Search for:

ชื่อสามัญ มะพร้าว : ลูกผสมกะทิพันธุ์ชุมพร 84-1 Coconut

ชื่อวิทยาศาสตร์ Cocos nucifera L.

ชื่ออื่นๆ  

ถิ่นกำเนิดและประวัติความเป็นมา

มะพร้าวลูกผสมกะทิพันธุ์ชุมพร 84-1 ได้จากการผสมพันธุ์ระหว่าง พันธุ์มลายูสีเหลืองต้นเตี้ย และมะพร้าวกะทิ พ.ศ. 2517 ได้มีการดําเนินการสร้างสวนผลิตพันธุ์มะพร้าวลูกผสมคันธุลี ที่ ตำบลคันธุลี อำเภอ     ท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยได้รวบรวมต้นแม่พันธุ์พ่อพันธุ์ทั้งจากในและ ต่างประเทศ มาปลูกรวบรวมไว้ โดยพันธุ์มลายูสีเหลืองต้นเตี้ยเป็นพันธุ์ที่นําเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย ส่วนมะพร้าวกะทิพันธุ์แท้ดั้งเดิมเป็นมะพร้าวพ่อพันธุ์กะทิของบริษัทอูติเมล็ดพันธุ์ปาล์มน้ำมันจํากัด อยู่บนเกาะในเขื่อนวชิราลงกรณ์ (เขื่อนเขา-แหลม) อําเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ได้รับการแนะนำพันธุ์ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2554 เป็นพันธุ์พืช      ขึ้นทะเบียนเลขที่ 017/2554 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2554

ลักษณะทั่วไป

ลำต้นตั้งตรง ใบแคบยาว ก้านทางสีเขียวและน้ำตาลแกมเขียว ให้ผลผลิตรวม 3 ปีแรก 3,378 ผลต่อไร่ โดยให้ผลผลิตเป็นมะพร้าวกะทิไม่น้อยกว่า ร้อยละ 18 ซึ่งต้นมะพร้าวธรรมดาจะไม่มีผลเป็นมะพร้าวกะทิ ให้ผลผลิตเร็ว ต้นแรกออกจั่น เมื่ออายุ 2 ปี 5 เดือน ต้นมะพร้าวครึ่งหนึ่งของสวนออกจั่นเมื่ออายุ 3 ปี 1 เดือน ให้ผลผลิตเมื่อทะลายแรกสูงจากพื้นดิน 73 เซนติเมตร มะพร้าวมีเนื้อฟูเต็มกะลาน้ำข้นเหนียว ร้อยละ 21.74 เนื้อฟูปานกลาง ร้อยละ 47.83 และเนื้อฟูเล็กน้อย น้ำใสร้อยละ 30.43

พันธุ์และการขยายพันธุ์

มะพร้าว : ลูกผสมกะทิพันธุ์ชุมพร 84-1 ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด (ผลพันธุ์มะพร้าว)

วิธีการปลูก

เตรียมหลุมขนาด 1x1x1 เมตรตากหลุมทิ้งไว้ 7 วัน รองก้นหลุมด้วยกาบมะพร้าว 2 ชั้น เอาดินบนใส่ลงไปครึ่งหลุมและใช้ดินล่างผสมกับปุ๋ยคอก 25 กก. และหินฟอสเฟตครึ่งกิโลกรัมต่อหลุมใส่ลงให้เต็มทิ้งไว้จนถึงฤดูปลูก (ควรเริ่มปลูกต้นฤดูฝนหลังจากที่ฝนตกหนักแล้วประมาณ 2 ครั้ง)

การดูแลรักษา

  1. การใส่ปุ๋ย ปุ๋ยเคมีควรใส่ตั้งแต่มะพร้าวมีอายุ 6 เดือนหรือแตกใบย่อย และ ควรใส่ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ โดยใส่ปุ๋ยอินทรีย์ 10 – 25 กก./ต้น/ปี ปุ๋ยเคมี 13 – 13 – 21 อัตรา 4 กก./ต้น/ปีแบ่งใส่ปีละ 2 หรือ 3 ครั้ง ร่วมกับปุ๋ยแมกนีเซียมซัลเฟต อัตรา 500 กรัม/ต้น หรือหินปูนโดโลไมท์
  2. การให้น้ำ ควรมีการให้น้ำมะพร้าวอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เกิดการพัฒนาของตาดอก อย่างต่อเนื่องและมะพร้าวผลผลิตไม่ขาดคอ
  3. การจัดการสวน การกำจัดวัชพืช ส่วนใหญ่ใช้วิธีตัดหญ้า หรือการปลูกพืชคลุมดินในสวนมะพร้าวเพื่อควบคุมวัชพืชและช่วยรักษาความชื้นในดิน และยังช่วยเพิ่มธาตุอาหารและช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดิน

โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ

  1. โรคผลร่วง (Nut Fall Disease) เกิดจากเชื้อรา Phytopthora palmivora (Butler) ผลมะพร้าวจะร่วงก่อนกำหนด อายุการเก็บเกี่ยว (11-12 เดือน) โดยผลจะร่วงตั้งแต่ 2 – 8 เดือน ดังนั้นผลมะพร้าวที่ร่วงจึงอ่อนเกินกว่าที่จะนำมาใช้ประโยชน์ โรคนี้เกิดมากกับมะพร้าวพันธุ์มลายูสีเหลืองต้นเตี้ย การป้องกันกำจัด ทำลายผลที่แสดงอาการของโรค พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น ฟอสอีทิล-อลูมิเนียม 80% WP อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
  2. ด้วงแรดมะพร้าว (Coconut Rhinoceros Beetle) ชื่อวิทยาศาสตร์ Oryctes rhinoceros (Linnaeus) การป้องกันกำจัด หมั่นรักษาสวนให้สะอาด ทำลายตัวอ่อนตามกองปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก หมั่นกลับกองปุ๋ยทุกเดือนหรือใช้เชื้อราเขียว (Metarhizium anisopliae) ใส่ไว้ตามกองขยะ กองปุ๋ยคอก กองปุ๋ยหมัก และใส่ลูกเหม็น 6-8 ลูก และทรายบริเวณคอยอดมะพร้าวเพื่อไล่และป้องกันด้วงแรดมะพร้าวเจาะทำลายยอด
  3. แมลงดำหนามมะพร้าว (Coconut Hispine Beetle) ชื่อวิทยาศาสตร์ Brontispa Longissima ตัวเต็มวัยเป็นด้วงปีกแข็ง วางไข่ ระยะหนอนทำลายมากที่สุดอาศัยกัดกินอยู่ในใบอ่อนที่ยังไม่คลี่ แทะกินผิวใบ การป้องกันกำจัด ใช้แตนเบียนอะซีโคเดส ฮิสไพนารัม (Asecodes hispinarum) หรือแตนเบียนเตตระสติคัส บรอนทิสปี้ Tetrastichus brontispae

การใช้ประโยชน์

ใช้บริโภคผลสด ทานคู่กับขนมหวาน เช่น ทับทิมกรอบ ลอดช่อง บัวลอย เป็นต้น ใส่ในน้ำแข็งไส ไอศกรีม

แหล่งพืชอนุรักษ์

ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร และพื้นที่ปลูกภายในศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพรและศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง รวมทั้งสิ้น จำนวน 10 ไร่

<<กลับไปหน้า”มะพร้าว”

<<กลับไปหน้าฐานข้อมูลพืชอุตสาหกรรม