Search for:

ชื่อสามัญ  มะแขว่น

ชื่อวิทยาศาสตร์  Zanthoxylum  myriachanthum

ชื่ออื่นๆ  กำจัด กำจัดต้น หมากแคน ลูกระมาศ หมากมาด  มะแขว่น บ่าแขว่น มะแข่น บ่าแข่น  พริกหอม

ถิ่นกำเนิดและประวัติความเป็นมา

ในทวีปเอเชียบริเวณเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงคาบสมุทรอินโดจีน และตามเกาะต่างๆ ในทวีปดังกล่าว อาทิเช่นในประเทศ อินเดีย ศรีลังกา จีนตอนใต้ พม่า ลาว มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และปาปัวนิวกินีตอนใต้ ส่วนในประเทศไทยพบได้ตามภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ แต่จะพบมากทางภาคเหนือในบริเวณป่าดิบแล้งหรือป่าดิบเขก ในพื้นที่สูงประมาณ 800-1000 เมตร จากระดับน้ำทะเล

ลักษณะทั่วไป

มะแขว่น เป็นไม้ขนาดกลาง สูงประมาณ 5-10 เมตร มีหนามอยู่รอบลำต้นและกิ่ง ต้นอ่อนจะมีสีแดงแกมเขียว ลักษณะของใบเป็นใบประกอบ แต่ละใบจะมีใบย่อย 10-25 ใบ ช่อดอกเป็นช่อแบบกลุ่มย่อย มีสีขาวอมเทา ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร มีดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่คนละต้น ผลมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.3-0.5 เซนติเมตร เปลือกของผลสีเขียวเมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม ผลแก่จัดจะแตกออก เมล็ดกลมเรียบ เมื่อแก่จัดจะมีสีดำเข้มเป็นมัน มีกลิ่นหอมฉุนคล้ายผักชี มีรสเผ็ดเล็กน้อย มะแขว่นเจริญเติบโตในที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 200-1,000 เมตร ต้องการสภาพอากาศค่อนข้างเย็น ความชื้นในอากาศสูง เจริญเติบโตดีในสภาพกลางแจ้ง ไม่ต้องการน้ำมากนัก ชอบดินที่ระบายน้ำได้ดี จึงควรปลูกตามไหล่เขา หรือพื้นที่สูงชัน

พันธุ์และการขยายพันธุ์

โดยทั่วไปการขยายพันธุ์มะแขว่นใช้วิธีเพาะเมล็ด โดยใช้เมล็ดแก่จัดและเป็นเมล็ดสดที่ออกจากเปลือกใหม่ๆ ยังไม่แห้ง นำลงเพาะทันที โดยแช่ในน้ำอุ่น ประมาณ 50 องศาเซลเซียส 5-10 นาที แล้วนำไปแช่ในน้ำเย็น 1 คืน เพื่อให้เปลือกนอกแตก และเป็นการทำลายไขที่เคลือบเมล็ดออกด้วย เพื่อจะช่วยให้เมล็ดสามารถงอกได้เร็วและได้ผลดีขึ้น หรืออาจนำเมล็ดมะแขว่นสด มาขูดเอาส่วนของเยื่อหุ้มเมล็ดออกก่อน โดยใช้ทรายถู

วิธีการปลูก

เพาะในกระบะทราย รดน้ำเป็นระยะ แต่อย่าให้น้ำขัง เป็นเวลาประมาณ 1-2 เดือน เมื่อต้นกล้างอกมีใบจริงและแข็งแรงดีแล้ว ย้ายลงปลูกในถุงเพาะชำ เพื่อเตรียมย้ายลงแปลงปลูกต่อไป กล้าที่เหมาะสมย้ายปลูกควรมีอายุ 3 เดือน สูง 3-5 นิ้ว กล้าขนาดเล็กจะมีอัตราการรอดสูง ดังนั้นจึงควรเพาะกล้าตั้งแต่เดือนมีนาคมเพื่อให้ทันปลูกในต้นฤดูฝน

การดูแลรักษา

การย้ายปลูกควรทำในฤดูฝน หลุมปลูกต้องไม่มีน้ำขัง ใช้ระยะปลูก 4X4 เมตร ระยะแรกควรให้มะแขว่นเติบโตตามธรรมชาติ การพรวนดินหรือการกำจัดวัชพืชต้องระมัดระวัง อาจทำให้ระบบรากกระทบกระเทือน เพราะรากมะแขว่นอยู่ระดับผิวดิน อาจทำให้ต้นมะแขว่นตายหรือชะงักการเจริญเติบโตได้ เมื่อต้นมะแขว่นมีอายุ 1-2 ปี ควรเด็ดยอดเพื่อให้แตกกิ่งก้าน เป็นการเพิ่มผลผลิตและยังทำให้ต้นเตี้ย สะดวกต่อการเก็บเกี่ยว ในระยะ 1-3 ปีแรกต้นมะแขว่นจะไม่สามารถจำแนกเพศของต้นได้ จนกระทั่งเริ่มออกดอกในปีที่ 3 หรือ 4 ดอกบานเต็มที่ ต้นตัวเมียเริ่มติดผล แต่ต้นตัวผู้ดอกจะร่วงและไม่ติดผล นิยมตัดต้นตัวผู้บางส่วน และใช้วิธีเสียบยอดแทน โดยตัดส่วนยอดออกเหลือลำต้นสูงประมาณ 1-1.5 เมตร แล้วใช้วิธีเสียบยอดของต้นตัวเมียแทนต้นเดิม

โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ

หนอนกินใบ หนอนเจาะลำต้น

การใช้ประโยชน์

นิยมนำผลและเมล็ดแห้งมาประกอบอาหาร รวมถึงใช้เป็นยาสมุนไพร เนื่องจากผลแห้งมีกลิ่นหอมแรง และมีรสเผ็ดร้อน ช่วยดับกลิ่นคาว และเพิ่มรสชาติของอาหารให้อร่อยและมีฤทธิ์กระตุ้นความอยากอาหาร (Stimulate appetite) มะแขว่นยังถือเป็นวัตถุดิบสำคัญในการประกอบอาหารของคนภาคเหนือได้แก่ (ยำจิ้นไก่ ลาบ แกงผักกาด ปีกไก้ทอดมะแขว่น หมูย่างมะแขว่นฯ)  นอกจากนี้ยังนิยมนำผลแห้งมาสกัดน้ำมันหอมระเหยสำหรับใช้ทานวด ใช้เป็นส่วนผสมเครื่องสำอาง เช่น แชมพู ครีมบำรุงผิวหรือพัฒนาทำเป็นผลิตภัณฑ์ฉีดพ่นป้องกันยุงและไล่แมลงศัตรูพืช มะแขว่นเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของบางพื้นที่ในจังหวัดน่านและเชียงใหม่ เนื่องจากมีการผลิตและจำหน่ายเป็นส่วนประกอบอาหารและยาในตำรับยาไทย

แหล่งพืชอนุรักษ์

ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่

<< กลับไปหน้าฐานข้อมูลพืชสมุนไพรและเครื่องเทศ