Search for:

ชื่อสามัญ มะขามป้อม KRI 59-08

ชื่อวิทยาศาสตร์  Phyllanthus emblica L.

ชื่ออื่นๆ  กำทวด (ราชบุรี)  มิ่งลู่ สันยาส่า (กะเหรี่ยมแม่ฮ่องสอน) กันโตด (เขมร) อะมะลา (ฮินดู เปอร์เซีย)

ถิ่นกำเนิดและประวัติความเป็นมา

ถิ่นกำเนิด เอเชียเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน และมีการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติอย่างกว้างขวาง ประเทศในเขตเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงประเทศจีนตอนใต้ พบที่อินเดีย ศรีลังกา พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และมาเลเซีย

สภาพนิเวศวิทยา พบตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าสนผสมก่อ ความสูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ 1,500 เมตร

ลักษณะทั่วไป

ไม้ยืนต้น ลำต้น ตั้งตรง ความสูงของต้นที่ขยายพันธุ์โดยวิธีเสียบยอดที่อายุ 3.5 ปี มีเส้นผ่านศูนย์กลางต้น 12.00 เซนติเมตร ความสูง 5.20 เมตรขนาดทรงพุ่ม 4.10 เซนติเมตร สีเทาอมน้ำตาลอ่อน ใบ ประกอบแบบขนนก ขนาดใบเล็ก แผ่นใบสีเขียวเข้ม บาง ก้านใบสั้นมาก ขอบใบเรียบ ขนาดใบ กว้างและยาว 4.20 x 18.40 เซนติเมตร ขนาดใบย่อย กว้างและยาว 0.70 x 2.50 เซนติเมตร จำนวนใบย่อยเฉลี่ย 74.00 ใบ ดอก แยกเพศขนาดเล็ก สีขาว อยู่บนกิ่งหรือต้นเดียวกัน ลักษณะเป็น ดอกช่อ ดอกย่อยมีขนาดเล็ก ขนาดช่อดอกกว้างและยาว 11.5 x 98.35 มิลลิเมตร จำนวนดอกตัวผู้ 298.50 ดอก จำนวนดอกตัวเมีย 8.50 ดอก ผล ขนาดใหญ่ คล้ายผลท้อ กลม แข็ง เนื้ออุ้มน้ำ สีเขียวอ่อน เมล็ด เปลือกหุ้มเมล็ดแข็งสีน้ำตาล มีสันตามยาว 6 สัน ภายในมี 6 เมล็ด

พันธุ์และการขยายพันธุ์

พันธุ์ มะขามป้อม KRI 59-08  การขยายพันธุ์ การเพาะเมล็ด การเสียบยอดหรือเสียบกิ่ง การติดตา และการทาบกิ่งปัจจุบันการผลิตมะขามป้อมเชิงการค้านิยมวิธีเสียบยอดหรือเสียบกิ่ง โดยมีขั้นตอนการปฏิบัติการดังนี้

  1. การเตรียมต้นกล้า

1.1        นำผลมะขามป้อมที่แก่จัดหรืออายุประมาณ 8 เดือน ฝานเอาเนื้อผลออก ล้างน้ำให้สะอาดแล้วนำมาตากแดดเพื่อให้เปลือกหุ้มเมล็ดแตก ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3 – 5 วัน

1.2        คัดเลือกเมล็ดที่สมบูรณ์และมีชีวิตด้วยวิธีการสังเกตจากการลอยนํ้าของเมล็ด

1.3        นำเมล็ดมาเพาะในภาชนะที่ใส่วัสดุเพาะทรายผสมขุยมะพร้าวอัตรา 1:1 ฉีดพ่นน้ำ วันละ 2 ครั้ง

1.4        หลังเพาะเมล็ดประมาณ 1 เดือน นำมาปลูกในถุงเพาะชำขนาด 4×7 นิ้ว

1.5        เมื่อต้นกล้าอายุ 7-8 เดือน นำมาขยายพันธุ์โดยวิธีเสียบยอด

  1. การเสียบยอด

การเสียบยอด คือ การนำยอดหรือกิ่งพันธุ์ดีที่มีตามากกว่า  1  ตา มาต่อบนต้นตอ เมื่อเนื้อเยื่อประสานเข้ากันดี ก็จะได้ต้นพันธุ์เดิมที่มียอดพันธุ์ดีหรือพันธุ์อื่นที่สามารถเติบโตและให้ผลผลิตได้บนต้นตอพันธุ์เดิม ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวกและรวดเร็ว นับเป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชที่เกษตรกรนิยมนำมาใช้ในการขยายพันธุ์มากกว่าการติดตาหรือทาบกิ่ง สาเหตุเพราะสิ้นเปลืองยอดพันธุ์น้อยกว่าการทาบกิ่งและยอดพันธุ์ที่แตกใหม่ซึ่งมีขนาดใหญ่และได้จำนวนยอดมากกว่าการติดตา และได้รอยต่อที่แข็งแรงกว่า การเสียบยอดหรือต่อกิ่งนิยมใช้อย่างแพร่หลาย และได้ผลดีกับพืชหลายชนิด เช่น เฟื่องฟ้า ชบา โกสน เล็บครุฑ มะม่วง พุทรา ขนุน และองุ่น ฯลฯ

            ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเสียบยอด

1) พืชที่นำมาเสียบเข้าด้วยกันต้องเป็นพืชตระกูลเดียวกัน แต่อาจต่างพันธุ์กันได้

2) กิ่งพันธุ์ดีต้องมีความสดอยู่เสมอ ซึ่งควรเก็บรักษาไว้ในห้องเย็น

3) รอยแผลที่ทำการเสียบจะต้องแนบกันสนิทให้เนื้อเยื่อเจริญของพืชทั้งสองส่วนสัมผัสกันมากที่สุด เพื่อจะได้เชื่อมประสานกันได้รวดเร็ว

4) เลือกตาพันธุ์ที่กำลังพักตัว คือ พร้อมที่จะแตกยอดใหม่

5) ใช้แถบพลาสติกพันทับรอยเชื่อมเพื่อไม่ให้น้ำและเชื้อโรคเข้าได้

6) รอยแผลจะต้องรักษาความสะอาดให้มากที่สุด ระวังอย่าให้สัมผัสน้ำหรือความชื้นมากเกินไป

7) ลิดใบพันธุ์ดีทิ้ง และใช้ถุงพลาสติกคลุม ป้องกันการคายน้ำ และรักษาความชื้น

ข้อควรพิจารณาในการเสียบยอด ได้แก่

1) การเลือกต้นตอ ควรเลือกต้นตอที่มีขนาดเหมาะสมกับกิ่งพันธุ์ดี มีความแข็งแรงปราศจากศัตรูพืช มีระบบรากแข็งแรง หาง่าย และราคาถูก

2) การเลือกกิ่งพันธุ์ ควรเป็นกิ่งที่สมบูรณ์ แข็งแรง มีตาที่ไม่ใช่ตาดอก โดยปกติส่วนมากจะเลือกกิ่งที่มีอายุ 1 ปี หรือน้อยกว่า

3) การเตรียมต้นตอและกิ่งพันธุ์ดี ในการเฉือนแผลต้นตอและกิ่งพันธุ์ดี ควรจะให้รอยแผลเรียบ และไม่ช้ำ (เกิดจากการผ่าหรือเฉือนหลายครั้ง จึงต้องมีความชำนาญในการเฉือนเพียงครั้งเดียวเท่านั้นเพื่อไม่ให้ต้นตอและกิ่งพันธุ์ดีช้ำ)

4) การป้องกันเชื้อโรค การทำให้เกิดบาดแผลแก่ต้นตอและกิ่งพันธุ์ดี เป็นช่องทางที่ทำให้เกิดเชื้อโรค จึงต้องระวังในเรื่องของความสะอาดโดยเฉพาะมีดต้องสะอาดและคม

5) การวางแนวเนื้อเยื่อเจริญระหว่างต้นตอและกิ่งพันธุ์ดี ต้องอยู่ในแนวเดียวกันเพื่อให้เกิดรอยประสานได้เร็วขึ้น

6) การบังคับให้กิ่งพันธุ์ดีเติบโต ภายหลังต่อกิ่งจะต้องทำการบังคับ เพื่อป้องกันการลำเลียงออกซิเจนจากกิ่งยอด ลงมายังกิ่งข้าง ทำให้เกิดลักษณะที่ตายอด ข่มตาข้าง โดยการบากเหนือรอยต่อให้ลึกถึงเนื้อไม้

7) ฤดูกาลที่เหมาะสำหรับการเสียบยอด ควรเป็นระยะที่พืชมีเจริญเติบโตดี โดยเฉพาะช่วงปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว รองลงมา คือ กลางฤดูฝน

การเสียบยอด แบบเสียบลิ่ม (Cleft grafting) กับต้นตอที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี มีวิธีการดังนี้

  1. เลือกต้นตอที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ที่ขยายพันธุ์จากเมล็ดเท่านั้น เพราะการปลูกจากเมล็ดจะมีระบบรากแก้ว จากนั้นตัดต้นตอตรงส่วนที่ไม่มีข้อหรือตาโดยตัดเป็นแนวขวางกับกิ่ง
  2. ใช้มีดผ่าไปบนต้นตอ บริเวณกลางลำต้นให้ลึกประมาณ 2 -3 นิ้ว บิดมีดเล็กน้อยเพื่อให้เนื้อไม้แยกออกจากกัน
  3.   นำกิ่งพันธุ์ดีที่มีอายุมากกว่า 1 ปี โดยเลือกจากต้นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตแล้วและจะต้องเป็นต้นพันธุ์ที่สมบูรณ์แข็งแรง และไม่มีโรค โดยใช้มีดเฉือนเฉียงๆ ลงให้มีแผลลักษณะรูปลิ่มที่มีความยาวประมาณ 2 นิ้ว
  4.   นำกิ่งพันธุ์ไปเสียบกับต้นตอที่ทำการผ่าไว้แล้วในตอนต้น
  5.   หลังจากนั้นก็พันด้วยพลาสติกใสหรือเชือกฟางที่ฉีกเป็นเส้นบางๆ มัดให้แน่นจากด้านล่างขึ้นด้านบนเพื่อกันน้ำไม่ให้โดนแผลที่เราต่อกิ่งไว้ ใช้ถุงพลาสติกคลุมและครอบด้วยกระดาษอีกชั้นหนึ่ง
  6. คลุมต้นที่เสียบยอดแล้วด้วยถุงพลาสติกแยกต้นต่อต้น หรือใส่ถุงพลาสติกขนาดใหญ่ ขนาด 24 X 44 นิ้ว มัดปากถุงให้แน่น แล้วนำไปเก็บไว้ในโรงเรือนที่มีการพรางแสง ประมาณ 15-20 วัน รอยแผลจะประสานกันดี จากนั้นเปิดปากถุงให้อากาศภายนอกเข้าไปในถุง เพื่อให้ต้นกล้าปรับตัว ใช้เวลา 7-10 วัน จึงนำออกจากถุง พักไว้ในโรงเรือนเพื่อรอการปลูกต่อไป วิธีนี้จะไม่เปลืองกิ่งพันธุ์ดีและผลิตต้นกล้าได้ครั้งละจำนวนมาก

วิธีการปลูก

  1. การเตรียมต้นกล้า ต้นพันธุ์ต้องได้จากแหล่งที่เชื่อถือได้ ซึ่งการปลูกด้วยต้นเพาะเมล็ดจะทำให้ได้ผลผลิตช้าอาจใช้เวลานาน 5-8 ปี ขึ้นอยู่กับคุณภาพของต้นและสภาพแวดล้อมของการเจริญเติบโต และอาจได้ต้นที่มีคุณภาพต่างไปจากต้นเดิม
  2. การเตรียมดินและการปลูก ลักษณะดินที่ดี คือ ร่วนซุย มีชั้นดินลึก 50-70 เซนติเมตร การปลูกควรขุดหลุมลึกประมาณ 50×50 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยคอก/ปุ๋ยหมัก ผสมกับดินที่ขุดขึ้นมา แล้วกลบลงในหลุมตามเดิม จากนั้นนำต้นพันธุ์ที่เตรียมไว้ลงปลูก ปักไม้พยุงต้น เมื่อต้นมะขามป้อมที่ปลูกมีความสูงระดับหัวเข่า ให้ตัดยอดทันทีเพื่อให้แตกกิ่งออกด้านข้างเป็นทรงพุ่ม วิธีนี้จะช่วยบังคับให้ต้นเตี้ย และง่ายต่อการดูแลรักษาและเก็บผลผลิต
  3. ระยะปลูก ต้นที่ได้จากการทาบกิ่งหรือติดตา อายุการให้ผลจะเร็ว คือ 2-3 ปี มีการติดผลต่อเนื่อง และทรงพุ่มไม่ใหญ่นัก ระยะปลูกอาจจะใช้ระยะ 3×6 เมตร หนึ่งไร่จะปลูกได้ 88 ต้น เมื่อเก็บผลได้ 7-10 ปี ก็ตัดออก 1 ต้น เป็นระยะ 6×6 เมตร เท่ากับเหลือ 44 ต้น/ไร่ ระยะนี้ก็อยู่ได้เป็นร้อยปี

การดูแลรักษา

  1. การให้น้ำ หลังปลูกในระยะแรกควรรดน้ำวันเว้นวัน เมื่อเข้าเดือนที่ 2 ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ทุกๆ 2-3 วัน/ครั้ง หรือสังเกตความชื้นของหน้าดินที่โคนต้นหรืออาการใบเหี่ยว ทั้งนี้เมื่อต้นมีอายุมากขึ้นจำเป็นจะต้องให้นํ้าอย่างสมํ่าเสมอโดยเฉพาะในฤดูแล้งและต้องมีการกำจัดวัชพืชเป็นระยะ เนื่องจากมะขามป้อมมิใช่พืชที่มีทรงพุ่มหนาแน่น แสงสามารถส่องผ่านถึงบริเวณโคนต้นจึงทำให้วัชพืชเจริญเติบโตได้ดี
  2. การให้ปุ๋ย

–  ระยะหนึ่ง (ปีแรก) หลังปลูก 2 สัปดาห์ ใส่ปุ๋ยเคมีที่มีไนโตรเจนสูง เพื่อเร่งการเจริญเติบโต โดยใส่ปุ๋ยสูตร 25-7-7 โรยรอบทรงพุ่ม ทุกๆ 7 วัน/ครั้ง

– ระยะที่ 2 (ปีที่ 2) ใส่ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ 16-16-16 และปุ๋ยขี้ไก่พร้อมแกลบทุก ๆ 14 วัน/ครั้ง โดยโรยปุ๋ยขี้ไก่พร้อมแกลบรอบทรงพุ่มประมาณ 1 กระสอบ จนอายุครบ 2.5 ปี หรือเมื่อเห็นว่าต้นเจริญเติบโตสมบูรณ์แข็งแรง

–  ระยะที่ 3 ระยะก่อนออกดอก เพื่อสะสมอาหารและสร้างตาดอก ใส่ปุ๋ยสูตร 8-24-24 ครั้งละ 200-300 กรัม/ต้น/ครั้ง แล้วรดน้ำ 3-4 ครั้ง เพื่อให้ปุ๋ยละลายหมด แล้วงดน้ำ 10-15 วัน ให้ใบเหลืองแล้วเริ่มร่วงและมีตาดอกแตกออกมาเต็มกิ่ง จึงเริ่มให้น้ำในปริมาณน้อยๆ หลังจากแทงตาดอก 20-25 วัน ดอกจะบานและเริ่มติดผล การติดผลมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ถ้าฝนตกตอนที่ดอกบานก็จะติดผลน้อย

–  ระยะที่ 4 เมื่อติดผลลูกเล็กๆ แล้วให้น้ำสม่ำเสมอ ใส่ปุ๋ยสูตร 16-16-16 จนถึงระยะเก็บเกี่ยว ตั้งแต่ติดดอกถึงเก็บเกี่ยวใช้เวลา 6-7 เดือน

การให้ปุ๋ยควรใส่ทั้งปุ๋ยเคมีและปุ๋ยคอก เพื่อทำให้ได้ต้นที่สมบูรณ์และให้ผลผลิตเร็วขึ้น มะขามป้อมจะเริ่มผลิดอกตั้งแต่เดือนมีนาคม และเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีถัดไป การเก็บผลมะขามป้อมที่แก่ ลักษณะผลจะมีเนื้อใส บางลูกที่แก่จัดจะเห็นถึงเมล็ดสีดำข้างในผล ช่วงติดผลเล็กๆ ควรให้น้ำสม่ำเสมอ และก่อนเก็บผล 1 เดือนอาจใส่สูตร 8-24-24 เพื่อทำให้ผลมีรสชาติดี ทั้งนี้ควรฉีดพ่นปุ๋ยธาตุอาหารเสริมทางใบ เช่น แคลเซียมหรือโบรอน เพื่อกระตุ้นให้ต้นแตกใบ ออกดอก เพิ่มการติดผล และคุณภาพผลดียิ่งขึ้น

โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ

  1. โรคมะขามป้อม เป็นผลไม้ป่าทนทานต่อโรคต่างๆ ได้ดีในธรรมชาติ แต่เมื่อเรานำมาปลูกเป็นแปลง มีการจัดการเรื่องปุ๋ยและเรื่องน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ อาจทำให้ขาดความสมดุลทางธรรมชาติ ซึ่งส่งผลทำให้มีความอ่อนแอต่อเชื้อราบางชนิด เข้าทำลายกิ่งที่ไม่สมบูรณ์ แต่พบไม่มาก แนวทางป้องกัน คือ ฉีดพ่นสารกำจัดเชื้อราบ้างในช่วงฤดูฝน สารเคมีที่ใช้เป็นกลุ่มคาร์เบนดาซิม และแอนทราโคล
  2. แมลงศัตรูพืช ในบางพื้นที่พบการเข้าทำลายของด้วงปีกแข็งกัดกินใบในเวลากลางคืน และหนอนเจาะลำต้นหรือตามกิ่ง เมื่อเริ่มติดดอกติดผล จะมีพวกแมลงปากดูด เพลี้ยไฟ และไรแดง เข้าแทะช่อดอก และผลเล็กๆ ดูดกินน้ำผึ้ง ส่งผลต่อคุณภาพของผล วิธีป้องกันกำจัดไม่ควรใช้สารเคมี ควรใช้สารสกัดสมุนไพร จากพืช หรือน้ำส้มควันไม้ แต่ถ้ามีการระบาด ใช้สารเคมี เช่น สารคาร์บาริล (เซฟวิน 85) แมลงปากดูด ใช้สารกลุ่มคาร์โบซัลแฟน (พอสซ์) ฉีดป้องกันและกำจัด

การใช้ประโยชน์

ผล รสเปรี้ยว ฝาด ขมชุ่ม เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อปอด ม้ามและกระเพาะ รับประทาน แก้กระหายน้ำ แก้คอตีบ แก้ไอ ขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ แก้พิษ แก้หวัด เป็นไข้ตัวร้อน แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้เจ็บคอ คอแห้ง และใช้สำหรับผู้ขาดวิตามินซี

ผลอ่อน รสเปรี้ยวหวานฝาดขม  บำรุงเนื้อหนัง กัดเสมหะ บำรุงเสียง แก้ท้องผูก แก้พยาธิ ผลแก่ รสเปรี้ยวฝาด ขมเผ็ด แก้ไข้เจือลม แก้ไอ แก้เสมหะ ทำให้ชุ่มคอ ลดไข้ ขับปัสสาวะ ระบายท้อง  บำรุงหัวใจ ฟอกโลหิต แก้ลม แก้โรคลักปิดลักเปิด และมีวิตามินซีสูงกว่าส้มประมาณ 20 เท่า

ผลแห้ง ต้มสกัดเอาน้ำมาใช้แก้ท้องเสีย ถ่ายเป็นเลือด แก้หวัด ตัวร้อน ไอ เจ็บคอ และกระหายน้ำ เนื้อผล ใช้ทาบนศีรษะ แก้อาการปวดหัวและวิงเวียนจากอาการไข้ขึ้นสูง แก้สะอึก ขับพยาธิ เนื้อผลแห้ง รสเปรี้ยวฝาดขม เป็นยาฝาดสมาน แก้ริดสีดวงทวาร แก้บิด ท้องเสีย ใช้ร่วมกับธาตุเหล็กแก้ดีซ่าน และช่วยย่อยอาหาร

ยางจากผล รสเปรี้ยวฝาดขม หยอดแก้ตาอักเสบ ช่วยย่อยอาหาร น้ำ

ราก รสจืดฝาด เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อม้าม ใช้เป็นยาลดความดันโลหิตสูง แก้ปวดกระเพาะหรือลำไส้อักเสบ  ต้มดื่มแก้ไข้ แก้พิษโลหิต รักษามะเร็งลาม ทำให้เส้นเอ็นยืด ฟอกโลหิต ทำให้อาเจียน แก้ร้อนใน แก้ท้องเสีย แก้โรคเรื้อน แก้พิษตะขาบกัด เปลือกราก ห้ามเลือด และสมานแผล

ใบ รสฝาด ขม เป็นยาเย็น ใช้เป็นยาแก้บวมน้ำ ขับปัสสาวะ แก้โรคผิวหนังกลากเกลื้อน ใช้ทาแก้โรคผิวหนังผื่นคัน มีน้ำเหลือง แก้บิดมูกเลือด แก้ฝี แก้ความดันโลหิตสูง และต้มอาบลดไข้

ดอก รสหอมเย็น ใช้ลดไข้ และช่วยเกี่ยวกับระบบขับถ่าย ดอกมีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นมะนาว เป็นยาเย็นและระบายท้อง

เปลือกต้น รสฝาดขม สมานแผล แก้บาดแผลเลือดออก แก้บิด แก้บาดแผลฟกช้ำ และแก้ท้องร่วง

เนื้อไม้ ใช้เผาถ่านได้ดีให้ความร้อนสูง ใช้ทำเครื่องมือกสิกรรม

เนื้อในเมล็ด รับประทานได้ น้ำมันที่ได้จากเมล็ดใช้ทำอาหาร สบู่ และเทียนไข

แหล่งพืชอนุรักษ์

ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง

<<กลับไปหน้า “มะขามป้อม”

<< กลับไปหน้าฐานข้อมูลพืชสมุนไพรและเครื่องเทศ