 สัปดาห์ หลังดอกบาน
  2. ใส่ปุ๋ย 13-13-21 อัตรา 1-2 กก./ต้น และให้น้ำสม่ำเสมอ

ระยะเก็บเกี่ยว

  1. เก็บช่อผลอายุ 13-15 สัปดาห์
  2. ก่อนเก็บควรชิมผลที่ปลายช่อ
  3. บีบผลปลายช่อรู้สึกนิ่ม
  4. ควรเก็บในช่วงอุณหภูมิต่ำช่วงเช้าหรือช่วงเย็น

ระยะหลังเก็บเกี่ยว

  1. ตัดแต่งกิ่งและขั้วช่อดอก
  2. ใส่ปุ๋ย 15-15-15 อัตรา 2 กก./ต้น/ปี ใส่ปุ๋ยคอก 20-25 กก./ต้น/ปี
  3. ป้องกันกำจัดโรคแมลง
  4. ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ

การตัดแต่งกิ่ง

– หลังจากการปลูก ตัดยอดเมื่อต้นสูงประมาณ 1.0-1.5 เมตร

– ตัดกิ่งที่ไม่ต้องการ รวมทั้งส่วนยอดที่สูงกว่า 1.5 เมตร ออก

– เลือกกิ่งแขนงที่แข็งแรง 4-6 กิ่ง กิ่งที่อยู่ต่ำสุดควรสูงจากพื้นดิน 80 เซนติเมตร

– เลือกกิ่งที่ทำมุมกว้าง ตัดแต่งทรงพุ่มโปร่ง และตัดกิ่งที่ทำมุมแคบกับลำต้นออก

– ตัดกิ่งยอดและกิ่งกระโดงที่แตกขึ้นมาใหม่

– กำหนดแนวทรงพุ่มให้อยู่ในกรอบของ 4 เมตร หรือแนวทรงพุ่มที่ต้องการ

โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ

โรค

1.โรคราสีชมพู เข้าทำลายกิ่ง โดยขึ้นปกคลุมกิ่ง เห็นเป็นเส้นใยสีขาวต่อมาเปลี่ยนเป็นสีชมพู ทำให้ใบเหลืองและกิ่งแห้ง มักพบระบาดมากในช่วงฝนชุก โดยเฉพาะในแหล่งปลูกที่มีความชื้นสูง เมื่อพบเชื้อราเริ่มเข้าทำลายตามกิ่งที่มีขนาดใหญ่ ควรใช้มีดขูดเปลือกกิ่งออกบางๆ แล้วทาด้วยสารเคมี เช่น คอปเปอร์ออกซี่คลอไรด์รอบๆกิ่งให้ทั่ว

2.โรคราดำ ลักษณะอาการพบคราบราสีดำติดตามส่วนของช่อดอก ช่อผล ทำให้ผลร่วง ซึ่งมักพบในสภาพความชื้นสูง ป้องกันกำจัดโดยพ่นสารเบนโนมิล 50% ดับบลิวพี อัตรา 6-12 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นบนช่อผลก่อนเก็บเกี่ยวทุก 14 วัน

ศัตรูอื่นๆ ได้แก่ โรครากเน่า โรคผลเน่า หนอนชอนใต้เปลือกผิว แมลงวันทอง

การใช้ประโยชน์

  1. โดยทั่วไปจะนิยมรับประทานเป็นผลไม้สด หรือแปรรูปเป็นเครื่องดื่ม อุดมไปด้วยวิตามินบี และฟอสฟอรัส   ช่วยขับเสมหะ ลดอาการร้อนในช่องปาก พื้นที่ปลูกภายในศูนย์วิจัยพืชสวนยะลา จำนวน 15 ไร่

แหล่งพืชอนุรักษ์

ศูนย์วิจัยพืชสวนยะลา

<<กลับไปหน้าฐานข้อมูลไม้ผล