Search for:

ชื่อสามัญ กระวาน Siam Cardamom, Best Cardamom, Clustered Cardamom, Camphor Seed

ชื่อวิทยาศาสตร์ Amomum krervanh Pierre ex Gagnep

ชื่ออื่นๆ กระวานขาว (ภาคกลาง ภาคตะวันออก) ข่าโคม ข่าโคก หมากเนิ้ง(ตะวันออกเฉียงเหนือ) ปล้าก้อ (ปัตตานี) มะอี้ (เหนือ) กระวานดำ กระวานแดง กระวานโพธิสัตว์ กระวานจันทร์

ถิ่นกำเนิดและประวัติความเป็นมา

กระวานเป็นพืชที่ชอบขึ้นในที่ร่มหรือใต้ต้นไม้อื่น ชอบดินที่มีความชื้นสูง มีฝนตกชุก พบกระจายตามบริเวณป่าเขาหรือป่าดงดิบ  ในประเทศไทยพบกระวานมากในภาคตะวันออก แถบเขาสอยดาว และเขาระบาป จังหวัดจันทบุรี และภาคใต้ แถบจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตรัง ยะลา และนราธิวาส

ลักษณะทั่วไป

ลำต้นจริงส่วนที่เป็นหัวอยู่ใต้ดิน แบ่งออกเป็นแง่งหลายแง่งรวมกันเรียกว่า เหง้า หัวมีลักษณะทรงกลม แตกแง่งเป็นหัวใหม่เชื่อมติดกัน คล้ายกับเหง้าข่า เปลือกหัวปกคลุมด้วยแผ่นเป็นชั้นๆสีน้ำตาล เนื้อหัวมีสีครีมหรือสีเหลือง มีเสี้ยนจำนวนมาก ลำต้นเทียม ส่วนที่เจริญจากตาหัวของแต่ละหัวหรือแต่ละแง่ง แทงโผล่ขึ้นเหนือดิน สูงได้มากกว่า 100 เซนติเมตร ลำต้นเทียมมีลักษณะทรงกลม สีเขียวเข้ม คล้ายกับลำต้นข่า แต่ใหญ่ และสูงกว่า ด้านในมีลักษณะเป็นเส้นใย สูงขึ้นมาเป็นส่วนของกาบใบที่หุ้มลำต้น ใบ ใบกระวานแทงออกเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับข้างกันตามความสูงของลำต้น กาบใบหุ้มแกนลำต้น มีก้านใบ ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ก้านใบ และแผ่นใบโค้งลงด้านล่าง แผ่นใบมีรูปขอบขนาน หรือเรียวยาว ยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร โคนใบสอบแคบ ปลายใบแหลม แผ่นใบเรียบ แต่เหนียว มีสีเขียวเข้ม ขอบใบเรียบ และเป็นคลื่นหรือโค้งงอเล็กน้อย แผ่นใบมีเส้นกลางใบสีเขียวอมขาวขนาดใหญ่ และมองเห็นชัดเจน ส่วนเส้นแขนงใบมองเห็นไม่ชัดเจน แต่มีลักษณะเป็นเส้นทอดยาวตามแนวยาวของใบ ดอก ออกเป็นช่อ แทงขึ้นจากเหง้าหรือแง่งหัว ตัวดอกหลักมีลักษณะรียาว ประกอบด้วยดอกย่อยเรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ ระหว่างดอกย่อยจะมีใบประดับแทรกกั้น ดอกย่อยมีกลีบดอกสีเหลือง ก้านดอกเป็นหลอดแคบ ผล รวมกันเป็นกลุ่มผล ช่อผลแต่ละช่อมีผล 10-20 ผล ผลมีลักษณะเกือบทรงกลม ขนาดประมาณ 10-12 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 10-15 มิลลิเมตร ขั้วผลทั้ง 2 ด้าน มีลักษณะเป็นจุก เปลือกผลดิบมีสีเขียวอมขาว มีขนปกคลุม เมื่อแห้งมีสีครีมหรือสีขาวนวล แบ่งออกเป็น 3 พูใหญ่ แต่ละพูแตกออกเป็น 2 พูเล็ก รวมทั้งหมด 6 พู เมื่อแห้งจะปริแตกออกตามแนวร่อง ทั้งนี้ ผลกระวานจะเริ่มแก่ และแห้งจากโคนช่อสู่ปลายช่อ เมล็ด อยู่ถัดจากเปลือกผล มี 9-18 เมล็ด เมล็ดอ่อนมีสีขาว เมื่อแก่หรือผลแห้งจะเปลี่ยนมีสีดำ แต่ละเมล็ดเกาะติดกัน แต่ละเมล็ดมีลักษณะสามเหลี่ยม มีเยื่อหุ้มผลบางๆ เมล็ดมีรสเผ็ด และมีกลิ่นฉุนคล้ายการบูร

พันธุ์และการขยายพันธุ์

การขยายพันธุ์ กระวานขยายพันธุ์โดยวิธีเพาะกล้าจากเมล็ด ในปัจจุบันก็ยังไม่มีเกษตรกรรายใดที่นำเมล็ดกระวานมาเพาะเพื่อขยายพันธุ์  แต่เนื่องจากผลกระวานเป็นแบบ dehiscent เมื่อผลแก่จัดจะแตกปล่อยให้เมล็ดร่วงอยู่บริเวณโคนต้น  เมื่อสภาพภูมิอากาศเหมาะสมเมล็ดจะงอกเป็นกล้าขึ้นมา  ในทางปฏิบัติเกษตรกรมักจะเลือกขุดเอากล้าเหล่านี้ไปปลูกได้เลย  โดยเรียกต้นกล้าประเภทนี้ว่า “หน่อหางเหยี่ยว” การขยายพันธุ์โดยวิธีนี้จะมีข้อดีคือ เปอร์เซ็นต์การตายของกล้าหลังจากปลูกจะมีน้อย สะดวกต่อการขนย้ายไปปลูกไกลๆ เพราะกล้ามีขนาดเล็ก แต่จะมีข้อเสียคือ ให้ผลผลิตช้า อาจต้องรอถึง 5 ปี จึงจะเริ่มให้ผลผลิต

นอกจากการขยายพันธุ์วิธีดังกล่าวแล้ว บางครั้งเกษตรกรจะขยายพันธุ์โดยวิธีแยกกอ  โดยเลือกตัดที่ลำต้นใต้ดิน (Rhizome) ให้แต่ละท่อนมีหน่อ (Pseudostem) ติดมาด้วยอย่างน้อย 2 หน่อ (หน่อขนาดใหญ่เรียกว่า “หน่อหางช้าง” และหน่อขนาดเล็กกว่าเรียก “หน่อหางกวาง”)

ปัจจุบันเกษตรกรนิยมขยายพันธุ์โดใช้กล้าประเภท “หน่อหางเหยี่ยว” ถึงแม้ว่าจะให้ผลผลิตต่ำกว่า  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการปลูกสร้างสวนใหม่  โดยเลือกถอนต้นกล้าที่งอกอยู่บริเวณในกอหรือรอบๆ กอแม่  และมีอายุไม่น้อยกว่า 2 ปี  สูงประมาณ 1 เมตร  แต่ละกอแม่อาจได้ต้นกล้าเพียง 2-3 ต้นเท่านั้น  เนื่องจากหน่อมีขนาดเล็กจึงอาจขนย้ายไปปลูกได้ไกลๆ และเปอร์เซ็นต์การรอดสูงเพราะต้นกล้าไม่ชอกช้ำมากขณะขนส่ง  ส่วนกล้า “หน่อหางช้าง” และ “หน่อหางกวาง” เกษตรกรอาจใช้ขยายพันธุ์เพื่อปลูกซ่อม  หรือปลูกเพิ่มเติมภายในสวนของตนเองเท่านั้น

วิธีการปลูก

นิยมปลูกในช่วงฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม โดยขุดหลุมตื้นระยะปลูกประมาณ 2 เมตร  แล้วปลูกต้นกล้าให้เอียงประมาณ 45 องศา เพื่อว่าหน่อที่แตกออกมาใหม่จะตั้งตรง ในกรณีหน่อหางช้างและหน่อหางกวาง  ซึ่งเป็นหน่อขนาดใหญ่ควรใช้หลักมาช่วยยึดต้นกล้าเพื่อไม่ให้ต้นกล้าล้มนอนกับพื้นหรือต้นกล้าโดนลมโยกคลอนได้

การดูแลรักษา

กระวานเป็นพืชที่ต้องการร่มเงามาก มีระบบรากตื้น รากส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณผิวดิน ชอบดินร่วนซุยที่มีอินทรีย์วัตถุสูง รักษาความชื้นได้ดีแต่มั่งน้ำ เนื่องจากแหล่งปลูกกระวานไทยส่วนใหญ่เป็นสภาพป่าดิบที่มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นเบียดเสียดกันมาก ดังนั้นปัญหาในส่วนของการปรับปรุงสภาพความเหมาะสมของดินจึงมีน้อย แต่ปัญหาสำคัญคือการปรับปรุงสภาพความเข้มของแสงในสวนกระวาน ปกติชาวสวนจะทำการตัดถางต้นไม้ใหญ่ออกประมาณ ปีละครั้ง เรียก “การแต่งไม้” โดยเลือกตัดไม้ใหญ่ที่เจริญเบียดเสียดกันเกินไปออกเสียบ้าง ในการตัดฟันต้นไม้ใหญ่ลงมานี้อาจมีปัญหาเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะเกิดกับกอกระวานบ้าง  ในกรณีต้นไม้ใหญ่ล้มทับแต่เกษตรกรมักไม่ห่วง  เพราะกอกระวานจะมีลำต้นใต้ดินที่พร้อมจะเจริญเติบโตออกไปได้  และกอกระวานจะมีลำต้นใต้ดินที่พร้อมจะเจริญเติบโตออกได้  และกระวานไทยจะแทงช่อดอกออกจากลำต้นใต้ดินเป็นส่วนใหญ่  ดังนั้นปัญหาเกี่ยวกับผลผลิตจึงมีน้อย  อีกประการหนึ่งการตัดถางต้นไม้มักกระทำในฤดูเก็บเกี่ยวกระวาน  เพื่อเอาต้นไม้ไปทำฟืนย่างผลด้วย  ดังนั้นหน่อใหม่ที่จะเจริญออกมาและให้ผลผลิตในปีต่อไปจึงมักไม่ถูกกระทบกระเทือน ดังนั้นจึงต้องมีการกำจัดวัชพืชอย่างสม่ำเสมอด้วย  เพราะกระวานเป็นไม้พุ่มขนาดเล็กและมีระบบรากตื้น  โอกาสที่จะถูกวัชพืชรบกวนมีมาก  ในทางปฏิบัติเกษตรกรจะใช้มีดฟันวัชพืชเท่านั้น  ไม่ใช้จอบถากเพื่อป้องกันการชะพังทลายของหน้าดิน  ในช่วง 3 ปีแรกหลังจากปลูก  จะฟันวัชพืชเพียงปีละครั้งจนในปีที่ 4 เป็นต้นไป  ซึ่งกระวานจะเริ่มให้ผลผลิต  การกำจัดวัชพืชจะทำอย่างถี่ถ้วนพร้อมทั้งกวาดเศษวัชพืชเข้ากลบบริเวณโคนต้นด้วย  จากการสังเกตพบว่าการตัดวัชพืชจนโล่งเตียนจะมีประโยชน์หลายอย่างคือ

1) ช่วยให้การถ่ายเทอากาศภายนกอกระวานดีขึ้น  ปัญหาเรื่องโรคและแมลงจะลดลง  ผลกระวานจะสุกเร็วขึ้น
2) สะดวกในการเก็บเกี่ยวผลผลิต
3) ศัตรูกระวานประเภทหนู  ลิง  จะลดน้อยลง
4) การเจริญเติบโตของต้นกระวานดีขึ้น  และผลผลิตจะสูงขึ้น

โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ

  1. โรคพืช

1.1 โรค Mosaic หรือ Marble หรือ Katte เป็นโรคที่สำคัญที่สุดของกระวานเทศเกิดจากเชื้อไวรัส จากการศึกษาพบว่าพาหะที่สำคัญในการแพร่กระจายเชื้อ คือ Banana aphid (Pentalonia  nigronervosa Coq.) นอกจากนี้ การขยายพันธุ์โดยวิธีแยกกอ จากกอแม่ที่เป็นโรคนี้อยู่แล้ว จะทำให้การระบาดของโรครุนแรงขึ้น ในแหล่งที่มีโรคนี้ระบาดควรขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดเท่านั้น เพราะเมล็ดจะเป็น Virus free เชื้อจะเข้าทำลายในทุกระยะของการเจริญเติบโต ต้นพืชจะแสดงอาการที่ใบอ่อนก่อน โดยเกิด Chlorosis เป็นแถบเล็กๆ ยาว สีเขียวอ่อน ขนานไปกับเส้นใบที่แยกมาจากเส้นกลางใบ แถบจะยาวตั้งแต่เส้นกลางใบถึงขอบใบ ต่อมาแถบนี้จะขยายใหญ่ขึ้นจนสามารถมองเห็นได้เด่นชัดจากที่ไกลๆ ต้นพืชจะตายไปภายในเวลา 1 ปี ถ้าเชื้อเข้าทำลายต้นอ่อนต้นพืชจะตายไปก่อนเริ่มให้ผลผลิต การป้องกันกำจัด ทำได้โดยกำจัดแมลงพาหะ และเลือกกล้าปลูกที่ปราศจากโรค ควรทำลายต้นพืชที่แสดงอาการของโรคทิ้งเสีย

1.2 โรคใบเน่า (Leaf rot) เกิดจากเชื้อรา Coniothyrium  sp. หรือ Phyllosticta sp. ทำให้เกิดอาการใบจุดและใบเน่า มักเข้าทำลายต้นพืชในเรือนเพาะชำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูฝน การป้องกันกำจัดอาจใช้ Cu-fungicide

1.3 โรคต้นหรือรากเน่า (Rhizome or Root rot) จะทำให้ต้นพืชตายไปอย่างช้าๆ อาการทั่วไปบางครั้งจะคล้ายกับโรค Katte บางครั้งจึงมักสับสน อาการที่แตกต่างกันอย่างเด่นชัดคือ ในกรณีของโรครากเน่า ใบพืชจะไม่มีอาการใบด่างเหลืองเป็นแถบๆ อย่างกรณีของโรค Katte ใบแก่จะแห้งตาย ถึงแม้ว่าจะยังเจริญไม่เต็มที่ หน่ออ่อนจะไม่แข็งแรง เมื่อเอามือดึงหน่อหรือ Shoot แก่จะหลุดติดมือออกมาได้ง่ายเชื้อราที่เข้าทำลายมีหลายชนิด เช่น Cephalosporium sp., Pythium  aphanidermatum (Edson) Fitzp. และ Pythium  vexans de Bary บางครั้งมีพบหนอนเจาะลำต้น (Rhizome borer) ร่วมอยู่ด้วย ยังไม่มีการศึกษาถึงวิธีการป้องกันกำจัดโรคนี้อย่างจริงจัง

1.4   โรคอื่นๆ ที่มีพบบ้าง ได้แก่

Leaf rust (Uredo elettariae Thirum.)

Leaf spot (Chlemydomyces palmarum (Cooke) Meason)

Two leaf disease (ยังไม่ทราบสาเหตุของโรค)

  1. แมลงศัตรูที่สำคัญ

2.1 เพลี้ยไฟ (Thrips – Taeniothrips cardamomi  Remak.) ตัวแก่จะอาศัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากกาบใบบริเวณโคนของ Pseudostem และใน Bracts ของดอก ถ้าระบาดรุนแรงมาก จะทำให้ดอกร่วง การติดผลลดลง หรือถ้าดอกไม่ร่วง และยังติดผลได้ จะทำให้เปลือกผลเป็นจุด และการเจริญของผลผิดปกติ (malformation) การระบาดจะรุนแรงมากขึ้นในระยะที่อากาศร้อนและแห้ง

2.2 หนอนกินใบ (Hairy caterpilla – Eupterole  mollifera wlk.) ถ้าระบาดรุนแรงมาก จะกินใบหมดทั้งกอ เป็นแมลงที่อาศัยอยู่ในป่าและเข้าทำลายกระวานเทศเป็นครั้งคราว เป็นหนอนจากผีเสื้อกลางคืน จะเข้าทำลายต้นพืชในเวลากลางคืน

2.3 หนอนเจาะผลและต้น (Shoot and Capsule borer) มีหลายชนิด รวมทั้งชนิดที่เป็น Stem borer ด้วย เช่น Dichocrocis punctiferalis Guen. (เจาะต้น)  Lampides elpis Godart (เจาะผล)

ศัตรูอื่นๆ นอกเหนือจากโรคและแมลง ที่มีพบบ้าง ได้แก่ หนู หมูป่า กระรอก ลิง นก จะเข้าทำลายทั้งผล หน่ออ่อน และลำต้นใต้ดิน

การใช้ประโยชน์

1. เมล็ดกระวานมีรสเผ็ดร้อน และมีกลิ่นหอม ใช้ประกอบอาหารเพื่อดับกลิ่นคาว ช่วยเพิ่มกลิ่นหอม และเพิ่มรสเผ็ดร้อน หรือตำผสมเป็นเครื่องแกงหรือพริกแกงสำหรับใส่อาหาร อาหารที่นิยมใส่เมล็ดกระวาน ได้แก่ แกงมัสมั่น แกงกระหรี่ ต้มแสบ ต้มยำต่างๆ ผัดเผ็ดเนื้อ เป็นต้น

2. เหง้าอ่อน และผลอ่อน ใช้ใส่อาหารประเภทต้ม แกง ผัด ช่วยเพิ่มรสเผ็ดร้อน เพิ่มกลิ่นหอม และดับกลิ่นคาว คล้ายการใส่ข่า

3. แก่นลำต้นเทียมใช้ทำอาหารประเภทผัดหรือแกงต่างๆ แก่นให้ความกรอบ มีกากน้อย มีกลิ่นหอม และรสเผ็ด

4. ผลกระวานใช้สกัดน้ำมันหอมระเหยสำหรับแต่งกลิ่นอาหาร เหล้า เครื่องดื่ม รวมถึงใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง และผลิตน้ำหอม

5. น้ำมันหอมระเหยจากเมล็ดกระวานใช้แต่งกลิ่นเหล้า เครื่องดื่ม ขนมปังหรือขนมคบเคี้ยวต่างๆ

6. ด้านยารักษาโรค ใช้บรรเทาอาการ และรักษาโรคหลายอย่าง โดยเฉพาะอาการท้องอืดท้องเฟ้อ อาการแน่น จุกเสียด

7. กระวาน เป็นเครื่องเทศสำคัญชนิดหนึ่งของประเทศ มีการส่งจำหน่ายต่างประเทศ สร้างรายได้ปีละหลายล้านบาท

แหล่งพืชอนุรักษ์

ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง ศูนย์วิจัยพืชสวนยะลา ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี

<< กลับไปหน้าฐานข้อมูลพืชสมุนไพรและเครื่องเทศ