เตือนภัยการเกษตร3-9 ตุลาคม 2561
เตือนภัยการเกษตร
ช่วงวันที่ 3-9 ตุลาคม 2561
ภาคเหนือ ตอนล่าง
1.ส้มเขียวหวาน ทุกระยะการเจริญเติบโต (ศวส.สุโขทัย)
-โรคแคงเกอร์ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas campestris pv. citri
การแพร่ระบาด : สามารถเกิดได้ง่ายและรุนแรงขึ้น ในสภาพอากาศที่ร้อนชื้น อุณหภูมิประมาณ 20 – 30 c และระยะที่มีหนอนชอนใบส้มเข้าทำลาย นอกจากนี้ก็แพร่กระจายได้ตามกระแสลม น้ำค้าง ฝน แมลง และ มนุษย์ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเคลื่อนย้ายกิ่งที่มีโรคโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จากแหล่งหนึ่งไปยังสถานที่อื่นๆ เป็นระยะทางไกลๆได้ ช่วงที่ระบาดจะเป็นช่วงเดือนพฤษภาคม- กันยายน พบบริเวณกิ่งอ่อน ระยะแรกแผลมีสีเหลืองนูนฟูคล้ายแผลที่เกิดบนใบต่อมาแผลจะขยายออกโดยรอบกิ่ง มีรูปร่างไม่แน่นอนหรือขยายออกตามความยาวของกิ่งก็ได้เป็นผลแห้ง แข็งสีน้ำตาลเข้ม ซึ่งลักษณะแผลที่กิ่งก้านนี้จะมีสีน้ำตาลเข้มมากกว่าที่เกิดบนใบ บริเวณรอบนอกแผล ไม่มีสีเหลืองเป็นวงล้อมรอบอยู่ ใบ ระยะเริ่มแรกจะเห็นเป็นจุดขนาดประมาณหัวเข็มหมุดมองเห็นได้ไม่ชัด ลักษณะเป็นจุดกลมใส โปร่งแสง ชุ่มน้ำ และมีสีซีดกว่าใบปกติ เมื่อเวลาผ่านไปแผลจะขยายใหญ่ขึ้น สีคล้ำขึ้น มีลักษณะนูนและฟูคล้ายฟองน้ำ จากระยะเริ่มแรกที่แผลมีสีขาว หรือเหลืองอ่อนก็เปลี่ยนกลายเป็นสีน้ำตาลเข้ม ส่วนที่นูนและฟูคล้ายฟองน้ำก็จะแยกออกเป็นสะเก็ดขรุขระคล้ายเปลือกไม้แตก มีรอยบุ๋มเล็กน้อยตรงกลาง และมีวงสีเหลืองซีดล้อมรอบรอยแผล หรืออาจไม่พบวงสีเหลืองที่ล้อมรอบก็ได้ในการเข้าทำลายนี้อาจพบเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งของใบก่อนก็ได้ หรือพบทั้งสองด้านของใบก็ได้ แต่โดยมากจะเห็นชัดเจนบริเวณส่วนใต้ใบ ผล มีลักษณะอาการคล้ายกับที่พบที่ใบ แผลที่เกิดเดี่ยวๆ มีลักษณะกลม บริเวณรอบแผลดูคล้ายกับฝังลึกลงไปในผิวของผล แผลจะนูน และปรุโปร่งคล้ายฟองน้ำ แต่มีสีเหลือง แข็ง และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อแผลแก่ บางครั้งแผลจะรวมกันมีขนาดใหญ่เป็นสะเก็ด รูปร่างไม่ แน่นอน ซึ่งเมื่อหลุดจะมียางไหลออกมาจากแผลได้ ลักษณะวงแหวนสีเหลืองรอบแผลไม่ปรากฏชัดเจนเท่าอาการบนใบ ผลส้มเขียวหวาน ที่เป็นโรคมักร่วงเร็วกว่าปกติ และร่วงได้ง่ายกว่าส้มพันธุ์อื่นๆ บางครั้งอาจทำให้ผลอ่อนซึ่งมีอายุประมาณ 4 – 6 เดือนแตกตามขวางโดยเริ่มปริจากแผลของโรคแคงเกอร์ เมื่อส้มได้รับน้ำอย่างเต็มที่ในระยะเวลาอันสั้น ต้นที่เป็นโรคมากๆมักแสดงอาการต้นโทรม แคระแกร็น ใบร่วงมาก กิ่งแห้งตาย ผลผลิตลดลงและต้นอาจตายในที่สุด
การป้องกันกำจัด
1. ใช้พันธุ์ต้านทานโรค
2.ตัดแต่งกิ่งแห้ง กิ่งเป็นโรค แล้วนำไปเผาทิ้ง
3.ป้องกันกำจัดโรคและแมลงอย่างสม่ำเสมอ ในช่วงที่ส้มแตกใบอ่อน จะมีแมลงพวกหนอนชอนใบเข้าทำลาย ป้องกันกำจัดด้วยฟลูเฟนนอกซูรอน อัตรา 60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อิมิดาฌคลพริด อัตรา 8-16 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นยอดอ่อนมีหนอนชอนใบส้มลงทำลายกิน 50 % ยอดสำรวจแปลงละ 10 ต้นๆละ 5 ยอด
4.ป้องกันกำจัดโรคพืชด้วย คอปเปอร์ออกซี่คลอไรด์ 77% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา10-20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อพบโรคเข้าทำลายและพ่นซ้ำทุก 7-14 วัน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง
1.มังคุด เตรียมความพร้อมในการออกดอก (ศวส.จันทบุรี)
-หนอนชอนใบ หนอนจะกัดกินใต้ผิวใบอ่อน ทำให้ใบอ่อนบิดเบี้ยว เล็ก ไม่เจริญเติบตามปกติ เมื่อดูใต้ใบจะพบรอยสีขาวตามรอยเป็นทางตามลักษณะการกินของหนอน ใบที่ถูกทำลายมีอาการคล้ายโรคใบไหม้ มีสีน้ำตาลแดง โดยหนอนเริ่มเจาะที่ฐานเส้นกลางใบแล้วเคลื่อนไปทางปลายใบ ก่อนถึงปลายใบหนอนจะชอนไชเข้าไปในส่วนเนื้อของใบ รอยที่หนอนเจาะเข้าไปจะพบมูลหนอนอยู่ด้วย เมื่อหนอนโตเต็มที่แล้ว จะออกมาเข้าดักแด้ข้างนอกตามใบมังคุดโดยชักใยห่อหุ้มตัวเองอยู่ภายในถ้ามีการระบาดรุนแรง ใบอ่อนจะถูกหนอนทำลายหมด
การป้องกันกำจัด
1. รวบรวมยอดอ่อนหรือใบอ่อนที่มีรอยทำลายของหนอนชอนใบ เผาทำลาย
2. เก็บดักแด้ของหนอนชอนใบ ซึ่งเจาะออกมาเข้าดักแด้ตามใบแก่หรือใบเพสลาด ลักษณะรังดักแด้คล้ายรังดักแด้ของหนอนเจาะขั้วผล แล้วนำไปทำลาย
3. ถ้ามีการระบาดของหนอนชอนใบรุนแรงขณะมังคุดแตกใบอ่อน ควรพ่นด้วยสารฆ่าแมลง เช่น อิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 8 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
– โรคใบจุด ใบมังคุดจะเป็นจุดสีน้ำตาลแห้ง กลางแผลจะเป็นสีเทา ทำให้ใบแห้งเสียหาย
การป้องกันกำจัด
2.ลองกอง ตัดแต่งกิ่งเตรียมความพร้อมของต้น (ศวส.จันทบุรี)
-ราสีชมพู เชื้อราจะเข้าทำลายกิ่ง ลำต้น ทำให้เกิดลักษณะกิ่งแห้ง ใบแห้ง และร่วงหล่น บริเวณที่ถูกเชื้อราเข้าทำลายเริ่มแรกจะเห็นเส้นใยของเชื้อราสีขาวขึ้นปกคลุมบางๆบริเวณโคนกิ่งและค่อยๆเจริญปกคลุม กิ่ง เส้นใยจะหนาขึ้นและค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีชมพู เปลือกและเนื้อไม้จะเป็นสีน้ำตาลทำให้ใบเป็นสีเหลืองและจะแห้งตายทั้งกิ่ง
การป้องกันกำจัด
- ตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง และกำจัดวัชพืชในแปลงปลูก เพื่อลดความชื้นสะสม
- ในช่วงฤดูฝนหมั่นตรวจสวนอย่างสม่ำเสมอ หากพบอาการของโรคที่กิ่งแม้เพียงเล็กน้อย ให้ตัดไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก หรือเฉือนเปลือกบริเวณเป็นโรคออก แล้วทาด้วยสารคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 45-60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 62% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
- เมื่อพบอาการใบเหลือง ควรตรวจดูบริเวณกิ่ง หากพบอาการของโรค ให้ตัดกิ่งที่เป็นโรค นำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก หรือพบอาการของโรคบนง่ามกิ่ง หรือโคนกิ่งที่มีขนาดใหญ่ ให้ถากแผลบริเวณที่เป็นโรคออกให้หมด แล้วทาบริเวณแผลด้วยสารดังกล่าวตาม ข้อ 2 จากนั้นพ่นให้ทั่วต้น โดยเฉพาะที่บริเวณกิ่ง และลำต้นด้วยสารคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 62% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือคาร์เบนดาซิม 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
- ในแปลงลองที่เคยพบโรคระบาดรุนแรง ในช่วงฤดูฝนควรป้องกันการเกิดโรคโดย พ่นด้วยสารดังกล่าว ตามกิ่งก้านที่อยู่ในทรงพุ่มเสมอๆ
-โรคราสีขาว มีเส้นใยสีขาวหยาบ ขึ้นปกคลุมบริเวณปลายกิ่งและอาจจะลุกลามขึ้นปกคลุมใบ ทำให้กิ่งแห้ง ใบแห้งเหี่ยว
การป้องกันกำจัด
- กำจัดวัชพืชในแปลงปลูก และบริเวณใกล้เคียง
- ตัดแต่งใบแก่ออก เพื่อให้ต้นโปร่ง อากาศถ่ายเทสะดวก
- ตรวจแปลงปลูกสม่ำเสมอ เมื่อพบโรคตัดส่วนที่เป็นโรคไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก หากโรคยังคงระบาด พ่นด้วยสารเฮกซะโคนาโซล 5% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ทีบูโคนาโซล 43% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดฟีโนโคนาโซล + โพรพิโคนาโซล 15%+15% อีซี อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7 วัน
- พื้นที่ที่เกิดโรคระบาด ควรปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน
- ฤดูปลูกถัดไป ควรใช้กิ่งชำหรือต้นพันธุ์ที่ปราศจากโรค หรือก่อนปลูกแช่กิ่งชำหรือต้นพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชชนิดใดชนิดหนึ่ง ตามข้อ 3. และปลูกให้มีระยะห่างพอควร เพื่อให้มีการระบายอากาศที่ดี
3.ทุเรียน ตัดแต่งกิ่งเตรียมความพร้อมของต้น (ศวส.จันทบุรี)
-หนอนด้วงหนวดยาวเจาะลำต้นทุเรียน ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่โดยฝังไว้ใต้เปลือกตามลำต้นและกิ่งขนาดใหญ่ หนอนกัดกินชอนไชไปตามเปลือกไม้ด้านในไม่มีทิศทาง หรืออาจกัดควั่นเปลือกรอบต้น การทำลายที่เกิดจากหนอนขนาดเล็กไม่สามารถสังเกตได้จากภายนอก แต่เมื่อหนอนโตขึ้นจะพบขุยไม้ละเอียดซึ่งเป็นมูลของหนอนตามแนวรอยทำลาย หรือตรงบริเวณที่หนอนทำลายกัดกินเนื้อไม้อยู่ภายในจะเห็นมีของเหลวสีน้ำตาลแดงไหลเยิ้มอยู่ ในระยะต่อมาจึงจะพบมูลหนอนออกมากองเป็นกระจุกอยู่ข้างนอกเปลือก เมื่อใช้มีดปลายแหลมแกะเปลือกไม้ จะพบหนอนอยู่ภายใน เกษตรกรจะสังเกตพบรอยทำลายต่อเมื่อหนอนตัวโตและอาจเจาะเข้าเนื้อไม้ หรือกินควั่นรอบต้นทุเรียนแล้วซึ่งจะมีผลทำให้ท่อน้ำท่ออาหารถูกตัดทำลายเป็นเหตุให้ทุเรียนเริ่มทรุดโทรม ใบเหลืองและร่วง และยืนต้นตายได้
การป้องกันกำจัด
- หมั่นตรวจดูผลทุเรียน เมื่อพบรอยทำลายของหนอน ให้ใช้ไม้หรือลวดแข็งเขี่ยตัวหนอนออกมาทำลาย
- ตัดแต่งผลทุเรียนที่มีจำนวนมากเกินไป โดยเฉพาะผลที่อยู่ติดกันควรใช้กิ่งไม้หรือกาบมะพร้าวคั่นระหว่างผล เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเต็มวัยวางไข่หรือตัวหนอนเข้าหลบอาศัย
- การห่อผลด้วยถุงมุ้งไนล่อน ถุงรีเมย์ หรือถุงพลาสติกสีขาวขุ่น เจาะรูที่บริเวณขอบล่างเพื่อให้หยดน้ำระบายออก โดยเริ่มห่อผลตั้งแต่ผลทุเรียนมีอายุ 6 สัปดาห์ เป็นต้นไป จะช่วยลดความเสียหายได้
- สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพเมื่อจำเป็นต้องใช้ คือ แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คลอร์ไพริฟอส 40% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 50มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเฉพาะส่วนผลทุเรียนที่พบการทำลายของหนอนเจาะผลในแหล่งที่มีการระบาด พ่นหลังจากทุเรียนติดผลแล้ว 1 เดือน พ่น 3-4 ครั้ง ทุก 20 วัน
-โรครากเน่าโคนเน่า
อาการที่ราก อาการเริ่มจากใบที่ปลายกิ่ง จะมีสีซีดไม่เป็นมันเงา เหี่ยวลู่ลง อาการรุนแรงมากขึ้นใบจะเหลืองและหลุดร่วง เมื่อขุดดูที่รากฝอยจะพบรากฝอยมีลักษณะเปื่อยยุ่ยเป็นสีน้ำตาลและหลุดล่อนง่าย เมื่อโรครุนแรงอาการเน่าจะลามไปยังรากแขนงและโคนต้น ทำให้ต้นทุเรียนโทรมและยืนต้นตาย
อาการที่กิ่งและที่ลำต้นหรือโคนต้น เริ่มแรกทุเรียนจะแสดงอาการใบเหลืองเป็นบางกิ่ง และจะสังเกตเห็นคล้ายคราบน้ำบนผิวเปลือกได้ชัดเจนในช่วงที่สภาพอากาศแห้ง เมื่อใช้มีดถากบริเวณคราบน้ำจะพบเนื้อเยื่อเปลือกและเนื้อไม้เป็นแผลสีน้ำตาล ถ้าแผลขยายใหญ่ลุกลามจนรอบโคนต้น จะทำให้ทุเรียนใบร่วงจนหมดต้นและยืนต้นแห้งตาย
อาการที่ใบ ใบช้ำดำตายนึ่งคล้ายถูกน้ำร้อนลวก และจะเกิดอาการไหม้แห้งคาต้นอย่างรวดเร็ว พบมากช่วงฝนตกหนักต่อเนื่องหลายวัน
การป้องกันกำจัด
- แปลงปลูกควรมีการระบายน้ำดี ไม่ควรมีน้ำท่วมขัง และเมื่อมีน้ำท่วมขังควรรีบระบายออก
- ปรับปรุงดิน โดยใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก
- บำรุงต้นทุเรียนให้แข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอ
- ตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง เพื่อให้การถ่ายเทอากาศดี แสงแดดส่องถึง และควรหลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจทำให้รากหรือลำต้นเกิดแผล ซึ่งจะเป็นช่องทางให้เชื้อราสาเหตุโรคเข้าทำลายพืชได้ง่ายขึ้น
- ต้นทุเรียนที่เป็นโรครุนแรงมากหรือยืนต้นแห้งตายควรขุดออก แล้วนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก ตากดินไว้ระยะหนึ่ง แล้วจึงปลูกทดแทน
- ตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบส่วนของใบ ดอก และผลที่เป็นโรค ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรคนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก แล้วพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตรหรือ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ให้ทั่วทรงพุ่ม
- ไม่นำเครื่องมือตัดแต่งที่ใช้กับต้นเป็นโรคไปใช้ต่อกับต้นปกติ และควรทำความสะอาดเครื่องมือก่อนนำไปใช้ใหม่ทุกครั้ง
- เมื่อพบต้นที่ใบเริ่มมีสีซีด ไม่เป็นมันเงาหรือใบเหลืองหลุดร่วง ใช้ฟอสโฟนิก แอซิด 40% เอสแอล ผสมน้ำสะอาด อัตรา 1:1 ใส่กระบอกฉีดยา ฉีดเข้าลำต้น อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อต้น และ/หรือราดดินด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
- เมื่อพบอาการโรคบนกิ่งหรือที่โคนต้น ถากหรือขูดผิวเปลือกบริเวณที่เป็นโรคออก ทาแผลด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 80-100 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือ เมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50-60 กรัมต่อน้ำ 1ลิตร ทุก 7 วันจนกว่าแผลจะแห้ง หรือ ใช้ฟอสโฟนิก แอซิด 40% เอสแอล ผสมน้ำสะอาด อัตรา 1:1 ใส่กระบอกฉีดยา ฉีดเข้าลำต้นหรือกิ่งในบริเวณตรงข้ามอาการโรค หรือส่วนที่เป็นเนื้อไม้ดีใกล้บริเวณที่เป็นโรค อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อต้น
– ด้วงกินใบ ด้วงมีลักษณะสีดำตัวเล็กและจะกินใบทำให้ใบทุเรียนเสียหาย
การป้องกันกำจัด
– หากพบหนอนกัดกินใบอ่อนเข้าทำลายประมาณ 20% ของยอด ให้พ่นสารคาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่น 2 ครั้งห่างกัน 5 วัน
-โรคใบติด ใบทุเรียนจะเกิดอาการเหมือนถูกน้ำร้อนลวกบริเวณกลางใบและขอบใบและค่อยๆขยายลุกลามกลายเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ขนาดรูปร่างแผลไม่แน่นอน และใบที่เกิดโรคจะมีใบติดกัน
การป้องกันกำจัด
- ตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง และกำจัดวัชพืชในแปลงปลูก เพื่อลดความชื้นสะสม
- ควรใส่ปุ๋ยที่มีค่าไนโตรเจนให้เหมาะสม
- หมั่นสำรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่า เริ่มมีการระบาดของโรค ตัดส่วนที่เป็นโรค และเก็บเศษพืชที่เป็นโรคและใบที่ร่วงหล่น ไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก และพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชวาลิดามัยซิน 3 % เอสแอล อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เฮกซะโคนาโซล 5% เอสซี อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือคอปเปอร์ออกซี
คลอไรด์ 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 10 วัน4. เมื่อพบการระบาดของโรค ควรหลีกเลี่ยงการให้น้ำแบบพ่นฝอย
5.สละ เก็บเกี่ยว (ศวส.จันทบุรี)
-โรคผลเน่า เปลือกผลสละมีสีน้ำตาล ถ้าความชื้นสูงจะพบเส้นใยของเชื้อราสีขาว หรือขาวอมชมพู เส้นใยของเชื้อราจะแทงทะลุเปลือกเข้าไปในผล ทำให้เปลือกเปราะแตก เนื้อด้านในเน่า และผลร่วงในที่สุด เส้นใยเชื้อราที่พบบนผลที่เป็นโรค เมื่อเจริญเต็มที่จะสร้างดอกเห็ดสีขาว เมื่อดอกเห็ดบานจะปลดปล่อยสปอร์แพร่ระบาดไปสู่ทะลายผลอื่นๆ และต้นอื่น
การป้องกันกำจัด
- ตัดแต่งทางใบแก่ โดยเฉพาะทางใบที่อยู่ด้านล่างๆ และปรับร่มเงาให้เหมาะสม เพื่อให้มีการถ่ายเทอากาศได้ดี ไม่มีความชื้นสะสมใต้ทรงพุ่มมากเกินไป
- ตัดแต่งช่อผล เพื่อลดการเบียดกันจนทำให้เกิดแผล ซึ่งเป็นช่องทางให้เชื้อโรคเข้าทำลายได้ง่าย
- ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ และระวังอย่าให้พืชขาดน้ำในช่วง 10 สัปดาห์หลังติดผล เพื่อป้องกันผลแตกในขณะผลแก่ อันเนื่องมาจากการได้รับน้ำจากฝนตกชุกมากเกินไป
- ควรค้ำยันทะลายผลไม่ให้ติดดิน เพื่อป้องกันเชื้อราสาเหตุโรคในดินเข้าสู่ผล
- ตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ ปลิดผลที่เป็นโรคบนทะลาย เก็บเศษซากพืช และผลที่ร่วงอยู่ใต้ต้น นำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อลดปริมาณเชื้อสะสม และพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช ไพราโคลสโตรบิน 25% อีซี อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ทีบูโคนาโซล+ไตรฟลอกซีสโตรบิน 50%+25% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดฟีโนโคนาโซล 25% อีซี อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 7 วัน อย่างน้อย 2 ครั้ง และควรหยุดพ่นสารก่อนเก็บเกี่ยว อย่างน้อย 15 วัน
6.พริกไทย ติดผลอ่อน/ผลแก่/ เก็บเกี่ยว (ศวส.จันทบุรี)
-รากเน่าโคนเน่า มักเกิดในระยะพริกโตเต็มที่ ช่วงออกดอกติดผล อาการเริ่มแรกจะมีใบเหลืองและร่วง หากระบาดรุนแรง ต้นพริกจะเหี่ยวและยืนต้นตายโคนต้นจะพบเชื้อราเส้นใยสีขาวรวมเป็นก้อนกลมจากนั้นจะเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีน้ำตาลดำคล้ายเมล็ดผักกาด (ราเม็ดผักกาด)
การป้องกันกำจัด
- ถอนต้นที่เป็นโรคนำไปเผาทำลาย
- ใส่ปูนขาวก่อนปลูกเพื่อปรับสภาพดิน
- ใช้สารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น อีไตรไดอะโซล 24% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ
ควินโตซีน 75% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ราดดินในหลุมที่ขุดเอาดินเก่าออกแล้ว หรือราดบริเวณ
โคนต้น - ถ้าโรคระบาดรุนแรง ให้ปลูกพืชอื่นสลับหมุนเวียน อย่างน้อย 5 ปี
7.มะละกอ ระยะเพาะกล้า (ศวส.ศรีสะเกษ)
–ไวรัสจุดวงแหวน ใบอ่อนซีดเหลืองเส้นใบหยาบหนาขึ้น ใบด่างเป็นสีเขียวเข้มสลับสีเขียวอ่อน ถ้าเป็นมากใบจะมีขนาดเล็กลงบิดเบี้ยวผิดรูปร่าง บางครั้งใบเรียวเล็กลงเป็นเส้นยาวแทบจะไม่เห็นเนื้อใบ ใบแก่ขอบใบจะม้วนขึ้นและหยัก ลำต้นและก้านใบมีรอยเป็นขีดช้ำหรือรูปวงแหวน ต้นที่เป็นโรคการติดผลจะเร็วแต่ให้ผลผลิตต่ำ และผลมีจุดวงกลมคล้ายวงแหวน ถ้าเป็นรุนแรงมากใบจะร่วงแคระแกร็น แพร่ระบาดโดยมีเพลี้ยอ่อนเป็นพาหะ
การป้องกันกำจัด
ไวรัสเป็นเชื้อสาเหตุโรคที่ยังไม่มีสารเคมีกำจัดโดยตรง การป้องกันการระบาดทำได้โดยกำจัดเพลี้ยอ่อน และแมลงหวี่ขาวที่เป็นแมลงพาหะโดยพ่นสารคาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ และทำความสะอาดแปลงทำลายวัชพืชหรือพืชอาศัยอื่นเพื่อไม่ให้เป็นที่ซ่อนตัวของแมลงพาหะ
8.มะขาม พัฒนาผล (ศวส.ศรีสะเกษ)
-หนอนเจาะฝัก หนอนผีเสื้อกลางคืน ตัวเต็มวัย วางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ บนฝักมะขาม ตั้งแต่ยังเป็นฝักอ่อนจนถึงฝักสุกวางไข่ตามรอยหักหรือแตกมากกว่าฝักปกติ เมื่อตัวพัฒนาเป็นตัวหนอน ถ้าเป็นฝักอ่อนจะทำให้ฝักลีบ ส่วนฝักมะขามแก่จะกัดกินเนื้ออ่อนภายในและถ่ายมูลออกมาเป็นขุยอยู่บนฝักมะขาม
การป้องกันกำจัด
– หมั่นสำรวจและเก็บฝักมะขามที่ถูกทำลายทิ้ง หากพบการระบาด พ่นด้วยสารฆ่าแมลง ได้แก่
อีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แลมบ์ดาไซฮาโลทริน 2.5% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
ภาคใต้ตอนล่าง
1.กล้วยหิน ทุกระยะการเจริญเติบโต (ศวส.ยะลา)
-โรคเหี่ยวของกล้วย ใบอ่อนแสดงอาการเหี่ยว ก้านใบหักพับ ปลีกล้วยแคระแกร็นและเหี่ยวแห้ง หน่อกล้วยยอดเปลี่ยนเป็นสีดำ เมื่อตัดดูลักษณะภายในลำต้นเทียมจะเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาลแดง อาการเหี่ยวจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้พืชแสดงอาการใบเหลือง และยืนต้นตาย เชื้อสามารถเข้าทำลายลำต้นเทียม ก้านใบ เครือกล้วย ผล และหน่อกล้วย
การกำจัดโรค
- ทำลายกอกล้วยหินโดยใช้สารกำจัดวัชพืช ซึ่งมีวิธีการดังนี้
– ใช้ไม้เสียบลูกชิ้นความยาว 8 นิ้ว แช่ในกระป๋องที่ใส่สารกำจัดวัชพืช ไตรโคลเพอร์ บิวทอกซีเอทิลเอสเตอร์ 66.8% อีซีแช่ทิ้งไว้ข้ามคืน
– นำไม้เสียบลูกชิ้นที่แช่สารกำจัดวัชพืชแล้ว เสียบที่บริเวณโคนต้นกล้วยที่เป็นโรคเหี่ยว ลึกประมาณ 5 นิ้ว โดยเลือกเสียบที่ต้นกล้วยขนาดใหญ่ในกอ ประมาณ ๒-๓ ต้น ต้นกล้วยจะตายภายในเวลาประมาณ 20-30 วัน
- โรยปูนขาว 5 กิโลกรัมต่อกอ ตรงบริเวณโคนและรอบรากต้นกล้วยที่เป็นโรค เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคที่อยู่ในดิน
- ต้นกล้วยที่เป็นโรค หากมีปลี หรือเครือกล้วย ให้ใช้ถุงพลาสติกคลุม เพื่อป้องกันแมลงที่จะมาสัมผัสเชื้อสาเหตุโรค และยับยั้งการแพร่กระจายโรคไปสู่ต้นอื่น
- หลังจากต้นกล้วยตาย ให้สับต้นกล้วยเป็นท่อน แล้วราดด้วย พ.ด.1 ที่ผสมน้ำตามคำแนะนำข้างซอง ใช้ 1 ซองต่อกอ เพื่อให้ย่อยสลายได้เร็วขึ้น ประมาณ 3-4 สัปดาห์ ห้ามนำต้นกล้วยที่ย่อยสลายแล้วไปเป็นปุ๋ย
- ฆ่าเชื้อแบคทีเรียในดินอีกครั้ง โดยสับกอกล้วยที่ย่อยสลายแล้วกับดินบริเวณรอบกอกล้วย แล้วใช้ยูเรีย 0.5กิโลกรัม ผสมกับ ปูนขาว 5 กิโลกรัมต่อกอ โรยให้ทั่วกอ กลบดินบริเวณกอกล้วยให้แน่น รดน้ำให้ชุ่ม ทิ้งไว้ 3 สัปดาห์ เมื่อยูเรียและปูนขาวได้รับความชื้นจะแตกตัวเป็นแก๊สพิษฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เมื่อครบกำหนดใช้จอบสับดินให้แก๊สพิษที่อยู่ในดินออกมา แล้วปลูกพืชได้ตามปกติ
การดูแลป้องกันต้นกล้วยที่ยังไม่เป็นโรคแต่อยู่ในแปลงที่มีต้นกล้วยเป็นโรค
ใช้ชีวภัณฑ์บาซิลัส ซับทีลิส สายพันธุ์ BS-DOA 24 ของกรมวิชาการเกษตร อัตรา 25 กรัม ผสมน้ำ 10 ลิตรต่อกอ รดให้ทั่วรอบต้น ทุก 30 วัน เป็นระยะเวลา 12 เดือน
การป้องกันโรค
- การฆ่าเชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคในดินก่อนปลูก
– ในกรณีที่ปลูกกล้วยหินพืชเดียว ฆ่าเชื้อโดยใช้ยูเรีย อัตรา 80 กิโลกรัมผสมกับ ปูนขาว 800 กิโลกรัมต่อไร่ หว่านให้ทั่วแปลง ไถกลบให้ลึกพอสมควร ปาดหน้าดินให้เรียบ รดน้ำให้ชุ่มจนทั่ว ทิ้งไว้ 3 สัปดาห์ เมื่อครบกำหนดเปิดหน้าดินให้แก๊สพิษออกมา จากนั้นทำปลูกกล้วยได้ตามปกติ
– ในกรณีที่ปลูกกล้วยหินแซมพืชอื่น ฆ่าเชื้อบริเวณหลุมปลูก โดยใช้ยูเรีย 0.5 กิโลกรัม ผสมกับปูนขาว 5 กิโลกรัมต่อหลุม โรยให้ทั่วหลุม กลบดินให้แน่น รดน้ำให้ชุ่มจนทั่ว ทิ้งไว้ ๓ สัปดาห์ เมื่อครบกำหนดใช้จอบสับดินให้แก๊สพิษออกมา แล้วปลูกกล้วยได้ตามปกติ
- ใช้หน่อกล้วยปลอดเชื้อ หรือไม่ใช้หน่อกล้วยจากแปลงที่เป็นโรคมาเป็นหน่อพันธุ์
- หลังปลูกหน่อกล้วย รดด้วยชีวภัณฑ์บาซิลัส ซับทีลิส สายพันธุ์ BS-DOA 24 อัตรา 50 กรัมผสมน้ำ 20 ลิตร รดให้ทั่วรอบต้นและรดซ้ำทุก 30 วัน นาน 12 เดือน
- ทำความสะอาดเครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการเกษตร เช่น มีดตัดผลกล้วย จอบ เสียม ทุกครั้งก่อนนำไปใช้กับต้นต่อไป โดยใช้น้ำยาฟอกขาว เช่น ไฮเตอร์ อัตรา 250 มิลลิลิตรผสมน้ำ 3 ลิตร
- ไม่เดินจากต้นที่เป็นโรคไปยังต้นที่ไม่เป็นโรค หากจำเป็นต้องเดินให้ฆ่าเชื้อที่รองเท้าก่อน ด้วยน้ำยาฟอกขาว เช่น ไฮเตอร์ อัตรา 250 มิลลิลิตร ผสมน้ำ 3 ลิตร
- ไม่นำกล้วยหินที่เป็นโรคไปทำเป็นอาหารสัตว์
2. ทุเรียน ทุกระยะการเจริญเติบโต (ศวส.ยะลา)
-โรคใบติด ใบที่พบจะมีรอยคล้ายๆ ถูกน้ำร้อนลวก ขอบแผลไม่แน่นอน อาจเริ่มที่ปลายใบ กลางใบ หรือโคนใบแล้วลุกลามจนเป็นทั้งใบ และจะสังเกตเห็นเส้นใยสีขาวนวลแผ่ปกคลุมคล้ายใยแมงมุมแผ่ไปตามผิวใบ ใบที่ถูกทำลายจะร่วงหล่นไปในที่สุด ถ้าใบที่เป็นโรคไปสัมผัสกับใบที่ปกติไมว่าจะเป็นใบที่อยู่ล่างๆ หรือใบที่อยู่เหนือกว่า ใบปกตินั้นก็จะเป็นโรคใบติดเช่นกัน
การป้องกันกำจัด
- ตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง และกำจัดวัชพืชในแปลงปลูก เพื่อลดความชื้นสะสม
- ควรใส่ปุ๋ยที่มีค่าไนโตรเจนให้เหมาะสม
- หมั่นสำรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่า เริ่มมีการระบาดของโรค ตัดส่วนที่เป็นโรค และเก็บเศษพืชที่เป็นโรคและใบที่ร่วงหล่น ไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก และพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชวาลิดามัยซิน 3 % เอสแอล อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เฮกซะโคนาโซล 5% เอสซี อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 10 วัน โดยพ่นที่ใบให้ทั่วทั้งต้น
3. ลองกอง ให้ผลผลิตแล้ว (ศวส.ยะลา)
-หนอนชอนเปลือกลองกอง หนอนกินใต้ผิวเปลือกทั้ง 2 ชนิด จะกัดกินทำลายอยู่ใต้ผิวเปลือกตามกิ่งและลำต้นลึกระหว่าง 2 – 8 มิลลิเมตร ซึ่งอยู่ระหว่างท่อน้ำและท่ออาหาร ทำให้กิ่งและลำต้นมีลักษณะตะปุ่มตะป่ำซึ่งในช่วงหน้าฝนกิ่งจะมีความชื้นสูงและมักมีโรคราสีชมพูเข้าทำลายร่วมด้วย ถ้าหนอนกัดกินบริเวณตาดอกจะทำให้ตาดอกถูกทำลายและผลผลิตลดลง ถ้าทำลายรุนแรงจะทำให้กิ่งแห้ง ต้นแคระแกรน โตช้า และตายในที่สุด
การป้องกันกำจัด
1.ใช้ไส้เดือนฝอย (Steinernema carpocapsae) อัตรา 50 ล้านตัว (1 กระป๋อง) ต่อน้ำ 20 ลิตร 1 ต้นใช้น้ำ 5 ลิตร พ่น 2 ครั้ง ห่างกัน 15 วัน (ในกรณีมีอากาศแห้งแล้ง ควรพ่นน้ำเปล่าให้ความชุ่มชื้นก่อนพ่นไส้เดือนฝอย)
2.ใช้สาร คาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คลอร์ไพริฟอส 40% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นให้โชกบนลำต้น และกิ่งก้านที่มีรอยทำลายของหนอนกินใต้ผิวเปลือก