ชื่อสามัญ เงาะพันธุ์เจ๊ะโมง (Rambutan)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Nephelium lappaceum Linn.
ชื่ออื่นๆ เงาะป่า, พรวน, กะเมาะแต, มอแต, อาเมาะแต
ถิ่นกำเนิดและประวัติความเป็นมา
เป็นไม้ผลยืนต้นเมืองร้อน มีถิ่นกำเนิดในประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ต่อมามีการนิยมปลูกเงาะกันมากขึ้นในประเทศออสเตรเลีย และฮอนดูรัส สามารถเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีความชุ่มชื้นสูง เช่น ภาคตะวันออกและทางภาคใต้ของประเทศไทย เป็นต้น ส่วนใหญ่มักปลูกไว้เพื่อบริโภคในครัวเรือน หรือจำหน่ายในเชิงการค้า
ลักษณะทั่วไป
เงาะพันธุ์เจ๊ะโมง ความสูงต้น ตั้งแต่ 8.50-9.00 เมตร ลักษณะใบของเงาะ ประกอบด้วย 5 ลักษณะ คือ ใบย่อยมีการเรียงตัวกับแบบสลับ รูปร่างใบย่อย จะมีทั้งแบบ Obovate และ Elliptic บริเวณปลายใบมีทั้งแบบ Acuminate และ Obtuse ลักษณะฐานใบเป็นแบบ Cuneate สีของใบแก่เมื่อวัดกับแผ่นเทียบสีมาตรฐาน อยู่ระหว่างกลุ่ม green group 136A-137A เมื่อมีการเก็บบันทึกลักษณะผลในช่วงผลสุก พบว่า ผลมีสีในกลุ่ม red group 42A-46B ส่วนขนสีมีลักษณะที่ต่างกัน ได้แก่ ขนสี green yellow group 1A ขนสี yellow green group 144B และมีสีขนแบ่งเป็น 2 สี ซึ่งบริเวณโคน red group 42A และบริเวณปลายขน yellow green group 150A ขนาดของผล มีขนาดตั้งแต่ 11.56-19.05 เซนติเมตร ความหนาเปลือก ตั้งแต่ 0.32-0.43 เซนติเมตร ความหนาเนื้อ ตั้งแต่ 0.53-0.68 เซนติเมตร และขนาดเมล็ด ตั้งแต่ 2.83-3.69 เซนติเมตร โดยลักษณะเนื้อผลมีทั้งสีขาวใส และขาวขุ่น ส่วนการวิเคราะห์ของแข็งทั้งหมดที่ละลายได้ ตั้งแต่ 15.83-19.63 oBrix เมื่อมีการชิมรสชาติ พบว่า มีความหวาน และหวานอมเปรี้ยว นอกจากนี้ ลักษณะเด่น คือ เนื้อผลค่อยข้างเหนียว ลูกเล็กกลม เนื้อบางกรอบ และเนื้อล่อนเมล็ด
พันธุ์และการขยายพันธุ์
สามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด การตอน การทาบกิ่ง และการติดตา เงาะเป็นพืชที่ชอบอากาศร้อนชื้น ปลูกได้ดีในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิระหว่าง 25-30 องศาเซลเซียส ดินปลูกมีค่าความเป็นกรด-ด่าง อยู่ระหว่าง 5.5-6.5 แหล่งปลูกควรมีปริมาณน้ำให้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี
วิธีการปลูก
การเตรีมหลุมปลูกขนาด 50×50×50 ซม. รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์ที่หมักตัวสมบูรณ์แล้ว ระยะปลูกระหว่างแถว 6-8 ม.
การดูแลรักษา
วิธีการปลูก
ไถพรวนตากดิน กำจัดวัชพืชและปรับพื้นที่ให้เรียบ ขุดร่องเพื่อให้สามารถระบายน้ำได้ดี ใช้หลุมปลูกขนาดความกว้างxยาวxลึก 50x50x50 เซนติเมตร ใช้ระยะห่างระหว่างต้นและแถว 6-8 เมตร ในพื้นที่ 1 ไร่ จะได้ต้นเงาะประมาณ 25-40 ต้น ก่อนปลูกควรรองก้นหลุมด้วยหินฟอสเฟต อัตรา 500 กรัม และปุ๋ยคอก อัตรา 5 กิโลกรัม ผสมคลุกเคล้ากับดินปลูกให้เข้ากันดี นำกิ่งพันธุ์ที่มีระบบรากสมบูรณ์และแข็งแรงวางลงไป กลบดินให้สูงกว่าปากหลุมประมาณ 1 นิ้ว หรือไม่ให้เกินรอยแผลที่ติดตา ปักไม้ข้างลำต้นและผูกยึดติดกันไว้เพื่อป้องกันการหักล้มเสียหาย แล้วรดน้ำให้ชุ่ม ฤดูปลูกที่เหมาะสมจะอยู่ในช่วงเดือนเมษายน
การดูแลรักษา
ควรทำความสะอาดพื้นที่ปลูกและตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง ให้อากาศถ่ายเทได้ดีอยู่เสมอ เพื่อสะดวกในการดูแลรักษา และควรมีการใส่ปุ๋ยบำรุงลำต้นตามระยะพัฒนาการ ดังนี้
– ระยะก่อนให้ผลผลิต ควรใส่ปุ๋ยคอก อัตรา 3 กิโลกรัม สลับกับปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 อัตรา 1-1.5 กิโลกรัม โดยแบ่งใส่ปุ๋ยออกเป็น 4 ครั้ง/ปี
– ระยะก่อนออกดอก ควรใส่ปุ๋ยเพื่อให้มีการแทงช่อดอกได้ดีขึ้นด้วยปุ๋ยเคมี สูตร 8-24-24 หรือ 9-24-24 ในอัตราต้นละ 2-3 กิโลกรัม
– ระยะติดผล ควรใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 โรยรอบๆ ทรงพุ่ม ในอัตราต้นละ 1-2 กิโลกรัม รดน้ำพอชุ่ม กลบดินทับบางๆ
– หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต ควรใส่ปุ๋ยคอก อัตรา 3-5 กิโลกรัม และใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 2-3 กิโลกรัม โดยขุดหลุมตื้นๆ รอบทรงพุ่มแล้วโรยปุ๋ยลงไป ใช้ดินกลบให้มิดชิด รดน้ำพอชุ่ม
นอกจากนี้ ควรมีการให้น้ำแก่เงาะ ซึ่งในระยะเริ่มแรกควรมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอจนกว่าจะตั้งตัวได้ต่อจากนั้นให้ในทุกๆ 7-10 วัน ในช่วงปลายฤดูฝนอยู่ในช่วงติดดอก เป็นช่วงที่มีการต้องการน้ำในปริมาณน้อยอาจให้ได้ในปริมาณน้อยๆ ในระยะที่ติดผลแล้วควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรให้เงาะขาดน้ำ เพราะการขาดน้ำทำให้ผลมีขนาดเล็ก ลีบ และเปลือกหนา และช่วงใกล้การเก็บเกี่ยวหากขาดน้ำจะทำให้ผลแตกเสียหาย
โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ
โรค
- โรคราแป้ง (Powdery mildew) เชื้อสาเหตุเกิดจากเชื้อรา Pseudoidium nephelii ลักษณะอาการ มีผงสีขาวหรือสีเทาอ่อนคล้ายแป้งปกคลุมช่อดอก และตามร่องขนของผล ทำให้ติดผลน้อยหรือไม่ติดผล ผลขนาดเล็กไม่สมบูรณ์ หลุดร่วงง่าย หรือเน่า แห้งติดคาที่ก้านช่อ ในระยะผลโต ขนที่ผลแห้ง แข็ง ผิวผลสีคล่ำไม่สม่ำเสมอ ถ้าอาการรุนแรง ทำให้ขนกุด อาจพบอาการที่ส่วนยอดและใบ หากอาการรุนแรง ทำให้ใบอ่อนร่วง มักแพร่ระบาดในช่วงอากาศเย็นและชื้น ช่วงแตกใบอ่อน ออกดอก หรือช่วงติดผลอ่อน
การป้องกัน
- ระยะปลูกไม่ควรชิดกันมากเกินไป ทำให้ทรงพุ่มชนกัน เกิดการแพร่ระบาดของโรคได้ง่าย
- ตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่งเพื่อลดความชื้นสะสม ได้รับแสงสว่างและอากาศถ่ายเทได้ดี
- กำจัดวัชพืชในแปลงปลูกเพื่อลดแหล่งสะสมของเชื้อโรค
- เก็บผลเงาะที่เป็นโรค ใบแห้งกิ่งแห้งที่ร่วงหล่นมาเผาทำลาย
- ทำความสะอาดเครื่องมือทางการเกษตรก่อนนำกลับไปใช้ในแปลงทุกครั้ง
การควบคุมด้วยชีววิธี
- เก็บผลเงาะ ใบและกิ่งที่เป็นโรคหรือร่วงหล่น มาเผาทำลาย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ
- ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา อัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร กรองเอาเฉพาะน้ำสปอร์ ผสมสารจับใบพ่นให้ทั่วทรงพุ่มในช่วงเวลาเย็น จำนวน 2-3 ครั้งทุก 5-7 วัน
การควบคุมด้วยสารเคมี
- หากพบการเข้าทำลายช่วงแตกใบอ่อน พ่นด้วยกำมะถันผง อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นในช่วงเช้าหรือเย็น ห้ามฉีดพ่นในขณะที่อากาศร้อน เพราะจะทำให้ขนอ่อนของเงาะไหม้ได้
- หากพบการเข้าทำลายช่วงระยะผลอ่อน พ่นด้วยสารเคมี เช่น benomyl 50% WP อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร carbendazim 50% SC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
- โรคราดำ (Sooty mold) เชื้อสาเหตุเกิดจากเชื้อรา Capnodium sp. และ Meliola sp. ลักษณะอาการ ใบ กิ่ง ช่อดอก และช่อผล มีลักษณะเป็นคราบเขม่าหรือฝุ่นผงสีดำขึ้นเจริญปกคลุม หากติดตามช่อดอกหรือผล จะทำให้ดอกผิดปกติเหี่ยวหรือร่วง ผลอ่อนร่วง ใบสังเคราะห์แสงได้น้อยลง เส้นใยและสปอร์เชื้อราแพร่กระจายโดยลมและน้ำ เชื้อราอาศัยน้ำหวานที่แมลงปากดูด เช่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง ขับถ่ายออกมาใช้ในการเจริญขึ้นปกคลุมเซลล์เนื้อเยื่อบริเวณนั้น
การป้องกัน
- กำจัดวัชพืชในแปลงปลูกโดยนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อลดความชื้นสะสม ไม่ให้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการระบาดของโรค และทำลายแหล่งอาศัยของแมลงปากดูด
- ตัดแต่งกิ่ง เพื่อลดปริมาณมด ซึ่งเป็นหาพาหะในการแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้ง เพลี้ยอ่อน
- นำเศษผ้าชุบน้ำมันเครื่องผูกรอบโคนต้น ป้องกันมดและเพลี้ยแป้งที่อาศัยอยู่ในดินไต่ขึ้นมาบนต้น
- ทำความสะอาดเครื่องมือทางการเกษตรด้วยการล้างและผึ่งแดดให้แห้งก่อนนำกลับไปใช้ในแปลงทุกครั้ง
การควบคุมด้วยชีววิธี
- ฉีดพ่นด้วยน้ำเปล่าล้างคราบราดำที่ติดตามส่วนต่างๆ ของต้นโดยเฉพาะช่วงติดผลอ่อน
- ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา อัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร กรองเอาเฉพาะน้ำสปอร์ ผสมสารจับใบ พ่นให้ทั่วทรงพุ่มในช่วงเวลาเย็น จำนวน 2-3 ครั้งทุก 5-7 วัน
การควบคุมด้วยสารเคมี
- หากพบเพลี้ยแป้งหรือ เพลี้ยอ่อนให้พ่นด้วยสารเคมีกำจัดแมลง โดยหลีกเลี่ยงการพ่นสารในช่วงที่ดอกเงาะบานหรือเริ่มติดผลอ่อน เช่น
– carbaryl 85% WP อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
– imidacloprid 10% SL อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
- พ่นสารเคมีกำจัดเชื้อรา เช่น mancozeb 80% WP อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
- โรคใบจุดสาหร่าย (Algal spot) สาเหตุเกิดจากสาหร่ายสีเขียว Cephaleuros virescens Kunze ลักษณะอาการ เกิดขึ้นได้ที่ใบและกิ่ง ใบเป็นจุดหรือดวงสีเทา อ่อนปนเขียว ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีแดงสนิม เหล็ก ขอบของจุดมีลักษณะเป็นแฉกๆ ไม่เรียบ ลักษณะคล้ายกำมะหยี่ ทำให้พื้นที่สังเคราะห์แสงของใบลดลงและยังดูดน้ำเลี้ยงทำให้ใบซีดเหลือง และร่วงในที่สุด อาการบน กิ่งหรือลำต้น จะคล้ายกับอาการที่เกิดบนใบทำให้เปลือกเสียและอาจแตกร่อน แพร่ระบาดโดยสปอร์ปลิวไปตามลมและน้ำช่วงฤดูฝนหรือในพื้นที่ที่มีความชื้นสูง
การป้องกัน
- ระยะปลูกไม่ควรชิดกันมากเกินไป ทำให้ทรงพุ่มชนกัน เกิดการแพร่ระบาดของโรคได้ง่าย
- ตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่งเพื่อลดความชื้นสะสม ได้รับแสงสว่าง และอากาศถ่ายเทได้ดี
- รักษาความสะอาดของแปลง เช่น กำจัดใบที่ร่วงหล่นบนพื้นไปเผาทำลายหรือฝังดินนอกแปลงหรือกำจัดวัชพืชเพื่อไม่ให้เกิดการสะสมของเชื้อโรคพืช
การควบคุมด้วยชีววิธี
- ตัดแต่งกิ่งที่พบโรค หรือใบที่ร่วงนำไปเผาทำลายหรือฝังดินนอกแปลง
- ถ้าพบอาการเป็นกับกิ่งใหญ่อาจใช้สีทาทับบริเวณที่เป็นโรคหรือใช้ปูนแดงทา
การควบคุมด้วยสารเคมี
- พ่นสารเคมีให้ทั่วทรงพุ่ม เช่น copper oxychloride 85% WP อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
แมลง
- หนอนเจาะขั้วผลเงาะ (Cocoa pod borer) ชื่อวิทยาศาสตร์ Conopomorpha cramerella (Snellen) รูปร่างลักษณะตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่ที่ผลเงาะ ไข่กลมรี อายุ 2-7 วัน ตัวหนอนสีขาว หัวสีน้ำตาลอ่อน อายุ 14-18 วัน เข้าดักแด้โดยไต่ออกมาจากผลและหาที่เหมาะสม นาน 6 – 8 วัน ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก ปีกคู่หน้าเรียวยาว สีน้ำตาลดำ ปลายปีกสีเหลือง มีลวดลายสีขาว และมีขนที่ขอบปีกล่าง ปีกคู่หลังเล็กเรียวขนาดสั้นกว่าปีกหน้าและมีขนยาวโดยรอบ ลักษณะการเข้าทำลายหนอนจะเจาะเข้าไปในผลเงาะบริเวณขั้วผล หรือต่ำกว่าขั้วลงมาเล็กน้อย บางครั้งอาจทำลายถึงเนื้อและเมล็ด ไม่สามารถสังเกตได้จากลักษณะภายนอก เมื่อรับประทานผลเงาะจึงจะพบหนอน
การป้องกัน
- เก็บเกี่ยวในระยะที่ผลเริ่มเปลี่ยนสีไม่สุกเกินไป เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าทำลายของหนอนเจาะขั้วผล
- เก็บผลเงาะที่ถูกทำลายและร่วงหล่นนำไปฝังดิน หรือเผาเพื่อป้องกันการระบาดในฤดูต่อไป
- อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ เช่น ด้วงเต่าตัวห้ำ (Stethorus sp.) แมงมุมใยกลม (Araneidae) แมงมุมตาหกเหลี่ยม (Oxyopidae)
การควบคุมด้วยชีววิธี
- ใช้สารสกัดสะเดา โดยนำเมล็ดสะเดาบด 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 20 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 1 คืน แล้วนำไปกรองด้วยผ้าขาวบาง จากนั้นนำสารสะเดาที่ได้ผสมกับสารจับใบไปฉีดพ่น
การควบคุมด้วยสารเคมี
- ใช้สารเคมี เช่น carbaryl 85% WP อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นเมื่อสำรวจพบหนอนเจาะขั้วผลเงาะในระยะผลเริ่มเปลี่ยนสี และพ่นซ้ าซ้ำหากยังพบการเข้าทำลาย
- เพลี้ยไฟพริก (Chilli thrips) ชื่อวิทยาศาสตร์ Scirtothrips dorsalis (Hood) รูปร่างลักษณะไข่มีอายุ 3-4 วัน ตัวอ่อนอายุ 4-7 วัน ระยะก่อนเข้าดักแด้จะไม่ค่อยเคลื่อนไหว ตัวเต็มวัยมีปีก 2 คู่ ประกอบด้วยขนเป็นแผง ลำตัวแคบยาว 1-2 มิลลิลิตร สีเหลืองอ่อน ลักษณะการเข้าทำลาย ดูดกินน้ำเลี้ยงจากดอกทำให้ดอกแห้งและร่วง ส่วนผลอ่อนที่ถูกทำลายที่ขนจะเป็นรอยสะเก็ดแห้งสีน้ำตาล ปลายขนม้วนหงิกงอและแห้ง
การป้องกัน
- ตัดแต่งทรงพุ่ม
- กำจัดวัชพืชภายในแปลง เพื่อกำจัดแหล่งอาศัยของศัตรูพืช
- อากาศแห้งแล้ง ให้ใช้น้ำฉีดพ่นเพื่อปรับสภาพแวดล้อมไม่ให้เหมาะสมต่อการเจริญของเพลี้ยไฟ
- อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ เช่น ด้วงเต่าตัวห้ำ (Stethorus sp.) แมงมุมใยกลม (Araneidae) แมงมุมตาหกเหลี่ยม (Oxyopidae)
การควบคุมด้วยชีววิธี
- ตัดใบอ่อน ช่อดอก และผลที่ถูกทำลายเผาทิ้งนอกแปลง
- พ่นเชื้อราบิวเวอเรีย อัตรา 250 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมสารจับใบ บริเวณใบอ่อน ช่อดอก และผลทุก 3-7 วัน ในช่วงเวลาเย็น
การควบคุมด้วยสารเคมี
- พ่นสารเคมีเมื่อพบเพลี้ยไฟระบาดในระยะเริ่มแทงช่อดอก และพ่นซ้ำหากยังพบการระบาด โดยเลือกใช้ชนิดใดชนิดหนึ่ง เช่น
– spinetoram 12% SC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
– emamectin benzoate 1.92% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
– fipronil 5% SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
การใช้ประโยชน์
เงาะเป็นผลไม้ที่มีรสหวาน หรือหวานอมเปรี้ยว หอม กรอบ อร่อย ใช้รับประทานเป็นผลไม้สด มีสารอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น น้ำตาล วิตามินซี วิตามินบี1/บี2 คาร์โบไฮเดรต โปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก แทนนิน และไนอาซีน สามารถช่วยแก้อาการท้องร่วงรุนแรงได้ ใช้ต้มน้ำทำเป็นยาแก้อักเสบ ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย รักษาอาการอักเสบในช่องปาก รักษาโรคบิด และในเปลือกผลมีสารต้านอนุมูลอิสระ คือ สารแทนนิน สามารถนำไปใช้ในการบำบัดน้ำเสียยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ ใช้ป้องกันแมลง ใช้ฟอกหนัง ย้อมผ้า ทำกาว ทำปุ๋ย และยารักษาโรคได้
แหล่งพืชอนุรักษ์
ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง