Search for:

ชื่อสามัญ   สัตฤาษี

ชื่อวิทยาศาสตร์   Paris polyphylla Smith

ชื่ออื่นๆ  ตีนฮุ้งดอย

ถิ่นกำเนิดและประวัติความเป็นมา

มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน อนุทวีปอินเดียและคาบสมุทรอินโดจีน มีเขตการกระจายพันธุ์ตั้งแต่แถบหิมาลัยไปยังประเทศจีน ทิเบต เนปาล เทือกเขาหิมาลัย จีน ไต้หวัน เมียนมาร์ ลาว เวียดนาม และไทย  และส่วนใหญ่อยู่ในเขตภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแถบตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมณฑลยูนนาน มณฑลเสฉวน และมณฑลกุ้ยโจว  ในไทยพบเฉพาะสายพันธุ์ Paris polyphylla var chinensis โดยพบเฉพาะทางภาคเหนือ แถบจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน ขึ้นในป่าดิบเขาระดับความสูง 900-1,900 เมตร ในต่างประเทศพบในระดับความสูงจนถึง 3,000 เมตร

ลักษณะทั่วไป

เป็นไม้ล้มลุก มีหัวใต้ดิน ลำต้นสูงได้ถึง 1 เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนรอบข้อ 4-9 ใบ รูปรีแกมขอบขนาน กว้าง 3-5 เซนติเมตร ยาว 8-15 เซนติเมตร โคนใบสอบ ปลายใบแหลม ดอกสีเหลืองแกมส้ม ออกเป็นดอกเดี่ยว ลักษณะเป็นกระจุกที่ปลายยอด มีก้านดอกยืดยาว 5-30 เซนติเมตร มีใบประดับ 4-6 ใบ ยาว 5-10 เซนติเมตร กลีบดอกเป็นเส้นเล็กสีเขียว ยาว 6-12 เซนติเมตร มีเกสรตัวผู้ 10-22 อัน เป็นเส้นยาว ผลมีลักษณะเป็นก้อนกลม ผิวเรียบ ขนาดะ 4-5 เซนติเมตร เมล็ดสีแสดแดง

พันธุ์และการขยายพันธุ์

Paris polyphylla Smith. 12 สายพันธุ์ทั่วโลก Qin et al., (2013) รายงานว่า Paris polyphylla Smith. แบ่งออกได้มากกว่า 10 สายพันธุ์ มี 2 สายพันธุ์ที่สำคัญ คือ Paris polyphylla var chinensis และ Paris polyphylla var. yunnanensis

เมล็ดเกิดจากการผสมเกสรระหว่างเกสรเพศผู้และเกสรเพศเมีย การเพาะเมล็ดจำเป็นต้องคัดเมล็ดที่มีความสมบูรณ์ เมล็ดมีความสุกแก่ทางสรีรวิทยา ซึ่งเมล็ดสัตฤาษีที่สุกแก่เต็มที่ในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม ซึ่งเหมาะสมในการนำมาเพาะกล้า  แล้วนำมาเพาะไว้ในพื้นที่ที่เตรียมไว้ โดยมีวัสดุเพาะที่บรรจุในกระบะเพาะ หรือภาชนะต่างๆ ที่มีการดูแลรักษา และควบคุมสภาพความชื้น สภาพแสง และอุณหภูมิจนกระทั่งเมล็ดงอก และต้นกล้าเจริญเติบโตแข็งแรง จึงจะย้ายต้นกล้าไปปลูก การเพาะเมล็ดมีขั้นตอนดังนี้

การขยายพันธุ์จากจุดเจริญพันธุ์พืชที่มีหัวใต้ดินประเภทเหง้า (Rhizomes) สัตฤาษีเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ลำต้นใต้ดินเจริญเติบโตไปตามแนวขนานกับผิวดิน วิธีการขยายพันธุ์สามารถทำได้ดังนี้

1 ตัดเหง้าที่มีการแทงยอดใหม่จากจุดเจริญ โดยแยกส่วนที่จะนำไปใช้ประโยชน์ออกจากส่วนที่มีจุดเจริญที่จะนำมาเพาะเลี้ยง

2 ทาปูนแดง หรือยาป้องกันเชื้อราตรงบริเวนรอบแผลที่ตัดเพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าทำลาย ควรจะปลูกทันทีหลังจากทำการตัด

3 เตรียมวัสดุเพาะลงในกระถางโดมมีอัตราส่วน 1:1:1 คือ หน้าดินจากป่า: ทราย: ปุ๋ยคอก บรรจุวัสดุเพาะลงในกระถาง แล้วนำเหง้าที่ตัดปลูกลงในกระถางแล้วรดน้ำ

4 นำกระถางวางไว้ในที่ร่มหรือโรงเรือนเพาะชำ และดูแลรักษาด้วยการรดน้ำให้สม่ำเสมอ จนส่วนขยายพันธุ์เริ่มแตกยอดใหม่ ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือนจะเริ่มปรากฏใบจริงครบ

วิธีการปลูก

หากปลูกในสภาพโรงเรือนที่มีระบบน้ำ และสามารถควบคุมสภาพแสงได้ ควรมีการเพาะเมล็ดล่วงหน้าและปลูกในช่วงต้นฤดูฝน เพื่อให้พืชเจริญเติบโต และพักตัวตามสภาพปกติในธรรมชาติ หากปลูกในสภาพธรรมชาติ ควรหาพื้นที่ที่มีสภาพเป็นป่าที่ร่มรำไร และต้องคอยกำจัดวัชพืชเป็นระยะ พืชจะสามารถเจริญเติบโตได้เองตามธรรมชาติ แต่ทั้งนี้ควรมีการล้อมรั้วเพื่อป้องกันสัตว์ป่าหรือสัตว์เลี้ยงที่จะเข้ามาสร้างความเสียหายแก่ต้นพืช

การดูแลรักษา

น้ำเป็นปัจจัยสำคัญต่อการผลิตสัตฤาษี เนื่องจากการขาดน้ำมีผลโดยตรงต่อการเจริญเติบโต การออกดอกและติดผล ความต้องการน้ำของพืชโดยทั่วไปขึ้นกับ ชนิดพืช ระยะพัฒนา อายุต้น และฤดูกาล การให้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพต้องให้สม่ำเสมอ และเพียงพอต่อความต้องการของพืช โดยเฉพาะการปลูกในโรงเรือนที่พืชไม่ได้รับน้ำตามธรรมชาติ แต่หากปลูกในป่าตามสภาพธรรมชาติ ควรเลือกพื้นที่ที่มีความชื้นเพียงพอ เช่น ป่าดิบชื้นและป่าดิบเขาบนพื้นที่สูง

ความต้องการธาตุอาหารของไม้หัวควรได้รับปุ๋ยทุกเดือนๆ ละครั้ง โดยใส่ปุ๋ยคอก 500 กรัมต่อต้น การใช้ปุ๋ยคอกจะช่วยปรับสภาพดิน และช่วยระบายน้ำ ควรหลีกเลี่ยงการใส่ปุ๋ยเคมี เพื่อป้องกันสารเคมีตกค้างในผลผลิต โดยเฉพาะการนำผลผลิตสัตฤาษีไปใช้ประโยชน์ทางยา

โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ

  • โรคราเขม่า (Grey leaf mold)
  • โรคเหี่ยว (Fusarium).
  • โรคเหี่ยวหรือโรคเน่าของเหง้าและรากจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial Wilt)
  • โรคใบจุด (leaf spot disease)
  • หนอนชอนใบ
  • หนอนเจาะลำต้น
  • ตั๊กแตนหนวดสั้น
  • หอยทาก
  • เพลี้ยแป้ง

การใช้ประโยชน์

สัตฤาษีสดเป็นส่วนประกอบของอาหารเพื่อใช้บำรุงร่างกาย  ปัจจุบันในประเทศจีนมีการขยายพื้นที่ปลูกสัตฤาษี เพื่อเป็นการค้ามากขึ้น เนื่องจากสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย นอกจากนำมาใช้ปรุงอาหารแล้วยังช่วยในการใช้ทำยา สรรพคุณรักษาอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ เป็นยาบำรุงกำลัง ห้ามเลือด และรักษาแผลในกระเพาะอาหาร

แหล่งพืชอนุรักษ์

ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่

<< กลับไปหน้าฐานข้อมูลพืชสมุนไพรและเครื่องเทศ