สัมมนาวิชาการ เรื่อง “มะพร้าว สมุนไพร ช่วยได้ ให้สุขภาพดี และไม่แก่” และการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565

   วันจันทร์ ที่ 22 พฤษภาคม 2566 ดร.ชูชาติ วัฒนวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชสวน เป็นประธานเปิดการสัมมนาวิชาการ เรื่อง “มะพร้าว สมุนไพร ช่วยได้ ให้สุขภาพดี และไม่แก่” และการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565 จัดโดย ชมรมอนุรักษ์และพัฒนาน้ำมันมะพร้าว ร่วมกับสถาบันวิจัยพืชสวน ณ ห้องประชุมชั้น 5 อาคารเฉลิมพระเกียรติ กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร

     กรมวิชาการเกษตรในฐานะองค์กรที่สนับสนุนการวิจัยและพัฒนามะพร้าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยกรมวิชาการเกษตรมีหน้าที่ในการผลิตมะพร้าวพันธุ์ดีให้ผลผลิตสูงและตกผลเร็ว ซึ่งกรมฯได้เร่งขยายการผลิตพันธุ์ดี โดยสร้างแปลงแม่พันธุ์เพิ่ม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตต้นกล้าให้มากขึ้น ตามความต้องการเกษตรกร และความต้องการปริมาณผลผลิตมะพร้าวของภาคอุตสาหกรรม โดยปีนี้สนับสนุนต้นกล้าส่งเสริมการปลูกมะพร้าวให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนำร่อง GAP Monkey Free Plus จำนวน 10,000 ต้น

ผู้อํานวยการสถาบันวิจัยพืชสวน กล่าวว่า การรณรงค์ให้เกิดการรับรู้ถึงประโยชน์และคุณค่าของน้ำมันมะพร้าว และผลิตภัณฑ์มะพร้าวอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งที่ดี และในปีนี้ได้เพิ่มสาระน่ารู้ในการผลิต กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และการนำไปใช้ประโยชน์เของ สมุนไพร กัญชา และกัญชงอีกด้วย  จะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจการนำไปใช้ประโยชน์ของมะพร้าว และ สมุนไพร มากยิ่งขึ้น การบริโภคน้ำมันมะพร้าว จะได้รับกรดลอริก ซึ่งกระผมเคยได้รับทราบจากการบรรยายของท่านประธานชมรมฯว่า กรดนี้จะเปลี่ยนเป็นสารโมโนลอรินที่เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย ซึ่งจากงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตร จากการสกัดน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์จากเนื้อมะพร้าวของทุกสายพันธุ์ พบว่ามีปริมาณกรดลอริกเฉลี่ยร้อยละ 48 ของปริมาณกรดไขมันทั้งหมด

จากการรายงานในการประชุมมะพร้าวโลกที่มาเลเซียเมื่อเดือน พฤศจิกายน 2565 ว่า น้ำมันมะพร้าวช่วยรักษาโรคเหงือกและฟันอีกด้วย และประเทศฟิลิปปินส์ก็ได้ส่งเสริมให้ประชาชนของเขาบริโภคน้ำมันมะพร้าวเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกาย ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และการเข้าถึงวัคซีนยังมีจำกัด การรณรงค์ให้ประชาชนได้รับทราบและรับรู้ในเรื่องการป้องกันและรักษา จะช่วยให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรง สามารถปรับตัวให้ปลอดภัยและสุขภาพดีในสถานการณ์ที่ยังต้องเผชิญกับโรคระบาดที่เกิดจากเชื้อไวรัสโควิด 19

และจากปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมมะพร้าวได้ประสบกับการกีดกันทางการค้าในเรื่องการเก็บเกี่ยวโดยใช้ลิง ซึ่งกรมฯได้มีการรณรงค์ ผลักดันช่วยเหลืออุตสาหกรรมมะพร้าวเป็นอย่างมาก ในการโครงการ GAP-MFP ซึ่งชมรมฯ ได้ช่วยประสานกับผู้ประกอบการมะพร้าวและเกษตรกร ในการดำเนินการโครงการ ซึ่งขณะนี้ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง และจะต้องเร่งดำเนินการต่อไป

โอกาสนี้ ผู้อํานวยการสถาบันวิจัยพืชสวน ได้เชิญชวนภาคเอกชนช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรสมัครตรวจรับรองแปลง GAP –MFP เพื่อให้มีส่วนร่วมในการเพิ่มพื้นที่ผลิตมะพร้าวปลอดภัยไม่ใช้ลิง ซึ่งเป็นการส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าวไทยอีกด้วย