Search for:

ชื่อสามัญ การเวก

ชื่อวิทยาศาสตร์  Artabotrys hexapetalus (Linn.f.) Bhandari.

ชื่ออื่นๆ  การเวก กระดังงาจีน (ภาคกลาง),สะบันงาจีน สะบันงาเครือ (ภาคเหนือ),กระดังงาเถา (ภาคใต้),             กระดังงาป่า หนามควายนอน (ภาคตะวันตก)

ถิ่นกำเนิดและประวัติความเป็นมา

การเวกมีถิ่นกำเนิดในอินเดียและศรีลังกา เป็นไม้ในเขตร้อน ดอกมีกลิ่นหอม ใช้ทำน้ำหอมและใส่ในใบชา ผลมีสรรพคุณรักษาโรคผิวหนัง ลักษณะทั่วไปคล้ายกับ A. siamensis Miq. ที่ดอกขนาดเล็กกว่าและมีขนหนาแน่นกว่า การเวกเป็นไม้เลื้อยสามารถทำเป็นซุ้มที่หนาแน่นได้

สันนิษฐานว่า การเวกเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาผ่านพ่อค้าชาวอินเดียที่เข้ามาติดต่อทำการค้าในช่วงนั้น ซึ่งแต่เดิมนั้นการเวกมีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดียทางตอนใต้และประเทศศรีลังกา ต่อมาก็พบได้มากในแถบป่าดิบชื้นของภาคกลางและภาคใต้จนเหมือนเป็นพืชพื้นถิ่น คนในพื้นที่จึงตั้งชื่ออย่างเป็นทางการให้ว่า Siamensis ซึ่งมีที่มาจากคำว่าสยามของประเทศไทย

ลักษณะทั่วไป

การเวก เป็นไม้เลื้อยเนื้อแข็งที่มีเถาขนาดใหญ่ และมีอายุยืนนานหลายปี ลำต้นมีผิวเรียบสีเทาจนถึงดำ โดยเฉพาะต้นที่มีอายุมากจะมีลำต้นสีดำ และมีปุ่มนูนสลับกันตามความสูงของลำต้น โดยแตกกิ่งเลื้อยยาวจำนวนมากบริเวณส่วนปลายของต้น กิ่งอ่อนหรือยอดอ่อนมีสีเขียว ใบการเวก แทงออกเป็นใบเดี่ยว เยื้องสลับข้างกันบนกิ่ง แผ่นใบเรียบ มีรูปทรงรีปลายใบแหลม โคนใบมน ขนาดกว้าง 4-8 ซม. ยาว 12-18 ซม. ใบค่อนข้างหนา และเหนียว ใบอ่อนมีสีเขียวสด ใบแก่ด้านบนมีสีเขียวเข้ม ใต้ใบมีสีอ่อนกว่า และมีขนตามเส้นใบ ดอกอาจแทงออกเป็นดอกเดี่ยวหรือออกเป็นกลุ่มหลายดอก 2-5 ดอก มีก้านดอกโค้งงอ สีเขียว ดอกอ่อนหรือดอกตูมที่ยังไม่บานจะมีรูปทรงกรวย ปลายดอกแหลม เมื่อบานจะกลีบดอกจะแผ่ออก และมีกลิ่นหอม จำนวนกลีบดอก 6 กลีบ กลีบดอกอ่อนมีสีเขียว และค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเมื่อแก่ แต่ละกลีบแยกจากกัน มีรูปรี ปลายกลีบแหลม เรียงสลับกันจำนวน 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ โดยกลีบดอกชั้นในจะสั้น และเล็กกว่าชั้นนอก ขนาดกลีบยาวประมาณ 3-4 ซม. โดยกลีบดอกจะบานในช่วงเช้าตรู่ และไม่หุบกลับจนกว่าดอกจะร่วง ทั้งนี้ ดอกกระดังงา/การเวกจะบานได้ตลอดทั้งปี และจะออกดอกมากในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม

พันธุ์และการขยายพันธุ์

การขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด การตอนกิ่ง และปักชำ

วิธีการปลูก

การเวกเป็นไม้ที่ชอบแสงแดด จึงทำให้มีความต้องการแสงแดดต่อเนื่องอยู่เสมอ ดังนั้นการปลูกการเวกนั้นจึงนิยมปลูกบริเวณริมรั้วของบ้าน สามารถเจริญเติบโตได้ดีกับดินทุกประเภท แต่หากเป็นดินร่วนปนดินทรายที่มีความสามารถในการระบายน้ำได้ดี จะช่วยส่งเสริมให้ต้นการเวกนั้นเจริญงอกงามได้เป็นอย่างดี

การปลูกลงดินควรเตรียมดินปลูก โดยทำการขูดหลุมขนาด 30×30 เซนติเมตร นำดินขุดมาผสมแกลบดำและปุ๋ยคอกหรืออาจผสมปุ๋ยละลายช้า (สูตร13-13-13) ในอัตราส่วน 1:1:1  จากนั้นนำดินผสมรองก้นหลุมใส่ปุ๋ยละลายช้าประมาณ 50 กรัม ต้นกล้าลงปลูกในหลุมที่เตรียมไว้ นำดินที่ผสมที่เหลือกลบหลุมให้เหลือพื้นที่ Root Zone เพื่อระบายอากาศ แล้วรดน้ำให้ชุ่ม ควรมีโครงสร้างอาจเป็นไม้แค่ชั่วคราวหรืออาจทำเป็นโครงเหล็กแบบถาวรเพื่อช่วยพยุงต้น และให้ลำต้นเลื่อยได้

การดูแลรักษา

เมื่อเริ่มปลูกการเวกควรรดน้ำวันละ 2 ครั้ง ตอนเช้า และเย็น แต่เมื่อต้นการเวกโตเต็มที่แล้วนั้น รดน้ำเพียงแค่วันละ 1 ครั้ง โดยรดแค่ช่วงเช้า และรดให้ดินมีความชุ่มน้ำ การเวกสามารถเจริญเติบโตได้ดีในทุกสภาพแวดล้อม แต่หากต้องการใส่ปุ๋ยเพื่อเพิ่มสารอาหารให้ก็สามารถทำได้ โดยใช้ปุ๋ยหมักกับดินที่ปลูกหรือปุ๋ยคอกก็เพียงพอแล้ว

โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ

เพลี้ยแป้ง

การใช้ประโยชน์

  1. ดอกใช้สกัดน้ำมันหอมระเหยที่นิยมใช้ทำน้ำหอม และยาหอม ใช้ทานวด และใช้ในด้านความสวยความงาม
  2. ดอกนำมาห่อรวมกันในใบ และสูดดม ช่วยในการผ่อนคลาย
  3. ปลูกเป็นไม้ประดับต้น และประดับดอก
  4. ปลูกเพื่อให้ร่มเงา
  5. ปลูกเพื่อใช้เป็นแนวรั้วหรือเขตแดน
  6. เนื่องจากระดังงาจะให้ใบจำนวนมาก ใบดกเขียวอยู่นาน จนเป็นไม้ที่ให้ร่มเงาได้ดี รวมถึงทนต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ อาทิ ทนต่อแหล่งที่มีมลพิษทางอากาศสูง ทนต่อสภาพแห้งแล้ง จึงนิยมใช้ปลูกในเมืองใหญ่เพื่อให้ร่มเงา และช่วยบำบัดมลพิษทางอากาศ ดังที่พบเห็นตามข้างถนนในกรุงเทพมหานคร

แหล่งพืชอนุรักษ์

ศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย

<< กลับไปหน้าฐานข้อมูลพืชสมุนไพรและเครื่องเทศ