Search for:

ชื่อสามัญ  เกาลัดจีน  Chestnut Tree

ชื่อวิทยาศาสตร์  Castanea Mollissima

ชื่ออื่นๆ  

ถิ่นกำเนิดและประวัติความเป็นมา

เกาลัดจีนมีถิ่นกำเนิดแพร่กระจายพันธุ์ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนในช่วงกว้างตั้งแต่ละติจูด 40o30′ ถึง 18o30′ เหนือปลูกอย่างแพร่หลายในจีน ในไทย เริ่มปลูกเมื่อปี พ.ศ. 2529 และในปี พ.ศ. 2537  โดยกรมวิชาการเกษตร ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ โดยสถานีทดลองเกษตรที่สูงแม่จอนหลวง  และสถานีทดลองเกษตรที่สูงวาวี

ลักษณะทั่วไป

ลำต้น เกาลัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ มีลำต้นสูงได้มากกว่า 20 เมตร เปลือกมีสีดำหรือน้ำตาลอมดำ และปริแตกเป็นร่องลึกในแนวตั้งตามยาวลำต้น

ใบ  เกาลัดเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ ออกใบเดี่ยวเยื้องสลับกันตามปลายกิ่ง ใบเกาลัดมีลักษณะแตกต่างกันตามสายพันธุ์ อาทิ เกาลัดจีนเป็นรูปหอก ก้านใบเรียว ยาวประมาณ 1.0-2.5 เซนติเมตร ถัดมาเป็นหูใบ มีรูปหอก ปลายแหลม ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร และมีขนนุ่มสั้นปกคลุม ส่วนแผ่นใบกว้างประมาณ 3.5-7.0 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-22 เซนติเมตร โคนใบสอบ ปลายใบ แหลม แผ่นใบค่อนข้างหนา และแข็งกระด้าง ขอบใบหยัก และมีติ่งหนาม แผ่นใบด้านบนมีสีเขียวสด แผ่นใบด้านล่างมีสีเขียวนวล และมีขนสั้นปกคลุม แผ่นใบมีเส้นกลางใบสีขาวอมเขียวชัดเจน และมีแขนงใบข้างละ 10-21 เส้น

ดอก เกาลัดทุกสายพันธุ์ออกดอกเป็นช่อ แต่ละชนิดมีลักษณะดอกแตกต่างกัน อาทิ เกาลัดจีนมีดอกออกเป็นช่อยาว จำนวนหลายช่อที่ปลายกิ่ง แต่ละช่อยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร บนช่อประกอบด้วยดอกขนาดเล็กจำนวนมาก โดยกลางช่อดอกถึงปลายช่อดอกจะเป็นดอกเพศผู้ ตัวดอกมีกลีบเลี้ยง 6 แฉก ไม่มีกลีบดอก ด้านในเป็นเกสรสีน้ำตาลอมเหลือง 10-12 อัน ส่วนโคนช่อดอกเป็นดอกเพศเมีย ตัวดอกมีเกล็ดแข็งหุ้มกลีบเลี้ยงมี 6 แฉก ไม่มีกลีบดอก ส่วนด้านใน เป็นรังไข่ มี 4-6 ช่องส่วนกิ่งอ่อนหรือปลายกิ่งมีขนสีเทานุ่มปกคลุม

ผล และเมล็ด      ผลเกาลัดออกรวมกันเป็นช่อ แต่ละช่อมีผลประมาณ 2-5 ผล กลุ่ม ผลมีรูปกลม และค่อนข้างแบน ผลอ่อนมีเปลือกสีเขียว ผลสุกมีสีแดงหรือสีแสด เปลือกผลมีทั้งชนิดเรียบ และชนิดที่มีหนาม ซึ่งอาจเป็นหนามห่างๆ หรือเป็นขนนุ่มคล้ายกำมะหยี่ขนาดเล็กปกคลุม ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ขนาดผลประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร เมื่อผลแก่ ผลจะปริแตกออกด้านข้าง ด้านในผลมีเมล็ด 1-3 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะทรงกลม หรือกลมแบนเล็กน้อย เปลือกเมล็ดมีสีน้ำตาลอมดำหรือสีดำ เปลือกค่อนข้างหนาและแข็ง ขนาดเมล็ดประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร ด้านในเมล็ดเป็นเนื้อเมล็ดสีขาวอมเหลือง เนื้อเมล็ดเมื่อถูกความร้อนจะ เป็นสีเหลืองนวลหรือเหลืองเข้ม มีรสหวานมัน และมีกลิ่นหอม นิยมนำมาคั่วไฟรับประทาน ทั้งนี้ เกาลัดจะติดผลอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกันยายน-เมษายน

พันธุ์และการขยายพันธุ์

  1. MCL-1 มีหนามมาก หนามค่อนข้างแข็งและสั้น ผิวเปลือกหุ้มเมล็ดเรียบ สีน้ำตาลเทา มีขนสีขาวออกเหลืองหรือครีม มีปริมาณขนมาก  สีขาวออกเหลือง MCL-2 มีหนามมาก หนามยาวและแข็ง ผิวเปลือกหุ้มเมล็ดบาง ผิวเรียบ สีน้ำตาลเข้ม มีขนอ่อนสั้น ปริมาณขนมาก สีขาวออกเหลือง
  2. MCL-4 มีหนามมาก หนามสั้นและแข็ง ผิวเปลือกหุ้มเมล็ดบาง ผิวเรียบ สีน้ำตาล มีขนอ่อนสั้น สีเทาออกเหลือง  สีขาวออกเหลือง
  3. MCL-5 มีหนามมาก หนามค่อนข้างยาวและแข็ง เปลือกหุ้มเมล็ดบาง ผิวเรียบ สีน้ำตาล มีขนอ่อนสั้นจำนวนมาก สีขาวออกเหลือง
  4. WW-1 มีหนามมาก หนามค่อนข้างยาว เปลือกหุ้มเมล็ดสีน้ำตาลอมดำเข้ม สีครีม
  5. WW-2 มีหนามมาก หนามยาว เปลือกหุ้มเมล็ด สีน้ำตาลอมดำ สีครีม
  6. WW-5 มีหนามมาก หนามยาวมาก เปลือกหุ้มเมล็ด สีน้ำตาลเข้ม สีครีม

ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเสียบยอด (grafting) พันธุ์ดีบนต้นตอเพาะเมล็ด โดยใช้ต้นตอของเกาลัดจีน ช่วงเวลาเสียบยอดอยู่ในช่วงที่ทิ้งใบหมด และพักตัวเต็มที่เมื่อนำมาเสียบยอดจะสูญเสียน้อยมาก ซึ่งช่วงที่เหมาะสมในการเสียบยอดเกาลัดจีน คือเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม การเปลี่ยนยอดขณะต้นตอมีขนาดเล็กควรเลือกกิ่งพันธุ์ดีมีขนาดใกล้เคียงกัน และเมล็ดที่ใช้เป็นต้นตอที่เก็บจากต้นใหม่จะต้องทำลายการพักตัว (breake dormancy) ก่อน โดยใช้อุณภูมิ 0-2 องศาเซลเซียส นาน 1-2 เดือน ซึ่งจะทำให้เมล็ดงอก และเจริญเติบโตพร้อมกัน

วิธีการปลูก

  1. พื้นที่ควรสูงจากระดับน้ำทะเลไม่ต่ำกว่า 1,000 เมตร เนื่องจากเกาลัดเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ดีในที่มีอุณหภูมิต่ำ ดินมีความร่วนซุย การระบายน้ำดี มีอินทรียวัตถุสูง หากเป็นพื้นที่ปลูกพืชไร่หรือผักมาก่อน ให้ปรับปรุงฟื้นฟูสภาพดินก่อน มีแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือระบบน้ำที่สามารถให้ช่วงฤดูแล้ง หากพื้นที่มีลักษณะลาดเอียงให้ทำขั้นบันไดหรือคันคูรับน้ำตามไหล่เขาเพื่อลดการชะล้างพังทลายของดิน
  2. การปลูกฤดูที่เหมาะสมคือช่วงต้นฤดูฝน โดยใช้ระยะปลูก 8×8 เมตร หรือพื้นที่ลาดเอียงมากให้ใช้ระยะ 6×6 เมตร ขุดหลุมขนาด 1x1x1x เมตร ปรับปรุงดินและทิ้งไว้เพื่อให้มีการหมักสมบูรณ์ประมาณ 1-3 เดือนแล้วแต่สภาพดิน หลังปลูกควรให้น้ำหากฝนไม่ตก และหาวัสดุพรางแสงให้ช่วงที่ต้นเกาลัดยังไม่ตั้งตัว ทั้งนี้การปลูกเกาลัดอย่างน้อย 2 สายพันธุ์ในแปลงเดียวกัน โดยปลูกสลับสายพันธุ์เพื่อให้มีการผสมเกสรและการติดผลดีขึ้น

การดูแลรักษา

1.การใส่ปุ๋ย เพื่อให้ต้นเกาลัดเจริญเติบโตเต็มที่ สำหรับชนิดและปริมาณที่แนะนำ ได้แก่

อายุต้น : 4-6 เดือน สูตรปุ๋ย :15-15-15 ปริมาณ 100 กรัม/ต้น/ปี

อายุต้น : อายุ 1 ปี สูตรปุ๋ย :15-15-15 ปริมาณ 100 กรัม ผสม 46-0-0 ปริมาณ 120 กรัม/ต้น/ปี

อายุต้น : อายุ 2 ปี สูตรปุ๋ย :15-15-15 ปริมาณ 300 กรัม ผสม 46-0-0 ปริมาณ 240 กรัม/ต้น/ปี

อายุต้น : อายุ 3 ปีสูตรปุ๋ย :15-15-15 ปริมาณ 1,500 กรัม ผสม 46-0-0 ปริมาณ 360 กรัม/ต้น/ปี

อายุต้น : อายุ 4 ปี สูตรปุ๋ย :12-12-17-2 ปริมาณ 3,333 กรัม ผสม 46-0-0 ปริมาณ 480 กรัม และเพิ่มปุ๋ยโปแตสเซียมคลอไรด์ปริมาณ ปริมาณ 300 กรัม/ต้น/ปี

2.การให้น้ำ เกาลัดเป็นพืชที่ทนแล้งได้ดี แต่ในช่วงเริ่มปลูกและช่วงให้ผลผลิตควรมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ การตัดแต่งกิ่ง เพื่อควบคุมทรงพุ่มให้ง่ายต่อการเก็บเกี่ยวและดูแลรักษา แต่เนื่องจากเกาลัดจะออกดอกติดผลในกิ่งใหม่ที่ เจริญเติบโตในฤดูฝนที่ผ่านมา ยิ่งกิ่งใหม่ปริมาณมากนั่นหมายถึงปริมาณช่อดอกก็จะมากด้วย ต้นที่ไม่มีการตัดแต่งจะออก ดอกได้เร็วกว่าต้นที่ตัดแต่งหลายๆ ครั้ง ดังนั้นเมื่อต้นเกาลัดเริ่มให้ผลผลิตแล้ว ให้ตัดแต่งเพียงเล็กน้อยโดยเลือกกิ่งด้านใน กิ่งเป็นโรค กิ่งแห้ง กิ่งแก่หัก หรือกิ่งที่ซ้อนทับกันมากเกินไป

โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ

เกาลัดเป็นพืชที่ไม่ค่อยมีศัตรูพืชรบกวนมาก ศัตรูที่พบได้แก่ หนอนเจาะลำต้น และหนอนกินช่อดอก

การใช้ประโยชน์

  1. เมล็ดเกาลัดมีเนื้อเมล็ดขนาดใหญ่ เมื่อนำมาคั่วจะมีสีเหลืองนวล มีรสหวานมัน และมีกลิ่นหอม จึง นิยมปลูกเพื่อนำเมล็ดมาคั่วรับประทาน
  2. ต้นเกาลัดใช้ปลูกเป็นไม้ประดับดอก เนื่องจาก ผลมีสีแดงสดสวยงาม
  3. เมล็ดเกาลัดนอกจากใช้รับประทนเป็นอาหารแล้ว ยังนำมาสกัดหรือบดเป็นแป้งสำหรับใช้ทำขนมหวาน
  4. เมล็ดเกาลัดใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์
  5. เปลือกผลนำมาต้มย้อมผ้า ให้ผ้าสีแสดหรือสีแดงอมส้ม
  6. เนื้อไม้ใช้ในงานก่อสร้างหรือแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์

แหล่งพืชอนุรักษ์

ศูนย์วิจัยพืชสวนเลย  และศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่

<< กลับไปหน้าฐานข้อมูลพืชผัก