ชื่อสามัญ ขนุน
ชื่อวิทยาศาสตร์ Artocarpus heterophyllus Lam.
ชื่ออื่นๆ ขะนู (ชอง-จันทบุรี) ขะเนอ (เขมร) ซีคึย, ปะหน่อย (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) นะยวยซะ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) นากอ (มลายู-ปัตตานี) เนน (ชาวบน-นครราชสีมา) มะหนุน (ภาคเหนือ,ภาคใต้) ล้าง,ลาน (ฉาน-เหนือ) หมักหมี้ (ตะวันออกเฉียงเหนือ) หมากกลาง (ฉาน-แม่ฮ่องสอน)
ถิ่นกำเนิดและประวัติความเป็นมา
ขนุน เป็นพันธุ์พืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยมีการสันนิษฐานกันว่าน่าจะอยู่ในประเทศอินเดีย จากนั้นจึงมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังบริเวณเขตร้อนของเอเชีย ซึ่งจะพบได้มากในเอเชียตะวันออก-เฉียงใต้ เช่น ไทย พม่า ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ ซึ่งได้มีการแพร่กระจายพันธุ์เข้ามานานมากแล้ว โดยมีปรากฏหลักฐานโบราณที่กล่าวถึงขนุนตั้งแต่ในสมัยสุโขทัย และกรุงศรีอยุธยาแล้ว ทั้งนี้ขนุนพันธุ์พื้นเมืองแท้ดั้งเดิม คือ ขนุนหนัง และขนุนละมุด (ขนุนหิน) แต่ในปัจจุบันมีการปรับปรุงพันธุ์ใหม่ๆ มีหลากหลายพันธุ์ เช่น ขนุนพันธุ์ทองสุดใจ, ศรีบรรจง, จำปากรอบ เป็นต้น
ลักษณะทั่วไป
ขนุน จัดเป็นไม้ยืนต้นเนื้ออ่อนขนาดใหญ่ สูงประมาณ 8-15เมตร (แต่บางต้นอาจสูงได้ถึง 30 เมตร) ลำต้นตั้งตรง สีน้ำตาลอมเทา แกนไม้สีเหลืองทอง พุ่มทึบ แตกกิ่งก้านสาขามาก กิ่งและลำต้นเมื่อมีแผลจะมีน้ำยางสีขาวข้นไหลออกมา ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ แผ่นใบรูปรี ปลายใบทู่ ถึงแหลม โคนใบมน ผิวด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านหลังสีเขียวนวล เนื้อใบหนา และเหนียวผิวใบด้านล่างจะสากมือ ขนาดของใบกว้าง 5-8 เซนติเมตร ยาว 10-15 เซนติเมตร ดอก ดอกออกเป็นกลุ่มแบบช่อเชิงลด โดยช่อดอกตัวเมีย และตัวผู้จะอยู่บนต้นเดียวกัน ช่อดอกตัวผู้ จะออกที่โคนกิ่งลำต้น และง่ามใบ ลักษณะของดอกเป็นแท่งยาวประมาณ 2.5 ซม. มีกลิ่นหอมคล้ายส่าเหล้า ส่วนช่อดอกตัวเมียเป็นแท่งกลมออกจากลำต้น และก้านขนานใหญ่ ซึ่งในแต่ละรอบของการออกดอก จะมีเกสรตัวผู้มากกว่าเกสรตัวเมียเสมอ ผล ออกเป็นผลรวม โดยเกิดจากดอกทั้งช่อที่เจริญร่วมกันเป็นผลรวม โดย 1 ดอก กลายเป็น 1 ยวง (เนื้อขนุน) ใน 1 ผลจึงมีหลายยวง ผลมีลักษณะกลมขนาดใหญ่ หนักตั้งแต่ 5-60 กิโลกรัม (ตามสายพันธุ์) ผลดิบเปลือกสีเขียว หนามทู่ ถ้ากรีดเปลือกจะมียางเหนียวข้นออกมาก เมื่อผลแก่ เปลือกจะเป็นสีน้ำตาลอมเหลืองตาและหนามจะป้านขึ้น เมล็ด ลักษณะกลมรี เนื้อหุ้มเมล็ดสีเหลือง ถ้าสุกมีกลิ่นหอม เปลือกหุ้มเมล็ดบาง รับประทานได้
พันธุ์และการขยายพันธุ์
ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอนกิ่ง ทาบกิ่ง ติดตาและเพาะเมล็ด
วิธีการปลูก
ขนุนปลูกได้ทั้งแบบยกร่อง และแบบปลูกในที่ดอน โดยควรปลูกเป็นแถวเป็นแนว เพื่อสะดวกในการดูแลรักษา และการปฏิบัติงาน ระยะห่างระหว่างต้น หรือ ระหว่างหลุมคือ 8×8 เมตร หรือ 10×10 เมตร เป็นระยะที่เหมาะสำหรับการปลูกแบบไร่ ส่วนการปลูกแบบร่อง ระยะห่างระหว่างต้น คือ 6×6 เมตร เพราะต้นขนุนมักมีขนาดเล็กกว่าการปลูกแบบไร่สำหรับขนาดของหลุมปลูก ให้ขุดหลุมขนาด กว้าง ยาว ลึก 50-100 เซนติเมตร (ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน) ในพื้นที่ 1 ไร่ สำหรับระยะปลูก 10×10 เมตร สามารถปลูกได้ 16 ต้น สำหรับระยะปลูก 6×6 เมตร สามารถปลูกได้ 45 ต้น
การดูแลรักษา
ขนุนต้นเล็กสูงไม่เกิน 2 เมตร สามารถให้น้ำวันเว้นวันแล้วแต่สภาพอากาศ เมื่อต้นโตมีความสูงเกิน 2 เมตร สามารถให้น้ำได้อาทิตย์ละ 2 วันได้ ช่วงนี้ขนุนบางต้นจะติดลูก ควรให้เด็ดทิ้งให้หมด เพราะลำต้นยังไม่แข็งแรงพอในการรับน้ำหนักของผล เมื่อายุต้นได้ 5-6 ปี จึงสามารถปล่อยให้ติดผลได้แต่ต้องมีไม้ค่ำยันลำต้น หรือมีวัสดุรองรับผลขนุนที่มีขนาดใหญ่
โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ
เพลี้ยแป้ง หนอนเจาะลำต้น นก หนู กระรอก สัตว์กัดแทะ
การใช้ประโยชน์
- ยวงและเมล็ด รับประทานเป็นอาหาร
- แก่นของต้นขนุนมีสีเหลือง นำมาต้มย้อมผ้าจะให้สีน้ำตาลแก่
- ส่าแห้งของขนุน ใช้ทำชุดจุดไฟได้
- แก่นขนุนหนังหรือขนุนละมุด มีรสหวานชุ่มขม บำรุงกำลังและโลหิต ทำให้เลือดเย็น สมานแผล
- ใบขนุนละมุด เผาให้เป็นถ่านผสมกับน้ำปูนใสหยอดหู แก้ปวดหู และหูเป็นน้ำหนวก
- ไส้ในของขนุนละมุด รับประทานแก้ตกเลือดทางทวารเบาของสตรีที่มากไปให้หยุดได้
- แก่นและเนื้อไม้ ทำแห้ง นำมาฝนเป็นผงผสมน้ำผึ้ง รับประทานแก้กามโรค
- ตามตำราแพทย์แผนไทยระบุไว้ว่า ขนุนเป็นผลไม้รสร้อน ดังนั้นเมื่อรับประทานเข้าไปแล้วอาจทำให้ร่างกายร้อนขึ้นได้ และอาจทำให้ระดับความดันโลหิตสูงขึ้นกว่าปกติได้ ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงควรรับประทานแต่น้อย และไม่ควรรับประทานคู่กับสุราเพราะอาจทำให้อาการของโรคความดันโลหิตสูงกำเริบได้
- ขนุนมีประโยชน์ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวานได้ โดยมีผลงานวิจัยของประเทศศรีลังกา ที่ได้ทำการทดลองในผู้ป่วยเบาหวานและในหนูทดลอง ซึ่งผลการทดลองพบว่าสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ผลการทดลองยังได้ทำการเปรียบเทียบกับยาแผนปัจจุบันที่ใช้รักษาเบาหวาน ซึ่งก็คือยา Tolbutamide และได้ผลสรุปว่าสารสกัดจากขนุนสามารถช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่ายา Tolbutamide ภายในเวลา 5 ชม. สำหรับวิธีนำมาปรุงเป็นยาก็ง่าย ๆ เพียงแค่ใช้ใบขนุนแก่ 5-10 ใบ นำมาต้มในน้ำ 3 แก้ว เคี่ยวนานประมาณ 15 นาที แล้วนำมาดื่มก่อนอาหารเช้า-เย็น
- เม็ดขนุน มีสารพรีไบโอติกหรือสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่ทนต่อการย่อยของกระเพาะอาหารและการดูดซึมของลำไส้เล็กตอนบน ซึ่งช่วยดูดซึมแร่ธาตุอย่างแคลเซียม เหล็ก สร้างสารป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ โดยไม่ส่งเสริมการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรค
แหล่งพืชอนุรักษ์
ศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย